หากลองมองย้อนกลับไป เปรียบเทียบในสมัยที่คุณครูเคยเรียนหนังสือกับตอนนี้ล่ะก็ เราอาจตกใจว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะมากจริง ๆ นอกจากความรู้ต่าง ๆ จะหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ลักษณะสังคม ความเชื่อ ความคิดความอ่านของคน ๆ หนึ่ง ก็เคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน งานหนักจึงตกที่คุณครู ผู้สร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในห้อง จะทำยังไงให้เกิดทักษะที่สำคัญ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้กันล่ะ ?
คำตอบที่ปรากฎเข้ามาในหัวของคุณครูหลาย ๆ คน อาจกำลังนึกถึง “การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” หรือ Competency - based Learning ที่ได้ยินบ่อย ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน แต่จะเริ่มต้นเปลี่ยนห้องเรียนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบนี้ได้ต้องเริ่มต้นยังไง ? ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอะไรบ้าง ? ถึงอยากเปลี่ยนห้องเรียนแค่ไหน แต่ยังไม่รู้ก็คงยากที่จะทำสำเร็จอย่างแน่นอน
นี่คือคำถามใหญ่ที่ Workshop “โลกเปลี่ยนห้องเรียนปรับ : การศึกษาฐานสมรรถนะสู่ห้องเรียนของเรา” ซึ่งจัดในกิจกรรมงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต” Essential Soft Skills for the Future ตั้งใจออกแบบกระบวนการให้ได้เข้าใจภาพรวมของการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ พร้อมเข้าใจถึงองค์ประกอบต่าง ๆ และรับประสบการณ์ในการเป็น “ผู้เรียนรู้” ภายใต้วิธีเรียนรู้ฐานสมรรถนะจริง ๆ ขึ้นว่าเป็นอย่างไร
Credit กิจกรรมในบทความนี้เป็นของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
เนื้อหาในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ทั้งหมดเท่านั้น
สำหรับคุณครูที่สนใจสามารถติดตาม / สอบถามได้ที่
Facebook Page : สังคมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
Check - in : ความสำคัญของการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ
อาจารย์ผู้ดำเนินกิจกรรม ได้ชวนผู้เข้าร่วมพูดคุย ฉายภาพให้เห็นว่าโลกทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีดีกรีความเข้มข้นมากกว่าเดิมอย่างไร เช่น สมัยก่อนความรู้ที่เราเข้าถึง ต้องมาจากการสอน มาจากหนังสือ ตำรา ที่อยู่ในห้องสมุด ในขณะที่สมัยนี้นักเรียนของเรา เข้าถึงได้จากอินเตอร์เน็ต และ Social Network ต่าง ๆ ซึ่งมีมากมาย ทักษะที่เด็ก ๆ ควรมีเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ ไม่จบแค่เพียงการสืบค้น การอ้างอิงอีกต่อไป แต่ต้องเพิ่มเติมไปจนถึงการรู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุดสืบค้น หรือจะตรวจสอบความถูกต้องเป็นจริงของข้อมูลได้ยังไง
หรือในทุกวันนี้ เราต่างอยู่บนโลกที่มีความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง หรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย ขัดแย้ง และรุนแรง นอกจากนี้โลกยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เราในฐานะครูคงอยากให้นักเรียนมีความเข้าใจ สามารถเอาตัวรอดในโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ได้แน่นอน แต่จะทำยังไงให้เขามีทักษะเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มอบให้นักเรียนไปได้ เช่น เหตุการณ์โรงงานสารเคมีระเบิดในกรุงเทพฯ การหนีอพยพออกมา เด็ก ๆ ก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องทิศทางลม และรู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลนั้นได้จากที่ไหน
Session 1 : ทำความเข้าใจกับองค์ประกอบ และการเกิด “สมรรถนะ”
