inskru

3 เทคนิคสอนภาษาไทยฐานสมรรถนะ ให้ประยุกต์ได้ในชีวิตประจำวัน

3
2
ภาพประกอบไอเดีย 3 เทคนิคสอนภาษาไทยฐานสมรรถนะ ให้ประยุกต์ได้ในชีวิตประจำวัน

วิชา ”ภาษาไทย” ในสายตาเด็กจะเป็นยังไงบ้างนะ ?

บางคนก็มองว่าทุกวันนี้ใช้สื่อสารเป็นก็เพียงพออยู่แล้ว บางคนก็มองว่าไม่เห็นเอาไปใช้ได้ตรงไหน

แบบนี้ครูภาษาไทยคิดหนัก จะทำยังไงให้เด็ก ๆ สนใจเนื้อหา แล้วหยิบไปประยุกต์ใช้ในชีวิตตัวเองได้บ้างนะ ?

“ครูแม็ก” ครูภาษาไทยรุ่นใหม่ เจ้าของไอเดียการสอนในเว็บ inskru.com ได้แชร์แนวคิดในการออกแบบการสอนของตัวเองที่น่าสนใจ และเราได้รวบรวมออกมาแล้ว เป็น 3 วิธีดึงความสนใจให้วิชาภาษาไทยเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน จนโดดเด่นไม่น้อยหน้าวิชาไหน ๆ มาติดตามกันได้ในบทความนี้เลย !

เรามักจะเห็นไอเดียการสอนของครูแม็กในเว็บไซต์ inskru.com มามากมาย ทั้งกิจกรรมที่ครูแม็กได้ออกแบบเพื่อใช้สอนด้วยตัวเอง และกิจกรรมที่ต่อยอด นำไอเดียของคุณครูคนอื่นในคอมมูนิตี้ไปใช้ เช่น การ์ดครูกุ๊กกั๊ก หรือ กิจกรรม Drink ดั่งใจ แต่ตอนแรกครูแม็กเองก็ไม่ได้กล้าออกแบบการสอนในห้อง เขาบอกว่าจุดเปลี่ยนคือการที่จับความรู้สึกได้ว่ากำลังสอนแบบเบื่อ ๆ ซึ่งนั่นทำให้เห็นเด็ก ๆ เบื่อในการเรียนไปด้วย

ในฐานะของครูภาษาไทย ครูแม็กเข้าใจความรู้สึกที่วิชาที่ตัวเองสอน มักเป็นวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่มองข้ามเป็นอย่างดี แต่ด้วยความตั้งใจ เขาจึงเปลี่ยนมุมมองการสอนภาษาไทยเป็นแบบที่หาที่อื่นไม่ได้ โดยพยายามทำการสอนฐานสมรรถนะ ให้นักเรียนได้ต่อยอดสู่โลกความเป็นจริงต่อไปด้วยตัวเองได้ในที่สุด ครูแม็กจึงตั้งใจออกแบบการสอนออกมามากมาย โดยเลือกนำเนื้อหาที่ต้องสอนมาปรับประยุกต์ และนี่คือ 3 วิธีที่ครูแม็กเลือกใช้ในห้องเรียน

“ปรับ”

ปรับประเด็น เลือกแก่นที่มีความร่วมสมัย ให้นักเรียนได้ซึมซับ

ตัวอย่างเช่น ไอเดียการสอน “เรียนวรรณคดี ฉบับ เด็ก Gen Z” ที่ครูแม็กนำเนื้อเรื่องกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทางทอง พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ซึ่งพูดถึงสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ ที่เจ้าฟ้ากุ้งได้พบเจอระหว่างการเดินทาง นอกจากแก่นหลักของบทประพันธ์แล้ว ครูแม็กได้ปรับประเด็นของการเรียนรู้ให้นักเรียนทำความเข้าใจ สืบค้นรายละเอียดของสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ ในเรื่องเพิ่มเติม พร้อมทำความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวในชีวิตของมนุษย์อย่างพวกเรา เพื่อพัฒนาทักษะพฤติกรรมที่เอื้อต่อสังคม (Prosocial Behavior) ในด้านความยั่งยืนของระบบนิเวศและนิเวศสำนึกขึ้นในตัวของเด็ก ๆ

