inskru
gift-close

การวัดและประเมินผลโดยใช้ ChatGPT

5
7
ภาพประกอบไอเดีย การวัดและประเมินผลโดยใช้ ChatGPT

แชร์ไอเดียการวัดและประเมินผลโดยใช้ ChatGPT

หลายท่านคงคุ้นเคยกับ ChatGPT ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย OpenAI สามารถสนทนาและตอบคำถามได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างใบงาน ไปจนถึงการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

การออกแบบการวัดและประเมินผลเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอน บางครั้งอาจเกิดคำถามว่าจะวัดผลนักเรียนอย่างไรดี เกณฑ์การให้คะแนนควรเป็นอย่างไร หรือจะมีวิธีใดที่จะช่วยให้นักเรียนตรวจสอบความรู้หรือผลงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้จึงอยากจะแชร์ไอเดียการใช้ ChatGPT เป็นตัวช่วยในการวัดและประเมินผลนักเรียน

1. การออกแบบการวัดและประเมินผล

ขั้นตอนการออกแบบการวัดและประเมินผล สามารถทำได้ตั้งแต่การกำหนดว่าจะวัดผลนักเรียนอย่างไร โดยพิจารณาจากจุดประสงค์การเรียนรู้เป็นหลัก เช่น การจัดการเรียนรู้เรื่องต่อมไร้ท่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจุดประสงค์การเรียนรู้คือ ระบุตำแหน่งของต่อมไร้ท่อและเนื้อเยื่อที่สำคัญในร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เมื่อพิมพ์คำสั่งแล้วจะได้คำตอบ ดังตัวอย่าง

จากคำตอบจะเห็นได้ว่าเป็นรูปแบบของการวัดผลซึ่งมีหลากหลายวิธี ครูสามารถเลือกรูปแบบที่สนใจไปใช้เป็นในการวัดผล อีกทั้งยังสามารถนำไปออกแบบกิจกรรมได้ เช่น กิจกรรม endocrine mapping เป็นต้น

2. การออกแบบเกณฑ์การประเมิน

ในการณีที่ครูมีชิ้นงานหรือใบงานอยู่แล้ว แต่ยังขาดเกณฑ์ในการประเมินว่าครูจะพิจารณาคะแนนในประเด็นใดบ้าง ประเด็นละกี่คะแนน สามารถทำได้โดยการอัพโหลดไฟล์งานหรืออธิบายกิจกรรมในช่องคำสั่ง ดังตัวอย่าง

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ChatGPT สามารถออกแบบการวัดผลได้อย่างน่าสนใจและครบตามจุดประสงค์ของใบงาน แต่อาจจะต้องมาพิจารณาถึงสัดส่วนคะแนนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น อาจจะให้คะแนนความถูกต้องของข้อมูลมากที่สุดและลดคะแนนในส่วนอื่นลง เป็นต้น ซึ่งเราสามารถพิมพ์คำสั่งเพิ่มเติมเพื่อให้ ChatGPT ปรับเปลี่ยนให้ได้ หรือแม้กระทั่งสั่งให้ทำตารางบันทึกผลเพิ่ม ดังตัวอย่าง

3. ช่วยตรวจสอบและแนะนำเกณฑ์การให้คะแนนที่สร้างขึ้น

หากเรามีเกณฑ์การให้คะแนนชิ้นงานหรือกิจกรรมอยู่แล้ว แต่ว่าเกณฑ์ของเราครอบคลุมหรือยัง สอดคล้องกับจุดประสงค์หรือไม่ อ่านแล้วเข้าใจหรือยัง สามารถใช้ ChatGPT ช่วยตรวจสอบได้โดยใส่รายละเอียดของกิจกรรมหรือชิ้นงานที่ต้องการวัด และเกณฑ์การประเมินไปเพื่อให้ ChatGPT ช่วยตรวจสอบ ดังตัวอย่าง

เมื่อทราบข้อเสนอแนะแล้ว สามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินได้ ดังตัวอย่าง

4. ช่วยตรวจสอบงานของนักเรียนเบื้องต้น

การสั่งงานนักเรียนให้นักเรียนแต่ละคนมีหัวข้อหรือสถานการณ์ที่แตกต่างกัน มีข้อดีคือช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจของแต่ละคน เพิ่มความหลากหลายของมุมมอง ลดการลอกเลียนแบบ เสริมทักษะการแก้ปัญหาที่หลากหลาย แต่อาจทำให้ครูตรวจงานยากขึ้น เพราะต้องเข้าใจบริบทของแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด การประเมินผลอาจใช้เวลามากขึ้น เช่น ครูให้นักเรียนแต่ละคนศึกษาลักษณะการสืบพันธุ์ของสัตว์ต่างชนิดกัน ในหนึ่งห้องมีนักเรียน 40 คน ทำให้ครูอาจตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง การให้นักเรียนตรวจสอบชิ้นงานของตัวเองเบื้องต้น ผ่าน ChatGPT ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสตรวจสอบและปรับปรุงงานของตนเองก่อนส่ง ช่วยพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และวิจารณ์งานตนเองอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นงานที่ต้องสืบค้นข้อมูล ครูควรพยายามให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลหรือลงมือทำด้วยตนเองก่อน แล้วจึงค่อยใช้ ChatGPT เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการสืบค้นของนักเรียน ตัวอย่างกิจกรรม

