“Play is the work of the child การเล่นคืองานของเด็ก” - Maria Montessori
Froebel & Kindergarten
“Froebel คือ บิดาของศาสตร์เกี่ยวกับปฐมวัย กล่าวไว้อย่างสั้น ๆ ว่า "การเรียนรู้ต้องผ่านการเล่น" และคำว่า Kindergarten เป็นคำภาษาเยอรมันที่แปลว่า สวนที่เด็ก ๆ มาอยู่รวมกัน มาเล่นกันอย่างสนุกสนาน จึงใช้เป็นชื่อของโรงเรียนอนุบาล" ครูเทียม - อิทธิพงษ์ โลกุตรพล นักวิชาการ ตำแหน่งผู้ชำนาญด้านปฐมวัย สาขาวิทยาศาสตร์ภาคบังคับ สสวท.
“เราชอบเล่นอะไร มันก็มีจินตนาการออกมาเยอะเลย มันจะทายนิสัย ทายอนาคตของเด็กคนนั้นได้ว่า ที่เขาชอบเล่นประมาณนี้ ถ้าเราเป็นครูสังเกตพฤติกรรมเด็ก เราก็จะเห็นได้ว่า เด็กน้อยคนนี้ โตไปจะมีแนวโน้ม มี Potential ที่จะเก่งวิชาอะไร หรือชอบวิชาอะไรได้ด้วย จากการเล่นของเด็กนะครับ”
Play-based Learning คืออะไร เหมือนและแตกต่างจากวิธีการเรียนรู้แบบอื่น ๆ อย่างไร
การจัดการเรียนรู้ที่ใช้การเล่นเป็นฐาน คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้การเล่นเป็นเครื่องมือหรือสื่อในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ตลอดชีวิต เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีครู หรือผู้ใหญ่ที่คอยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เล่นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และได้พัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านพัฒนาการและวิชาการ
ลักษณะสำคัญของ Play-based Learning
- เด็กได้กำกับดูแลตนเอง โดยที่ผู้ใหญ่เป็นคนให้คำแนะนำ โดยที่เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตนเอง
- เด็กได้สำรวจ ได้ออกแบบการเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง
- สนุกสนาน
- เน้นที่กระบวนการ (ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหรือคำตอบที่ถูกต้อง) (ใช้จินตนาการ)
Play-based Learning สำคัญอย่างไรและพัฒนาอะไรในตัวเด็กบ้าง
- เด็กมีอิสระในการเลือก
- สร้างแรงจูงใจกระตุ้นจากภายใน มีความยินดีที่จะทำโดยไม่ต้องใช้รางวัลหรือสิ่งเร้าจากภายนอก
- เป็นกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายหรือใช้ร่างกายในการทำกิจกรรม
- มีลักษณะโดดเด่นจากวิธีการสอนอื่น ๆ เนื่องจากเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติมากกว่าวิธีอื่น ๆ เพราะเป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เด็กชอบจริง ไม่ได้เริ่มมาจากความคิดผู้ใหญ่ เช่น จัดกิจกรรมผ่านนิทาน แต่ให้ได้ประสบการณ์ตรง เล่นจริง จึงมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และได้ผลลัพธ์ที่ดีกับเด็กมากกว่า
Play-based Learning พัฒนาอะไรในตัวเด็กบ้าง
- การรู้คิด (อย่างชัดเจน)
- การทำงานด้วยตนเองและการร่วมมือกับผู้อื่น (ทักษะทางสังคม)
- ลดการใช้การศึกษาพิเศษในปีการศึกษาแต่ละปี ถ้าใช้การเล่น เด็กพิเศษจะสามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้ง่ายขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานี้จะส่งผลในระยะยาวให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ช่วงความสนใจในบทเรียนยาวนานขึ้น
การเรียนรู้แบบโครงงาน ถือเป็นการเล่นอีกแบบหนึ่ง ?
เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติมากกว่าวิธีอื่น เด็กจะได้สืบเสาะหาความรู้ เขาสนใจ มีคำถามแล้วว่าอยากจะรู้เรื่องนี้ เขาก็ต้องไปสืบเสาะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นยังไง

Photo by Lubomirkin on Unsplash
กรณีศึกษาผ่านเรื่องเล่า “แม่จ๋าอย่าตีหนู” (ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย)
“เด็ก 1 ขวบ ตักน้ำเททิ้ง แม่มาเห็นตีลูกปางตาย”
จากกรณีนี้ หากผู้ใหญ่มองเห็นโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆ จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมนี้ส่งเสริมทักษะสำคัญมากมายให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็น
- High and Coordination
- เรียนรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง
- เด็กได้สงสัยว่าน้ำหายไปไหน
- เด็กได้ควบคุมสถานการณ์การตักน้ำ
- เด็กได้ทำซ้ำและเรียนรู้
- พื้นปูนเปลี่ยนสี
- สร้างบ่อน้ำในจินตนาการ
วิธีแก้ไขแทนที่จะทำโทษเด็กอย่างรุนแรง เพียงแค่จัดหากะละมังใส่น้ำ ให้ไม่หกเลอะเทอะ หรือจัดมุมเล่นน้ำ เล่นทรายให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้อย่างเต็มที่แทน
The 100 Languages of Children

ภาพอ้างอิง จาก https://www.artfulteachingjoyfullearning.com/blog/hundred-languages-of-children
เด็ก 1 คนมี 1 ภาษา เด็กมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเด็กในห้องเรียนเดียวกัน ไม่ได้มีรูปแบบเดียวกัน หรือเด็กบางแบบก็คาบเกี่ยวกัน เพราะเด็กบางคนอาจมีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน หรือต่างกันกับอีกคนหนึ่งก็ได้ เราจึงไม่อาจกะเกณฑ์เด็กทุกคนด้วยความคิดแบบเดียวกันได้
การเล่น 6 แบบ
หลักในการแบ่งคือ ช่วงอายุ ความพร้อม หรือพัฒนาการ (ผู้ใหญ่ต้องคอยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กให้เล่นแบบที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามพัฒนาการเพียงอย่างเดียว)
- การเล่นแบบไม่ได้ตั้งใจ (Unoccupied Play) อายุแรกเกิด - 3 เดือน เล่นแบบตีแขน ตีขา แลบลิ้น กระตุ้นได้โดยเสียงเขย่า โมบาย
- การเล่นคนเดียว (Solitary Play) อายุแรกเกิด - 2 ปี ยังไม่สามารถเล่นกับคนอื่นได้ กระตุ้นได้ โดย มีของมาหลอกล่อมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เล่นกับสิ่งของรอบตัวได้
- การดูคนอื่นเล่น (Spectator/Onlooker Behavior) อายุ 2 ปี กระตุ้นได้ โดยชวนคนอื่น ๆ มานั่งเล่นด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่าคนอื่นเล่นกันยังไง
- ต่างคนต่างเล่น (Parallel Play) อายุ 2+ กระตุ้นได้โดย เอาของเล่นเหมือนกัน ต่างกันมาให้เล่นดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
- เล่นของชิ้นเดียวกัน (Associate Play) อายุ 3 - 4 ปี เล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน แต่จริง ๆ ยังไม่ได้เล่นด้วยกัน เช่น เล่นทำครัว เล่นรถ
- เล่นด้วยกัน (Cooperative Play) อายุ 4+ รู้จักการเล่นร่วมกับเพื่อน
การเล่น 4 แบบ - 1
หลักในการแบ่งคือ มีคนเล่นกับเด็กด้วยหรือไม่
- การเล่นตามอิสระของเด็กเอง
- การเล่นที่ต้องอาศัยผู้เชื่อมโยงประสบการณ์ มีผู้มาช่วยเชื่อมโยง เช่น เลี้ยงน้อง ให้อาหารสัตว์ทำยังไง
- การเล่นโดยให้พ่อแม่หรือครูสอน มีกฎเกณฑ์ชัดเจน เช่น ต่อเลโก้
- การเล่นผ่านการเลียนแบบ เช่น บทบาทสมมติ
การเล่น 4 แบบ - 2
หลักในการแบ่งคือ บางอย่างคล้าย 4 แบบ - 1 และผสมกับพัฒนาการนิดหน่อย
- Functional Play เล่นที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ประสาทสัมผัส
