inskru

"ครูบ้ากล้าลอง" ทำยังไงถึงแก้ปัญหาในโรงเรียนอย่างยั่งยืนได้

4
2
ภาพประกอบไอเดีย "ครูบ้ากล้าลอง" ทำยังไงถึงแก้ปัญหาในโรงเรียนอย่างยั่งยืนได้

“มีใครอยากปวดหัวกับปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ทุกวันบ้าง”

แหม่… ใครจะยกมือละว่าอยากปวดหัว ไม่ว่าจะเป็นใครก็คงต้องการที่จะแก้ปัญหาที่เจอกันมาให้หายขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมเด็ก เรื่องความเรียบร้อย เรื่องการสอน เรื่องต่าง ๆ ในโรงเรียนที่มีมากมายเต็มไปหมดอย่างยั่งยืนกันทั้งนั้น

บางทีเราก็คิดวิธีดี ๆ ได้ แต่ก็ไม่มั่นใจ เพราะไม่เคยทำมาก่อน ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะแก้ปัญหาได้จริงมั้ย คิดไปคิดมาก็ได้แต่คิดอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าเอาลองทำจริง ๆ สักที

ถ้าคุณครูเป็นหนึ่งคนที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ พวกเราเข้าใจความรู้สึกของคุณครูมาก ๆ และอยากแบ่งปันกระบวนการดี ๆ ที่ได้ไปร่วมกิจกรรม Workshop "ครูบ้ากล้าลอง" ออกแบบห้องเรียนแบบช็อก ช็อก!? นำกิจกรรมโดย ครูกุ๊กกั๊ก - ร่มเกล้า ช้างน้อย ที่ทีมงาน insKru และ B2S Club ตั้งใจจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ มั่นใจเลยว่าถ้าคุณครูอ่านจนจบแล้ว ความกลัวจะหายไปแปรเปลี่ยนเป็นความกล้า พร้อมเผชิญหน้าจัดการทุกปัญหาที่ค้างคาใจแน่นอนเลยยย


Check-in : 

ก่อนจะเริ่มกิจกรรม Workshop ได้ก็ต้องทำความรู้จักกันก่อน ครูกั๊กได้เริ่มโดยการให้คุณครูหยิบการ์ดที่มีลวดลายและสีที่สื่อถึงความเป็นตัวเอง พร้อมให้แชร์สั้น ๆ เพื่อละลายพฤติกรรม ต่อมาก้ให้คุณครูเริ่มจับทีมตามสีเดียวกัน ก่อนจะจับคู่อีกครั้งตามลวดลายที่เหมือนกันในการ์ด (ขาว/ลายขีด/ทึบ)

ก่อนจะให้คุณครูพูดคุยกันมาขึ้นโดยการ “ระบาย” ระบายสิ่งที่อึดอัดคับคั้งใจ เมื่อแลกเปลี่ยนเสร็จแล้วก็ให้พูดคุยแชร์มุมมอง และวิธีแก้กันสักเล็กน้อย กระบวนการ check - in ทั้งหมดนี้ก็ทำให้คุณครูรู้สึกคุ้นเคย ไว้ใจ และสนิทใจพร้อมจะทำกิจกรรมวันนี้อย่างเต็มที่ พอเห็นอย่างนี้แล้ว ครูกั๊กก็ให้คุณครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม จับกลุ่มเป็น 9 กลุ่ม เพื่อเตรียมทดลองออกแบบวิธีแก้ปัญหากันต่อไป


“จะแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต้องคุยกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง” 

ครูกั๊กได้ให้คุณครูที่จับกลุ่มอยู่ ลองพูดคุย สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ โดยมีทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน / คุณครู และแหล่งเรียนรู้ โดยรับฟังปัญหาพร้อมเข้าใจมิติต่าง ๆ ซึ่งอาจจะซับซ้อนเกินกว่าที่มองเห็น 

ซึ่งในเวิร์กช็อปนี้ก็ได้ทั้ง น้องซี - อนุพงษ์ พงษ์ทอง นักเรียนชั้นมัธยมที่มาบอกเล่าประสบการณ์จริงในชีวิตการเป็นนักเรียน / ครูเข้ม - พิสิฐ น้อยวังคลัง คุณครูโรงเรียนมัธยม และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มาร่วมแบ่งปันประเด็นที่เจอระหว่างการสอน / คุณแอน - กมลนุช โกศัลวัฒน์ Head of Marketing Communication จาก B2S Club ในฐานะแหล่งเรียนรู้ ที่มาแชร์ประสบการณ์ความท้าทายของคนทั่วไปที่อยากช่วยซัพพอร์ตการศึกษาในรั้วโรงเรียนให้ทุกคนได้ฟัง


“Why-Why Diagram หารากของปัญหาที่แท้จริง”

