inskru
insKru Selected

"บอกหน่อยบทไหน" ชีเสิร์ฟมงคลสูตรแบบสับ ๆ!

0
0
ภาพประกอบไอเดีย "บอกหน่อยบทไหน" ชีเสิร์ฟมงคลสูตรแบบสับ ๆ!

"อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา..." ~~~~~

"หนึ่งคือ บ่ คบพาล เพราะจะพาประพฤติผิด" ~~~~~

......

"ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี" ~~~~~

จบเนื้อหาแล้วนักเรียน จำไว้ด้วยนะว่ามงคลแต่ละข้อตรงกับร้อยกรองบทไหน ไว้คาบหน้าเรียนเรื่องใหม่ สวัสดี....


พัก...!!!!! ถ้าจะจบคาบเรียน "มงคลสูตรคำฉันท์" แบบนี้ เด็ก ๆ ไม่ชอบแน่นอน แล้วจะต่อต้านการเรียนเรื่องนี้แบบทวีคูณ เพราะเป็นวรรณคดีในแบบเรียนที่เด็กรู้แค่ว่าเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไต่ระดับการปฏิบัติจากง่ายสุดไปสู่ยากสุด หรือใด ๆ

ลองเปลี่ยน! วิธีการจบเนื้อหาเรื่องนี้ จากการทดสอบ การทำแบบฝึกหัด หรือการสรุปองค์ความรู้แบบธรรมดา ๆ มาเป็นการเล่นเกมให้เด็ก ๆ เห็นว่าเรื่องนี้มันสนุกมากขึ้นด้วยสถานการณ์ร่วมสมัยดีกว่าไหม?


โพสต์นี้อาจจะยาวด้วยเรื่องเล่าการเล่นกิจกรรมนี้หน่อยนะครับ เผื่อคุณครูอาจเห็นข้อดีหรือข้อบกพร่องใด ๆ เผื่อจะนำเกมของผมไปปรับใช้ในการสร้างสีสันในชั้นเรียนให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

เริ่มต้นจากผมเองที่สอนเด็ก ๆ ชั้น ม.4 ที่พอจะจับทางได้ว่าเด็ก ๆ อ่อนการอ่านวรรณกรรมร้อยกรองมาก ๆ และยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขา ก็จะเริ่มเบือนหน้านี้ เบะปากหนึ่งที สะบัดคอเชิ่ด แล้วไปมูเต๊ลูในห้องสอบแบบงงงัน!!!

แล้วพอดี๊พอดี "มงคลสูตรคำฉันท์" ก็เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่เข้าข่ายน่าเบื่อเสียด้วย!!! เด็ก ๆ รู้แค่ว่าอ๋อ ร.6 แต่ง อ๋อ แต่งเป็นคำฉันท์ อ๋อ เป็นวรรณกรรมศาสนา/คำสอน จบ!!! แล้วมันจะไปสนุกอะไร อิเหนา นิราศนรินทร์ ที่ว่าปราบเซียนเด็ก ๆ ยังกระซิบมาว่า มันดูน่าสนใจกว่านี้อีกนะครู

จริง ๆ ผมมองภาพการเรียนการสอนวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ในหัวระหว่างที่ตัวเองกำลังจะทำสไลด์สอนแล้วว่า ขิตหมู่ทั้งครูทั้งเด็กแน่ แล้วถ้าเราตัดจบแบบดื้อ ๆ ก็คงสร้างภาพจำที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่งแน่นอน

ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่คุณครูทุกคนอาจจะไปพักผ่อนหย่อนใจ บางท่านก็เริ่มเตรียมการสอนนิด ๆ หน่อย ๆ ผมเป็นคุณครูกลุ่มหลังสุดครับ วันหยุดเย้อเยอะ ว่างเกิ๊น เลยพยายามนั่งนึกว่าจะทำอะไรดี เพราะเปิดปีใหม่มาต้องสอนเรื่องนี้ จริง ๆ ในหัวมีหลายความคิดมาก ๆ เลย จะทำปฏิมากรรมมนุษย์ดีไหม แต่มันจะยากไปน่ะสิ หรือว่าจะทำเกมตอบคำถามแบบครั้งก่อน ๆ แบบกลุ่มแย่งกันตอบงี้หรอ เด็กก็แย่งจนจะตีกัน เอายังไงดี!!!

