การจัดกิจกรรม "เวียนวาดวันสำคัญ" เริ่มต้นจาการที่ครูผู้สอนอยากพัฒนาการการจัดการเรียนรู้ในวิชาสังคมศึกษา สาระพระพุทธศาสนา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากในปัจจุบันนักเรียนให้ความสนใจต่อพระพุทธศาสนาน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง และกระบวนการจัดการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาที่ผ่านมา นักเรียนต้องเรียนเนื้อหาสาระมากมายซ้ำซ้อน และเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน อีกทั้งไม่ทำให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดในการเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียนขาดการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ไม่มองเห็นความสำคัญและประโยชน์ในการเรียนได้ จึงเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้
การจัดกิจกรรม "เวียนวาดวันสำคัญ" โดยการใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) แบบกิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning : ABL) ร่วมกับการประเมินกลุ่ม (Group Assessment : GA) ซึ่งเน้นการทำงานกลุ่มและการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ผ่านการวาดภาพและการทำงานร่วมกันในกลุ่ม กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ยังเสริมสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งครูผู้สอนได้มีกระบวนการออกแบบและดำเนินการจัดการเรียนรู้และประเมินผลตามกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning : ABL) ร่วมกับการวัดผลแบบกลุ่ม (Group Assessment : GA) ดังนี้
ชั่วโมงที่ 1
1. ขั้นนำ ครูร่วมพูดคุยกับนักเรียนโดยการตั้งคำถามถามนักเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักเรียน ที่เคยไปร่วมกิจกรรมหรือพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
2. ขั้นกระตุ้นและให้ประสบการณ์ ครูเปิดรูปภาพและวิดีโอให้นักเรียนดูเกี่ยวกับวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา แล้วให้นักเรียนร่วมกันตอบว่ารูปภาพและวิดีโอดังกล่าวคือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันใด
3. ขั้นกิจกรรม นักเรียนถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม โดยใช้การสุ่มจัดนักเรียนเข้ากลุ่ม เพื่อให้คละความสามารถในกลุ่ม ตามความสามารถที่หลากหลาย แต่ละกลุ่มจะได้รับหมายเลข 1 – 8 เป็นหมายเลขประจำกลุ่ม เพื่อมอบหมายหัวข้อที่เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
กลุ่มหมายเลข 1 และ 5 รับผิดชอบหัวข้อวันวิสาขบูชา
กลุ่มหมายเลข 2 และ 6 รับผิดชอบหัวข้อวันธรรมสวนะ
กลุ่มหมายเลข 3 และ 7 รับผิดชอบหัวข้อวันเข้าพรรษา
กลุ่มหมายเลข 4 และ 8 รับผิดชอบหัวข้อวันออกพรรษา
นักเรียนแต่ละกลุ่มจะร่วมกันศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับผิดชอบจากหนังสือเรียนและใบความรู้ เพื่อให้มีความเข้าใจในหัวข้อที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน จากนั้นครูผู้สอนแจกกระดาษ สี และอธิบายกติกากิจกรรมให้นักเรียนแต่ละกลุ่มฟัง โดยกติกามีอยู่ว่า
(1) ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มวาดภาพวันสำคัญที่ตัวเองได้รับผิดชอบลงในกระดาษ โดยห้ามเขียนข้อความใด ๆ ลงในกระดาษ ให้เวลาทำกิจกรรม 5 นาที
(2) หลังจากครบ 5 นาที ให้ทุกกลุ่มส่งต่อกระดาษของกลุ่มตัวเองไปยังกลุ่มถัดไปในลักษณะตามเข็มนาฬิกา
(3) เมื่อแต่ละกลุ่มได้รับกระดาษจากกลุ่มอื่นมาแล้วให้วาดต่อเรื่องราววันสำคัญของเพื่อน โดยรอบที่ 2 นี้ มีเวลาในการวาด 4 นาที หากครบกำหนดเวลาแล้ว ก็จะวนกระดาษส่งต่อไปให้กลุ่มอื่น ในลักษณะตามเข็มนาฬิกา โดยวนให้ครบ 8 กลุ่ม และเวลาแต่ละรอบจะลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนี้
- รอบที่ 3 ให้เวลา 3.5 นาที
