สวัสดีคุณครูทุก ๆ ท่านที่เข้ามาอ่านไอเดียนี้นะคะ เนื่องจากในอาทิตย์นี้ เราได้สอนเรื่อง สื่อบันเทิง ซึ่งผลการเรียนรู้คือนักเรียนต้องสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ และตีความสิ่งที่อ่านได้ ด้วยความที่เราชอบฟังเพลงอยู่แล้ว และมีเพลงหนึ่งที่เราฟังแล้วรู้สึกว่า เขาแฝงสัญลักษณ์ในเพลงไว้ได้น่าสนใจนะ ประกอบกับเพลงนี้ เป็นเพลงที่ออกมาใหม่ ค่อนข้างเป็นกระแส นักเรียนน่าจะรู้จัก เราเลยหยิบยกมาสอน ซึ่งเพลงที่เราหยิบมาสอนในวันนี้นั่นก็เพลง "ดอกไม้ที่รอฝน" ของนนท์ ธนนท์ กับเดอะทอยนั่นเองค่า
เริ่มแรกเลย เราจะนำเข้าสู่บทเรียนก่อน โดยตั้งคำถามให้นักเรียนได้คิดว่า หากเราจะเปรียบเทียบการรอคอยเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งนักเรียนจะเปรียบเทียบการรอคอยเป็นอะไร ซึ่งอันนี้เราก็ให้อิสระนักเรียนในการตีความเลยค่ะ
อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของคำตอบที่นักเรียนตอบเข้ามานะคะ แต่ละคนก็จะมีการนิยามการรอคอยที่แตกต่างกันออกไปค่ะ
ต่อมาเราก็จะให้นักเรียนฟังเพลง "ดอกไม้ที่รอฝน" โดยระหว่างที่ฟังก็ให้สังเกตเนื้อเพลง และให้สังเกตสัญลักษณ์ที่แทนการรอคอยในเพลงไปด้วย
เมื่อฟังจบแล้ว เราก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียน ได้ลองตั้งคำถามหรือกำหนดประเด็นที่อยากรู้เพิ่มเติมจากเนื้อเพลงที่ได้อ่าน โดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราชวนคุยเกี่ยวกับสัญลักษณ์ในเพลงเมื่อตอนต้นคาบค่ะ ซึ่งคำถามที่นักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนมาก็จะมีหลากหลายเลย
หลังจากที่เราให้นักเรียนช่วยกันคิดคำถาม และประเด็นต่าง ๆ ที่นักเรียนอยากรู้หลังจากได้อ่านเนื้อเพลงและฟังเพลงจบแล้ว เราก็นำคำถามที่นักเรียนช่วยกันแชร์มาสรุปเป็นประเด็นคำถาม และเพิ่มเติมคำถามในส่วนของครูเข้าไปด้วยแล้วมอบหมายงานให้นักเรียนทำต่อไปค่ะ ซึ่งคำถามของนักเรียนในแต่ละห้องก็จะไม่เหมือนกันเพราะแต่ละห้องก็จะมีประเด็นที่แตกต่างกันออกไปค่ะ อันนี้คือคำถามที่เราสรุปออกมาได้จากทั้ง 3 ห้องที่เราสอนนะคะ จะเป็นประมาณนี้ค่ะ
ประเด็นคำถามก็จะมีหลายประเด็นเลย เช่น การใช้ภาษาในเพลง จุดประสงค์ของเพลง การวิเคราะห์แนวเพลง บางคำถามก็เป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่มีผิดไม่มีถูก นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามทรรศนะของนักเรียนเลย และสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในเพลงก็คือ การใช้สัญลักษณ์ในเพลงค่ะ
จากนั้นเราก็ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม 3-4 คน โดยให้แบ่งตามความสมัครใจ จากนั้นมอบหมายให้นักเรียนทำชิ้นงาน Infographic จากประเด็นคำถามที่ได้สรุปออกมาจากเพื่อนในชั้นเรียนและครู อันนี้ก็จะเป็นชิ้นงานที่นักเรียนแต่ละห้องทำออกมาค่ะ ทำสวยหลายกลุ่มเลย
จากผลงานของเด็ก ๆ นอกจากจะเห็นการวิเคราะห์สัญลักษณ์ที่แทนการรอคอยในเพลง อย่าง ดอกไม้ และฝนแล้ว ก็จะเห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันออกไปของนักเรียนแต่ละคนด้วย เช่น ถ้าดอกไม้ไม่รอฝน จะรออะไรได้อีกบ้าง หรือ สีแดง โคมไฟ Chandelier ที่ปรากฏในเพลง นักเรียนคิดว่าสื่อถึงอะไร ซึ่งตรงนี้เราก็จะได้เห็นการวิเคราะห์ของนักเรียนที่มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจ ถือว่าได้เป็นการฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ไปในตัว โดยใช้สื่อที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างเพลง ๆ นี้ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่นั่นเองค่ะ
หลังจากที่เราให้นักเรียนทำสื่อ Infographic แล้ว เราก็ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ และชวนแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่เพลงนี้เลือกใช้ดอกไม้ และ ฝน มาเป็นสัญลักษณ์แทนการรอคอย โดยนักเรียนก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับเรา และเราก็ได้อธิบายเพิ่มเติมไปว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ดอกไม้กับฝน ล้วนเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วหากดอกไม้ขาดฝน ดอกไม้ก็จะเหี่ยวเฉาและอาจตายลงได้ ก็เปรียบเสมือนคนที่มีคน ๆ หนึ่งที่ทำให้เรามีความสุข แล้ววันหนึ่งเขาหายไป อีกฝ่ายจึงรู้สึกเศร้า เสียใจ เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวเฉานั่นเอง ดังนั้นเพลงนี้จึงได้เลือกใช้สัญลักษณ์นี้ในบทเพลง ซึ่งถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการใช้สัญญะเพื่อเปรียบเทียบไว้ได้อย่างน่าสนใจ
จากนั้นเราก็สรุปบทเรียนโดยอธิบายเพิ่มเติมว่า โวหารภาพพจน์ หรือสัญลักษณ์ จริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่แค่ในวรรณคดี หนังสือ ตำราที่เราอ่านกันเพียงอย่างเดียว แต่มันสอดแทรกอยู่ในสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราอย่างเช่น เพลง เป็นต้น ดังนั้นถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวิเคราะห์การใช้ภาพพจน์ การใช้สัญลักษณ์ รวมถึงการใช้ภาษา เราก็จะสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปวิเคราะห์สื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และทำให้เราเข้าใจประเด็นหลักหรือใจความสำคัญของสื่อชนิดนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น
ไอเดียของเราก็จะมีประมาณนี้ค่ะ จริง ๆ สามารถนำไปสอนได้ทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายเลยค่ะ คุณครูอาจจะลองนำเพลงอื่น ๆ ที่เป็นกระแสไปให้นักเรียนวิเคราะห์ก็ได้ หวังว่าไอเดียของเราจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณครูท่านอื่น ๆ นะคะ :)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!