inskru

การทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยในชั้นเรียน+แจกแบบวิเคราะห์เอกสาร

6
3
ภาพประกอบไอเดีย การทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยในชั้นเรียน+แจกแบบวิเคราะห์เอกสาร

การทบทวนวรรณกรรมในการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน


ในการเขียนรายงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research: CAR) ซึ่งมีรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเชิงวิชาการประกอบด้วย 5 บท ดังนี้

บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง*
บทที่ 3 วิธีการดำเนินการวิจัย
บทที่ 4 ผลการวิจัย*
บทที่ 5 สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

          หมายเหตุ ในบางครั้งบางบท* อาจเขียนหัวข้อบทด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไป อาทิ บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง* อาจใช้คำว่า “บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง” และบทที่ 4 ผลการวิจัย* อาจใช้คำว่า “บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล” เป็นต้น

ปัญหาสำคัญของการเขียนรายงานเชิงวิชาการอย่างหนึ่ง คือ การเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยการทบทวนวรรณกรรม หรือการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฏในบทที่ 2 ของรายงานการวิจัยนั้น ที่ทำให้คุณครูมักสับสนว่าจะเขียนอย่างไร และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนอะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงนำเสนอ “วิธีการของการทบทวนวรรณกรรม (literature review)” ซึ่งจะทำให้คุณครูนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิผล

ในการทบทวนวรรณกรรมคุณครูควรเลือกเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอ้างอิงที่น่าเชื่อถืออยู่ในฐานข้อมูลที่นักวิชาการให้การยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ และงานวิจัยนั้นควรมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีย้อนหลัง นอกจากนี้ผู้เขียนขอนำเสนอขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมที่เรียกว่า “ขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมแบบ OECD (OECD Process)” โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ขั้นตอนที่ 1 การวางโครงเรื่อง (Outlining: O) โดยการกำหนดประเด็นสำคัญ

ก่อนที่จะเริ่มเขียนคุณครูควรวางโครงเรื่องโดยการกำหนดประเด็นสำคัญในแต่ละตัวแปรที่ศึกษาก่อนเสมอเพื่อเป็นแผนที่ซึ่งช่วยให้คุณครูรวบรวมเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามทิศทางในการหาข้อมูลโดยหากเป็นการวิจัยเชิงทดลอง สามารถกำหนดโครงเรื่อง (Outline) ตามประเภทของตัวแปรที่ศึกษาได้ดังนี้

แบบที่ 1 ตัวแปรต้น ควรประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ ความสำคัญของตัวแปรต้น ความหมายของตัวแปรต้น ขั้นตอนของตัวแปรต้น และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของตัวแปรต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา
1.1 ความหมายของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา
1.2 ความสำคัญของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา
1.3 ขั้นตอนของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา*
1.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา 

          หมายเหตุ สำหรับตัวแปรต้นมีประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ขั้นตอนของรูปแบบการเรียนการสอน ในที่นี้คือ ขั้นตอนของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา* เพราะว่าผู้วิจัยต้องรู้และเข้าใจขั้นตอนของการสอนก่อนจึงจะนำไปวางแผนและเขียนแผนการสอนได้

แบบที่ 2 ตัวแปรตาม ควรประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ ความสำคัญของตัวแปรตาม ความหมายของตัวแปรตาม องค์ประกอบของตัวแปรตาม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของตัวแปรตาม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

2. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์
2.1 ความหมายของความสามารถในการคิดวิเคราะห์
2.2 ความสำคัญของความสามารถในการคิดวิเคราะห์
2.3 องค์ประกอบของความสามารถในการคิดวิเคราะห์*
2.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิดวิเคราะห์

หมายเหตุ สำหรับตัวแปรตามมีประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ องค์ประกอบของตัวแปรตาม ในที่นี้คือ องค์ประกอบของความสามารถในการคิดวิเคราะห์* เพราะว่า ผู้วิจัยต้องรู้ว่าตัวแปรตามประกอบด้วย องค์ประกอบอะไรบ้าง ผู้วิจัยจึงจะสามารถสร้างเครื่องมือขึ้นมาวัดตัวแปรตามให้ครอบคลุมในทุก ๆ องค์ประกอบของตัวแปรตามได้

2. ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจและค้นหา (Exploring: E) งานวิจัยภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา

หลังจากที่คุณครูวางโครงเรื่อง และกำหนดประเด็นสำคัญเสร็จแล้ว จากนั้นคุณครูควรสำรวจและค้นหาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หากคุณครูมีอุปสรรคด้านภาษาต่างประเทศ ก็ควรเริ่มต้นจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยภายในประเทศก่อนเพื่อให้คุณครูเข้าใจตัวแปรที่ศึกษาจากมุมมองของนักวิชาการในระดับประเทศในเบื้องต้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอเทคนิคการอ่านเพื่อทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนเรียกว่า “เทคนิคการอ่าน 2 Big” ดังนี้

