จุดเริ่มต้นไอเดียนี้มาจากการต่อยอดจากเกมที่แล้วที่เราเคยออกแบบไว้ นั่นคือ เกมการ์ด "ท่องโลกไปเจอคลื่น ตื่นเต้นกับการสั่น สะท้านโลกา" ซึ่งผลตอบรับจากนักเรียนในตอนนั้นถือว่าดีกว่าที่คิดเอาไว้มาก ๆ เราก็เลยอยากจะทำเกมการ์ดอีกเกมนึงสำหรับให้นักเรียนได้ใช้ในการทบทวนบทเรียน เนื้อหาคราวนี้ที่เราหยิบมาคือ ภาพที่เกิดจากแลนส์บางและกระจกเงาทรงกลม ซึ่งปรากฏในเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 หน่วยการเรียนรู้ แสงเชิงรังสี ประกอบกับได้ลองสอบถามนักเรียนที่เราเคยฝึกสอนว่า เนื้อหาหน่วยดังกล่าวมีอะไรที่เรียนแล้วรู้สึกสับสนหรืองง ๆ บ้าง ก็ได้คำตอบว่าเป็นเนื้อหาภาพที่เกิดจากเลนส์บางและกระจกเงาทรงกลมนี่แหละ เราก็เลยได้ไอเดียเอามาทำเกมการ์ดเพื่อกระตุ้นความสนใจ เพิ่มความสนุก และได้ทบทวนความเข้าใจไปในตัวด้วย แต่รอบนี้เรามีการเพิ่มระบบบางอย่างเข้าไปให้มีความสนุกและปั่นป่วนมากขึ้น (ฮา 555555) ซึ่งเกมการ์ดอันนี้เราตั้งชื่อว่า "ภาพมันเบลอ หรือกระจก (เลนส์) เธอไม่ชัดเจน"
ขออธิบายอุปกรณ์ของเกมเบื้องต้นก่อนนะครับว่าประกอบด้วย
1) การ์ดความทรงจำ จำนวน 8 ใบ (ระบบที่เพิ่มเข้ามาใหม่)
2) การ์ดคำตอบ (Answer card) จำนวน 10 ใบต่อ 1 คน ซึ่งประกอบด้วยคำตอบดังนี้ ใช่ ไม่ใช่ กระจกเว้า กระจกนูน เลนส์เว้า เลนส์นูน ภาพจริง ภาพเสมือน ภาพหัวตั้ง และภาพหัวกลับ
3) การ์ด Problem จำนวน 32 ใบ และ
4) การ์ดนักวิทยาศาสตร์ จำนวน 6 ใบ (ระบบที่เพิ่มเข้ามาใหม่) โดยชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับแสงทั้งนั้น เช่น Thomas Young ที่ทำการทดลองการแทรกสอดของแสงผ่านสลิตคู่ของยังแล้วพิสูจน์ได้ว่าแสงมีพฤติกรรมเป็นคลื่น เป็นต้น
กติกาการเล่นจะเป็นประมาณนี้ครับ
1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 5-6 คน
2) ผู้เล่นแต่ละคนหยิบการ์ด Answer Card จำนวน 10 ใบ เก็บไว้กับตนเอง เพื่อใช้ในการตอบคำถามจากการ์ด Problem ในแต่ละรอบ
3) ผู้เล่นแต่ละคนสุ่มหยิบการ์ดนักวิทยาศาสตร์ 1 ใบ และศึกษาความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับ (แอบกระซิบว่า นักวิทยาศาสตร์แต่ละคนจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน บางอันก็ดูปั่นป่วนระบบเกมเหลือเกิน 55555)
4) สุ่มผู้เล่น 1 คนเป็นคนเริ่มเกม จั่วการ์ด Problem แล้วอ่านโจทย์ให้คนอื่นฟัง โดยที่คนอ่านโจทย์จะได้รับคะแนน 1 คะแนนทุกครั้ง ซึ่งในแต่ละการ์ด Problem จะมีเฉลยเป็นสัญลักษณ์อยู่บนหน้าการ์ด คนเปิดการ์ดจะต้องอ่านข้อความโดยไม่ให้คนอื่นเห็นเฉลย
5) ผู้เล่นที่เหลือจะต้องตอบคำถามโดยเปิด Answer Card ที่ถูกต้อง หากตอบถูกจะได้รับคะแนนตามที่ระบุบนหน้าการ์ด Problem ใบนั้น หากตอบผิดจะเสียคะแนนตามที่ระบุบนหน้าการ์ด Problem (กติกาส่วนนี้ปรับได้ตามความเหมาะสม เช่น กรณีที่ข้อนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า 1 คำตอบ อาจให้นับจำนวนคำตอบที่ถูกต้องและจำนวนคำตอบที่ตอบผิด นำมาหักลบกันก็จะกลายเป็นคะแนนสะสมที่ได้ในข้อนั้น หรืออาจให้คนอ่านบอกด้วยก็ได้ว่า Problem ใบนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่กี่คำตอบ เป็นต้น)
6) ผู้เล่นคนที่ 2 จั่วการ์ด Problem แล้วเล่นตามขั้นตอนเดิม
7) ในระหว่างการเล่น ผู้เล่นสามารถนำคะแนนที่สะสมได้ไปแลกซื้อการ์ดความทรงจำเพื่อนำมาใช้เป็นตัวช่วยได้ (กระซิบอีกรอบว่าการ์ดความทรงจำทุกใบสามารถใช้เป็นตัวช่วยได้จริง แต่จะมีทั้งตัวช่วยที่เป็นตัวเสริมความรู้ให้กับเราและตัวช่วยที่ปั่นป่วนเกม ทำให้เรามีโอกาสได้คะแนนสะสมมากขึ้นด้วย 55555)
8) เกมจบเมื่อการ์ด Problem หมดกองหรือเล่นครบจำนวนรอบตามที่กำหนด
9) ผู้เล่นที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ชนะ
