inskru
gift-close

ห้องเรียนภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

2
1
ภาพประกอบไอเดีย ห้องเรียนภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

ทำไมเราต้องจำกัดการเรียนรู้ให้อยู่แค่ในห้องเรียน ทั้ง ๆ ที่โลกภายนอกคือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่พร้อมเปิดห้องให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เรามีแหล่งเรียนรู้มากมายในชุมชนที่พร้อมจะให้เด็ก ๆ ได้ก้าวออกไปเผชิญ วันนี้ผมขอชวนครูภาษาไทยทุกคนได้มีแนวทางในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ ออกแบบห้องเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่มีชุมชนเป็นทรัพยากรส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน และสิ่งสำคัญคือครู นักเรียน และชุมชนจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และเพื่อจุดประกายให้ครูหลาย ๆ คนต่อยอดนวัตกรรมห้องเรียนภาษาไทยให้น่าสนใจสร้างความกระตือรือร้นให้ผู้เรียน และสานประโยชน์ร่วมกับชุมชนให้โรงเรียนและชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

การจัดการเรียนรู้โดยชุมชนเป็นฐานในห้องเรียนภาษาไทยคือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถด้านภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2560) หรือตามจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ของคณะ มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่กำหนดไว้เฉพาะด้าน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นฐานในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Experiential Learning continuum) ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสมาชิกในชุมชนเพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้จากทฤษฎีในห้องเรียนมาปฏิบัติใช้ผ่านภาระงานที่ได้รับมอบหมายโดยการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงเกิดเป็นทักษะทางภาษาไทยผ่านการอ่าน การเขียน การฟัง การดู การพูด หลักภาษา และวรรณกรรม ฯลฯ และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และชุมชนได้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ของผู้เรียนหรือจากงาน/ ภาระงานที่ผู้เรียนได้กระทำจนสำเร็จ

ขั้นตอน

1. ขั้นก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

  1. างแผนและออกแบบการจัดการเรียนรู้ การวางแผนหลักสูตรจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามเป้าหมายหลักสูตรได้ ทั้งนี้ครูควรให้ผู้เรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์มากที่สุดเนื่องจากแต่ละชุมชนมีบริบท สถานที่ แหล่งเรียนรู้ และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน การวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนรู้จึงควรออกแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา ผู้เรียน และบริบชุมชนของตนเอง
  2. บริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน ครูควรศึกษาบริบท ความต้องการชุมชนและตรวจสอบแน่ชัดว่าการจัดการเรียนรู้นี้จะสร้างประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและชุมชน ควรมีโอกาสพบปะกับสมาชิกในชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อขี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม ความคาดหวัง กำหนดการจัดกิจกรรม ภาระงานของผู้เรียน หรือการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ตลอดจนจัดทำตารางกิจกรรมอย่างละเอียดพร้อมวันที่และเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
  3. จัดทำเอกสารขออนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครูควรจัดทำหนังสือขออนุญาตสถานศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพาผู้เรียนไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานศึกษา หนังสือขออนุญาตผู้ปกครอง หนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ในการจัดการเรียนรู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น เอกสารเกี่ยวกับการเดินทาง ประกันอุบัติเหตุ ประกันความเสียหายของทรัพย์สิน เป็นต้น
  4. การวางแผนกิจกรรม ครูและนักเรียนจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุดโดยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างถี่ถ้วน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก "ผู้สอน" เป็น "โค้ช" สามารถจัดกิจกรรมให้มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (ที่ไม่ใช้การจำลองสถานการณ์ในห้องเรียน) เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตประจำวันในโลกแห่งความเป็นจริง

2. ขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

  1. จัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ไม่มีข้อจำกัดหรือทฤษฎีจำเพาะว่าการจัดการเรียนรู้ต้องใช้กลวิธี รูปแบบ หรือเทคนิคการสอนแบบใด ครูจึงควรพิจารณาความเหมาะสมผ่านการวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียน วิเคราะห์ชุมชน และวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ เช่น Task-based Learning Problem-based learning Game-based Learning Project-based learning Team-Based Learning Story-Based Learning Cooperative Learning Dialogue GPAS 5 Steps Think-pair-share Flipped Classroom ฯลฯ
  2. สะท้อนผลระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูควรให้เวลาและพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สำคัญและให้ข้อเสนอแนะในการทำงานกับผู้เรียนอย่างทั่วถึงเพราะจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจว่าแต่ละกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อย่างไร จะเชื่อมโยงไปยังส่วนอื่น ๆ ได้อย่างไร การสะท้อนเป็นองค์ประกอบของ CBL ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลการเรียนรู้โดยเฉพาะการสะท้อนที่ท้าทายผ่านการอภิปรายหรือการมอบหมายงานสามารถใช้เป็นข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้และเป็นทักษะที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย การสะท้อนผลการเรียนรู้ของผู้เรียนควรดำเนินการ ดังนี้
  • การสะท้อนควรทำให้ผู้เรียนเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานกับหลักสูตรและเนื้อหาในรายวิชา
  • การสะท้อนควรเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  • ครูควรให้ข้อเสนอแนะและคะแนนสำหรับกระบวนการการเรียนรู้/ การทำงาน เช่น ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน (ผู้เรียนส่งงานตรงเวลาหรือไม่และงานที่ได้รับมอบหมายได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่) ความพยายามในการทำงาน (ผู้เรียนนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงงานของตนเองหรือไม่และต้องได้รับข้อเสนอแนะกี่ครั้งงานจึงจะประสบความสำเร็จ) และการปรับปรุง/พัฒนาการทำงาน (การส่งงานแต่ละครั้งมีร่องรอยการปรับปรุง มีพัฒนาการมากน้อยเพียงใด แปลกใหม่หรือแตกต่างจากเดิมหรือไม่)

3. ขั้นหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

  1. ประเมินผลการเรียนรู้ การประเมินควรมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพื่อให้ช่วยเหลือผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ผ่านการประเมินแบบมีส่วนร่วมโดยการใช้เครื่องมือที่หลากหลายและประเมินตามสภาพจริง เช่น การประเมินการเขียน (Written assessment) การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Reflection Journal) การนำเสนอด้วยปากเปล่า (Oral assessment) และการใช้แบบประเมินมาตราส่วนประมาณค่า (Research scales)
  2. สะท้อนผลหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สิ่งสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานคือ ผู้เรียนต้องเกิดการเรียนรู้ การสะท้อนผล (Reflection) อันเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้และประเมินผล
การฝึกสะท้อนคิดคือความสามารถในการไตร่ตรองหรือคิดถึงสิ่งที่กระทำเหตุผลที่ทำสิ่งนั้น และสิ่งที่สามารถเรียนรู้จากการกระทำนั้น การสะท้อนคิดช่วยเพิ่มการโต้ตอบระหว่างครูและผู้เรียนตลอดจนระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ การฝึกสะท้อนคิดนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน หัวใจหลักของการสะท้อนคิดคือการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ได้           


ตัวอย่างการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นการสะท้อนคิด

ก่อนการจัดกิจกรรม

  • ทําไมนักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมนี้
  • กิจกรรมการเรียนรู้นี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร
  • นักเรียนสามารถเก็บข้อมูลอะไรได้บ้างและข้อมูลนั้นมีความสำคัญหรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร
  • นักเรียนคิดว่าทักษะใดบ้างที่จะได้ใช้/พัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง
  • นักเรียนคาดหวังว่าจะได้พบเจอ/เรียนรู้/ทําอะไรจากกิจกรรมการเรียนรู้
  • นักเรียนคิดว่าการจัดการเรียนรู้นี้เชื่อมโยงกับความสนใจและชีวิตประจำวันของนักเรียนอย่างไร
  • นักเรียนมองภาพตนเองอย่างใร (บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ฯลฯ) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้
  • นักเรียนมีวิธีการรักษาความปลอดภัยของตนเองอย่างไรตลอดการทำกิจกรรมนี้
  • นักเรียนคาดหวังอะไรมากที่สุดจากการจัดการเรียนรู้นี้

ระหว่างการจัดกิจกรรม

  • นักเรียนกำลังเผชิญกับอะไรบ้างระหว่างการทำกิจกรรม
  • ความประทับใจแรกของนักเรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้คืออะไร
  • นักเรียนได้ใช้ทักษะใดบ้างที่เห็นได้ชัดเจน/ ใช้ในการเรียนรู้นี้
  • การเรียนรู้ในห้องเรียนของเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในครั้งนี้อย่างไร
  • นักเรียนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาชีพบ้าง
  • ตอนนี้นักเรียนกำลังมีข้อสงสัยอะไรบ้าง
  • นักเรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้แต่ละวันได้อย่างไร
  • นักเรียนได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้างจากการจัดการเรียนรู้นี้

