insKru ชวนคุยกับครูจัสมิน-พีรพัฒน์ วรอัศวโภคิน ครูปฐมวัย โรงเรียนวัดพันตำลึง เจ้าของเพจ ห้องเรียนอนุบาล by ครูจัสมิน มาพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายในการเป็นครูผู้ชายที่สอนชั้นอนุบาล การสร้างพื้นที่ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม และการออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยผ่านคำถามและกิจกรรมสนุกๆ
จุดเริ่มต้นของการเป็นครูอนุบาล
ตั้งแต่จบ. ม.ปลาย คิดว่าอยากจะต้องเป็นครูให้ได้ ได้สอนเด็ก มีความรู้สึกแบบนั้น บวกกับที่บ้านสนับสนุนเต็มที่ ก็เลยเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งตอนนั้นเปิดแค่เอกปฐมวัย เราก็เลยลงเรียนเลย เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าสู่เส้นทางสายครูอนุบาล จนกระทั่งเข้าไปเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ก็เริ่มซึมซับ ได้มีโอกาสอยู่กับเด็ก ก็มาจุดประกาย รู้สึกมีแรงบันดาลใจ จุดนี้ต้องให้เครดิตครูพี่เลี้ยงครับ เขาทำให้เราเห็นว่าความสุขจริงๆ ของครูอยู่ที่ตัวเด็ก เห็นเด็กยิ้ม หัวเราะ สนุกกับกิจกรรมที่เราทำ เป็นความสุขที่มันอธิบายไม่ถูก ครูพี่เลี้ยงให้คอนเซ็ปต์ที่ครูจัสมินยึดในการทำงานเลยก็คือ การอยู่กับเด็กเป็นช่วงเวลาที่เราไม่จำเป็นต้องคิดอะไร เวลาที่เราอยู่กับเด็กเราไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอื่นเลยครับ เราอยู่ในห้องเป็นครูสอนเด็ก เหมือนพี่สอนน้อง เหมือนพ่อสอนลูก เราก็ยึดตรงนั้น จนเราได้บรรจุแล้วเราก็ยึดตรงนั้นมาเรื่อยๆ เราไปบรรจุอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อน บรรจุอยู่ได้ 4 ปี แล้วก็ย้ายกลับภูมิลำเนา ตุลาคม 2567 นี้ เข้าปีที่ 6 แล้วครับ
เปรียบเทียบวันแรกที่เข้าไปเรียนเป็นนักศึกษาครู กับทุกวันนี้ที่เป็นคุณครูจัสมินของนักเรียน เราเห็นการเติบโตของตัวเองยังไงบ้าง
ต่างมากครับ เพราะว่าตอนเรียนทั้งรุ่นมีเพื่อนผู้ชายอยู่ 5 คน นอกนั้นเป็นเพื่อนผู้หญิงหมดเลย แต่ทั้ง 5 คนตอนนี้ทุกคนก็ทำงานเป็นครูอนุบาลหมดเลยนะครับ ตอนแรกที่เข้าไปมีความคิดนะว่า เราเลือกถูกไหมเนี่ย บรรยากาศช่วงแรกๆ ก็เขินครับ แต่พอผ่านไปสักเทอม ผ่านไปสักปีสองปีก็เริ่มคุ้นเคย ต้องขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณรุ่นพี่ เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน อะไรที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ก็ได้แลกเปลี่ยนกัน เราก็เรียนรู้ในมุมของเพื่อนผู้หญิง