inskru
gift-close
insKru Selected

ความลับในกล่องสุ่ม: เรียนรู้ต่อมไร้ท่อผ่านสื่อสร้างสรรค์

4
4
ภาพประกอบไอเดีย ความลับในกล่องสุ่ม: เรียนรู้ต่อมไร้ท่อผ่านสื่อสร้างสรรค์

ความลับในกล่องสุ่ม: เรียนรู้การทำงานของต่อมไร้ท่อผ่านสื่อการสอนสุดสร้างสรรค์


เมื่อกล่องสุ่มกลายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สุดฮิตในห้องเรียน

การใช้ "กล่องสุ่ม" ได้กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นหรือสินค้าในชีวิตประจำวัน นักเรียนในยุคนี้มีความสนใจและตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ในกล่องสุ่มเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเจอกับอะไรข้างใน การนำแนวคิดนี้มาใช้ในการเรียนรู้ระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้เกิดความน่าสนใจและความท้าทายยิ่งขึ้น โดยการให้กลุ่มนักเรียนเปิดกล่องสุ่มเพื่อค้นหาว่าภายในนั้นมีต่อมไร้ท่อหรืออวัยวะใดที่ต้องศึกษา

แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

        ผลการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้คือ ให้นักเรียน สืบค้นข้อมูล อธิบาย และเขียนแผนผังสรุปหน้าที่ของฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อและเนื้อเยื่อที่สร้างฮอร์โมน การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้จึงถูกวางโครงสร้างให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้นี้ ด้วยการใช้สื่อหลัก ๆ สามชิ้น ได้แก่

1. ชิ้นส่วนอวัยวะในกล่องสุ่ม เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจ นักเรียนจะได้รับกล่องสุ่มที่ภายในมีอวัยวะหรือต่อมไร้ท่อต่าง ๆ โดยจะต้องเปิดกล่องเพื่อรับอวัยวะหรือต่อมที่ต้องศึกษา ซึ่งทำให้นักเรียนได้สัมผัสกับประสบการณ์การค้นพบที่น่าตื่นเต้นและเชื่อมโยงกับการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย ในแต่ละกล่องสุ่มจะมีภาพของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมหมวกไต โดยนักเรียนต้องเปรียบเทียบกับข้าง ๆ กล่องว่าได้รับอะไร ซึ่งนอกจากจะทราบชื่อต่อมของตนเองแล้ว นักเรียนจะพบกับต่อมอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือต่อมไร้ท่อทั้งหมดที่จะได้เรียนรู้ ทำให้นักเรียนเห็นภาพรวมของเนื้อหาที่จะเรียนรู้ กระตุ้นให้นักเรียนอยากรู้จักระบบต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ในร่างกาย พร้อมกับความสนุกสนานในการติดตามแต่ละบทบาทและหน้าที่ของต่อมไร้ท่อที่เจอ

กล่องสุ่มต่อมไร้ท่อ

2. จิ๊กซอว์ฮอร์โมนกับรีเซฟเตอร์: การเรียนรู้ผ่านการประกอบที่ลงตัว เป็นตัวช่วยในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนกับรีเซพเตอร์ ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพว่าฮอร์โมนทำงานอย่างไรในร่างกายเมื่อจับคู่กับรีเซพเตอร์ที่ถูกต้อง โดยจิ๊กซอว์จะอยู่ในกล่องสุ่มพร้อมกับชิ้นส่วนต่อมไร้ท่อ ที่ทำให้นักเรียนต้องสงสัยว่า "มันคืออะไร?" เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในหลักการทำงานของฮอร์โมน นักเรียนจะได้ใช้จิ๊กซอว์ฮอร์โมนและรีเซฟเตอร์ที่ทำหน้าที่เสมือน "กุญแจและแม่กุญแจ" การประกอบจิ๊กซอว์ให้ถูกต้องเป็นการสะท้อนถึงวิธีการที่ฮอร์โมนจับคู่กับรีเซฟเตอร์เฉพาะเจาะจงในร่างกาย นักเรียนจะเห็นได้ว่าเมื่อฮอร์โมนจับกับรีเซฟเตอร์ที่เหมาะสม มันจะกระตุ้นการตอบสนองต่าง ๆ ในเซลล์เป้าหมาย คล้ายกับการใช้กุญแจไขแม่กุญแจเพื่อเปิดประตูไปสู่กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย

จิ๊กซอว์ฮอร์โมนกับรีเซฟเตอร์

3. แผนผังเรื่องฮอร์โมน: หลังจากที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมก่อนหน้านี้ นักเรียนจะต้องสืบค้นและจะนำความรู้นั้นมาเขียนแผนผังที่แสดงการทำงานและผลกระทบของฮอร์โมนแต่ละชนิดต่ออวัยวะเป้าหมายในร่างกายร่วมกันบนกระดานหน้าชั้นเรียน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของระบบต่อมไร้ท่อได้อย่างชัดเจน โดยหลังจากนักเรียนประกอบจิ๊กซอว์สำเร็จจะได้ชื่อฮอร์โมน นักเรียนจะต้อง

