inskru
gift-close

โมเดลการจัดการเรียนการสอน พัฒนาการอ่านสะกดคำ ภาษาอังกฤษ

6
9
ภาพประกอบไอเดีย โมเดลการจัดการเรียนการสอน พัฒนาการอ่านสะกดคำ ภาษาอังกฤษ

สวัสดีผู้อ่านค่ะ ผู้เขียนขอแทนตัวเองว่า 'ครูภา' ครูภาเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนขนาดเล็กค่ะ ซึ่งก่อนที่ครูภาจะได้มาสอนที่นี่ โรงเรียนขาดครูวิชาเอกภาษาอังกฤษ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ  DLTV/DLIT จึงมีทรัพยากรที่เอื้ออำนวยเพียงพอต่อการเรียนการสอน เช่น สื่อการเรียนรู้ของวิชาต่าง ๆ สัญญาณอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการ DLTV/DLIT ทำให้นักเรียนยังคงได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครูเอกวิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนยังคงขาดความสม่ำเสมอในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ขาดการฝึกฝนจริงจังที่เพียงพอ ทำให้นักเรียนไม่ได้รับการปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษ ส่งผลต่อการได้รับความรู้ความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานในวิชาภาษาอังกฤษ อันเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น 

หลังจากทำการสอนที่โรงเรียนนี้ได้ไม่นาน ครูภาพบอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนคือนักเรียนขาดความรู้พื้นฐานในวิชาภาษาอังกฤษในระดับวิกฤต กล่าวคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนขาดความรู้ความสามารถเบื้องต้นในทุกทักษะของภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ พื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนไม่สอดคล้องกับระดับชั้นของนักเรียน ตัวอย่างเช่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังไม่สามารถเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษและระบุชื่อของตัวอักษรได้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บางคนยังไม่สามารถจำตัวอักษรภาษาอังกฤษได้ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในเรียนและสอนเนื้อหาสาระที่จะใช้ในการสอนตามระดับชั้น ครูไม่สามารถสอนเนื้อหาที่ท้าทายนักเรียนได้เพราะมัวแต่ต้องเน้นย้ำเรื่องเนื้อหาเดิม หรือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ไม่สามารถอ่านสะกดคำศัพท์ภาษาอังกฤษง่าย ๆ ได้ (เช่นคำว่า fan, rat, men, eat, sun) เนื่องจากขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเสียงของตัวอักษรส่งผลต่อความสามารถในการอ่านสะกดคำ

  การจัดการเรียนการสอนจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้นนักเรียนต้องมีพื้นฐานอย่างน้อยคือ อ่านออก เขียนได้ ซึ่งปัญหาที่พบนั้นควรได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างตรงจุด คือ นักเรียนไม่สามารถอ่านสะกดคำภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากไม่มีความคุ้นชินกับภาษาอังกฤษและไม่เห็นถึงความสำคัญจนเกิดเป็นพฤติกรรมละเลย และขาดความจริงจังและสม่ำเสมอในการเรียนรู้และฝึกฝน คนเป็นครูพบเจอปัญหาก็ต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างนิสัยและทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน โดยการนำเสนอภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้แก่นักเรียนให้ได้บ่อยที่สุด ที่สำคัญคือเน้นการเรียนรู้และประเมินผลที่สร้างสรรค์และสร้างความสนุกสนาน เช่น กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เสริมจากเนื้อหาในบทเรียน เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากนิทาน เพลง เกมส์ เน้นเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากความชอบ/ความสนใจของนักเรียนและลงมือสร้างชิ้นงาน/ใบงานเป็นของตนเองเพื่อเป็นการประมวลผลการจัดการความรู้ของนักเรียน