- Constructive Play มีสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น บล็อก ต่อหอคอย แป้งโด ดินน้ำมัน ทราย ลังกระดาษ
- Game with Rules/Exploratory Play (การสำรวจ) การเล่นของเล่นใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน มีเกณฑ์ กติกา เช่น หมากรุก ต่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เกมเศรษฐี
- (Socio) Dramatic Play เป็นรูปแบบการเล่นที่สำคัญ เพราะได้ใช้จินตนาการ การเล่นเลียนแบบพฤติกรรมรอบตัว เช่น เล่นเป็นบ้าน เล่นเป็นครอบครัว เอาไม้บล็อคมาแทนเป็นโทรศัพท์ (เล่นคนเดียว เรียกว่า Dramatic Play ถ้ามีคนอื่นมาเล่นด้วย เรียกว่า (Socio) Dramatic Play)
🔺How we play in ห้องเรียนครูนกยูง
ครูนกยูง - ปานตา ปัสสา ครูปฐมวัยห้องเรียนคละชั้น อ.2 และ อ.3 รร. บ้านดอนทับช้าง จ. อุบลราชธานี นำตัวอย่างกิจกรรมที่เคยลองทำในห้องเรียนปฐมวัยของตัวเองมาแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาครูนกยูง เน้นการใช้สิ่งของรอบตัว หาง่ายเป็นหลัก
Parachute Play (ร่มชูชีพ)
- ใช้ในการประกอบเพลง (Big Small)
- เล่นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ (Up Down) - ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ
- เล่นกันหลายคน - ได้ความสามัคคี
- ร่มชูชีพมีหลายขนาด คุณครูอาจมองหาความเหมาะสมตามจำนวนเด็ก

Play with Water (เล่นน้ำในห้อง)
- Water Play Station
- Water Play Wall (ใช้ของที่มีอยู่ในครัวเรือน หลอด ท่อยางระบาย)
- สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ คือ สามารถนำสิ่งที่เขาได้เล่นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
- ปล่อยให้เด็ก Free Play ก็ได้ หรือ คุณครูเป็นผู้กำหนดสถานการณ์ก็ได้ (เช่น สร้างทางระเบียงน้ำตามของที่มี)
Play with Sand (เล่นกับทราย)
- เช่น คุณครูกำหนดวัตถุประสงค์ให้เขาช่วยกันหาฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ฝังอยู่ในทราย และช่วยผุดมันขึ้นมาให้เป็นตัวอีกครั้ง
- หลังจากทำภารกิจเสร็จแล้วก็ปล่อยให้เขาได้เล่นตามอิสระของเขา
- สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้
- เรียนรู้ด้านหลักวิทยาศาสตร์
- การลงมือทำ
- พัฒนา Sensory ต่าง ๆ
Not Trash but Treasure
- ของเล่นไม่จำเป็นต้องแพง
- เอาขยะในโรงเรียนมาทำความสะอาด และเล่นใหม่
- ให้เด็ก ๆ เอามาสร้างของเล่นใหม่ตามอิสระของตนเอง
- สิ่งนี้ถูกขยายเป็น Phenomenal ในโรงเรียน น้องสอนพี่ รณรงค์ให้ทุกคนคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะบางอย่างมาเล่น Reuse, สร้างรายได้, เอาไปทำเป็นศิลปะได้

Dramatic Play Based on Daily Life.
- บทบาทสมมติ เช่น เล่นเป็นขนส่ง เกิดจากคำถามของเด็ก ๆ ที่สงสัยว่า ทำไมไปรษณีย์ถึงส่งของถูก เช็กของยังไง
🔺How we play in ห้องเรียนครูแบงค์
ครูแบงค์ - ปฐมชัย วรตันติ ครูปฐมวัย รร. วัดแจ้ง จังหวัดตรัง นำตัวอย่างกิจกรรมที่เคยลองทำในห้องเรียนปฐมวัยของตัวเองมาแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาครูแบงค์เน้นการใช้ประโยชน์จากชุมชนเพื่อสร้างสื่อและการเล่นให้แก่เด็กปฐมวัย
ดูบริบทสภาพอากาศของโรงเรียน นำมาใช้เป็นเนื้อหาการสอนได้
- น้ำท่วมบ่อย จึงสอนให้เด็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเอง การลอยตัว

ดูความชอบของเด็ก นำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้
- เด็กชอบดูหลอนไดอารี่ จึงทำกิจกรรมหน่วยสืบเสาะ คดีฆาตกรรม
- ชอบดูรักฉุดใจนายฉุกเฉิน จึงให้เด็กจำลองเป็นคุณหมอ
ดูประสบการณ์ของเด็ก นำมาใช้เป็นกิจกรรมในการสอนได้
- เด็กเคยไปร้านหมูกะทะ จึงให้จำลองเป็นพ่อค้า แม่ค้า