หลังเล่นเสร็จ เราก็จะมีการมอบรางวัลให้กับนักเรียนที่เล่นได้คะแนนอันดับ 1 ของแต่ละกลุ่มด้วย นี่คือภาพบรรยากาศบางส่วนนะครับ
เราตั้งวัตถุประสงค์ไว้ประมาณนี้ครับ
1) ระบุชนิดของทัศนอุปกรณ์ ชนิดของภาพ และปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาพจากกระจกเงาโค้งและเลนส์บางได้ (K)
2) วิเคราะห์โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระจกเงาโค้งและเลนส์บางได้ (P)
3) ใฝ่เรียนรู้ด้วยการร่วมกิจกรรมการเล่นเกมการ์ด “ภาพมันเบลอ หรือกระจก (เลนส์) เธอไม่ชัดเจน” (A)
แต่ละข้อเราจะวัดผลดังนี้ 1) ให้นักเรียนทุกคนทำแบบทดสอบความเข้าใจหลังเรียนเรื่อง "ภาพจากเลนส์บางและกระจกเงาทรงกลม" ในช่วงท้ายคาบเรียน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เป็นแบบทดสอบเลือกตอบถูกผิดสั้น ๆ จำนวน 15 ข้อ เพื่อให้เราสามารถประเมินได้ว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจการเกิดภาพจากกระจกเงาโค้งและเลนส์บางมากน้อยแค่ไหน 2) ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดใน Google form หลังเล่นเสร็จทันที แบบฝึกหัดมี 2 ข้อใหญ่ 8 ข้อย่อย เป็นแบบเติมคำหรือเลือกตอบ เมื่อนักเรียนทำเสร็จแล้วกดส่ง นักเรียนก็จะรู้ว่าตัวเองได้เท่าไหร่ทันที นักเรียนก็จะประเมินด้วยตัวเองได้คร่าว ๆ ทันทีว่าวิเคราะห์โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระจกเงาโค้งและเลนส์บางได้มากน้อยแค่ไหน 3) ให้นักเรียนทุกกลุ่มส่งแบบบันทึกกิจกรรมการเล่นเกมการ์ด “ภาพมันเบลอ หรือกระจก (เลนส์) เธอไม่ชัดเจน”เป็นหลักฐานที่นักเรียนได้ร่วมกิจกรรม ทั้งนี้เราก็อยากให้นักเรียนได้รับความสนุกสนานจากการเล่นด้วย ได้เกิดการสื่อสารระหว่างเพื่อนกับเพื่อนด้วยกันเอง
แล้วก็เราได้ให้นักเรียนทำแบบประเมินการใช้สื่อเกมการ์ดใน Google form ด้วย โดยมีประเด็นคำถาม 5 ข้อ ได้แก่ 1) หลังจากได้เล่น นักเรียนรู้สึกอย่างไร 2) นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเล่น 3) ในความคิดของนักเรียน สื่อนี้มีจุดเด่นอะไรบ้าง 4) สิ่งที่นักเรียนชอบในสื่อหรือกิจกรรมนี้มีอะไรบ้าง 5) สื่อหรือกิจกรรมมีสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไปอย่างไรบ้าง
สำหรับ feedback ที่น่าสนใจ เช่น นักเรียนชอบตรงที่มีการ์ดเอาไว้แกล้งเพื่อนได้ การใช้รูปต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือ ทุกคนมีการ์ดคำตอบเป็นของตัวเอง แล้วก็ได้คะแนนเพิ่มจากการ์ดนักวิทยาศาสตร์ เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ได้ตีกับเพื่อน (5555555) สนุก "ได้ความรู้ที่คิดว่าถูก จริง ๆ แล้วผิด เอามาปรับใช้ในการสอบครั้งใหม่ค่ะ" ส่วนที่ต้องพัฒนาต่อ เช่น นักเรียนบอกอยากได้กระดาษหนา ๆ เพราะมันแอบเห็นเฉลยที่เพื่อนกำลังถือได้ การ์ดความทรงจำต้องใช้คะเเนนซื้อเยอะเกินไป (ระหว่างเล่น เราต้องลดราคาการ์ดกันหน้างาน 5555555) ไว้ถ้าครูท่านใดนำไปใช้อาจจะนำตรงนี้ไปปรับปรุงได้นะครับ
feedback จากเกมการ์ดรอบที่แล้วที่มีนักเรียนบอกว่า "อยากเล่นทั้งห้อง ให้ทุกคนมีไพ่ในมือแล้วครูอ่านโจทย์ นักเรียนยกไพ่ตอบ น่าจะสนุก" เราว่าในรอบนี้ที่เราได้ทำการ์ดคำตอบแจกให้กับนักเรียนทุกคนก็น่าจะตอบโจทย์ feedback ดังกล่าวได้อยู่ ครูท่านอื่นอาจจะเอาการ์ดคำตอบไปใช้ให้นักเรียนใช้ตอบคำถามในระหว่างที่ครูกำลังสอนเนื้อหาก็ได้ หรือให้ใช้การ์ดคำตอบทำโจทย์ปัญหาแข่งกันเป็นกลุ่มก็ได้ครับ
ขอให้การออกแบบการสอนของครูทุกท่านเป็นไปได้และทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขนะครับ :)
ลิงก์ template ครับ
https://www.canva.com/design/DAGQLTh5Yhs/qtsAtJBi_UUIKwukauIZjg/view?utm_content=DAGQLTh5Yhs&utm_campaign=designshare&utm_medium=link&utm_source=publishsharelink&mode=preview
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!