สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
ข้อเขียนนี้ เกิดจากการอ่านตำราด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธ์ และวัฒนธรรม จำนวน ๒ เล่ม คือ เรื่อง Multiracial Identity in Children’s Literatureเขียนโดย Amina Chaudhri และ Teaching Tough Topics How Do I Use Children’s Literature to Build a deeper understanding of social justice, equity, and diversity? เขียนโดย Larry Swartz
ประกอบกับการเป็นครูในโรงเรียนโดยมีห้องเรียนที่มีผู้เรียนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ในระดับมัธยม จึงเกิดการประมวลเป็นความรู้ ความคิด ซึ่งยังไม่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งผู้ที่สนใจอาจอ่านเป็นแนวทางได้พอสมควร ทั้งนี้จะขอไม่กล่าวถึงเนื้อหา ประวัติใด ๆ ของวรรณกรรมเรื่องนี้ เนื่องจากมีตำราและช่องทางมากมายหลากหลายในการเข้าถึงเนื้อหา
การสอนวรรณกรรมเรื่อง "ลิลิตตะเลงพ่าย" ในห้องเรียนที่มีนักเรียนทั้งเชื้อชาติไทยและเชื้อชาติพม่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสร้างความกระอ่วนใจพอสมควร ในฐานะครูที่ต้องพิจารณาและเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนถึงสงครามระหว่างไทยและพม่าในยุคก่อน ซึ่งมักถูกนำเสนอในแง่ของชัยชนะของฝ่ายไทยและการเชิดชูพระนเรศวร แต่เมื่อมีนักเรียนจากทั้งสองชาติอยู่ร่วมกัน จึงทำให้ต้องใส่ใจในการเลือกคำพูดและวิธีการสอนเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความรู้สึกที่แบ่งแยกหรือทำให้เกิดความตึงเครียดในห้องเรียน
จากประสบการณ์ของฉัน การสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือสงครามต้องมีความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นชาติ ความภาคภูมิใจ และการสูญเสีย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อาจกระตุ้นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ฉันจึงต้องใช้วิธีการที่ส่งเสริมการเข้าใจและการยอมรับมุมมองที่หลากหลาย พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยไม่รู้สึกถูกตัดสินหรือถูกแยกแยะจากเชื้อชาติหรือภูมิหลังทางวัฒนธรรมของตัวเอง
การทำให้ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นเรื่องที่นักเรียนสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกัน คือสิ่งที่มุ่งหวังไว้ และฉันเชื่อว่าการเปิดมุมมองจากทั้งสองฝั่งจะช่วยให้การสอนในครั้งนี้มีความหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้อย่างแท้จริง
ในหนังสือ Teaching Tough Topics ของ Larry Swartz เน้นว่า “Books can be the means to address tough topics that arise in the classroom, in the schoolyard, in the curriculum, and in students’ lives” (วรรณกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงประเด็นที่ยากในห้องเรียน เช่น ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน) หนังสือหรือวรรณกรรมสามารถเป็น “สะพาน” ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจชีวิตและมุมมองของผู้อื่น ซึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากพวกเขา การเชื่อมโยงนี้เกิดขึ้นจากการเลือกวรรณกรรมที่นำเสนอความหลากหลาย และกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามหรืออภิปรายในหัวข้อที่อ่อนไหว
ในอีกแง่หนึ่งในหนังสือ Multiracial Identity in Children’s Literature ของ Amina Chaudhri เสนอแนวคิดที่สำคัญว่า วรรณกรรมทำหน้าที่เป็นทั้ง “กระจก” ที่สะท้อนตัวตนของผู้อ่าน และ “หน้าต่าง” ที่เปิดมุมมองใหม่สู่ชีวิตของผู้อื่น การผสมผสานแนวคิดเหล่านี้ในการสอนวรรณกรรมช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาความเข้าใจในตนเองและคนรอบข้างได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณกรรมสำคัญที่สะท้อนความภาคภูมิใจในยุคอยุธยาและการสรรเสริญพระนเรศวรในฐานะผู้นำที่กล้าหาญ เนื้อเรื่องกล่าวถึงสงครามระหว่างไทยและพม่า โดยเน้นย้ำถึงชัยชนะและความเป็นวีรบุรุษของฝ่ายไทย อย่างไรก็ตาม การนำวรรณกรรมเรื่องนี้เข้าสู่ห้องเรียนที่มีนักเรียนจากหลากหลายชาติ เช่น นักเรียนไทยและนักเรียนพม่า จำเป็นต้องใช้วิธีการสอนที่ลดการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยม และสร้างความเข้าใจในมิติประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์ร่วมกัน