ต้องขอบคุณ เจ๊มิ่ง เน็ตไอดอลคนดังแห่งยุคที่ได้ท่องกลอนที่ว่า "สูบบุหรี่สูบไปก็ไร้ค่า ดื่มสุราดื่มไปก็ไร้ผล การพนันเล่นไปก็ยากจน เกิดเป็นคน ลด ละ เลิก จะเบิกบาน" ให้ผมได้ยินในติ๊กต็อกทุกวัน จนปิ๊งมาเป็นเกม "บอกหน่อยบทไหน"

ทันทีที่นึกออกก็รีบเข้าโปรแกรม Canva แล้วออกแบบโจทย์เลย สิ่งที่ผมต้องการให้เด็ก ๆ ได้เล่นคือ มีโจทย์ซึ่งเป็นรูปภาพสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นจากวาทะในสื่อต่าง ๆ แล้วให้เด็ก ๆ วิเคราะห์ว่าเอ๊ะ สถานการณ์นี้ตรงกับร้อยกรองในมงคลสูตรคำฉันท์วรรคไหน?

เออ แล้วจะเล่นยังไงต่อล่ะ ต้องคิดก่อน เพราะถ้าวิธีการเล่นเราชัดเจน ก็จะเป็นผลดีกับนักเรียน และมันจะควบคุมทุกอย่างในการทำกิจกรรมนี้ได้

เอาอย่างนี้ วิธีการเล่นของผมมีดังนี้ (ทั้งนี้ผมจะเสริมสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวิธีการเล่นไปด้วยเลย)

1) เริ่มจากให้นักเรียนจับกลุ่ม 3 คน (ผมมองว่า 3 คนกำลังดี ปรึกษาและพูดคุยกันได้ครบทุกคน)

2) จากนั้นให้นักเรียนในกลุ่มเลือกหนังสือที่จดดีที่สุดมา 1 เล่ม เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในเกม (ผมจะให้นักเรียนจดว่าร้อยกรองวรรคนี้/บาทนี้ ตรงกับคำสอนในมงคลสูตรที่ว่าอย่างไร และในเกมนี้ผมจะให้นักเรียนนำร้อยกรองที่ ร.6 พระราชนิพนธ์ มาเป็นคำตอบ - ดังนั้นตอนคิดโจทย์ ผมต้องเลือกมงคลข้อที่หารูปง่าย ๆ และเด็กต้องตีความได้ง่าย ๆ ด้วย)

3) ต่อมาจะอธิบายกติกาทั่วไป คือ

• ให้นักเรียนเดินไปยืนประจำจุดที่ติดโจทย์เอาไว้ (ใช่ครับ ผมจะไม่นำโจทย์ขึ้นจอ เพราะไม่อยากให้นักเรียนนั่งอยู่กับที่ อย่างน้อยยอมปรินต์และเคลือบให้ดี ๆ ใช้ได้หลายห้อง เวียนข้อกันไปรอบ ๆ ห้อง)

• จากนั้นจะให้เวลาวิเคราะห์และตีความโจทย์กลุ่มละ 1 นาที ต่อ 1 ข้อเท่านั้น โดยนักเรียนสามารถดูข้อมูลจากหนังสือเรียนที่เลือกมาแล้วเท่านั้น ห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารในการสืบค้น

• จากนั้นเขียนคำตอบลงไปในกระดาษคำตอบ (ใช่ครับ ต้องมีกระดาษคำตอบให้เด็ก ๆ อีก)

• เมื่อนักเรียนได้ยินเสียงกระดิ่ง กริ๊ง ๆๆๆๆๆ ให้นักเรียนเวียนไปที่ข้อถัดไปตามลำดับจนครบ 8 ข้อ

• เมื่อทำครบแล้วให้กลับมานั่งที่ให้เรียบร้อย ตรวจสอบการสะกดคำ แล้วสลับกันตรวจกับเพื่อนกลุ่มอื่น

4) ครูเฉลยคำตอบแบบไม่เรียงข้อ (เพราะครูให้นักเรียนแกะโจทย์มาคืนเมื่อทำข้อสุดท้ายเสร็จ ทั้งนี้ก็เพราะให้ลุ้นไปด้วย)

