Empathy กับ Sympathy ต่างกันอย่างไร แล้วครูจะสอนเด็กอย่างไร
ต้องเข้าใจความหมายของ Empathy (เอ็มพาที) กับ Sympathy (ซิมพาที) ก่อน
หากเปิดพจนานุกรม Sympathy จะแปลว่า ความเห็นอกเห็นใจ ส่วน Empathy จะแปลว่าความเข้าอกเข้าใจ
แล้วมันต่างกันอย่างไร ลองให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตนเองดีกว่า
ครูเปี๊ยกเปิดชั้นเรียน ป.5 ด้วยคำถามง่าย ๆ ว่าหากมีเพื่อนเดินมาพูดกับเราว่า "ฉันกังวลกับการสอบพรุ่งนี้จังเลย" นักเรียนจะตอบอย่างไรเพื่อแสดงว่าเรามี Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจต่อเพื่อนคนนี้ ให้ตอบทีละคนเลย
นี่คือคำตอบของนักเรียน
- ฉันก็กังวลเหมือนกัน เลิกเรียนแล้วมาติวกันไหม
- ไม่เป็นไร แค่คิดว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
- สู้ๆ ฉันเป็นกำลังใจให้นะ
- ถึงจะสอบตก เราก็สอบใหม่ได้
- เธอเก่งอยู่แล้วน่า
- ถึงจะได้คะแนนน้อย แต่ก็เป็นความสามารถของเธอนะ
- ถึงสอบตกแม่เธอก็ไม่ตีอยู่แล้ว
- เธอเก่งที่สุด ถ้าเธอพยายามจะเก่งมากขึ้นอีก
- ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
- ถ้าสอบตก ก็ถือเป็นประสบการณ์
- ไม่ต้องกังวล เธอทำได้อยู่แล้ว
นักเรียนวันนั้นมี 12 คน ตอบซ้ำเพื่อน ไป 1 คน เลยมี 11 คำตอบ
คำถามต่อไป ถามว่า ใน 11 ข้อความบนกระดานนี้ หากกลับกัน ให้นักเรียนลองสวมรองเท้า เป็นคนที่กังวลการสอบเสียเอง นักเรียนชอบคำตอบไหนที่สุด คำตอบที่ได้น่าสนใจมาก
มี 2 คน ที่ตอบว่า ชอบข้อความ "ฉันก็กังวลเหมือนกัน เลิกเรียนแล้วมาติวกันไหม" โดยบอกว่า เพราะประโยคนี้มีการเสนอทางแก้ปัญหา
นอกนั้นอีก 10 คน กลับตอบว่า "ไม่ชอบประโยคใดเลย"
ครูเปี๊ยกถาม อ้าว ไม่มีใครชอบประโยคพวกนี้เลยรึ ตอบมาเองหมดเลยนะเนี่ย เพราะอะไรไหนอธิบายหน่อยซิ
- ข้อความมันดูโลกสวย
- ข้อความพวกนี้ใครๆ ก็พูดได้ เหมือนพูดลอย ๆ
- ไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ
- ได้ยินข้อความพวกนี้แล้วก็ยังกังวลเหมือนเดิม
- แค่อยากให้คนฟังความรู้สึกของเรา
- เพื่อนก็พูดได้ เพราะเพื่อนไม่ได้กังวลเหมือนเรา
- เราแค่ต้องการระบายความรู้สึกเฉย ๆ
- เราแค่อยากบอกว่าเรารู้สึกอะไร อยากมีคนรับฟัง
- ที่เพื่อนพูดมา ก็แค่บอกว่า "ตัวเอง" รู้สึกอย่างไรเท่านั้น
- แค่ให้กำลังใจเรา แต่ไม่ได้รู้สึกเหมือนเรา
- ข้อความเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น
ครูเปี๊ยกจึงสรุปว่า พวกคุณตอบมาเองหมดแล้ว
เวลาเราอยากพูดให้คนอื่นฟัง เรายังต้องการคนที่รู้สึกเหมือนกับเรา เพราะเขาน่าจะเข้าใจเราจริง ๆ นั่นคือ Empathy ที่แปลว่า ความเข้าอกเข้าใจ
ส่วนข้อความที่นักเรียนตอบมาว่าไม่ชอบ คือ Sympathy ที่แปลว่า ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ถ้าเราไปถึงแค่ Sympathy เราจะมองเพียงแค่จากมุมของตัวเอง ไม่ได้มองจากมุมของผู้อื่น
ครูเปี๊ยกยืนยันอีกครั้งว่า เราสามารถใช้ทั้ง Sympathy และ Empathy ได้ เพียงแต่ถ้าเราไปถึง Empathy จะช่วยให้การสนทนาราบรื่น และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างกันให้แข็งแรงขึ้นได้
ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากนักเรียนคือ แม้ความรู้สึกกังวลต่าง ๆ จะถูกทำให้ทุเลาลงได้ด้วย Empathy แต่การ "แก้ปัญหา" ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่มีเพื่อนเลือกข้อความที่เสนอทางแก้ปัญหา เพราะแม้ความกังวลจะคลาย แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน เราก็จะกลับไปกังวลใหม่ไม่สิ้นสุด เพียงแต่เราต้องพิจารณาว่าเราพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นให้ผู้อื่นหรือไม่ การมี Empathy ไม่ได้หมายความว่าเราต้องช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ หรือไม่พร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่น ก็ไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งจะกลายเป็นว่าเราลำบากใจเสียเอง เพียงแค่เราเข้าใจผู้อื่นในระดับ Empathy ก็ช่วยผู้อื่นได้มากแล้ว
*****
ครูเปี๊ยก ทดลองกิจกรรมนี้ใน ป.6 ด้วย เด็ก ๆ ต้องการข้อความที่เสนอทางแก้ปัญหามากกว่า เพราะเขาใกล้ต้องสอบเข้า ม.1 กันแล้ว นักเรียน ป.6 ได้เสนอมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากให้คนอื่นต้องมาเดือดร้อนช่วยเหลือเพราะเรา / หากเราพยายามทำแล้วไม่ได้อย่างที่คนอื่นให้กำลังใจก็จะยิ่งกดดันตนเอง มิติเหล่านี้ เป็นประเด็นที่หยิบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ในห้องจะได้เรียนรู้มุมมองของเพื่อนคนอื่นไปด้วยพร้อมกัน การรู้จักกันให้มากขึ้น เป็นรากฐานแรกของการบ่มเพาะ Empathy ให้เกิดขึ้นในตัวเรา อยาก Empathy ผู้อื่นได้ดี ต้องรู้จักผู้อื่นให้มาก ๆ :) ลองนำกิจกรรมนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!