  1. ครูสุ่มชื่อสิ่งมีชีวิตให้แก่นักเรียนโดยไม่ซ้ำกัน


2. ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลตามคำสั่งให้ครบถ้วน


3. นักเรียนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเอง

5. ประเมินคำตอบของนักเรียน

การให้นักเรียนตอบคำตอบในรูปแบบอัตนัย มีข้อดีคือสามารถวัดความคิดวิเคราะห์และความเข้าใจเชิงลึกของนักเรียนได้ ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดและการสื่อสารอย่างอิสระ นอกจากนี้ยังลดการท่องจำและเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตนเอง อย่างไรก็ตามคำตอบแบบอัตนัยตรวจสามารถประเมินได้ยากเพราะคำตอบไม่มีรูปแบบตายตัว ทำให้ต้องใช้เวลาในการอ่านและวิเคราะห์ความคิดของนักเรียนอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีความยากในการตั้งเกณฑ์การให้คะแนนที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากคำตอบอาจมีหลายรูปแบบที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับการอธิบายและการแสดงเหตุผลของนักเรียน ซึ่งครูสามารถนำเกณฑ์และคำตอบของนักเรียนให้ ChatGPT ช่วยประเมินคำตอบได้

เช่น ครูให้นักเรียนตอบคำถามผ่าน Google Form โดยมีสถานการณ์ คำถาม และเกณฑ์การให้คะแนน ดังตัวอย่าง

ตัวอย่างสถานการณ์และคำถาม

เกณฑ์การให้คะแนนสำหรับการตอบคำถามตามที่กำหนด สามารถแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบได้ดังนี้:

1. ข้อกล่าวอ้าง (1 คะแนน)

  • ให้คะแนนเต็มหากนักเรียนสามารถระบุทัศนะหรือความคิดเห็นของตนเองอย่างชัดเจนว่าตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความในโจทย์
  • ตัวอย่างเช่น "เห็นด้วยว่ากุ้งที่มีเปลือกแข็งรู้สึกเจ็บปวดได้น้อยกว่าสัตว์ที่ไม่มีเปลือกแข็ง"

2. หลักฐาน (2 คะแนน)

  • ให้คะแนนตามการนำเสนอข้อมูลหรือหลักฐานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เช่น การอ้างอิงลักษณะทางชีววิทยาของกุ้ง ความแตกต่างระหว่างสัตว์ที่มีเปลือกแข็งและไม่มีเปลือกแข็ง หรือข้อมูลจากบทความที่อ้างถึง
  • 2 คะแนน: หลักฐานที่นำเสนอครบถ้วนและสอดคล้องกับข้อกล่าวอ้าง
  • 1 คะแนน: หลักฐานมีบางส่วนที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ครบถ้วนหรือไม่สอดคล้องทั้งหมด
  • 0 คะแนน: ไม่มีการยกหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

3. การให้เหตุผล (2 คะแนน)

  • ให้คะแนนตามความสามารถในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อกล่าวอ้างกับหลักฐานที่นำเสนอ เพื่อสร้างข้อสรุปที่มีเหตุผล
  • 2 คะแนน: การให้เหตุผลมีความชัดเจน สอดคล้องกับหลักฐาน และเชื่อมโยงกับข้อกล่าวอ้างอย่างเป็นระบบ
  • 1 คะแนน: การให้เหตุผลมีบางส่วนที่ชัดเจน แต่ยังขาดความเชื่อมโยงหรือมีการวิเคราะห์ที่ไม่เพียงพอ
  • 0 คะแนน: ไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนหรือไม่สอดคล้องกับหลักฐาน

การให้คะแนนจะรวมทั้งหมด 5 คะแนน โดยเน้นที่ความสอดคล้องของข้อกล่าวอ้าง หลักฐาน และการให้เหตุผลที่เชื่อมโยงกัน

ให้ครูอัพโหลดสถานการณ์ คำถาม เกณฑ์การให้คะแนน ลงใน ChatGPT จากนั้นพิมพ์คำตอบของนักเรียนลงไปเพื่อประมวลผล ดังตัวอย่าง

ตัวอย่างนักเรียนคนที่ 1

ตัวอย่างนักเรียนคนที่ 2

อย่างไรก็ตามครูควรใส่เกณฑ์การประเมินให้ชัดเจนมาก ๆ และใส่ตัวอย่างคำตอบที่ได้คะแนนเต็มไปด้วยเพื่อให้ AI ช่วยประมวลผลได้แม่นยำมากขึ้น และครูควรตรวจสอบการให้คะแนนทุกคร้งในกรณีที่คำถามป็นประเด็นที่อธิบายได้ยาก หรือมีการวาดภาพประกอบ

สรุป

การนำ ChatGPT มาช่วยในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นแนวทางที่น่าสนใจและมีประโยชน์ในหลายมิติ ตั้งแต่การออกแบบการวัดผล การสร้างเกณฑ์การประเมิน การตรวจสอบเกณฑ์ที่สร้างขึ้น ไปจนถึงการช่วยตรวจสอบงานของนักเรียนและการประเมินคำตอบอัตนัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ ChatGPT ช่วยลดภาระของครูในการออกแบบและตรวจสอบงานในเชิงรายละเอียด ทำให้นักเรียนสามารถตรวจสอบผลงานและพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ควรเป็นเครื่องมือเสริมเพื่อสนับสนุนกระบวนการสอน ไม่ใช่ทดแทนการพิจารณาและการประเมินผลจากครูโดยตรง หวังว่าบทความนี้จะเป็นไอเดียให้แก่เพื่อนครูนำไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อย หากมีข้อเสนอแนะหรือนำไปใช้แล้วได้ผลอย่างไรแลกเปลี่ยนในช่อง comment ได้เลยนะครับ

การวัดและการประเมินผล

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

5
ได้แรงบันดาลใจ
7
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insKruNut
ครูผู้ช่วยชีววิทยา

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