ทั้งนี้ เมื่อนำเกมไปเล่นจริง ๆ ในชั้นเรียน ครูจะมีเฉลยที่ล็อกไว้แล้ว แต่...!!! เด็ก ๆ ของเราก็อาจจะตอบไม่ตรงกับที่ครูล็อก อาจจะเป็นเพราะครูคาดไม่ถึงว่าจะตอบเช่นนี้ได้ (มันเป็นเรื่องปกติที่ครูจะเจอ แม้จะคิดมารอบคอบแค่ไหน) ดังนั้น หากนักเรียนตอบคำตอบนอกเหนือจากครู ให้นักเรียนยกมือแล้วบอกคำตอบ จากนั้นครูและนักเรียนจะพิจารณากันว่าคำตอบที่เสนอมานั้นสมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่ยกมาหรือไม่ ถ้าสมเหตุสมผลจะต้องให้คะแนน ถ้าไม่สมเหตุสมผล ครูจะอธิบายเสริม (ดังนั้น ครูก็ต้องเป๊ะเนื้อหาให้มาก ๆ - และการที่นักเรียนสามารถค้านได้ ไม่ว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ ขอให้ครูภูมิใจไว้เถิดครับ ว่าที่สอนมา นักเรียนมีความเข้าใจ และอธิบายเราได้ - จริง ๆ ก็เป็นกลอุบายที่เราอยากให้เด็กได้แสดงความรู้ความคิดออกมาให้เราทราบ)

เมื่อรวมคะแนนแล้ว หากกลุ่มไหนได้คะแนนเต็ม จะได้โบนัสอีก 5 คะแนนฟรี ๆ

จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน บอกเลยว่านักเรียนดูสนุกในการค้นคว้าหาคำตอบมาก เวลาครูได้ยินการถกเถียงหรือการเสนอคำตอบระหว่างที่วิเคราะห์โจทย์ มันทำให้ใจชื้นเหลือเกินว่านักเรียนตั้งใจเล่นกิจกรรมที่เราคิดขึ้นมาก แม้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็อยากจะชื่นชมว่าเด็ก ๆ เก่งมากเหลือเกิน ถึงแม้เด็กบางคนจะบอกว่า โจทย์ยากมากครู อะไรวะ(ครับ/คะ)เนี่ย ก็ตามเถอะ

บรรยากาศในชั้นเรียนที่เพื่อน ๆ ช่วยกันคิด วิเคราะห์ ตีความโจทย์ เพื่อให้ได้คำตอบถูกต้องทุกข้อ เพราะหวังโบนัสหรืออะไรก็ตามแต่ แม้กระทั่งตอนเฉลยคำตอบที่มีการเสนอและโต้แย้ง (+โน้มน้าวให้ครูยอมยกผลประโยชน์ให้) มันเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ และมันเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ทำให้นักเรียนกล้าแสดงออกในสิ่งที่ควรมากยิ่งขึ้น คุณครูภูมิใจไว้เถิดครับ...

ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วกิจกรรมนี้จะสร้างประโยชน์และสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนได้ดีมากหรือน้อยแค่ไหน แต่การที่ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ และลองสร้างบรรยากาศในการเรียนที่น่าสนใจขึ้น ก็เป็นสิ่งที่คนที่เป็นครูอย่างเรา ๆ ควรจะสร้าง ควรจะทำ เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็ตกที่นักเรียนของเราเต็ม ๆ

ผมแนบไฟล์โจทย์และไฟล์กระดาษคำตอบไว้ คุณครูสามารถใช้ตามนี้หรือดัดแปลงได้ตามเหมาะสมนะครับ (อาจจะนำไปใช้กับการเรียนวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ก็ได้นะครับ)

ป.ล. พี่ ๆ ที่สอน ม.4 ด้วยกันนำเกมนี้ไปใช้ ก็สนุกมาก ๆ เช่นกันครับ ดีใจ ๆ ที่เด็ก ๆ หลาย ๆ ห้องได้เล่นเกมนี้ ^_^


ภาพกิจกรรม (ปิดหน้าเด็กนักเรียนไว้แล้วนะครับ)

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาไทยมัธยมปลายเกมและกิจกรรมมงคลสูตรคำฉันท์การสอนวรรณคดีวรรณคดีและวรรณกรรมเกมวรรณคดีทักษะการคิดวิเคราะห์วิเคราะห์วรรณคดี

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    0
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    ครูซันสอนไทย
    ว่าที่คุณครูภาษาไทย ผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์ภาษาไทยและศาสตร์การสอนต่าง ๆ

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