🛝กล้าเล่น กล้าLearn Day หนึ่งวันที่เราชวนคุณครูและผู้ปกครองมาเต็มที่กับการเล่น ร่วมกันหาวิธีการต่อยอดการเล่นเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นให้กับเด็ก ๆ ด้วยเวิร์กช็อปและวงคุยที่การันตีความเป็นกันเองพูดคุยกันสบาย ๆ พร้อมซัพพอร์ตทุกความตั้งใจและโอบรับความท้าทายเกี่ยวกับการเล่นที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ กิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ณ เซ็นทรัลเวิลด์
ครูหวาน: ของเล่นธรรมชาติฝึกให้ความคิดของเด็กๆ มีความยืดหยุ่น ไม่คิดแบบตายตัว ลองนึกถึงตอนเราเป็นเด็ก เวลาเราเดินออกไปที่สนามหญ้า สนามทราย เราหาวิธีเล่นเองได้ เจอไม้หนึ่งท่อนเล็กๆ เล่นอะไรได้บ้าง ใช้ขุดก็ได้ ใช้ขีดเขียน ใช้เล่นได้เต็มไปหมด เราต้องคิดตลอดเวลา ไม่เหมือนของเล่นพลาสติกที่มักเป็นของสำเร็จรูปตายตัว ถ้าเด็กได้ฝึกคิดเยอะๆ จะทำให้เขาเป็นคนยืดหยุ่นทางความคิด ทักษะ EF ที่กำลังพัฒนา สมองกำลังสร้างวงจรสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีต้นทุนมาจากความคิดยืดหยุ่นก่อน ทำให้เป็นเด็กที่ไม่กลัวปัญหา ไม่มีของเล่น ก็เล่นได้ ให้คิดไว้เลยว่าเด็กๆ เป็นนักเล่นตัวยง
ครูก้า: ของเล่นพลาสติกต้องซื้อมา ต้องมีถึงจะเล่นได้ แต่ถ้าเดินออกไปเจอธรรมชาติ เด็กจะออกแบบการเล่นเองได้ มีอะไรก็ใช้สิ่งนั้นบวกกับจินตนาการได้
”ถึงของเล่นไม่เยอะ เราก็ชวนให้เด็ก ๆ เล่นอิสระได้ เพราะจะทำให้พวกเขาได้ฝึกยืดหยุ่นความคิด ซึ่งสำคัญในช่วงวัย 3-6 ปีมาก เขากำลังพัฒนาวงจรประสาทที่เกี่ยวกับการคิดเชิงสร้างสรรค์อยู่ ที่สำคัญจะเริ่มคิดสร้างสรรค์ได้ต้องมีต้นทุนของการคิดแบบยืดหยุ่นตรงนี้ก่อน เราถึงจะได้เด็กที่ไม่ติดกรอบความคิดเดิม ๆ ไม่รู้สึกกังวลกับปัญหา ด้วยการฝึกจากมุมมองว่า “ของเล่นไม่มี ฉันก็หาอะไรเล่นได้” เด็ก ๆ เป็นนักเล่นตัวยงอยู่แล้ว - ครูหวาน - ธิดา พิทักษ์สินสุข นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ
พ่อโย่: อย่าส่งต่อความกลัวของเราไปให้ถึงลูกๆ ถ้าเราปล่อยให้เขาเล่นไป ใช้มีด ใช้กรรไกรแล้วเรากลัวจะอันตราย หลายๆ ครั้งบางทีเรากลัวไปก่อน
ครูหวาน: ธรรมชาติของมนุษย์ต้องเอาตัวรอด เราจะระมัดระวังอันตรายอยู่แล้ว แต่พอเราไปตอกย้ำ ถือแก้ว “ระวังๆ“ ยังไม่ทันจับแก้วเลย “ระวังแตก!“ เดินไปอีกนิด “ระวังหกล้ม! ระวังบันได!” ทำให้เด็กกลัวไปแล้ว เสียงพ่อแม่หลอกหลอนว่าโลกใบนี้มันน่ากลัว มีแต่อันตราย ต้องอยู่มันเฉยๆ เพราะว่าพอเราพูดบ่อยๆ สมองส่วนอารมณ์มันจะทำงาน ทุกครั้งที่ตอกย้ำมันจะเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว จนไม่กล้าทำอะไร เสียงของผู้ปกครองเป็น inner voice ในหัวของเขา การเจ็บตัวเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย แต่ได้เรียนรู้ คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เติบโต เรียนรู้ที่จะระมัดระวัง