- การเวียนเทียน ให้เด็กจับบทบาทสมมติของตัวเองเพื่อเล่นตามสถานการณ์นั้น

ใช้บริบทห้องเรียนเป็นพื้นที่การเรียนรู้
- แสงและเงาในวิทยาศาสตร์ จำลองให้ห้องเรียนเป็นประเทศฟินแลนด์ เอาเต๊นท์มากาง แล้วส่องไฟให้เป็นแสงเหนือ
*อาจจะดูเป็นการเล่น แต่คุณครูได้สอดแทรกเนื้อหาเข้าไปด้วย อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างได้*
🔺ทำไม OKMD จึงให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กปฐมวัย
คุณอ้อ-อารีย์รัชต์ ชวกาญจนกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD อธิบายว่า ต้องการให้คุณครูในคอมมูนิตี้ได้เห็น สิ่งที่คุณครูทำอยู่แล้วมาเชื่อมกับทฤษฎี แนวคิด เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก "ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นแบบไหน สิ่งสำคัญก็คือเราจะสามารถออกแบบ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ หรือการเล่นให้เหมาะกับช่วงวัยนั้นได้ เพราะเด็กจะมีความเฉพาะเป็นของตัวเอง เด็กในช่วง 2-5 ปี หรือ ก่อนเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา ความโดดเด่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ ความมีเสรีภาพ และความมีชีวิตชีวา เห็นได้จากการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเขา โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งกับเราตลอดในหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ "
"สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องปรับ Mindset ถึงแม้เราจะรู้จักทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย แต่สิ่งสำคัญก็ต้องเริ่มจากตัวเราให้เข้าใจว่า การเล่นทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ เมื่อเรามี Mindset ที่ดีแล้วมันจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเราได้ เราสามารถออกแบบการเล่น หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้"
การเล่นและสมอง (Brain Based Learning: BBL)
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับมิติของการเรียนรู้มากที่สุดคือสมองของเรา ถ้าเราเข้าใจว่าสมองของเด็กมีวิธีการเรียนรู้แบบไหน เราก็จะสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองได้ดีมากขึ้น
การพัฒนาสมองมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ
- เซลล์สมอง มาจากการติดตัวของเขา (พันธุกรรม)
- ประสบการณ์ มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ สมองเกิดการรับรู้ สร้างวงจรของการเรียนรู้ได้
- การเลี้ยงดู
เป็นองค์ประกอบในการดูแลสมองเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก*
ต้นไม้แห่งการสร้างการเรียนรู้

ราก/ฐาน (ศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว)
เป็นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างวงจรในการเรียนรู้ของสมองเด็ก เพื่อให้เติบโตไปสู่การเรียนรู้ที่ยากขึ้น คือ วิทย์ คณิต ภาษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีศาสตร์ หลักการ แนวคิดอยู่แล้ว แต่คุณครูสามารถบูรณาการเรื่องราวความยากผ่านศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหวได้เลย ธรรมชาติของสมองมีวิธีการเรียนรู้แบบเป็นระบบ แล้วก็มีจังหวะในการเก็บข้อมูล ในอัลกอริทึมมีผลต่อการรับรู้ข้อมูลของสมอง ดังนั้นการใช้กิจกรรมหรือการเล่นที่เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองเด็ก คุณครูจะสามารถสอดแทรกสิ่งที่ยากขึ้นให้กับเขาแบบไม่รู้ตัว เป็นการเรียนรู้ของสมองโดยไม่รู้ตัว การเล่นจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพต่อสมอง