เทคนิคที่ 1 อ่านเพื่อค้นหาแนวคิดหลัก (Big Idea) แบ่งออกเป็น 2 เทคนิคเฉพาะ ได้แก่

1.1) การอ่านแบบ Skimming หรือ Skipping เป็นการอ่านบทความในภาพกว้าง (Overview) เพื่อมุ่งเน้นการทำความเข้าใจกับตัวแปรที่ศึกษา (Big Idea) หากต้องการความรวดเร็วให้คุณครูอ่านในส่วนของบทคัดย่อ (Abstract)

1.2) การอ่านแบบ Scanning เป็นการอ่านบทความเพื่อเน้นเอาข้อมูลจากบทความไปใส่ในประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น หากคุณครูหาข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คุณครูควรมุ่งเน้นกับคำสำคัญ (Key word) ว่า “ความหมาย” “การคิดวิเคราะห์หมายถึง...” “การคิดวิเคราะห์คือ...” และ “การคิดวิเคราะห์เป็น...” จากบทความ เพื่อนำความหมายที่ได้ไปใส่ในประเด็นสำคัญภายในโครงเรื่อง (Outline)

เทคนิคที่ 2 อ่านเพื่อค้นหาผู้วิจัยที่มีชื่อเสียง (Big Name) เป็นการอ่านแบบ Scanning เพื่อค้นหาผู้วิจัยที่มีชื่อเสียง (Big name) ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการอ้างถึงในบุคคลนั้น ๆ ในหลายบทความ เพื่อไปสืบค้นอ่านบทความต้นฉบับของผู้วิจัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งมักเป็นภาษาต่างประเทศ ตลอดจนติดตามงานวิจัยอื่น ๆ ของผู้วิจัยที่มีชื่อเสียงเพื่อดูแนวโน้มและทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรที่ศึกษา

หมายเหตุ การทบทวนบทความวิจัยควรจับประเด็นที่ศึกษาได้แก่ ชื่อผู้วิจัย ปีที่ศึกษา ชื่อเรื่องวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง และผลการวิจัย โดนนำสิ่งเหล่านี้ไปเขียนใน หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษาภายในโครงเรื่อง (Outline) เสมอ

3. ขั้นตอนที่ 3 การเชื่อมโยง (Connecting: C) กับงานวิจัยในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา

หลังจากที่คุณครูได้ติดตามงานวิจัยในต่างประเทศของผู้วิจัยที่มีชื่อเสียงแล้วนั้นควรเชื่อมโยงโดยการติดตามอ่านทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ โดยใช้เทคนิคการอ่าน 2 Big ซึ่งมีเป้าหมายของการอ่านเพื่อหา Big Idea และ Big Name ต่อไป

4. ขั้นตอนที่ 4 การเก็บรายละเอียด (Detailing: D) ของการทบทวนวรรณกรรม

เมื่อคุณครูได้ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแล้วนั้น คุณครูควรใส่รายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละประเด็นสำคัญเรื่อย ๆ เพราะการทบทวนวรรณกรรมในบทที่ 2 นั้นจะเริ่มตั้งแต่การสำรวจปัญหาการวิจัยจนถึงการอภิปรายผลการวิจัย ดังนั้นการอ่านบทความโดยละเอียดถือเป็นสิ่งสำคัญ หากต้องการทำความเข้าใจบทความในมุมมองที่กว้างขึ้น

นอกจากนี้คุณครูอาจพบว่าในแต่ละประเด็นสำคัญอาจมีการเขียนข้อมูลที่แยกส่วนกันอยู่

ตัวอย่างการเขียนแบบขนมชั้นเช่น

ตัวอย่างที่ 1 ความหมายของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา (เขียนแบบขนมชั้น)

ผู้วิจัยคนที่ 1 กล่าวว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ...
ผู้วิจัยคนที่ 2 กล่าวว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ...
ผู้วิจัยคนที่ 3 กล่าวว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ...
โดยสรุปว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ...


ตัวอย่างที่ 2 ความหมายของการสะท้อนคิด (เขียนแบบขนมชั้น)

          Dewey (1933: 3 as cited in Özçakır Sümen, 2023: 8) ให้ความหมายว่า การสะท้อนคิด หมายถึง กระบวนการคิดที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนเรื่องราวภายในจิตใจ และพิจารณาไตร่ตรองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
          ปิยาณี ณ นคร (2556: 3) ให้ความหมายว่า การสะท้อนคิด หมายถึง การคิดใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนโดยการย้อนในประเด็นที่กำลังคิดเพื่อเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่คิดให้เป็นความรู้และการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น
          ประไพ กิตติบุญถวัลย์ และคณะ (2561: 104) ให้ความหมายว่า การสะท้อนคิด หมายถึง การคิดทบทวนไตร่ตรองสิ่งที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยใจที่เป็นกลาง มองดูความคิดความรู้สึกและการตอบสนองต่อสิ่งนั้นของตนเองโดยใช้คำถามช่วยหาคำตอบด้วยตนเองหรือร่วมเรียนรู้กับผู้อื่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการกระทำและการตอบสนองที่ดีขึ้นในอนาคตทั้งในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
          สมจิตต์ สินธุชัย และคณะ (2561: 16) ให้ความหมายว่า การสะท้อนคิด หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นจากการทบทวนประสบการณ์จากการปฏิบัติโดยการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎี และการปฏิบัติผ่านประสบการณ์คิดวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใคร่ครวญ ลึกซึ้ง ซึ่งต้องใช้การไตร่ตรองความรู้ความคิด ความรู้สึก การกระทำ รวมถึงความเชื่อคุณค่า และข้อสันนิษฐานของตนเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างมีความหมาย ทำให้เกิดความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยสรุปว่า การสะท้อนคิด หมายถึง กระบวนการคิดที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนและไตร่ตรองประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างลึกซึ้ง เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านั้นให้เป็นความรู้และการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์และตั้งคำถามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนามุมมอง ความเข้าใจ และแนวทางแก้ปัญหาที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงาน


ดังนั้น คุณครูจึงควรเก็บรายละเอียดของการทบทวนวรรณกรรม โดยการสังเคราะห์ข้อมูลที่เขียนแบบขนมชั้น (ข้อมูลที่ยังแยกส่วนกันอยู่) ให้เป็นข้อมูลขนมเปียกปูน (ข้อมูลที่มีการร้อยเรียงให้เชื่อมโยงกัน) หรืออาจเรียกว่า การเขียนเชิงสังเคราะห์

ตัวอย่างการเขียนแบบขนมเปียกปูนเช่น

ตัวอย่างที่ 1 ความหมายของรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา (เขียนแบบขนมเปียกปูน)

รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ... (ผู้วิจัยคนที่ 1; ผู้วิจัยคนที่ 2)
ซึ่งผู้วิจัยคนที่ 3 ขยายความว่า... สอดคล้องกับผู้วิจัยคนที่ 4 ที่กล่าวว่า...
โดยสรุปว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิปปา หมายถึง ...


ตัวอย่างที่ 2 ความหมายของการสะท้อนคิด (เขียนแบบขนมชั้น)

          Dewey (1933: 3 as cited in Özçakır Sümen, 2023: 8) ได้ริเริ่มใช้คำว่า การสะท้อนคิด โดยให้คำจำกัดความว่า การสะท้อนคิด หมายถึง กระบวนการคิดที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนเรื่องราวภายในจิตใจและพิจารณาไตร่ตรองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ต่อมานักวิจัยทางการศึกษาหลายคนระบุถึงเป้าหมายของการสะท้อนคิดว่า เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นความรู้และการเรียนรู้ที่มีความหมาย โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์และตั้งคำถามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนามุมมอง ความเข้าใจ และแนวทางแก้ปัญหาที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงาน (ปิยาณี ณ นคร, 2556: 3; ประไพ กิตติบุญถวัลย์ และคณะ, 2561: 104; สมจิตต์ สินธุชัย และคณะ, 2561: 16)


สรุปสาระสำคัญ

เทคนิคการทบทวนวรรณกรรมเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถืออยู่ในฐานข้อมูลที่นักวิชาการให้การยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติ และงานวิจัยนั้นควรมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีย้อนหลัง
ขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมแบบ OECD (OECD Process) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. ขั้นตอนที่ 1 การวางโครงเรื่อง (Outlining: O) โดยการกำหนดประเด็นสำคัญ
2. ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจและค้นหา (Exploring: E) งานวิจัยภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดหลักและติดตามงานวิจัยของผู้วิจัยที่มีชื่อเสียง
3. ขั้นตอนที่ 3 การเชื่อมโยง (Connecting: C) กับงานวิจัยในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา เพื่อเชื่อมโยงถึงงานวิจัยของผู้วิจัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และเชื่อมโยงต่อ ๆ ไปเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยในระดับนานาชาติ
4. ขั้นตอนที่ 4 การเก็บรายละเอียด (Detailing: D) ของการทบทวนวรรณกรรม โดยการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยในปีปัจจุบัน รวมทั้งการเขียนข้อมูลในเชิงสังเคราะห์

       

อย่างไรก็ตามหากคุณครูต้องการตรวจสอบรายการของเค้าโครงการวิจัยหรือโครงร่างการวิจัยทั้งฉบับ โดยสามารถติดตามต่อไปที่ https://inskru.com/idea/-NrWCPdKh66WhkK_ETn2/

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    วิจัยในชั้นเรียนใบงานตัวช่วยครูเติมความรู้

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    6
    ได้แรงบันดาลใจ
    3
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    Constructivist Teacher
    Research Interests: Earth System Science Education, Pedagogical Content Knowledge (PCK), Professional Learning Communities (PLC), Curriculum Development, Instructional Supervision

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