หรือไอเดียการสอน “Stop Bullying เริ่มได้ที่ตัวเรา” ที่นอกจากจะได้เรียนรู้เนื้อเรื่องของ “รามเกียรติ์” ตอน นารายณ์ปราบนนทกแล้ว ครูแม็กยังถอดเอาแก่นเรื่องรองที่ทุกคนล้อเลียนนนทก มาชวนคุยกันต่อว่าหากเทียบกับปัจจุบัน สิ่งนี้คือการบูลลี่หรือเปล่า นักเรียนจึงได้สะท้อนคิดและเห็นภาพว่าวรรณคดีที่ดูเก่าแก่ สามารถปรับใช้ให้เข้ากับปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง เพิ่มความน่าสนใจ ชวนเรียนรู้ได้มากเลยทีเดียว

ไอเดียการสอนภาษาไทยแบบครูแม็ก

เรียนวรรณคดี ฉบับ เด็ก Gen Z

https://inskru.com/idea/-O5uSovOaweRQf395IVo/

Stop Bullying เริ่มได้ที่ตัวเรา

https://inskru.com/idea/-O6M1HxZaweRQf395IVo/

“รวม”

รวมตัวชี้วัดที่ต้องได้ บูรณาการให้นักเรียนศึกษาทีเดียว

ตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือนอกเวลา ที่ครูแม็กออกแบบการเรียนรู้และการทำงานของนักเรียนใหม่ให้ไม่ต้องทำออกมาเป็นรายงานการอ่านบันทึกการอ่าน แต่ให้นักเรียนจับประเด็นเรื่องที่อ่านไปทำเป็นบอร์ดเกมขึ้นมา และพิตช์นำเสนอขายบอร์ดเกมนั้น จากการรวมตัวชี้วัดเรื่อง “การพูดในโอกาสต่าง ๆ” ของระดับชั้น ม.2 มาผสมผสานเพื่อลดงานที่เด็ก ๆ ต้องทำ 

ครูแม็กได้แชร์ว่า “มีนักเรียนคนนึงอ่านเรื่องเกี่ยวกับสงคราม เลยออกแบบบอร์ดเกมให้เป็นการสู้รบกัน เมื่อโจมตีพื้นที่ไหนพื้นที่นั้นก็จะเป็นซากเมือง สุดท้ายนักเรียนนำเสนอให้ฟังว่า เกมนี้ไม่ว่าใครชนะ เมืองที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ก็พังยับเยินอยู่ดี” คำพูดนี้นี่เองที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจของเด็ก ๆ อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องให้เขาทำรายงานออกมาด้วยซ้ำ

“เพิ่ม”

เพิ่มในสิ่งที่จำเป็น เพื่อพัฒนาทักษะนักเรียนได้เต็มที่

วิธีนี้น่าประหลาดใจมาก เพราะเรามักคิดว่าการบูรณาการหรือก่ารลดคือวิธีที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้ว ครูแม็กบอกว่าการเลือกทุ่มเทพลัง และเวลาในสิ่งที่สำคัญก็ช่วยให้นักเรียน เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

อย่างการให้ทำบทวิจารณ์จากเรื่องที่นักเรียนเลือกอ่านมา ครูแม็กจะให้นักเรียนแก้งานมาส่งได้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปกติที่ส่งครั้งเดียวจบ ให้คะแนนเลย แต่ครูจะไม่บอกนักเรียนก่อน เพื่อให้ทุกครั้งที่ทำมาส่ง นักเรียนได้ทำอย่างเต็มที่ การให้ทำมาส่งใหม่ได้ถึง 3 ครั้งของครูแม็กก็เป็นเพราะความเชื่อว่า การเขียนต้องอาศัยการฝึกฝน ทบทวน และทำซ้ำ จึงจะได้พัฒนา ผลลัพธ์ที่ได้มานั้น ครูแม็กก็พอใจมาก เพราะได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนตามที่คาดหวังไว้จริง ๆ

นี่คือ 3 เทคนิค “ปรับ” “รวม” “เพิ่ม” ที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาภาษาไทยเข้ากับชีวิตประจำวันได้จริง

และทำให้เด็ก ๆ สนใจอยากเรียนมากขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ของวิชานี้มากกว่าเดิม

คุณครูที่ลองนำไปใช้ในห้องเรียนตัวเองแล้ว อย่าลืมเขียนไอเดียแบ่งปันกันได้ใน inskru.com น้า

ภาษาไทยการจัดการชั้นเรียนเกมและกิจกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

3
ได้แรงบันดาลใจ
2
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