เอามาปรับให้เข้ากับเรา ตอนนั้นเราอยู่ปีหนึ่ง ได้เห็นว่าเด็กตื่นเต้นที่ได้เห็นเรา เรียกเราว่าคุณครูทำให้เรารู้สึกว่า "นี่แหละ ทางของเรา นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของเราแล้ว" แล้วเราก็รู้สึกว่าเราพัฒนามาเรื่อยๆ ถามว่าตอนนั้นเราเป็นครูฝึกสอน เราไม่เคยเจอเด็กจริงๆ เราก็จะสอบสอนให้เพื่อนดู นำเสนอทำสื่อ เล่นกับเพื่อนในห้องเรียน มีเข้าไปที่โรงเรียนบ้าง จนกระทั่งมาฝึกสอนที่ได้ลองผิดลองถูกเยอะ เทียบตอนนั้นกับตอนนี้คนละฟีลเลย ตอนเป็นนักศึกษาสอนแบบแข็งมาก ร้องเพลงไม่เป็น นำเด็กเต้นไม่ได้ ทุกวันนี้เราเก็บเด็กได้ตลอด ทุกวันนี้เด็กเดินตามเหมือนลูกเป็ดเลย
พอมาทำงานเป็นครูปฐมวัยจริงๆ ข้อจำกัดยังอยู่ไหม
ยังอยู่ครับ เราต้องยอมรับว่าเราเป็นครูผู้ชาย (เพศกำเนิดชาย) มีข้อจำกัดมากกว่าครูเพศกำเนิดหญิง เรื่องความไว้วางใจสำคัญมาก เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อน ทำให้เขาเห็นว่า เราเลี้ยงลูกเขา ดูแลลูกเขาได้นะ แต่คงไม่ได้เป็นการเดินไปบอกว่า เราสอนเก่งนะ เพราะเขาจะไม่ได้มาถามเราตรงๆ ว่าครูสอนเป็นยังไง แต่เด็กๆ จะค่อยๆ ซึมซับ สร้างความไวัวางใจกับเรา เด็กเป็นอะไรนิดหน่อยเราจะรายงานผู้ปกครองก่อนตลอด ว่า "วันนี้น้องเล่นแล้วเป็นแผลตรงนี้นะ" ส่วนเรื่องการเข้าห้องน้ำ ถ้าเป็นเด็กผู้ชายครูจัสมินจะรับผิดชอบเอง แต่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงเราจะแจ้งผู้ปกครั้งตั้งแต่วันประชุมที่พบกันแรกๆ เลยว่า ที่โรงเรียนมีครูอนุบาลอีกท่านหนึ่ง หรือครูประถมที่เป็นผู้หญิงช่วยดูแล คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น เราไปทัศนศึกษา เราก็ต้องดูแลเอง ซึ่งผู้ปกครองก็จะเข้าใจ ถ้าเกิดเป็นแบบนั้นเราก็จะบอกคุณพ่อคุณแม่เลยว่า "วันนี้น้องต้องเข้าห้องน้ำนะ ฉี่รดกางเกงนะ คุณครูต้องเปลี่ยนให้นะครับ" ที่พูดมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนและข้างนอก เจอมาหมดแล้วก็เลยสามารถที่จะเล่าหรือว่ายกตัวอย่างได้ครับ
ทำไมถึงตัดสินใจเปิดเพจ ห้องเรียนอนุบาล by ครูจัสมิน
แรกเริ่มเราแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อน แล้วเราก็คิดว่า เราอยากแบ่งปันความสนุกของเราออกไป ตัดสินใจทำเพจดู ช่วงแรกเพจยังไม่บูมขนาดนี้ เราใช้วิธีลงคลิปอย่างเดียว เพราะเพิ่งบรรจุเป็นครูได้ไม่นาน เพราะเราอยากแชร์ อยากแบ่งปันรอยยิ้มเด็กๆ ของเราในห้องเรียน เวลาเขาทำการทดลอง ออกนอกห้องเรียนไปทำโครงงาน มีมุมที่เราเห็นแล้วยิ้ม หัวเราะ เราอยากแชร์ตรงนั้นมากกว่า แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ ครับ ทำคลิป ตัดเอง เริ่มจากตัดในมือถือก่อน เริ่มซื้อโปรแกรม ไปเรียนคอร์สตัดต่อโปรแกรมเพื่อทำคลิปลงเพจ ทำได้สักปีสองปี แล้วก็พักไปช่วงหนึ่งตอนที่เรียนต่อ เราก็ลงรูปภาพ ลงข้อมูล ช่วงปีที่สาม เริ่มมีองค์ความรู้ที่อยากเผยแพร่มากขึ้น