  • ระบุแหล่งผลิตฮอร์โมน ค้นหาว่าฮอร์โมนแต่ละชนิดผลิตจากต่อมใดในร่างกาย เช่น อินซูลินจากตับอ่อน หรือไทรอกซีนจากต่อมไทรอยด์ พร้อมแสดงทิศทางการไหลของฮอร์โมนผ่านลูกศรบนแผนผัง
  • เชื่อมโยงอวัยวะเป้าหมาย นักเรียนระบุอวัยวะเป้าหมายที่ฮอร์โมนเหล่านั้นมีผล เช่น อินซูลินที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือไทรอกซีนที่ควบคุมการเผาผลาญ
  • อธิบายผลกระทบของฮอร์โมน นำเสนอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของฮอร์โมนบนอวัยวะเป้าหมาย การเขียนแผนผังนี้ทำให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เชิงระบบและการทำงานร่วมกันของต่อมไร้ท่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ซึ่งสื่อการเรียนรู้ทั้งสามชิ้นนี้จะอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน ดังนี้


กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้นตอน

1. ขั้นสร้างความสนใจ (Engage)

  • ครูเริ่มต้นบทเรียนด้วยกิจกรรม "แฟนพันธุ์แท้อวัยวะ" ซึ่งออกแบบมาเพื่อทบทวนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอวัยวะและฮอร์โมนในระบบต่อมไร้ท่อของนักเรียน กิจกรรมนี้ไม่เพียงแค่ดึงดูดความสนใจและกระตุ้นความคิดของนักเรียน แต่ยังช่วยให้นักเรียนได้แยกแยะความแตกต่างระหว่าง อวัยวะ (เช่น หัวใจ ตับ ไต) และ ต่อม (เช่น ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน) อย่างชัดเจน
  • ครูตั้งคำถาม เช่น “รู้จักอวัยวะใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญในระบบต่อมไร้ท่อ?” หรือ “อวัยวะใดบ้างที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมน?” เพื่อให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจถึงบทบาทที่แตกต่างกันระหว่างอวัยวะและต่อม รวมถึงบทบาทเฉพาะของต่อมในการผลิตและควบคุมฮอร์โมนในร่างกาย
  • จากนั้นครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมารับกล่องสุ่ม นักเรียนจะรู้สึกตื่นเต้นและอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในกล่อง โดยจะเปิดกล่องเพื่อค้นหาอวัยวะหรือต่อมไร้ท่อที่ซ่อนอยู่ กิจกรรมนี้ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกและท้าทาย ตั้งแต่เริ่มต้นบทเรียน


2ขั้นสำรวจและค้นหา (Explore)

  • เมื่อถึงขั้นตอนนี้ นักเรียนจะเปิดกล่องสุ่มเพื่อค้นหาต่อมไร้ท่อหรืออวัยวะที่ซ่อนอยู่ในกล่อง แต่ละกล่องจะมีภาพของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมน เช่น ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมหมวกไต เมื่อนักเรียนเปิดกล่องสุ่มแล้ว ให้นักเรียนสืบค้นดูว่านักเรียนได้ต่อมหรือเนื้อเยื่ออวัยวะใด ชื่อว่าอะไร และอยู่บริเวณใด เมื่อสืบค้นแล้วให้ตัวแทนกลุ่มบันทึกข้อมูลที่สืบค้นได้ลงในใบกิจกรรม และนำชิ้นส่วนนั้นไปแปะบนภาพร่างกายมนุษย์ที่อยู่บนกระดานหน้าชั้นเรียน
  • ในกล่องจุ่มจากกิจกรรมก่อนหน้า นักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้จิ๊กซอว์จำนวนสองชิ้น ให้นักเรียนลองต่อจิ๊กซอว์ดูว่าต่อเข้ากันได้หรือไม่ (ในตอนแรกจะยังต่อกันไม่ได้) โดย จิ๊กซอว์ฮอร์โมน งเป็นการเชื่อมต่อชิ้นส่วนที่แสดงถึงฮอร์โมนและรีเซพเตอร์ เปรียบเสมือนการประกอบกุญแจเข้ากับแม่กุญแจอย่างถูกต้อง ช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจการทำงานเฉพาะของฮอร์โมนเมื่อจับคู่กับรีเซพเตอร์ที่ตรงกัน โดยจิ๊กซอว์ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชิ้น แต่ละชิ้นมีรูปร่างเฉพาะตัวที่สามารถเข้ากันได้อย่างลงตัวกับชิ้นอื่น ๆ เท่านั้น เมื่อนำมาประกบกันได้ถูกต้อง จะเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ ให้นักเรียนนำชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ 1 ชิ้นที่สัญลักษณ์ R เก็บไว้ที่ตนเอง จะนำชิ้นที่มีสัญลักษณ์ H ให้กลุ่มอื่น
  • เมื่อได้รับแล้วให้นำชิ้นส่วนของฮอร์โมนทั้งสองชิ้นมาต่อกัน ซึ่งจะได้ชื่อของฮอร์โมนที่สมบูรณ์ จากนั้นให้นักเรียนสืบค้นว่าฮอร์โมนนั้นถูกผลิตมาจากต่อมหรือเนื้อเยื่ออวัยวะใด มีอวัยวะเป้าหมายคือส่วนใด และส่งผลอย่างไรกับอวัยวะเป้าหมายนั้น เมื่อสืบค้นแล้วให้นำชื่อฮอร์โมนนั้นไปเขียนบนกระดาน โดยเขียนลูกศรเชื่อมโยงระหว่างต่อมที่ผลิต ชื่อฮอร์โมน อวัยวะเป้าหมาย