เมื่อนักเรียนได้พบเจอและฝึกฝนภาษาอังกฤษในแต่ละทักษะบ่อย ๆ นักเรียนก็จะมีความสนใจ อยากค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะครูได้ปลูกฝังและสร้างนิสัยการเรียนรู้จากการที่นักเรียนพบเห็นภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน นักเรียนก็จะริเริ่มและแสวงหาความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนเป็นนิสัย มองภาษาอังกฤษเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเรียนรู้และมองในแง่บวกมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาจากต้นเหตุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากตั้งใจจะแก้ไขเพื่อนักเรียนจริง ๆ ครูทุกคนสามารถทำได้โดยกระบวนการและขั้นตอนที่อาศัยการดำเนินการเป็นระบบอย่างชัดเจน จะทำสิ่งใดก็ต้องมีการวางแผน คิดค้นกระบวนการทำงานที่เป็นลำดับขั้นตอน มีการติดตามผลของแผนที่วางไว้ และประเมินความสำเร็จว่าบรรลุตามจุดที่มุ่งหวังหรือไม่ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ/ระบบ จะช่วยให้ปัญหาค่อย ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

ครูภาได้รวบรวมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เชื่อว่า ครูที่สอนวิชาภาษาอังกฤษหลาย ๆ คนมักทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น เรียนภาษาอังกฤษด้วยเพลง นิทาน เกมส์ เป็นต้น มาจัดไว้ในกระบวนการขั้นตอนที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงานเพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถในการอ่านสะกดคำภาษาอังกฤษของนักเรียนได้ อันจะส่งผลอันดีให้ผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษมีระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวมีชื่อว่า DRIVE Model เป็นกรอบแนวคิดที่ให้ครูดำเนินแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นกระบวนการขั้นตอน ซึ่งครูภาจะขยายความ DRIVE Model พอสังเขปในลำดับต่อไป 

ในการสร้าง DRIVE Model ครูภาได้นำหลักการ PDCA มาเป็นแนวทางในการสร้างกรอบแนวคิดนี้ โดยแต่ละขั้นตอนของ DRIVE Model สอดคล้องกับแต่ละขั้นตอนของวงจร PDCA เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการการเรียนการสอนอย่างมีระบบซึ่งเห็นว่าการจัดการการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ต้องใช้กลยุทธ์ในการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุขอีกด้วย  

DRIVE Model เป็นกรอบแนวคิดที่ช่วยในการพัฒนากลยุทธ์และการปฏิบัติงาน โดยมีขั้นตอนหลัก 5 ขั้นตอนคือ 

  1. Design (ออกแบบ) 
  2. Respond (ตอบสนอง)
  3. Implement (ดำเนินการ)
  4. Verify (ตรวจสอบ)
  5. Enhance (ปรับปรุง) 

ซึ่งแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องมีเป้าหมายและกิจกรรมที่ชัดเจนเพื่อเป็นกรอบให้ปฏิบัติตาม 

ผลที่ได้จากการดำเนินงานตามกรอบ DRIVE Model มีดังนี้ 

  1. นักเรียนมีความสามารถในการอ่านออกเสียงและสะกดคำภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นและมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น
  2. เพิ่มความเข้าใจและความสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษ
  3. นักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาและหลักการของภาษาอังกฤษมากขึ้นและมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น
  4. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  5. นักเรียนมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มขึ้นจากการใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายและการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่าน DLTV

ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเนื้อหาหลักของโมเดล ครูภาจะแนบไฟล์รายงานไว้เพื่อผู้ที่สนใจต้องการค้นคว้าอย่างละเอียดหรือศึกษาเพื่อเป็นแนวทางค่ะ ขอขอบคุณที่มีความสนใจและมีส่วนรวมในบทความฉบับนี้นะคะ...

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาอังกฤษประถมมัธยมต้นมัธยมปลายการจัดการชั้นเรียนเทคโนโลยีการสอนเกมและกิจกรรม

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    6
    ได้แรงบันดาลใจ
    9
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    KruEngSasiprapha
    ใจเย็น ตั้งใจ มุ่งมั่น ภาษาอังกฤษจะไม่ยากอีกเลย

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