คนที่มาติดตามฟีดแบ็กว่ายังไงบ้าง
คำแรกที่คนจะทักเลยคือ ไม่ค่อยเห็นครูอนุบาลที่เป็นผู้ชาย แต่เราก็สอนของเรา ได้เห็นแล้วก็ยิ้มไปกับเราด้วย เราก็พยายามที่จะแชร์ตัวตนของเราออกไป
โดยปกติห้องเรียนของครูจัสมิน จัดการเรียนรู้ด้วยความตั้งใจว่าอะไร
เราจะดูตามหน่วยการเรียนรู้ของชั้นอนุบาล ซึ่งแต่ละสัปดาห์หนึ่งจะเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลยตลอดสัปดาห์ เช่นสัปดาห์นี้เรียนเรื่องฝน ใน 5 วันเราก็จะมาคิดว่าอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร เช่น การเกิดฝน เราอยากให้รู้ว่าอย่างน้อยเวลาฝนตก เขาสามารถเล่าให้พ่อกับแม่ฟังได้ ว่าฝนเกิดจากการรวมตัวของเมฆนะ เวลาฝนตกเราจะต้องป้องกันยังไง ถ้าเราไปข้างนอกแล้วเราเจอฝนตก โดยที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์กันฝนไว้ เราจะทำยังไง เราก็พยายามให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ที่เคยสอนแล้วรู้สึกประทับใจมาก คือครูจัสมินสอนปีที่แล้ว เรื่องอุปกรณ์กันฝน ให้เด็กเลือกอุปกรณ์ในห้อง ให้โจทย์ว่าถ้าอยู่ข้างนอกแล้วฝนตกขึ้นมา ช่วยกันคิดซิว่า อุปกรณ์ในห้องเรา อะไรบ้างที่กันฝนได้ เด็กก็เลือกของในห้องกันมา แล้วเราก็ทำการทดสอบกัน กลุ่มนี้เลือกแผ่นพลาสติก กลุ่มนี้เลือกกระดาษลัง เราก็พาออกไปข้างนอก ครูจัสมินต่อสายยางแล้วจำลองฝนตก เด็กก็ได้รู้ว่าอะไรกันได้ อะไรกันไม่ได้ หลังจากนั้นเด็กในห้อง ชื่อน้องนะโม มาเล่าให้ฟัง บอกว่าวันนั้นไปเซเว่นกับย่าแล้วฝนตก ครูก็ถามว่าแล้วทำยังไง หนูก็เอาถุงพลาสติกมาครอบหัวนั่งซ้อนท้ายย่ากลับมา ครูก็ถามว่าแล้วเอาถุงครอบหัวทำไม ก็คุณครูสอนว่าถ้าฝนตกแล้วเราไม่ได้เตรียมร่มไป ถุงพลาสติกกันฝนได้ ก็เลยเอามาครอบหัว จะได้ไม่เป็นหวัด เราก็รู้สึกว่าคอมพลีตแล้วที่เราสอนเรื่องนี้ เพราะการสอนอนุบาลคือทำให้เขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ แล้วเขาจะจำ ถือว่าคอมพลีตในเรื่องนั้นแล้ว ประทับใจมากครับ
อย่างหน่วยฝน เริ่มต้นออกแบบจากอะไรบ้าง