จากการ Check - in ก่อนหน้านี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ มีความจำเป็นกับเด็ก ๆ ที่ต้องเติบโตในลักษณะสังคม และโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนทุกวันนี้ รวมถึงต้องยอมรับว่าท้าทายกับคุณครูที่ตั้งใจสอนให้นักเรียนมีทั้งองค์ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะที่ดี (Attitude) เพื่อให้เด็ก ๆ ต่อยอดไปใช้ในชีวิตจริงของตัวเองต่อไป
หากอยากสร้างการเรียนรู้ฐานสมรรถนะให้นักเรียนสามารถทำในชีวิตประจำวันได้ ต้องมองเห็นความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่สำคัญ และจำเป็นในการทำงาน และใช้ชีวิต โดยปกติเมื่อเราพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เราน่าจะเคยเห็นแผนภาพนี้ผ่านตามาไม่มากก็น้อย
รูปแผนภาพนี้แสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ สอดประสานกันเป็นเกลียวจนเกิดเป็นสมรรถนะขึ้นมา ก่อนถูกแสดงออกเป็น “การกระทำ (Action)” ในที่สุด การวัดสมรรถนะจึงต้องเกิดขึ้นในตอนที่ “การกระทำ” ปรากฎขึ้นมา จึงจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด
ผู้ดำเนินกิจกรรมชวนให้ผู้เข้าร่วมได้คิดผ่านตัวอย่าง “การขับรถ” ว่าจะขับรถเป็น ได้ใบขับขี่นั้นต้องประกอบกันของ “K” เช่น ป้ายจราจร เส้นทาง ไฟเลี้ยว / “S” การบอกทาง ดูป้ายถนน ซอย การใช้รถ เปิดไฟเลี้ยว การเลี้ยงคลัตช์ / “A” เช่น มารยาท การให้ทางคนเดิน การเปลี่ยนเลนจราจร ซึ่งหากมีเพียง K S หรือ A ไม่ครบ หรือไม่ได้ถูกฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ คนนั้นก็คงยังขับรถไม่เป็นแน่นอน
เมื่อเปรียบเทียบกลับมาแล้วละก็ การสอนในรูปแบบเดิมที่เน้นให้เด็ก ๆ จำองค์ความรู้ได้ / มีทักษะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็น / ตระหนักรู้ถึงคุณลักษณะที่ดีแล้ววัดประเมินผลแยกกัน จึงไม่ตอบโจทย์กับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ที่ต้องการเห็นว่านักเรียนสามารถทำอะไรเป็นในชีวิตจริงอย่างแน่นอน
สำหรับองค์ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ (K-S-A) 3 สิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้นี้ “คุณลักษณะ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้เรียน หากเปรียบเทียบกับการขับรถ ผู้ที่ขับรถย้อนศร ขับแทรกเลยไปมา หรือขับเร็วจนอันตราย จริง ๆ แล้วเขาก็มีความรู้และทักษะในการขับรถตามกฎจราจร และรู้ว่าการขับรถต้องมีคุณลักษณะสำคัญคือการตระหนักรับผิดชอบต่อผู้อื่น เพียงแต่ผู้ขับรถคนนี้ ไม่ได้อินกับคุณลักษณะที่กล่าวมา เมื่อไม่อิน จึงทำให้พฤติกรรมการขับรถที่ถูกที่ควร ตามกฎจราจรไม่เกิดขึ้นนั่นเอง
ในทางกลับกัน คุณครูสามารถเน้นไปที่การสร้างคุณลักษณะ (A) เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเห็นประโยชน์ในการมีสมรรถนะนั้น ๆ และเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้องค์ความรู้ ทักษะ (K-S) เพิ่มขึ้นได้ต่อไป เช่น กิจกรรมที่ให้นักเรียนลองหาตัวอย่างเหตุการณ์อุบัติเหตุมา คุณครูอาจเปลี่ยนจากการให้นักเรียนตอบวิธีการในการป้องกันอุบัติเหตุนั้น ๆ (K-S) แล้วมาคอมเมนต์ว่าเป็นวิธีการที่ถูกหรือผิด เปลี่ยนเป็นการสวมบทบาทสมมุติของผู้คนหลาย ๆ ฝ่ายในกรณีนั้นว่าพวกเขาแต่ละคนรู้สึก หรือคิดอะไรอยู่ เพื่อทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญ เกิดความรู้สึกที่อยากเข้าใจขึ้น (A) ก่อนตั้งคำถาม ทำกิจกรรมเพื่อประกอบสร้างองค์ความรู้ ทักษะ เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่อาจเกิดกับตัวเองได้ต่อไป
Session 2 : สร้างการเรียนรู้แบบสมรรถนะ เริ่มได้เลยตั้งแต่ออกแบบแผนการเรียน
สมรรถนะนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1. สมรรถนะหลัก (Core Competency) ซึ่งทุกวิชาสามารถสร้างเสริมขึ้นได้ ซึ่งเทียบเคียงได้กับสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ข้อที่ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางฯ ปี 2551 ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และ 2. สมรรถนะเฉพาะวิชา (Specific Competency) คือสมรรถนะที่ต้องพัฒนาผ่านวิชานั้น ๆ โดยทั้ง 2 ประเภทนี้ก็สามารถส่งเสริมกันไปกันมาในตัวของเด็กได้นั่นเอง
ภารกิจของคุณครูอย่างเรา คือการเป็นผู้ออกแบบให้เด็ก ๆ ได้ทั้งสมรรถนะหลัก และสมรรถนะเฉพาะวิชา พร้อม ๆ กันในการสอนหรือการทำกิจกรรมในห้องเรียน ซึ่งคุณครูเองทำได้ง่าย ๆ โดยการถามกับตัวเองว่า “เรียนวิชานี้จบไป นักเรียนควรทำอะไรในชีวิตของเขาเป็นบ้าง ?” คำถามนี้จะช่วยให้คุณครูได้คิด พิจารณาว่าสิ่งที่อยากให้เด็ก ๆ สามารถทำในชีวิตประจำวันได้คืออะไร และกำหนดการวัดผลประเด็นใหญ่นั้นไว้ที่ปลายทาง แล้วจึงกำหนดขอบเขตเนื้อหาด้านความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ (K-S-A) ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อทำให้เห็นว่าระหว่างทาง คุณครูต้องสอน หรือจัดกิจกรรมใดมาให้นักเรียนฝึกฝนการนำ องค์ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ (K-S-A) ไปใช้ก่อนเขาจะไปถึงการแสดงพฤติกรรมปลายทางที่เราต้องการได้สำเร็จ
ผู้ดำเนินกิจกรรมได้ชวนถอดบทเรียนจากการสอนวิชา “มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม” โดยคุณครูกำหนดสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนสามารถทำได้เมื่อจบบทเรียนคือ “การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ เอง” ในการเรียนระยะเวลา 1 เทอมนั้น ผู้ออกแบบการสอนจึงเริ่มจาก
1. กำหนดองค์ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ (K-S-A) ผสานเข้ากับสมรรถนะ 5 ข้อในหลักสูตรแกนกลางฯ มาออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น ลงพื้นที่สังเกตปัญหาในชุมชน / นำเสนอหน้าห้องให้เพื่อน ๆ ได้ศึกษา / ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาต่าง ๆ พร้อมเสนอทางแก้ ระหว่างขั้นตอนนี้ คุณครูคือผู้ช่วยสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วยการบอกชุดข้อมูล แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองคิด ผ่านการถามคำถาม เช่น ทำไมพื้นที่ตรงนี้มีปัญหามากที่สุด / ปัญหารถติด เกี่ยวข้องกับปัญหาการระบายน้ำ การทิ้งขยะหรือไม่ เด็ก ๆ ก็จะได้สร้างความรู้ของตัวเองขึ้นมา
2. โยนสถานการณ์ที่นักเรียนมีโอกาสพบเจอในชีวิตประจำวัน เป็นโจทย์ในการสอนและประเมินให้นักเรียนลองทำ เช่น ให้พวกเขาลองกลับบ้าน นำความรู้ วิธีที่ได้ ไปลดค่าไฟ ค่าน้ำ ลดปริมาณขยะที่บ้านดู เพื่อให้ครูประเมินผลสมรรถนะเด็ก ๆ ระหว่างทาง (Formative Assessment)
3. เพิ่มสถานการณ์ที่ท้าทายที่สุด สรุปให้นักเรียนแสดงออกว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้มั้ย เช่น ให้พวกเขาทำวิดีโอบอกเล่าว่าตลอดทั้งวันที่อยู่นอกบ้านและในบ้าน จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยังไงบ้าง เพื่อให้ครูประเมินผลปลายทางว่าเด็ก ๆ สามารถทำสิ่งนั้นในชีวิตประจำวันได้ดีแค่ไหน
เมื่อเปรียบเทียบกับแผนภาพ จะเห็นว่าแต่ละช่วงที่คุณครูสอนระหว่างทาง จะสอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนควรได้รับในการเรียนรู้รูปแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะแบบนี้
วิธีออกแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ไม่ได้จบเพียงการปรับวิธีการสอน หรือแผนการสอนเท่านั้น แต่การออกแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะให้ได้ผล ยังต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างคือ “การประเมิน” นั่นเอง
Session 3 : ประเมินอย่างไรให้เห็นสมรรถนะของนักเรียน ?