พ่อโย่: ผมเคยพาลูกไปเที่ยวปาย ลูกชายเพิ่งเริ่มขี่จักรยานสองล้อได้ ซึ่งตรงนั้นเป็นทางชัน ปกติลูกขี่จักรยานแต่บนทางลาด เราก็ใจแข็ง ถามลูกว่าจะลองไหม ลูกก็ประเมินว่าจะลองดู ซึ่งเขาก็ขี่ไปได้จริงๆ แต่พอลงไปก็เกิดควบคุมไม่ได้จนล้มอยู่ข้างๆ วัดที่กำลังทำวัตรเย็น พระเงียบเลย ตกใจเสียงลูกผมร้อง ตอนแรกก็ตกใจเหมือนกัน กลัวว่าหลังจากนั้นเขาจะไม่กล้าขี่ แต่พบว่ากล้าขี่เหมือนเดิม แต่ระวังขึ้นเยอะเลยครับ
ครูหวาน: เด็กเขาประเมินตัวเองได้ ถ้าเราประเมินเขา เขาจะไม่ได้ฝึกทักษะสมองในการติดตามประเมินตัวเอง เพราะเราไปตัดสินใจ ประเมินศักยภาพของเขาต่ำกว่าจริงเสมอ แต่ถ้าเขาได้หัด ขี่จักรยานเหมือนที่คุณพ่อพูด เขาก็รู้กำลังเขา ถ้าฝึกบ่อยๆ หรือตอนที่จะปีนเครื่องเล่น ถ้าเราอยู่ใกล้ๆ เขาจะคอยแต่หันมามองว่าแม่จะว่ายังไง แม่จะว่าไหม หรือเด็กปีนต้นไม้ก็จะเลือกกิ่งที่เขามั่นใจว่าปีนได้ เขาจะประเมินทุกครั้ง พอหัดประเมินตัวเองบ่อยๆ Executive Funcion เรื่องของการประเมินและติดตามตัวเองจะเกิดขึ้นทันที แล้วเขาจะพัฒนาต่อ ถ้าเด็กๆ มีความสามารถในการประเมิน เขาจะยืดความสามารถในการพัฒนาตัวเองออกไปได้ เราอยากให้เขาเป็นแบบนี้ไหม ให้เขาเจ็บบ้างก็ได
ครูก้า: การประเมินคู่กับเป้าหมายนะ ถ้าเขารู้จักประเมิน จะตั้งเป้าหมายได้เหมาะสม ท้าทายกำลังพอดีๆ ถ้ามันสำเร็จเขาจะเขยิบเป้าหมายเอง นี่คือโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาไปตลอด ไม่มีใครบอกได้ว่า แค่ไหนน่าจะกำลังดี นอกจากตัวเขาเอง เมื่อไหร่ที่เขาตั้งเป้าหมายของเขาเอง เขาจะมีความรับผิดชอบสูง แล้วก็จะรู้สึกว่ามีพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เด็กไทยน่าสงสาร เราถูกให้รับใช้เป้าหมายผู้ใหญ่ เด็กเขาจะรู้ใจเขาว่าวันนี้เอาแค่นี้ก่อน วันนี้ขอเป็นคนดูก่อน วันนี้จะไปแค่ไหน จู่ๆ เขาอาจจะพุ่งเลยก็ได้ ถ้าเขามั่นใจแล้ว ให้เด็กจับจังหวะของตัวเอง
ครูหวาน: ทักษะการมุ่งเป้าหมายก็เป็นทักษะ EF ตัวที่ 9 นะคะ มันน่าสนใจที่ว่า เด็กหัดตั้งเป้าหมายตั้งแต่ยังเล็กๆ นะ เพียงแต่เขาพูดไม่ถูก แต่เขามีอยู่ในใจเขาทุกครั้ง เขามีเป้าหมายของเขา มนุษย์คนหนึ่งที่ได้ฝึกมาตั้งแต่เด็ก วงจรประสาทในการคิดตั้งเป้าหมายมันจะเก่งมาก