ก่อนที่จะมาถึงการเลือกหยิบอุปกรณ์กันฝนเนี่ย ปีที่แล้วเราจะเริ่มสอนการเกิดฝนก่อน เรียนรู้วัฏจักรของน้ำ การเกิดเมฆ เมฆธรรมดา เมฆฝน ถ้าเกิดฝนตกจะมีอุปกรณ์อะไรบ้างที่กันฝนได้ พอหลังจากนั้นเด็กเอาร่มมาดูกันแล้ว ก็ไปต่อว่าถ้าไม่ได้เตรียมอุปกรณ์เหล่านี้มาจะทำยังไง ตอนแรกเด็กก็จะตอบตามความคิดตัวเอง ว่ากลับไปเอาร่มที่บ้าน รอฝนหยุดตก เราก็จะพยายามไกด์ให้เขาคิดต่อว่าเราจะทำยังไงต่อได้บ้าง กระตุ้นด้วยคำถาม จะใช้ เด็กจะได้ลงมือทำทุกหน่วย ทุกขั้นตอน ได้เลือกเอง ได้ทำเอง ได้สรุปเองทุกขั้นตอน เรามีหน้าที่แค่ชี้นำ ไกด์เขา แล้วก็เสริมประมาณนั้นครับ
อย่างที่ครูจัสมินบอกว่า ตอนอยู่กับเด็กแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย แสดงว่าก่อนมาสอนต้องเตรียมตัวเยอะมาก
สมัยฝึกสอนจะต้องมีขั้นนำ ขั้นตาม ขั้นสรุป รู้ตัวอีกทีเด็กล้อมวงคุยกัน ถ้าเป็นเราทุกวันนี้ก็จะไม่ได้มองว่ามันคือขั้นนำ ขั้นอะไร มันโยกสลับกันได้หมด รวมเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันที่เด็กเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ รู้ตัวอีกที กิจกรรมเริ่มไปแล้ว ได้สนุกไปแล้ว
ในห้องเรียน บริบทที่โรงเรียนมีความท้าทายเรื่องไหนอีกบ้างไหม บางโรงเรียนมีเรื่อง Learning Loss หรือเด็กพิเศษ
จะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้เด่นชัดเลย ก็จะยังไม่สามารถฟันธงได้ อาจจะสังเกตเห็นว่าเรียนรู้ช้านะ บกพร่องทางการเรียนรู้นะ เพราะตามหลักแล้วจะคอนเฟิร์มได้ก็คือขึ้น ป.2 ไปแล้ว ซึ่งเราก็หาวิธีที่เด็กแต่ละคนโอเค ต่อยอดได้ ทำได้ เราอาจจะต้องเหนื่อยหน่อย พาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนปกติ ถ้าตามหลักสูตรที่ต้องเขียนชื่อได้ อาจจะเขียนช้า ไม่มั่นใจเขียนหัวพยัญชนะ เราก็จะเริ่มสังเกต นั่งประกบ ถ้ายังเขียนไม่ได้ ก็จะเพิ่มเขียนรอยประ เขียนพยัญชนะจากกระดานที่ใหญ่ขึ้น คอนเซปต์คือเตรียมรูปแบบการสอนเฉพาะมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้ต้องจับเขาแยกออกมานะครับ ในช่วงที่สอนปกติ ใครที่ทำได้เราก็ปล่อยให้ทำไปตามปกติ แล้วเราประกบคนนี้ เด็กที่เรียนรู้เร็ว คล่อง เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะมาช่วยเราดูเพื่อนๆ เพราะก็มีเด็กที่เขียนช้าหลายคน ปีที่แล้วก็จะเป็นน้องนะโมนี่แหละ ที่เขียนได้เร็ว ที่บ้านดูแลดีด้วย เราก็จะให้เขาเขียนให้เพื่อนดู มีกระดาษ มีกระดานให้ แล้วให้เขาเขียนตาม ไม่ถึงขั้นจับมือ แต่จะช่วยดู ถามว่าได้ 100% ไหมก็ยังไม่ 100% เพราะจะมีรอยต่อระหว่าง อ.3 กับ ป.1 ซึ่งช่วงปิดเทอมไปเกือบเดือน คนที่เราพูดถึงตอนนี้ขึ้น ป.1 ก็พัฒนาได้ไกลขึ้น เพราะครูป.1 ช่วยเสริมให้ แม้จะยังไม่เท่ากับเพื่อนคนอื่น แต่ก็ไปในทิศทางที่ดีครับ