การประเมินผลลัพธ์ในการเรียนที่นักเรียนแสดงออกมา ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ หรือการออกแบบแผนการเรียนเลย โดยการประเมินเพื่อให้เห็นถึงสมรรถนะนั้นควรออกแบบเกณฑ์ (Rubrics) ใหม่ที่ใช้ตกลงและเข้าใจร่วมกัน ทั้งตัวเรา นักเรียน และผู้ปกครอง โดยเกณฑ์นี้ต้องเป็นการประเมินพฤติกรรม หรือการกระทำที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าใครใช้ก็จะเข้าใจตรงกัน ซึ่งควรให้เด็ก ๆเข้าใจก่อนเริ่มเรียนวิชานั้น ๆ เมื่อพวกเขาได้รู้เกณฑ์แล้ว จะยิ่งทำให้เกิดการรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกด้วย
นอกจากนี้ เกณฑ์การประเมินจะแบ่งออกเป็นแบบขั้นบันได 4 ขั้นด้วยกัน คือ ขั้นเริ่มต้น / ขั้นกำลังพัฒนา / ขั้นมาตรฐาน / ขั้นเหนือความคาดหวัง โดยครูต้องพัฒนานักเรียนให้ไปถึงขั้นมาตรฐานให้ได้ก่อนจบบทเรียน เกณฑ์การประเมินขั้นบันไดนี้จะช่วยให้คุณครูอธิบาย และเสริมสิ่งที่พวกเขาควรพัฒนาต่อไปได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้าง Growth Mindset พร้อมปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ยอมรับความสามารถของตัวเองได้อย่างแท้จริง และมองว่ามีพื้นที่ในการพัฒนาต่อไปอีกด้วย
เพราะ “สมรรถนะ” ของแต่ละคนพัฒนาได้แตกต่างกันตามวิธีการเรียนรู้ (Learning Style) และจังหวะในการเรียนรู้ของตัวเอง (Self - Pacing) บางคนสามารถทำสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีประสบการณ์ ความถนัด และความสนใจที่ต่างกัน หากเราเลือกใช้การประเมินแบบเดิมที่เน้นการตัดสินผลลัพธ์ อาจเป็นการตัดสินเร็วเกินไปว่าคน ๆ นั้น มีความสามารถ มีสมรรถนะแล้วหรือยัง เราจึงควรมาให้ความสำคัญกับการประเมินระหว่างทางที่เน้นการประเมินเพื่อพัฒนา โดยเน้นการให้ Feedback แก่นักเรียน เพื่อสะท้อนให้ประเมินตัวเองเพื่อพัฒนา ปรับปรุงความสามารถของเด็ก ๆ ซึ่งคุณครูจะมั่นใจได้เลยว่านักเรียนของเรา จะสำเร็จเป้าหมายได้ไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน
ความเข้าใจทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณครูไม่ว่าจะอยู่ในระดับชั้นไหน สอนวิชาอะไร สามารถปรับห้องเรียนสู่ห้องเรียนฐานสมรรถนะ
ซึ่งตอบโจทย์การเรียนไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนสมัยใหม่ได้อย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนลองนำไปทำดูน้าาา
คุณครูที่สนใจสามารถติดตามการอัพเดตหนังสือ และกิจกรรม Workshop ได้ที่
Facebook Page: สังคมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้เลย
Credit กิจกรรม : โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!