ภาพรายละเอียดกิจกรรม

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explain)

  • นักเรียนจะใช้ข้อมูลจากกิจกรรมกล่องสุ่มและจิ๊กซอว์ในการสร้าง แผนผังสรุปการทำงานของฮอร์โมน บนกระดานโดยในแผนผังนี้นักเรียนจะต้องระบุว่าแต่ละฮอร์โมนผลิตจากต่อมใดในร่างกาย และฮอร์โมนนั้นส่งผลต่ออวัยวะหรือระบบใดบ้าง
  • นักเรียนนำเสนอแผนผังที่แสดงถึงการทำงานของฮอร์โมนในระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน ที่ผลิตจากตับอ่อนไปยังอวัยวะเป้าหมาย เช่น เซลล์กล้ามเนื้อและตับ พร้อมทั้งอธิบายถึงบทบาทสำคัญของอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยมีครูเป็นผู้ให้ความรู้เพิ่มเติม


4. ขั้นขยายความรู้ (Elaborate)

  • ในขั้นตอนนี้ ครูจะเชื่อมโยงความรู้ที่นักเรียนได้รับไปสู่กรณีศึกษาจริง โดยนำเสนอปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน
  • ครูอธิบายว่าความผิดปกติในการผลิตหรือการตอบสนองต่ออินซูลินสามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเบาหวาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหานี้กับ SDG เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่มีคุณภาพ


5. ขั้นประเมินผล (Evaluate)

  • ครูตรวจสอบความถูกต้องของแผนผังและให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนเพื่อให้เข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ครูยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

จากการสังเกตในชั้นเรียน นักเรียนสามารถวางตำแหน่งของต่อมต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างถูกต้องจากการแปะชิ้นส่วนได้ตรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตามในการเขียนแผนผังของนักเรียนยังขาดความชัดเจนในบางประเด็น เช่น ไม่บอกอวัยวะเป้าหมายของฮอร์โมนนั้น ๆ หรือบอกหน้าที่ของฮอร์โมนนั้นไม่ครบ ครูจึงต้องช่วยในการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่นักเรียนด้วย

บรรยากาศในชั้นเรียน

ภาพแสดงตำแหน่งต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งได้มาจากการเปิดกล่องสุ่ม

แผนผังสรุปการทำงานของฮอร์โมนของนักเรียน ซึ่งข้อมูลอาจจะยังไม่ครบถ้วน ครูจะต้องให้ความให้ความรู้เพิ่มเติมในประเด็นที่ยังไม่ครบถ้วน


สรุป

       การใช้ "กล่องสุ่ม" และ "จิ๊กซอว์ฮอร์โมน" ในการเรียนรู้ระบบต่อมไร้ท่อ ไม่ได้แค่ทำให้นักเรียนตื่นเต้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ยังช่วยให้นักเรียนได้สัมผัสและเข้าใจเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะการค้นพบสิ่งที่ไม่คาดคิดในกล่องสุ่มเป็นการกระตุ้นความอยากรู้และความท้าทายที่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและน่าติดตาม

สำหรับครูท่านอื่น ๆ ที่สนใจจะนำสื่อการสอนเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับเนื้อหาและวิชาอื่น การใช้กล่องสุ่มหรือจิ๊กซอว์ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะเรื่องฮอร์โมนหรือระบบต่อมไร้ท่อเท่านั้น กล่องสุ่มสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้คำศัพท์ในวิชาภาษา การทดลองวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการสำรวจเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ โดยการทำให้เนื้อหาในกล่องสุ่มมีความหลากหลายและสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ของวิชานั้น ๆ

ความลับในกล่องสุ่มคือกุญแจสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง การใช้สื่อการสอนที่สร้างสรรค์และสนุกสนานสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักเรียนรู้สึกเชื่อมโยงกับบทเรียนและสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติม ครูสามารถใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยพลังและความสนุกสนานในการเรียนรู้

เกมและกิจกรรมเทคโนโลยีการสอน

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

4
ได้แรงบันดาลใจ
4
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insKruNut
ครูผู้ช่วยชีววิทยา

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