เคยเจอผู้ปกครองมากดดันให้เขียนได้เร็วๆ ไหม
มีครับ น่าจะมีเกือบทุกที่แหละ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขา เราจะอธิบายก่อน หยิบสมุดของนักเรียนที่ทำที่โรงเรียนให้ดู ให้เห็นว่าเขาทำได้นะ เราก็ช่วยครู ป.1 เต็มที่ แต่พอกลับไปบ้าน เด็กล้า การเลี้ยงดูต่างจากที่โรงเรียน ถ้ากลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่จะร้องขอเล่นโทรศัพท์ ขอดูทีวี ไม่เขียน ไม่ทำการบ้าน จะเป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งเลย บางทีให้การบ้านไปก็เอามาทำที่โรงเรียนอยู่ดี เราอธิบายไปเขาก็รับฟัง ไปสังเกตก็เห็นว่าจริง ผู้ปกครองก็ถามว่าครูรู้ได้ยังไง เราก็บอกว่า เด็กเล่าให้ฟังหมดครับ ว่ากลับไปบ้านทำอะไรบ้าง
เด็กมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นบ้างไหม จากการที่เล่นโทรศัพท์
สำหรับห้องเรียนครูจัสมินยังไม่เจอครับ เวลาที่เด็กเปิดใจเล่าให้เราฟัง ก็จะบอกว่า เล่นได้นะ แต่อย่าเล่นตอนกลางคืน เขาก็จะฟัง บางครั้งถึงขั้นผู้ปกครองโทรมา ให้ครูจัสมินคุยกับลูกให้หน่อย เราก็บอกว่าพักก่อนนะลูก แล้วก็พฤติกรรมเลียนแบบ อยู่บ้านไม่ฟังย่า ย่าก็ให้แม่โทรมาบอกว่ากลับบ้านอย่าทะเลาะกับย่า อย่าพูดคำหยาบ เราก็ช่วยคุยให้ก่อน เด็กก็ถามว่า ครูรู้ได้ยังไงว่าเขาทำแบบนั้นที่บ้าน เราก็บอกไปตามตรงว่าแม่โทรมาบอก หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก หรืออาจจะมีแต่ผู้ปกครองไม่กล้าเล่าก็ได้
เด็กต้องรักครูจัสมินมากแน่เลย
จะใช้คำว่าติด เด็กป.1 ก็จะมาเกาะประตูห้องอนุบาลตลอด เขาก็จะคอยเป็นหูเป็นตาให้เรา ก่อนกลับบ้านจะมาช่วยน้องอนุบาลพับที่นอน มานั่งในห้อง มาเล่นในห้องด้วยบ้าง
แล้วมีนักเรียนดื้อๆ ซนๆ ไม่ฟังครูจัสมินบ้างไหม
มีทุกรุ่น ตั้งแต่สอนมา เราจะเก็บหัวโจกก่อนเลย รู้แล้วว่าคนนี้ไม่ฟัง ถ้าเรามัวสนใจคนอื่นนะไม่ได้แน่ ธรรมชาติของเด็กหัวโจก เขาต้องการความสนใจ ต้องการการยอมรับ ไม่งั้นคงไม่โผงผาง ชอบแกล้งเพื่อน เพราะเขาอยากให้เราดุ ถ้าเราดุก็จะเข้าทางเขาแล้ว ก็ต้องพยายามเรียกมาช่วย เรียกมานั่งข้างๆ พยายามที่จะดึงเขามาเป็นพวกเราก่อน ถ้าเขาฟังเราเมื่อไหร่ เขาจะช่วยดูแลเพื่อนให้ และให้แรงเสริม ถ้าเขาแกล้งเพื่อนเราจะนิ่งก่อน มองก่อน ไม่สนใจ เรียกคนที่ถูกแกล้งมานั่งข้างเรา และพยายามชมให้เขาดู เพื่อนคนนี้ช่วยครู คนนี้ตั้งใจระบายสี ชมให้เขาดู เขาก็จะรู้สึกว่าถ้าทำแบบนี้ครูจะชมใช่ไหม เขาก็จะลองทำดู เราต้องตาไว พอเห็นเขาทำปุ๊บเราชาร์จเลย เก่งมากเลยลูก เนี่ยเห็นไหมเราก็ทำได้นะ เขาก็จะค่อยๆ ทำมากขึ้น อาจจะใช้เวลานิดหนึ่งครับ
