inskru
gift-close
insKru Selected

แบ่งปันกิจกรรมการอ่านโดยใช้เทคนิค KWL Plus

3
3
ภาพประกอบไอเดีย แบ่งปันกิจกรรมการอ่านโดยใช้เทคนิค KWL Plus

ครูหรือนักเรียนคนไหนเบื่อกับการสอนอ่านจับใจความหรือสรุปความบ้าง มารวมตัวกันทางนี้ ๆๆๆๆๆๆๆ

ครูภาษาไทยใครก็สอนอ่าน

ใช่ ครูภาษาไทยใครก็ต้องสอนอ่าน สอนไปสอนมาเด็กก็เบื่อ ครูก็เบื่อ นำเข้าสู่บทเรียน ให้ความรู้ ทำกิจกรรม เฉลย กิจกรรมการสอนอ่านมักวนเวียนอยู่แค่นี้ บางชั่วโมงให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดตั้งหลายข้อซึ่งทำให้นักเรียนเบื่อกับการอ่าน นี่แหละคือปัญหาให้เรามานั่งทบทวนว่าจะสอนอย่างไรให้ 1) เด็กอยากอ่าน 2) เด็กอยากทำกิจกรรมระหว่างอ่าน 3) เป็นการอ่านที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู 4) นักเรียนเกิดการประเมินการอ่านของตนเองระหว่างทำกิจกรรม (ประเมินเพื่อพัฒนา) คือ สามารถปรับ แก้ไขจนถูกได้

โจทย์นี้ทำให้เราต้องมานั่งหากิจกรรมการสอนอ่านที่มีขั้นตอนน่าสนใจ หากิจกรรมใหม่ ๆ เท่าไรก็ไม่เจอ ไม่ถูกใจ เจอแต่ของเก่า ทุกคนจำคำนี้ไว้นะ "เจอแต่ของเก่า" จนสุดท้ายมาตกลงปลงใจกับเทคนิค KWL (Know–Want–Learn) Plus แต่เราก็ยังติดตรงที่ว่าเป็น "ของเก่า" เราอยากได้นวัตกรรมการสอนใหม่ ๆ .....

โจทย์ข้อที่ 2 คือ จะให้นักเรียนอ่านเรื่องอะไร ? อันนี้ครูต้องหันกลับมามองตัวครูเอง ตัวนักเรียน หลักสูตร และบริบทรอบ ๆ ห้องเรียนของเรา และผมเชื่อว่าคำตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลือกเรียบเรียงเรื่อง "สวรรค์ในความเชื่อทางศาสนาพุทธ" เพื่อเป็นบทอ่านให้นักเรียนเพราะ 1) ต้องการปรับความเข้าใจผิดว่าสวรรค์มี 7 ชั้น จากเพลงสวรรค์ชั้น 7 2) ต่อยอดไปสู่การเรียนวรรณคดีเรื่องโคลงนิราศนรินทร์ ได้ (ลืมบอกไปเลยว่าเราสอน ม.4 นะ) และวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ได้ 3) ทุกคน (มั้ง) ชอบเรื่องมูเตลูและเราสามารถสอดแทรกศีลธรรมให้นักเรียนได้

ระดมความคิด ออกแบบกิจกรรม

เมื่อเราสามารถถามตอบกับตัวเองจนแน่ชัดแล้ว ขั้นต่อมาก็เริ่มลงมือเรียบเรียงบทอ่าน ออกแบบบัตรกิจกรรม ลำดับกิจกรรม และวิธีการวัดประเมินผล

  • กิจกรรมนักเรียนรู้อะไร K (What do I know)
  • กิจกรรมนักเรียนต้องการรู้อะไร W (What do I want to learn)
  • กิจกรรมนักเรียนได้เรียนรู้อะไร L1 (What did I learn)

สามกิจกรรมแรกเราทำบัตรเล็ก ๆ ให้นักเรียนเขียน เสร็จ 1 กิจกรรมก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ อภิปรายซึ่งกันและกัน ถ้าเวลาเหลือเราอาจใช้คำถามกระตุ้นความคิดนักเรียนก็ได้ เพื่อทบทวน ต่อยอด และจุดประกายความคิด เช่น

  • นักเรียนรู้เรื่องนี้มาจากไหน ตอนที่รู้เรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
  • ถ้าไม่รู้เรื่องนี้จาก...นักเรียนคิดว่าเราจะสามารถู้จักเรื่องนี้ได้จากไหนอีก
  • ทำไมถึงอยากรู้เรื่องนี้
  • ถ้ารู้เรื่องนี้แล้วนักเรียนจะนำไปต่อยอด/ เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง
  • สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้นำไปต่อยอด บูรณาการกับการเรียน/ การใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

เสร็จแต่ละกิจกรรมก็ให้นักเรียนนำบัตรของตนเองมาแปะในใบกิจกรรมที่เตรียมไว้ให้

  • กิจกรรมสร้างเป็นแผนภูมิรูปภาพความคิด L2 (Mapping)
  • กิจกรรมการสรุปเรื่อง L3 (Summarizing) เพื่อสรุปเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรียนอีกครั้งหนึ่ง 

ส่วนนี้เสนอแนะว่าการสรุปเรื่องราวสามารถทำได้ทั้งให้นักเรียนเขียนเรียบเรียงด้วยภาษาตนเองใหม่อีกครั้งก็ได้ ถ้าเวลาจำกัดก็อาจให้นักเรียนสรุปเป็นคำพูดแต่ละคนแล้วสุ่มนำเสนอก็ได้ หรืออยากบูรณาการสาระอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยให้นักเรียนนำเรื่องราวไปเขียนเป็นนิทาน แต่งเป็นคำประพันธ์ เพลงพื้นบ้าน แพลงแร็พก็เก๋ไปอีกแบบ (แต่ขอย้ำนะว่าดูเวลา ภาระงาน และบริบทห้องเรียนเราด้วย สำหรับใครที่เป็นสายติ๊กต๊อกการให้นักเรียนสรุปเป็นคลิปก็คือกระบวนการหนึ่งของ กิจกรรมการสรุปเรื่อง L3 (Summarizing)

เราเห็นอะไร เด็กบอกอะไร ?