ครูก้า: แต่ก็ต้องระวังนะ เรื่องการตั้งเป้าหมาย ว่ามันเป็นเป้าหมายของผู้ใหญ่หรือเปล่า บางทีเราหวังดี อยากให้กำลังใจให้เขามั่นใจในตัวเอง แต่กลับทำให้เขาเสียความมั่นใจ อย่างการปีนบาร์โค้งตามโรงเรียนอนุบาล เด็กเล็กมองรุ่นพี่ อยากทำแบบนั้นได้ แต่เขายังอยากนะ จะขึ้นแค่ขั้นสองขั้นแล้วก็ลง แต่ถ้าผู้ใหญ่ไปบอกว่า ขึ้นเลยลูก ใครๆ ก็ทำได้ เขาจะประเมินตัวเองว่าอะไรคะ พ่อบอกว่าใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำไมเราขึ้นไปสองขั้นแล้วใจสั่น แสดงว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้ แม้จะเป็นความหวังดีที่ชม หรือเชียร์เขา ให้เขาบอกตัวเองดีกว่า บทบาทผู้ใหญ่สำคัญมาก การแทรกแซงอาจจะเป็นผลลบก็ได้ การเล่นไม่ใช่การแข่งขัน เขาแข่งกับตัวเองอยู่แล้ว ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้จะรู้จักให้อภัยตัวเอง ลองวิธีใหม่ ยังไม่ได้ งั้นลองอีกแบบ แต่ผู้ใหญ่ชอบไปตั้งกฎให้เด็กแข่งขันกัน เพราะเราอยากให้เด็กพัฒนาตัวเอง มันก็เลยมีคนที่ชนะแค่คนเดียว คนแพ้เต็มไปหมด คนเสียเซลฟ์เยอะ คนเซลฟ์ดีคนเดียว แล้วไม่ได้หมายความว่าเซลฟ์ดีตลอดไปด้วยนะ อยู่บนเส้นด้ายแห่งความหวาดกลัว จริงๆ แล้วไม่ควรให้เด็กไปอยู่ในสถานการณ์ที่แข่งขันกันตลอดเวลา ทุกประสบการณ์ของเด็กมีความหมายต่อชีวิตของเขาหมดเลย กำลังจะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนยังไง อยากให้เขารู้จักแบ่งปันกัน หรือเอาตัวรอดคนเดียว เราเปลี่ยนกติกาได้นะ แค่เอาเก้าอี้ออก ไม่เอาคนออก เราต้องช่วยเพื่อนทุกคนให้อยู่บนเก้าอี้ให้ได้ เด็กมีความสุขมากเลย กอดกันบนเก้าอี้ ทุกอย่างเราต้องมองว่าเด็กกำลังจะรับประสบการณ์ไปแล้วให้เขาเติบโตไปเป็นคนยังไง
”ตอนนั้นลูกชาย 3-4 ขวบเอง แล้วเพิ่งขี่จักรยาน 2 ล้อได้ ด้วยความที่เจอทางลาด เราก็คิดว่าน่าให้ลองขี่เหมือนกันนะ พอเป็นทางลาดลง เราก็ลังเลอยู่ เลยใจแข็งถามลูกไปว่า "หนูจะลองมั้ย?" เราต้องเชื่อว่าเด็ก ๆ เขาประเมินได้ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงดี หลังจากที่ตัดสินใจลองกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาลงมาเร็วเกิน ตกใจจนควบคุมจักรยานไม่ได้ ล้มจริง ๆ ขึ้นมา เราก็ตกใจ ดีที่มีใส่หมวกเซฟตี้ป้องกันไว้ก่อนแล้ว เราก็กังวลนะ กลัวว่าเขาจะไม่กล้าขี่จักรยานอีก แต่เปล่าเลย เขาขี่ต่อแล้วขี่อย่างระมัดระวังขึ้นเยอะเลย บางครั้งเราต้องปล่อยให้ได้ลองบ้าง เขาจะเรียนรู้จากความผิดพลาดตรงนั้นนั่นเอง” - พ่อโย่ - คาเชน รัตนวฤณดาวัน CEO จาก Bangkokburee Creativehouse คุณพ่อนักออกแบบการเรียนรู้ที่สอนลูก ผ่านการเล่นทุกอย่างรอบตัว