PLEARN Model เกิดขึ้นมาได้ยังไง
จุดเริ่มต้นคือเราทำงานร่วมกับผู้ปกครอง เริ่มบรรจุมา เราขอผอ.ชวนผู้ปกครองมาเล่นกับลูก ปลูกต้นไม้ด้วยกัน ทำงานศิลปะด้วยกัน มาดูลูกๆ ทำกิจกรรม เช่นเพ้นต์กระเป๋าผ้า จุดสำคัญคือการดึงผู้ปกครองเข้ามาจะได้เห็นว่าตอนลูกอยู่ที่โรงเรียนเป็นยังไง พาผู้ปกครองมาทำกิจกรรมด้วยเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารอย่างมีส่วนร่วมระหว่างครูกับผู้ปกครอง ผนวกกับช่วงนั้นโควิดตามมาพอดี เราก็เลยปรับการทำงานกับผู้ปกครองได้ ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งชื่อ เราทำกันมาก่อนจะมีโควิด เราเรียกว่าเทคนิคการมีส่วนร่วมระหว่างครูกับผู้ปกครอง ส่งผลไปที่เด็ก ตอนนั้นก็เป็นต้นแบบของโรงเรียนบ้านช้าง ที่พระนครศรีอยุธยา เราแก้ปัญหาการเรียนรู้อนุบาลในช่วงโควิดได้ เราก็ต่อยอดมาทำเป็นโมเดล มีหลักวิชาการมาจับ เราอยากให้เด็กสนุก เพลินกับการเรียนของเราก็เลยใช้คำว่า PLEARN MODEL เราไปเรียนต่่อก็เลยนำความรู้นั้นมาสร้างโมเดลขึ้นมา ทำเป็นวิจัยในชั้นเรียน
ชวนผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมยากไหม
ดูบริบทผู้ปกครองก่อนเลย ว่าเขาประกอบอาชีพอะไร ตอนที่ยังสอนที่อยุธยา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องลางานมา เราจะคุยว่าช่วงเดือนนี้จะชวนมาทำกิจกรรมกับลูกๆ นะครับ เราจะเล่าคอนเซ็ปต์ให้เขาฟังก่อนว่าเทอมนี้จะให้ลูกๆ ทำอะไรบ้าง เราต้องคิดมาก่อน พอใกล้ๆ เดือนก็จะค่อยๆ เตือนเขา คุณแม่วันนี้ว่างไหม ถ้าเขาบอกว่าคุณครูวันนี้ไม่ว่าง ขยับออกไป หรือขยับเข้ามาได้ไหม เราก็จะดูเสียงของภาพรวมอีกที คนที่มายากโอเคเมื่อไหร่ก็นัดคนที่พร้อมมาตลอด พอได้วันก็จะนัดหมายกำหนดการ ให้มาพร้อมลูกๆ เลยก็ได้ ทำกิจกรรมกันครึ่งวัน ทำผลงานร่วมกัน แล้วให้กลับไปบ้านเลย เราเก็บแค่ภาพถ่าย เพื่อให้คะแนน ประเมินผลของเรา เขาก็จะได้เอาไปอวดที่บ้าน แต่พอมาที่สุพรรณยังไม่ได้ทำถี่ขนาดนั้น เพราะผู้ปกครองทำงานรับจ้างรายวัน ถ้าหยุดงานจะขาดรายได้ทันที เราก็เลยปรับเป็นวิธีการให้งานกลับไปทำที่บ้าน ให้กลับไปทำร่วมกับพ่อกับแม่ เป็นการบ้านทั้งครอบครัว เราก็จะไลน์บอกว่าวันนี้ให้งานนี้ไปนะครับ ใครทำเสร็จแล้วถ่ายรูปลงในไลน์ได้เลยนะครับ ส่วนใหญ่จะให้ไปในวันศุกร์
