inskru

คำประพันธ์ง่าย ๆ แต่งร่ายสุภาพ

2
2
ภาพประกอบไอเดีย คำประพันธ์ง่าย ๆ แต่งร่ายสุภาพ

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเรื่อง "การสอนแต่งคำประพันธ์" ครูภาษาไทยหลายคนคงนึกปวดหัว... ไม่ใช่เพราะการสอนแต่งคำประพันธ์เป็นเรื่องที่ยากสำหรับครู หากแต่จะสอนอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกว่าการแต่งคำประพันธ์นั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา นั่นแหละคือประเด็นท้าทาย ; )

การจัดการเรียนการสอนแต่งร่ายสุภาพในครั้งนี้ เน้นกระบวนการคิด (Thinking - Based Instruction) ผสมผสานกับกระบวนการกลุ่ม (Group Process - Based Instruction) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดแบบเป็นกลุ่ม อีกทั้งยังอิงทฤษฎีการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบซึ่งเริ่มจากง่ายไปหายากของ กานเย (Gagne)

ขั้นตอน

- ชั่วโมงที่ 1 -

ขั้นที่ 1 สร้างความสนใจ (gaining attention) เริ่มจากการนำตัวอย่างของร่ายสุภาพมาให้นักเรียนอ่าน แล้วถามว่านักเรียนรู้สึกอย่างไรต่อร่ายสุภาพคณะนี้ นักเรียนคิดว่าการแต่งร่ายสุภาพยากหรือไม่ แล้วคิดว่าตนเองจะสามารถแต่งร่ายแบบนี้ได้ไหม

ขั้นที่ 2 แจ้งจุดประสงค์ (informing the leaner of the objective) แจ้งนักเรียนว่าเรื่องที่จะได้เรียนต่อไปนี้คือการแต่งคำประพันธ์ประเภทร่ายสุภาพ ซึ่งนักเรียนจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานร่ายของกลุ่มตนเองขึ้นมา

ขั้นที่ 3 กระตุ้นให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้เดิมที่จำเป็น (stimulating recall of prerequisite learned capabilites) ความรู้พื้นฐานของการแต่งคำประพันธ์ทุกชนิดคือ การแต่งคำคล้องจอง ในชั่วโมงที่ 1 นี้ ให้นักเรียนได้ฝึกแต่งคำคล้องจอง 3 พยางค์ จำนวน 40 คำ โดยเริ่มแรกครูพาแต่ง (10 คำ) นักเรียนร่วมกันทำ (15 คำ) และให้ฝึกทำด้วยตนเอง (15 คำ)

- ชั่วโมงที่ 2 -

ขั้นที่ 4 เสนอบทเรียนใหม่ (presenting the stimulus) สอนเนื้อหา/ทฤษฎี รวมไปถึงวิธีการแต่งร่ายสุภาพ โดยใช้งานนำเสนอ (ppt.) ประกอบการสอนของ อจท.

ขั้นที่ 5 ให้แนวทางการเรียนรู้ (providing learning guidance) ครูพานักเรียนแต่งร่ายสุภาพ เนื้อหาเกี่ยวกับห้องของตนเอง กำหนดความยาว 1 คณะ ให้มี 10 วรรค และจบด้วยโคลงสองสุภาพ วรรคแรกครูเริ่มให้ วรรคต่อไปให้นักเรียนระดมความคิดช่วยกันทั้งห้อง ครูคอยพูดกระตุ้นให้นักเรียนคิดคำ 5 คำขึ้นมาที่คล้องจองกับวรรคก่อนหน้า คอยแก้ไข แนะนำเพิ่มเติมกับคำที่นักเรียนเสนอมา ในตอนที่ต้องแต่งจบด้วยโคลงสองสุภาพ ใช้วิธีวาดแผนผังโคลงสองและคิดคำพร้อมเขียนทับลงไป

- ชั่วโมงที่ 3 -

ขั้นที่ 6 ให้ลงมือปฏิบัติ (eliciting the performance) แบ่งกลุ่มให้นักเรียน 4 - 5 คน หรือตามความเหมาะสม ให้เรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันแต่ง ร่ายสุภาพในหัวข้อ "โรงเรียนของฉัน" กำหนดความยาว 1 คณะ ให้มี 15 วรรค และจบด้วยโคลงสองสุภาพ (ในระหว่างที่นักเรียนร่วมด้วยช่วยกันแต่งร่ายสุภาพ ครูเดินดูความคืบหน้าของแต่ละกลุ่ม คอยให้คำแนะนำเมื่อนักเรียนมีข้อสงสัย) เมื่อหมดคาบ ครูเก็บงานนักเรียนเพื่อกลับไปตรวจ

- ชั่วโมงที่ 4 -

ขั้นที่ 7 ให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ครูให้ feedback งานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (ในขั้นตอนนี้คือการถ่ายรูปผลงานของนักเรียนมาตรวจ เขียนคอมเมนต์ลงไป แล้วนำเสนอบนจอโทรทัศน์เพื่อให้นักเรียนกลุ่มอื่นได้ดูผลงานของกันและกัน)

ขั้นที่ 8 ประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ (assessing the perfomance) ตรวจงานพร้อมให้คะแนนโดยอิงเกณฑ์

  1. ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
  2. เนื้อหาสื่อความหมายได้สอดคล้องกัน
  3. ภาษาสละสลวยมีความไพเราะ

ขั้นที่ 9 ส่งเสริมความแม่นยำและการถ่ายโอนการเรียนรู้ (enhancing retention and transfer) ครูสรุปเนื้อหาโดยถามคำถามทบทวนความรู้เกี่ยวกับการแต่งร่ายสุภาพ เช่น

  1. พื้นฐานการแต่งคำประพันธ์คืออะไร (การแต่งคำคล้องจอง)
  2. ร่ายสุภาพ 1 คณะกำหนดกี่วรรค (5 วรรคขึ้นไป)
  3. ร่ายสุภาพต้องจบด้วยอะไร (โคลงสองสุภาพ)
  4. ร่ายสุภาพ 1 วรรคมีกี่พยางค์ (5 พยางค์)
  5. คำสุดท้ายของวรรคหน้า ต้องเชื่อมกับคำที่เท่าไหร่ของวรรคถัดไป (1 2 หรือ 3)

ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

  1. นักเรียนรู้สึกว่าการแต่งร่ายสุภาพไม่ใช่เรื่องที่ยาก เนื่องจากได้เรียนรู้วิธีการแต่งโดยครูพาทำ และงานที่มอบหมายมีเพื่อนช่วยคิดช่วยทำ
  2. นักเรียนจดจำฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพได้ เนื่องจากได้เรียนทั้งทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับครู ฝึกทำด้วยตนเอง(กลุ่ม) อีกทั้งได้ทบทวนความรู้ด้วยการถามตอบ
  3. นักเรียนมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนแต่งคำประพันธ์

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

  1. นำไปประยุกต์ใช้กับการสอนแต่งคำประพันธ์ประเภทอื่นได้ เช่น กลอนสี่ กลอนหก กลอนสุภาพ กาพย์ยานี 11 โคลงสี่สุภาพ อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ฯลฯ
  2. ในขั้นทบทวนความรู้ครูผู้สอนอาจเปลี่ยนจากการถามตอบทั่วไป เป็นทำเกมออนไลน์ จำพวก Kahoot หรือ quizizz ให้นักเรียนได้เล่น
  3. การจัดบรรยากาศในห้องเรียนควรจัดโต๊ะเป็นกลุ่มเพื่อให้นักเรียนทำงานกลุ่มได้สะดวก

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาไทยมัธยมปลายมัธยมต้นประถมการจัดการชั้นเรียนเกมและกิจกรรมหลักการใช้ภาษาไทยการเขียน

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    2
    ได้แรงบันดาลใจ
    2
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    ครูมะลิ

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