สิ่งที่ครูเห็น : 1) กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมซึ่งเราออกแบบกิจกรรมให้เป็นกิจกรรมกลุ่ม ในชั่วโมงของเราทุกชั่วโมงถ้าเป็นกิจกรรมกลุ่ม/ คู่ จะสลับสมาชิกตลอดเวลาเพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกตัวเองว่าต้องมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ต้องกลับไปศึกษาสิ่งที่ครูมอบหมาย ต้องแลกเปลี่ยนความรู้ ต้องทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ต้องรับผิดชอบตัวเอง ฯลฯ ถ้าใครพบปัญหานักเรียนไม่ให้ความร่วมมือกับการทำกิจกรรมลองนำวิธีนี้ไปปรับใช้แล้วสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงนะ (แต่...อย่าลืมสังเกตนักเรียนด้วยนะว่ามีเด็กที่เพื่อนดีดออกจากกลุ่มหรือไม่ รีบหาสาเหตุและแก้ไข) 2) นักเรียนตื่นเต้นและลุ้นตลอดเวลาว่ากิจกรรมต่อไปจะต้องทำอะไร ใครต้องทำหน้าที่อะไร ใครจะเป็นผู้นำ ใครจะเป็นผู้ตามเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จตามกำหนด

สิ่งที่เด็กบอก : 1) กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนอยากอ่าน ย้ำว่าอยากอ่าน เพราะลำดับกิจกรรมจะค่อย ๆ กระตุ้นให้นักเรียนอยากรู้และหาคำตอบซึ่งต่างจากกิจกรรมการอ่านแบบเดิม ๆ ที่แจกบทอ่าน ปึ๊งงงง อ้าววววว...อ่าน หมดเวลา แลกกันตรวจ เฉลย.... 2) เกิดคำถามขึ้นมาว่า ครูคะ/ ครูครับ ทำอย่างไรจะได้ขึ้นสวรรค์ขั้นนั้น ชั้นนี้.... มองเผิน ๆ ที่ก็คงเป็นคำถามของเด็กน้อยอยากรู้ทั่วไปนะ แต่ทุกคนรู้ไหมว่านี่คือโอกาสทองของเราที่จะสอดแทรกคุณธรรมให้เด็ก ๆ ซึ่งทำให้ชั่วโมงของเรามีทั้งวิชาการและคุณธรรม

สอนจบครูถามว่า...ชั่วโมงต่อไปอยากอ่านเรื่องอะไรเป็นพิเศษไหม ?

ทุกคนคิดว่านักเรียนอยากอ่านเรื่องอะไร....ถูกต้อง นักเรียนอย่ากอ่านเรื่อง "นรก" เรารู้สึกว่าความสำเร็จกำลังรออยู่ข้างหน้าเพราะอย่างน้อยกิจกรรมนี้ก็ไปกระตุ้นความอยากรู้ อยากอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของครูคือ อยากให้นักเรียนอยากเรียนรู้

หน้าที่ของเราต่อไปก็คือเรียบเรียงข้อมูล “นรกในความเชื่อทางศาสนาพุทธและมุมมองต่างศาสนา” เพื่อนำมาใช้ทำกิจกรรมในชั่วโมงต่อไป

ไฟล์ใบกิจกรรมเราแนบไว้ให้ด้านล่างน้าาาา ทั้งไฟล์ PDF และ WORD ผิดถูกอย่างไรช่วยแจ้งด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูงเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับแก้ไขครับ

สรุป

ทุกคนจำความคิดแรกที่เรามีต่อ KWL (Know–Want–Learn) Plus ได้ไหม "เจอแต่ของเก่า" แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าสิ่งนี้ "ใหม่สำหรับนักเรียน" เรามองว่านั่นคือนวัตกรรมสำหรับห้องเรียนเราแล้วนะ เพราะอย่าลืมว่าเราไม่ได้เอาแค่วิธีการสอนหรือเทคนิคการสอนมา แต่เราต้องทำใบกิจกรรม เราต้องทำสื่อ เราต้องดีไซน์ภาระงานกลุ่ม เดี่ยว คู่ สอนแล้วเราก็เอาผลการสอนมาปรับ เปลี่ยนสิ่งที่เราทำ...นั่นคือนวัตกรรมของเรา ทำให้เราย้อนนึกถึงคำพูดของอาจารย์ท่านนึงซึ่งเคยสอนวิชาวิจัยเรามา อาจารย์ท่านพูดว่า

"เก่ามาจากไหนแต่ใหม่ของเรา นั่นแหละนวัตกรรมของเธอ"


สุรพงษ์ กล่ำบุตร : เขียน

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาไทยมัธยมปลายเกมและกิจกรรมเทคนิคการสอนการอ่าน

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    3
    ได้แรงบันดาลใจ
    3
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    สุรพงษ์ กล่ำบุตร
    Ph.D. student, Faculty of Education, Silpakorn University

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