สุดท้าย ถ้าให้ส่งข้อความสื่อสารไปยังครูคนอื่นๆ อยากให้กำลังใจเรื่องไหน
หลัก ๆ ส่วนใหญ่เรื่องของการสอนไม่เป็นห่วง เพราะเพื่อนครูรุ่นเรามีแนวทางหลากหลายที่เราก็มาปรับใช้ แลกเปลี่ยนกัน ไม่เป็นห่วงเลย ทุกคนที่มาเป็นครูอนุบาลคือหัวใจความเป็นครู การสอนเด็ก จัดเต็มกันอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วง คือ ภาระงานในโรงเรียนอื่นๆ ที่นอกเหนือการสอน ไม่เคยได้ยินเพื่อนคนไหนบ่นเรื่องการสอนเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารรายงาน ลูกเพจที่ติดตามก็มาปรึกษาบ่อยๆ เราก็จะแชร์เอกสารให้ดูเป็นตัวอย่าง จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น จะได้ช่วยเหลือเพื่อนครูด้วยกัน เพราะงานนอกห้องเรียนมันหนักมาก แต่เราก็ต้องพยายามบาลานซ์มันให้ได้ อยากให้กำลังใจเรื่องนอกเหนือจากงานสอนมากกว่า
สำหรับครูประถม เรามองว่าหลักสูตรเราคนละแบบกัน อนุบาลเน้นพัฒนาการ เรื่องของตัวเด็ก วันนี้เรียนจบอนุบาล ขยับไป วันรุ่งขึ้นไปป.1 หลักสูตรมันต่างเลย มันเป็นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ซะส่วนใหญ่ เราคุยกับครูป.1 เด็กเปิดเทอมได้ 2 เดือนจะมีนโยบายประเมิน RT แล้ว ความเครียด ความกดดันจะไปอยู่ที่ครูป.1 ถ้าเราช่วยกันหาทางออกร่วมกันจะลดความกดดันตรงนี้ลงได้ แต่ถ้าครูไม่คุยกันจะเป็นเรื่องที่เครียด ถึงขั้นทะเลาะกันได้ เพราะเราก็พยายามออกแบบการสอนให้เขาพร้อมที่สุดที่จะขึ้นไป แต่ด้วยพัฒนาการของเด็ก ลักษณะของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพร้อมรับ พ่อแม่ซัพพอร์ตดี ก็สานต่อกับหลักสูตร ป.1 ได้เลย แต่บางคนที่ผู้ปกครองไม่ได้ซัพพอร์ตขนาดนั้นก็ยาก เบื้องต้นเราอยากให้ครูในโรงเรียนคุยกัน ผู้บริหารก็ต้องเอื้อทั้งสองฝ่าย ทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าเสียงของเราไปถึงข้างบนเมื่อไหร่ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ถามว่าครูอนุบาลอยากปรับเปลี่ยนหลักสูตรไหม อยากให้มีนะครับ ช่วงของอนุบาล 3 ของภาคเรียนปลายๆ และเทอมแรกของ ป.1 ให้เอื้อกับการปรับตัวของเด็กด้วย การประเมินอาจจะขยับออกไป เสียงเดียวอาจจะยังไม่พอ ต้องช่วยกันขยับไปให้ถึงจุดนั้น
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วปิ๊งไอเดียสนุกๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นปฐมวัย คอมเมนต์ไว้ได้เลยน้า หรือใครอยากไปให้กำลังใจครูจัสมินตามไปกดไลก์เพจ ห้องเรียนอนุบาล by ครูจัสมิน ได้เลยจ้า
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!