แนวทางการสอนลิลิตตะเลงพ่ายในบริบทของความหลากหลาย
ใช้วรรณกรรมเป็นสะพานเชื่อม (Books as Bridges)
จากแนวคิดของ Larry Swartz การนำเสนอ ลิลิตตะเลงพ่าย ควรเน้นถึงความงดงามของภาษาและการสะท้อนวัฒนธรรมในยุคนั้น มากกว่าการมุ่งเน้นที่ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น ให้นักเรียนศึกษาบทกวี ที่บรรยายความกล้าหาญของตัวละครทั้งสองฝ่าย พร้อมอภิปรายถึงแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ
ใช้ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นกระจกและหน้าต่าง (Mirrors and Windows)
ตามแนวคิดของ Amina Chaudhri เราสามารถนำลิลิตตะเลงพ่ายมาใช้โดยให้นักเรียนไทยมองวรรณกรรมเป็น “กระจก” ที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน ที่สะท้อนความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมของไทย ขณะเดียวกันนักเรียนพม่าสามารถใช้เป็น “หน้าต่าง” เพื่อเข้าใจมุมมองของฝ่ายไทยในบริบทประวัติศาสตร์
การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Multicultural Analysis)
การสอนควรมุ่งเน้นให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเสนอของวรรณกรรม เช่น “วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนมุมมองใดของผู้แต่ง” หรือ “ภาพลักษณ์ของพม่าในเรื่องนี้เป็นอย่างไร” วิธีนี้ช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมและอำนาจที่แฝงอยู่ในเรื่อง
การสร้างความเห็นอกเห็นใจ (Building Empathy)
อาจใช้กิจกรรมที่ให้นักเรียนเขียนจดหมายจากมุมมองของตัวละคร เช่น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในทั้งสองฝ่าย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจความสูญเสียของทุกคนที่เกี่ยวข้อง หรือตัวละครใดตัวละครหนึ่งบรรยายความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หนังสืออีกเรื่องที่จะนำมากล่าวถึงคือ Teaching Tough Topics How Do I Use Children's Literature to Build a Deeper Understanding of Social Justice, Equity, and Diversity โดย Larry Swartz ซึ่งกล่าวถึงการใช้วรรณกรรมสำหรับเด็กเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและพัฒนาความเห็นอกเห็นใจในประเด็นที่อ่อนไหวในสังคม เช่น ความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งในแต่ละบทของหนังสือจะเสนอวิธีการใช้วรรณกรรมในการเปิดประเด็นอภิปรายเหล่านี้ในห้องเรียนโดยเฉพาะการเลือกหนังสือที่สะท้อนถึงความหลากหลายและส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม
หนังสือเล่มนี้มีการเสนอเครื่องมือและวิธีการที่ช่วยให้ครูสามารถจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดหรือแบ่งแยก โดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นที่ยาก เช่น เชื้อชาติ เพศ การยอมรับความแตกต่าง หรือแม้กระทั่งความสูญเสียและการเสียสละ ที่สามารถเรียนรู้ผ่านการอ่านและการอภิปราย แนวทางสำคัญที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้คือ
Books as Bridges (วรรณกรรมเป็นสะพานเชื่อม) เรื่องราวในวรรณกรรมสามารถเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับประเด็นที่ยาก เช่น ความหลากหลายและความยุติธรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเปิดมุมมองและเข้าใจชีวิตของผู้อื่น
Mirrors and Windows (กระจกและหน้าต่าง) วรรณกรรมสามารถเป็น “กระจก” ที่สะท้อนตัวตนของผู้เรียน และ “หน้าต่าง” ที่เปิดมุมมองใหม่สู่โลกของผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียนเห็นตัวเองและคนอื่นในมุมที่แตกต่างออกไป
Critical Multicultural Analysis (การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ในด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม) เป็นการวิพากษ์เกี่ยวกับวิธีที่วรรณกรรมเล่าเรื่องและนำเสนอประเด็นต่างๆ เช่น เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรืออำนาจที่แฝงอยู่ในเนื้อหา