หลังการจัดกิจกรรม

  • นักเรียนสามารถนำข้อมูล/ ความรู้ที่รวบรวมได้ไปทำอะไรได้บ้าง
  • นักเรียนได้รับอะไรมากที่สุดจากการจัดการเรียนรู้นี้
  • นักเรียนจะติดตามผลกับผู้อำนวยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างไร
  • นักเรียนจะใช้คำถามอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคตได้อย่างไร
  • นักเรียนคิดว่าทักษะใดที่จำเป็น/ สำคัญต่อกิจกรรมการเรียนรู้นี้
  • การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้นี้ส่งผลต่อนักเรียนอย่างไร
  • นักเรียนชอบอะไรมากที่สุดจากกิจกรรมการเรียนรู้นี้
  • ตอนนี้นักเรียนอยากเรียนรู้อะไร
  • ประสบการณ์อื่น ๆ ที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร

ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

  • เป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแล้วยังเชื่อมโยงผู้เรียนและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน
  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ผู้เรียน และชุมชน ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เห็นแนวทางในการต่อยอดความรู้เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนของตนเอง
  • ผู้เรียนได้เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตอันจะนำไปสู่การสร้างสำนึกรักท้องถิ่นและการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต
  • ห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพอต่อการต่อยอดทักษะของผู้เรียนในอนาคต

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

การประยุกต์การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

เงื่อนไขความสำเร็จและข้อจำกัดสำหรับการประยุกต์การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

  1. ครูควรรวบรวมเนื้อหาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรในรายวิชาภาษาไทยที่ตนเองใช้จัดการเรียนรู้แล้วนำมาวิเคราะห์เนื้อหา เวลาที่ใช้จัดกิจกรรม และชุมชนที่จะให้นักเรียนลงพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างคุ้มค่าโดยระบุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ชัดเจน
  2. ครูควรคำนึงถึงการสะท้อนคิดอย่างเป็นระบบ (มีโครงสร้าง) ตลอดการลงพื้นที่ชุมชนของนักเรียนเพื่อเพิ่มความเข้าใจของนักเรียนและการเชื่อมโยงเนื้อหาในหลักสูตรวิชาภาษาไทยกับกิจกรรมการเรียนรู้
  3. ครูควรคำนึงถึงประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของนักเรียนในทุกมิติและออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติและวัยของนักเรียน
  4. ครูควรพิจารณาบทเรียนและทบทวนให้แน่ชัดว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในเรื่องนั้น ๆ สะท้อนถึงความต้องการของชุมชนและจัดกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง
  5. โรงเรียนควรมีหนังสือติดต่อหรือข้อตกลงสำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่มีรายละเอียดชัดเจนเพื่อให้โรงเรียน ครูและชุมชนรับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดจนดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามระเบียบ กติกา และข้อตกลงที่กำหนดไว้จนบรรลุผลสำเร็จ
  6. นักเรียนและชุมชนควรมีส่วนร่วมในการประเมินการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลของหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาร่วมกับชุมชนเพื่อประโยชน์ในส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน
  7. โรงเรียน ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในกรณีที่มีผู้ได้ประโยชน์หรือมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกเหนือจากผู้เรียน
  8. ครูควรวิเคราะห์ผู้เรียนและมีข้อมูลของนักเรียนว่านักเรียนแต่ละคนมีความรู้ ความสามารถภาษาไทยในเรื่องนั้น ๆ อยู่ในระดับใด มีรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตนอย่างไร และชอบการเรียนรู้แบบใด เพื่อนำมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
พร้อมแล้วหรือยังที่ครูภาษาไทยจะก้าวออกจากห้องสอนไปสู่พื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อันล้ำค่าของผู้เรียนผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสู่นวัตกรรมห้องเรียนภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐานของเราเอง


แหล่งอ้างอิง ห้องเรียนภาษาไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน: จากแนวคิดสู่แนวทางการจัดการเรียนรู้ Community-based learning in Thai language Classroom: from Concept to Learning Management Approach

ภาษาไทยการจัดการชั้นเรียนเทคนิคการสอนCommunity Based LearningGrowthMindsetLifelong Learnerการฟังการพูดการอ่านการเขียนหลักการใช้ภาษาไทยวรรณคดีและวรรณกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

2
ได้แรงบันดาลใจ
1
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
สุรพงษ์ กล่ำบุตร
Ph.D. student, Faculty of Education, Silpakorn University

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