ครูหวาน: ไม่สำคัญว่าจะแพ้หรือชนะ สำคัญคือเราได้เล่นด้วยกัน ให้ค่านิยมใหม่เลย เวลาเขาเล่นกีฬาแล้วอยู่คนละทีม ก็ยังรักกันได้ เพราะตอนเล่นด้วยกันสนุกมากเลย มีแค่ตอนตัดสินนิดเดียวที่ไม่สนุก การให้ค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เล็ก
พ่อโย่: ตั้งแกนให้ชัด ผมให้ความสำคัญกับทัศนคติ ผมพยายามคิดว่าเด็กคนหนึ่งโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบนี้ได้ยังไง มันเป็นเพราะการเลี้ยงดูทั้งนั้นเลย ก็เลยพยายามให้เขาสนุกกับการเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เขาอยากลอง อยากเล่น ลองทำ ให้สนุกไปเลย หลังจากนั้นก็ง่ายขึ้นเยอะเลยครับ ในการทำให้เขาเป็นคนที่เติบโตเป็นคนที่เราคาดหวังไว้
ครูก้า: ชีวิตต้องมีทั้งผิดทั้งถูก เป้าหมายของเราอยากเห็นลูกเติบโตเป็นยังไง พ่อแม่ ครูต้องคิด อยากเห็นเขาเป็นยังไง ปักหมุดไว้ อยากให้ลูกสุขง่าย ทุกข์ยาก ลูกก็ต้องผ่านความผิดหวัง ล้มเหลวบ้าง ผ่านการเล่น เป็นแบบฝึกหัดให้เขาได้ ต่อบล็อกแล้วล้มเหลว เขาจะให้กำลังใจตัวเอง ไม่เป็นไร เอาใหม่ ครูก้าเคยเจอครั้งหนึ่งโชคดีมากๆ เลย เด็กพูดออกเสียงมา เขาต่อบล็อก ล้มแล้วทำใหม่ๆ เขาออกเสียงพูดว่า “วางเบาๆ” เขาปลอบตัวเองได้ สอนตัวเองได้ เพราะประสบการณ์ที่มันล้มไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เราควรจะให้ประสบการณ์เขา Working Memory มันมีตัวหนึ่งที่ครูหวานบอกว่า EF มีตัวที่สำคัญมาก คือ Working Memory ประสบการณ์ที่ได้รับเข้าไปมันคอยบอกเราว่า ไม่เป็นไร เราเคยผ่านสิ่งที่มันยาก แต่เราก็ผ่านมาได้ตลอด เราเคยล้มแล้วรู้สึกว่าเจ็บจนทนไม่ไหว เวลาเจออะไรที่ยาก เขาจะบอกตัวเองว่า ยากแค่ไหนก็ผ่านไปได้ จะทำให้ชีวิตของเขาเดินต่อไปได้ โดยที่ไม่มีเรา
ครูหวาน: หลักของเราคือ ความรู้สมัยนี้ถูกมาก หาที่ไหนก็ได้ แต่ความสามารถในตัวลูกเรา ความสามารถในการคิด การสร้างสรรค์ มุ่งเป้าหมาย จัดการอะไรต่างๆ เราจะเปลี่ยนเป้าไหม เราจะกลับมาที่เป้าของเรา ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าสิ่งที่คิด สิ่งที่พูด การกระทำต้องตรงกัน ถ้าคิดว่ากินของหวานมันไม่ดี กรุณาพูดบอกลูก ว่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไง การกระทำต้องตรงกับสิ่งที่พูดและคิดเสมอ อยากให้ฝึก เพราะวันที่ลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนที่มีหลัก คิดอะไรชัดเจน ทำอะไรมีหลักคิด เพราะเวลาที่เขากำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเขาต้องการพ่อแม่ที่มีหลักคิด เวลาที่เด็กไปเผชิญสถานการณ์ต่างๆ เขาจะเอาหลักคิดที่เราให้ไปใช้งาน คนที่ใกล้ชิดกับเด็กมีหน้าที่สร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับเด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมมติว่าเรามีกระปุกออมสิน สำหรับเด็กปฐมวัยจะใช้คำว่า window of oppertunity หรือหน้าต่างแห่งโอกาส เพราะพัฒนาการเขาก้าวกระโดดมาก ความรู้สึกที่เขามีต่อตัวเอง ความสามารถในการคิดก็เกิดตรงนี้ ประสบการณ์ที่มีคุณภาพที่เรามอบให้เขาในวัยนี้จะอยู่ใน Working Memory เขาจะจดจำไว้ แต่หากเราหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพเข้าไปในกระปุกออมสิน ก็จะเต็ม ไม่มีพื้นที่เหลือให้ประสบการณ์คุณภาพ เวลาเรามีประสบการณ์คุณภาพ เวลาเผชิญปัญหา เขาจะดึงประสบการณ์คุณภาพมาใช้กับปัญหาตรงหน้า ต่อยอดหลักคิดที่ผู้ใหญ่ให้ไว้เป็นประสบการณ์ใหม่ ทำให้เป็นเหมือนคำที่หมอประเสริฐเรียกว่า ไฟหน้ารถส่องไปได้ไกล ต้นทุนชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงสำคัญมากๆ เด็กคือต้นกล้า ผู้ปกครองต้องเป็นคนสวนที่เอาใจใส่ รดน้ำพรวนดิน ใกล้ชิดกับเขา จะเติบโตได้อย่างงดงาม แต่ถ้าแคระแกร็นไปแล้ว มาดูแลภายหลัง ยังไงก็ไม่งดงามเท่าที่ดูแลดีมาตั้งแต่ต้น
”เมื่อเราไปตั้งกติกาให้เด็ก ๆ แข่งขันกัน ด้วยความคิดที่อยากให้เขาพัฒนาตัวเอง มันเลยมีคนที่ชนะเพียงคนเดียว แต่มีคนแพ้เต็มไปหมด คนแพ้ที่เสีย self เยอะกว่าคนที่ได้เสริม self ซึ่งมีเพียงคนเดียว สำหรับครูก้า การเล่นไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกับคนอื่น แต่เด็กแข่งกับตัวเองอยู่ว่ามันท้าทาย ความคิดในหัวจะดังขึ้นมา “ฉันจะทำมันให้ได้” แต่ถ้าเกิดทำไม่ได้ขึ้นมา ไม่เป็นไรเลย เด็กจะค่อย ๆ หาวิธีการปลอบใจและพัฒนา self ของตัวเองขึ้นมา “ครั้งนี้ไม่ได้ เดี๋ยวพยายามใหม่” “ทำแบบนั้นไม่สำเร็จ เปลี่ยนวิธีดีมั้ย” นี่คือประโยชน์ของการเล่นที่เป็นการแข่งขันกับตัวเอง” - ครูก้า - กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
ครูก้า: อยากให้ยึดไว้คือเราคือนักการศึกษา เรารู้ว่าจะอำนวยโอกาสอะไรให้เด็ก ผู้ปกครองอาจจะไม่ได้เรียนครูมาแบบเรา เขามีโอกาสที่จะไม่รู้ หรือรู้บางส่วน เวลาที่ผู้ปกครองบอกว่าขอการบ้านหน่อย ลูกยังเขียนไม่ได้เลย เราต้องหนักแน่น เรารู้ว่าวัยนี้เขาควรได้รับอะไร บอกไปเลยว่า “เรื่องนั้นคุณพ่อคุณแม่ใจเย็นได้ เดี๋ยวถึงเวลามาเอง” เราต้องมั่นคงค่ะ คุณครูใช้ความเป็นนักการศึกษาอธิบายหลักการเหล่านี้ผู้ปกครองไปด้วยความมั่นใจได้เลย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!