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า แค่เพียงรับฟังอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะปัญหาที่เราเห็นอาจมีต้นตอที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น บางครั้งเมื่อขุดค้นไปลึก ๆ ที่มาของปัญหาอาจไม่ใช่ประเด็นปัญหาเดียวกับสิ่งที่เราเห็นก็ได้ หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยวิธีแบบนี้จากโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ที่จะต้องขุดไปถึงข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งกันมาแล้ว และมั่นใจเลยว่า หลาย ๆ ครั้งเราก็ตันจากการคิดไม่ออกว่ามันมีประเด็นอะไรที่ส่งผลต่อมาให้เกิดปัญหานี้อีกเหรอ สุดท้ายปัญหานี้จึงถูกเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ได้จริง

โมเดล Why-Why Diagram ที่ได้แนะนำในเวิร์คช็อปนี้จะช่วยแก้สิ่งที่เรารู้สึก เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้จากการถามและทบทวนด้วยเหตุและผลซ้ำ ๆ เพื่อหาที่มาของปัญหาจริง ๆ โดยเริ่มจากการเขียนถึงประเด็นปัญหาที่เราอยากแก้ไว้ที่ด้านซ้าย และคิดสาเหตุว่าทำไมถึงเกิดสิ่งนั้นที่ด้านขวา เมื่อคิดได้แล้ว อย่าเพิ่งหยุดที่แค่นั้น แต่ให้คิดอีกถึงสาเหตุของประเด็นนั้นอีกทีนึงพร้อมเขียนที่ด้านขวา แล้วเสนอวิธีแก้ต่อไป และลงคะแนนว่าเห็นด้วยกับวิธีการแก้นี้แค่ไหน กระบวนการนี้จะยิ่งได้ผลเมื่อมีคนหลาย ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาพูดคุยร่วมกันในวงนี้มาก ๆ บอกเลยว่ายิ่งมีผู้เข้าร่วมเยอะ วิธีการก็ยิ่งได้ประสิทธิผลดี !


“รวมหัวโยนไอเดียเพื่อแก้ปัญหาด้วยการ์ด Policy Learning และ 5W1H”

ถ้ามีแค่วิธีการอย่างเดียว จะให้คิดเหตุผล ที่มาทั้งหมด ตอบออกมาเป็น 5W1H (What When Why Where Who How) ให้ออกก็ยังไม่ง่าย ครูกั๊กจึงได้ออกแบบการ์ด Policy Learning ขึ้นมา เพราะการได้เลือก (หรือได้สุ่ม) ไอเดียจากการ์ดที่มีก็ทำให้คุณครูสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม หยิบอันไหนมาแล้วใช้ร่วมกับปัญหาของเราไม่ได้ ก็วางกลับเข้ากอง หยิบอันใหม่ได้ ช่วยให้จุดประกายไอเดียในการแก้ปัญหาได้อีกเยอะเลยทีเดียว

โดยตัวการ์ดจะมีทั้งหมด 3 สีด้วยกัน

สีเขียว คือการ์ด “ประเด็นปัญหาที่อยากแก้ไข” ใช้เพื่อเป็นตัวช่วยค้นหาและขมวดประเด็นเป็น 1 ประเด็นหลักที่อยากแก้ไข ตัวอย่างการ์ดในหัวข้อนี้ เช่น ความเหลื่อมล้ำ / เสรีภาพในการแสดงออก / ชาติพันธุ์

สีชมพู คือการ์ด “กลไกที่ใช้แก้ปัญหา” ใช้เพื่อเสนอไอเดียกลไกที่อยากใช้ในการแก้ปัญหา เลือกมาใช้ได้ 1-2 กลไก ต่อการแก้ปัญหา ตัวอย่างการ์ดในหัวข้อนี้ เช่น การเจรจา ต่อรอง / การใช้พลังของเครือข่าย / ความสัมพันธ์ที่ดี

สีดำ คือการ์ดที่ช่วยขยายความวิธีการตอบคำถามให้อยู่ในรูปแบบ 5W1H เพื่อให้กระชับ และเข้าใจง่ายนั่นเอง

เมื่อได้เห็นกระบวนการคร่าว ๆ ยังไงก็เข้าใจไม่เท่าการได้ลองลงมือทำจริง ครูกั๊กเลยให้ทุกกลุ่มลองแก้ปัญหาจริงที่สนใจ และนำมา pitch ให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งตรงนี้ใช้เวลาจริงประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งทาง insKru ได้เก็บเนื้อหาของบางกลุ่มมาให้คุณครูที่กำลังอ่านบทความนี้ได้ทำความเข้าใจมากขึ้น มาดูกันได้เลย


ตัวอย่างการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการในเวิร์คช็อปนี้

ลองมาดูกันที่ตัวอย่างแรก ปัญหานี้เป็นปัญหาจาก “แหล่งการเรียนรู้” ที่ตั้งข้อสงสัยว่าถึงจะตั้งใจเตรียมเรื่องการแยกขยะไปลงพื้นที่จัดกิจกรรมสักเท่าไหร่ แต่กลายเป็นว่าไม่ได้ผลตอบรับจากนักเรียนเท่าที่ควร