- รอบที่ 4 ให้เวลา 3.0 นาที
- รอบที่ 5 ให้เวลา 2.5 นาที
- รอบที่ 6 ให้เวลา 2.0 นาที
- รอบที่ 7 ให้เวลา 1.50 นาที
- รอบที่ 8 ให้เวลา 1.00 นาที
(4) เมื่อกระดาษที่วาดภาพวนมาที่กลุ่มตัวเอง ให้สมาชิกในกลุ่มตรวจดูความเรียบร้อยที่เพื่อนวาดต่อเรา หากขาดเรื่องราวส่วนไหนให้สมาชิกกลุ่มแต่งเติมให้เรียบร้อย จากนั้นครูผู้สอนเก็บกระดาษที่นักเรียนทำกิจกรรม
4. ขั้นสรุปและนำไปใช้ ครูผู้สอนร่วมสรุปความรู้เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากับนักเรียนในประเด็นของความสำคัญ ศาสนพิธี และธรรมเนียมประเพณีของพุทธศาสนิกชนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ชั่วโมงที่ 2
5. ขั้นประเมินผล ครูผู้สอนให้นักเรียนดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการทบทวนความรู้เดิมที่ได้จัดกิจกรรมในชั่วโมงที่ผ่านมาก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนของการประเมินผลจากนั้นครูผู้สอนชี้แจงรายละเอียดให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนกการประเมินผล และดำเนินการประเมินผลตามรายละเอียดและขั้นตอน ดังนี้
1. ชุดข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ซึ่งเป็นรูปภาพวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นักเรียนร่วมกันทำเมื่อชั่วโมงที่ 1 แล้วให้นักเรียนเลือกตอบว่ารูปภาพดังกล่าวคือภาพของวันสำคัญวันใด
2. ครูผู้สอนแบ่งให้นักเรียนสอบเป็นชุด ชุดละ 8 คน โดยการเรียงเลขที่ โดยกำหนดกติกาว่านักเรียนที่สอบแต่ละชุด ต้องห้ามบอกลักษณะของข้อสอบและคำตอบของข้อสอบกับเพื่อนที่ยังไม่ได้ทำข้อสอบ
3. นักเรียนแต่ละชุดจะมีเวลาในการทำข้อสอบ ข้อละ 30 วินาที จนกระทั้งแต่ละคนที่ข้อสอบครบ ทั้ง 8 ข้อ จึงจะให้นักเรียนชุดต่อไปเข้ามาทำข้อสอบได้
4. เมื่อนักเรียนทำข้อสอบครบทุกคน ครูและนักเรียนร่วมเฉลยข้อสอบพร้อมกันโดยการเปิดภาพข้อสอบ และเฉลยคำตอบทีละข้อ
การประเมินผลโดยการวัดผลแบบกลุ่ม (Group Assessment : GA) กิจกรรม "เวียนวาดวันสำคัญ" มีการประเมินและให้นักเรียนอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ให้นักเรียนนำคะแนนที่ได้ของแต่ละคนมารวมกับสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ทีทำกิจกรรมเมื่อชั่วโมงที่แล้วจากนั้นนำมาหารด้วยจำนวนสมาชิกในกลุ่มเพื่อหาคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่ม โดยมีคะแนนเต็ม 8 คะแนน
ส่วนที่ 2 คะแนนจากสัดส่วนการตอบถูกของนักเรียนในห้องต่อรูปภาพของแต่ละกลุ่มทั้ง 8 รูปภาพ โดยแบ่งการให้้คะแนนเป็น 3 โซน คือ
- โซนที่ 1 คือกลุ่มที่มีสัดส่วนตอบถูกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ให้ 5 คะแนน
- โซนที่ 2 คือกลุ่มที่มีสัดส่วนตอบถูกมากกว่า 60-79 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ให้ 4 คะแนน
- โซนที่ 3 คือกลุ่มที่มีสัดส่วนตอบถูกน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ให้ 3 คะแนน
ส่วนที่ 3 คะแนนจากการประเมินการทำงานของแต่ละกลุ่ม 5 คะแนน
นำคะแนนทั้ง 3 ส่วนมาบวกกัน จากนั้นคูณด้วย 18 และหารด้วย 5 ก็จะได้คะแนนจริงที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งการประเมินผลโดยการวัดผลแบบกลุ่ม (Group Assessment : GA) จะช่วยเสริมสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความสามารถที่จะทำงานในฐานะสมาชิกผู้มีประสิทธิภาพของกลุ่ม
จากนั้นครูผู้สอนให้นักเรียนจะสะท้อนความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการวัดผลในชั่วโมงนี้ โดยการเล่าความรู้สึก ความประทับใจ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรม การสะท้อนความรู้ช่วยให้นักเรียนสามารถมองเห็นพัฒนาการของตนเองและรับรู้ถึงคุณค่าของการเรียนรู้ร่วมกัน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!