อาหารใจ & อาหารกาย
ในชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวัน จะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่ทักทายกับเด็ก กอด สัมผัส เพราะคือการตอบสนองต่อสมองให้กับเด็ก ในการสร้างอาหารใจ เพื่อให้เด็กปลอดภัย อบอุ่น ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองเด็ก เพราะสมองมีจังหวะในการเรียนรู้ของมัน
อาหารใจ
- สายใยจากรักพ่อแม่
- กิจกรรมที่สนุก
- ความเพลิดเพลิน
- ความพึงพอใจ
- ความสบายใจ
- ความรู้
การอบรมเลี้ยงดู คุณครูจึงควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารของเด็ก ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้สมองของเด็กได้พัฒนาตามศักยภาพของเขาอย่างแท้จริง
อาหารกาย
- โปรตีน
- คาร์โบไฮเดรต
- ไขมัน
- เกลือแร่
- วิตามิน
- น้ำสะอาด
- อากาศบริสุทธิ์
หลักการเรียนรู้ของสมอง BBL Key Principles
ไม่เพียงแค่เด็กเล็ก แต่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชราเลย
- สมองต้องการอาหารกาย และอาหารใจ ในการเจริญเติบโต การเรียนรู้ การทำงาน และการแก้ไขปัญหา ทำให้เจริญเติบโตตามวัยตามช่วงอายุ การเรียนรู้ การทำงาน และการแก้ไขปัญหา ถึงแม้เราจะจัดประสบการณ์สนุกสนานแค่ไหน แต่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณครูและเด็ก เป็นอาหารใจที่มีความสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย
- การเรียนรู้และการจดจำได้ดีเมื่อสมองส่วนอารมณ์ (Limbic System) เปิดออก เมื่อเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรม วงจรอารมณ์จะเปิด หากมีการออกแบบกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้บางอย่างเข้าไปในกระบวนการเล่น สมองจะจดจำโดยอัตโนมัติสมองไม่ได้เรียนรู้แค่ช่วงอารมณ์เปิดเท่านั้น บางอย่างถ้าอารมณ์เศร้า ดึ่ง เหงา ก็มีผลต่อการเรียนรู้ได้เหมือนกัน อยากให้การเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิภาพ น่าจดจำ ทำได้ เอาไปใช้ต่อได้ ต้องอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย สังเกตได้จากสีหน้า แววตา ท่าทาง บุคลิกภาพ
- สมองเรียนรู้จากการสัมผัสโดยตรง ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และใจ เป็นการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ มากกว่าการท่องจำ เพราะฟังก์ชันการทำงานของสมองแบ่งหน้าที่กัน สมองส่วนหลังมีหน้าที่รับข้อมูลในการมองเห็น สมองส่วนข้างเป็นการรับข้อมูลในการสัมผัส สมองส่วนหน้าใช้ในการคิดวิเคราะห์ เมื่อเราสร้างวงจรการจำที่ดีให้กับเด็ก ๆ แล้ว อาจไม่ถูกใช้วันนี้ แต่หากวันใดวันหนึ่งได้ใช้ มันจะถูกดึงมาใช้อัตโนมัติ
- สมองมีสำหรับวงจรหลักการเรียนรู้ 2 วงจร คือ แบบตั้งใจ และไม่ตั้งใจ แบบตั้งใจ คือ การที่คุณครูบอกให้เด็กทำ เกิดการเรียนรู้ได้ แต่ประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจมันก็จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาและองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย แบบไม่ตั้งใจ คือ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากที่สุด มีลักษณะการเรียนรู้แบบไม่ตั้งใจ แต่เด็กจะถูกดึงประสบการณ์เหล่านี้ออกมาใช้
- สมองเรียนรู้จากของจริงไปสู่สัญลักษณ์ จากรูปธรรมไปนามธรรม และจากง่ายไปหายาก ไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไรก็ตาม อย่าเริ่มต้นจากสัญลักษณ์ก่อน สถานการณ์จะนำพาเราไปสู่การได้ใช้ประสาทสัมผัสกับของจริง สร้างวงจรให้สมองจากของจริงก่อน เช่น ไม่เริ่มจากแบบฝึกหัด นอกจากนี้ อย่ารีบตั้งวัตถุประสงค์ที่ยาก ไม่จำเป็นต้องกดดันให้ต้องทำสำเร็จ ต้องไปถึงเป้าเท่านั้น เพราะสมองชอบเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ ก่อน พออะไรที่ง่ายสมองจะรู้สึกว่าทำได้ สมองจะเริ่มอยากท้าทายตัวเองไปทำในสิ่งที่ยากขึ้น
- สมองเรียนรู้และจดจำผ่านการลงมือปฏิบัติ ฝึกฝนจนเกิดทักษะความชำนาญ และค้นพบตนเอง ความถนัด ความสนใจ และความสามารถ
วงจรพัฒนาการของสมอง ร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์

- ไม่ว่าจะกระบวนการเล่นแบบไหน ล้วนมีผลต่อพัฒนาการของสมองทั้งสิ้น นำไปสู่การเกิดพัฒนาการองค์รวม
- กระบวนการลองผิดลองถูก เด็กจะเริ่มได้ใช้ประสาทสัมผัสของตัวเองในการทดลอง
- ตอนออกแบบกระบวนการเล่น ถ้าเรามีวัตถุประสงค์ชัดเจน ลองดูว่ามีขั้นตอนไหนไหมที่ทำให้สมองเด็กได้มีโอกาสใช้ประสบการณ์ ทักษะของตนเอง
พื้นที่แหล่งเรียนรู้ (Learning Resources)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กได้หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ชุมชนของตนเอง โลกออนไลน์
5 วิธีส่งเสริมเด็กผ่านการเล่นทำได้อย่างไรบ้าง
- จัดประสบการณ์ที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อเด็กทั้ง ในโรงเรียนและในชีวิตวันข้างหน้า
- บูรณาการ PBL กับการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมเพื่อส่งเสริม การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์
- ขยายความไว้ใจ ความร่วมมือ และการเจริญเติบโตในตัวเด็ก
- พัฒนาวิธีการคิดที่สนุกสนานด้วยการบูรณาการศิลปะในทุก ๆ บทเรียน
- ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ในทุก ๆ กิจกรรมของโรงเรียน
✏️ช่วง Q & A
ผู้เข้าร่วม: การเรียนการสอนแบบ Play-based learning สอดคล้องกับตัวชี้วัดยังไงบ้าง? เคยโดนดุไหม?
ครูนกยูง: ถ้าคุณครูคนไหนกลัวว่าเล่นแล้วจะถูกเพ่งเล็งหรือเปล่าว่าเราไม่สอน คนที่รู้ดีที่สุดคือเราและเด็ก คุณครูอย่าไปสนใจใคร เขาจะพูดอะไรก็ช่างมัน เด็กคือคำตอบที่ดีที่สุดของเราเท่านั้น และเมื่อเด็กถูกเลื่อนชั้นขึ้นไป คุณครูคนอื่นเห็นพัฒนาการที่พร้อมของเขา เขาจะรู้ได้ทันทีว่าเราไม่ได้แค่พาเด็กวิ่งตะลอน แต่เรากำลังทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านการเล่นและความสุข
ครูแบงค์: มาตรฐานเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม และพัฒนาการของเด็กตามหลักสูตร และสามารถบูรณาการหลาย ๆ วิชาได้
ผู้เข้าร่วม: ในห้องเรียนมีนักเรียนเป็นเด็กพิเศษ เช่น ภาวะออทิสติก สมาธิสั้น ควรจัดการยังไง?
ครูเทียม: ยิ่งต้องเรียนผ่านการเล่นเหมือนกัน เพราะเด็กออทิสติกเราต้องส่งเสริมให้เขาพึ่งตัวเองได้เมื่อโตขึ้นไปใช้ชีวิต มันต้องฝึกทักษะชีวิตเยอะ ๆ มากกว่าไปฝึกพวกวิชาการ
ผู้เข้าร่วม: ขอคำแนะนำในการจัดมุมการเรียนรู้
ครูเทียม: จัดตามพื้นที่ที่เรามี แล้วเราก็เปลี่ยนมุม สมมติว่ามุมนี้อยู่สักสัปดาห์หนึ่งแล้วก็เปลี่ยน
ครูนกยูง: แต่ควรจะมีมุมเล่นที่อยู่ถาวร และไม่ควรเอามุมบทบาทสมมติกับหนังสือมาอยู่ใกล้กัน เพราะจะวุ่นวายมาก เด็กอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง
ผู้เข้าร่วม: ขอคำแนะนำในการเก็บเด็ก
ครูเทียม: เอาเด็กที่ซนมาอยู่ติดตัวเราเลย จับไว้หรือไม่ก็หาของให้เขาถือในระหว่างที่ฟังเราไปด้วย เพราะเด็กจะหวงของในมือของเขา จะได้ผลเป็นระยะ ไม่ได้ผลตลอดกาล เราก็ต้องเปลี่ยนมุกไปเรื่อย ๆ
ครูนกยูง: ถ้าเด็กชอบคุย ครูก็อาจจะเปิดช่องให้คุยไปเลย
จาก Webinar “กล้าเล่น กล้าLearn อัปสกิลครูปฐมวัย ออกแบบกิจกรรมยังไง ให้เกิดการเรียนรู้”
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 - 12.00 น.