คุณครูกลุ่มนี้เลยชวนหาสาเหตุของปัญหาให้ลึกลงไป ด้วย Why-Why Diagram จากประเด็นตอนแรกที่เห็นกันอยู่บ่อย เช่น ความไม่เข้าใจในเนื้อหา / การนำเสนอที่ไม่น่าสนใจ / การที่ผู้เข้าร่วมไม่มีแรงจูงใจจะทำ ก็ทำให้ได้พบว่าสาเหตุนึงที่ทำให้การจัดกิจกรรมเรื่องนี้ไม่ได้ผล เป็นเพราะผู้ร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะนักเรียนหรือคุณครูไม่มีแรงจูงใจ เมื่อขุดคุ้ยให้ลึกขึ้นอย่างไม่รีบด่วนสรุป จึงพบว่าบางทีเราก็เผลอคิดว่าการแยกขยะเป็นเรื่องไกลตัวนั่นเอง

พอเลือกประเด็นว่า “มุมมองต่อการแยกขยะเป็นเรื่องไกลตัว” คุณครูจึงเริ่มลิสต์วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนออกมา ในรูปแบบ 5W1H โดยออกแบบให้ทุกคนในโรงเรียนมีส่นเกี่ยวข้องในการปลูกฝังจิตสำนึก ผ่านการสร้างแกนนำ ใช้พลังเครือข่ายในการให้ความรู้กับนักเรียนทุกคน ก่อนต่อยอดความเข้าใจสู่การลงมือทำ ด้วยกิจกรรมเกมให้สนุกกับการจัดการขยะ อย่างการ บิดขวด ชู๊ตลงถังขยะ เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างนึง ที่ได้หยิบยกปัญหาของความไม่สามัคคีกันในกลุ่มครูในโรงเรียน เวลาที่เผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจสะท้อนมาจากพฤติกรรมและความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในแต่ละวัน คุณครูกลุ่มนี้ก็ได้วิเคราะห์ที่มาของปัญหานี้ต่อไป 

คุณครูกลุ่มนี้ก็เริ่มด้วยการลิสต์ประเด็นที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การขาดการสื่อสารที่ดี / ความคิดเห็นของแต่ละคนที่ไม่ตรงกัน / นิสัยส่วนตัวของคุณครู / การขาดการสนับสนุนจากผู้บริหาร เมื่อขุดคุ้ยประเด็นการสื่อสารให้ลึกลงไป ครูกลุ่มนี้จึงพบว่าปัญหาอาจเกิดจากการส่งสาร-รับสารของเหล่าครูที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผิดพลาด ขาดเคลื่อนกันไป

เมื่อเลือกประเด็น “การสื่อสารต่อกันและกันที่ชัดเจน” คุณครูจึงเริ่มคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนออกมา โดยออกแบบให้คุณครูมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นมิตร ผ่านวง PLC หรือเครื่องมือที่จะช่วยได้ ใช้การแลกเปลี่ยนความรู้ และพลังเครือข่ายให้เป็นประโยชน์ พร้อมเจรจาต่อรองและหาวิธีการทำงานใหม่เพื่อเสนอกับผู้บริหารต่อไป 


เผื่อคุณครูที่มาอ่านยังไม่จุใจ ลองดูภาพประเด็นต่าง ๆ จากกลุ่มอื่น เพิ่มเติมด้านล่างนี้ได้เลยน้า


แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในโรงเรียน… ทำได้จริงมั้ย

ต้องบอกว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในโรงเรียน เพียงกระบวนการเท่านี้คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะต้องประกอบกันทั้งเรื่องของการวางแผน / การลงมือทำจริง และ การให้ความร่วมมือของทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

อย่างน้อยที่สุด กระบวนการที่ครูกั๊กได้จัดขึ้น คือเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนได้อย่างรอบคอบ เห็นรายละเอียดที่จะกระทบกับทุกคน และช่วยให้แก้ปัญหาที่รากได้อย่างตรงจุด ยังเหลือขั้นตอนการลงมือทำ และความร่วมมือของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณครู นักเรียน ผู้บริหาร คนในชุมชน หรือแหล่งเรียนรู้อยู่อีกด้วย


ทาง insKru และ B2S Club ขอเป็นกำลังใจให้ ”ครูบ้ากล้าลอง” ทุกคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง

แก้ไขปัญหาในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ใครลองใช้กระบวนการ Why-Why Diagram แล้ว

อย่าลืมมาแบ่งปันไอเดียใน inskru.com ด้วยน้า และถ้าคุณครูต้องการแรงสนับสนุนเพิ่มเติม

สามารถเข้าไปพูดคุยในกลุ่มครูปล่อยของได้เลย ทางทีมงาน B2S Club ก็อยู่ในกลุ่มนี้เพื่อติดตามคอยช่วยเหลือ

และจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ให้คุณครูเสมอ !

การจัดการชั้นเรียนโฮมรูม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

4
ได้แรงบันดาลใจ
2
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