Building Empathy (การสร้างความเห็นอกเห็นใจ) วรรณกรรมที่ดีสามารถช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้ผู้เรียนได้ โดยการเข้าใจถึงความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้อื่น
การสอนลิลิตตะเลงพ่ายซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรบระหว่างไทยและพม่านั้น ควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านการเลือกใช้เครื่องมือจากหนังสือ Teaching Tough Topics เพื่อหลีกเลี่ยงการเน้นย้ำความรู้สึกชาตินิยม และมุ่งเน้นที่การเข้าใจความเป็นมนุษย์ร่วมกันในทุกมุมมอง
ตามแนวคิดจาก Teaching Tough Topics การใช้วรรณกรรมเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมโยงนักเรียนกับประเด็นที่ยาก เช่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และสงคราม เมื่อเริ่มบทเรียนลิลิตตะเลงพ่าย ควรนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนถึงทั้งการกล้าหาญและความสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย โดยนักเรียนจะได้เห็นว่าทั้งฝ่ายไทยและพม่าต่างมีความสูญเสียและแรงจูงใจที่คล้ายคลึงกัน
ในการนำไปสอนในห้องเรียนนั้นอาจเริ่มต้นด้วยการอธิบายเนื้อหาของลิลิตตะเลงพ่ายในฐานะวรรณกรรมที่สะท้อนถึงสงครามระหว่างสองประเทศ โดยไม่เน้นการยกย่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับการกระทำของทั้งสองฝ่ายในสงคราม และเชื่อมโยงไปถึงการสูญเสียในสงครามที่ส่งผลต่อคน ในทุกฝ่าย
แนวคิด กระจกและหน้าต่าง สามารถนำมาใช้ในการช่วยนักเรียนไทยและพม่าเข้าใจวรรณกรรมในหลายมิติ โดยเฉพาะการเข้าใจมุมมองที่แตกต่างในประวัติศาสตร์ นักเรียนไทยสามารถมอง ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นกระจกเพื่อเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตน นักเรียนพม่าอาจมองเรื่องนี้เป็น หน้าต่างเพื่อเข้าใจมุมมองของฝ่ายไทยในสงครามที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้นักเรียนพม่าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามจากมุมมองของพม่า และเปรียบเทียบกับมุมมองของไทยในลิลิตตะเลงพ่าย วรรณกรรมไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กเห็นตัวเองในเรื่องราวที่อ่าน แต่ยังเปิดโอกาสให้เห็นชีวิตและประสบการณ์ของคนอื่นจากมุมมองที่แตกต่าง
ในการสอนลิลิตตะเลงพ่าย เราสามารถใช้แนวคิดนี้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนไทยและนักเรียนพม่าเข้าใจมุมมองของกันและกัน
ตามทฤษฎี Critical Multicultural Analysis การวิพากษ์วรรณกรรมที่ใช้ภาษาหรือการบรรยายที่มีอำนาจแฝงอยู่ในเนื้อหาช่วยให้นักเรียนสามารถตระหนักถึงการสะท้อนมุมมองที่ขาดความเท่าเทียม เช่น การยกย่องพระนเรศวรในลักษณะที่อาจมองว่าเป็น "วีรบุรุษ" โดยไม่คำนึงถึงมุมมองของฝ่ายพม่า
ให้นักเรียนวิเคราะห์ว่าผู้แต่งใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์ใดในการเชิดชูพระนเรศวรและมองฝ่ายพม่าว่าเป็นศัตรู
ตั้งคำถามให้กับนักเรียนเช่น “การที่ฝ่ายไทยถูกนำเสนอในฐานะผู้ชนะ ทำให้เรามองความเป็นมนุษย์ของฝ่ายพม่าอย่างไร” ทั้งนี้การใช้วรรณกรรมจะช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผ่านการมองเห็นความสูญเสียและการเสียสละของทั้งสองฝ่ายในสงคราม จำลองว่านักเรียนเป็นตัวละครในเรื่องแล้วเขียนจดหมายจากมุมมองของตัวละครจากทั้งสองฝ่าย เช่น ทหารฝ่ายไทยหรือพม่าที่ต้องสูญเสียชีวิตหรือครอบครัว หลังจากการอ่านและเขียน ให้นักเรียนอภิปรายความรู้สึกและมุมมองของตัวละครเหล่านี้ เพื่อเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
การสอน "ลิลิตตะเลงพ่าย" โดยใช้แนวคิดจาก Teaching Tough Topics และ Multiracial Identity in Children’s Literature ช่วยสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและหลากหลาย การใช้ทฤษฎีเหล่านี้ในการสอนช่วยให้การเรียนรู้มีความลึกซึ้งขึ้น และสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเข้าใจมุมมองที่ต่างออกไปจากของตนเอง โดยไม่เน้นย้ำความรู้สึกชาตินิยม แต่เน้นไปที่การเข้าใจมนุษย์ทุกคนที่มีชีวิตและประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันในการเผชิญกับสงครามและความสูญเสีย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย