inskru

ป้ายยา! นวัตกรรมบอร์ดเกม Don't touch me

6
4
ภาพประกอบไอเดีย ป้ายยา! นวัตกรรมบอร์ดเกม Don't touch me

สวัสดีครับคุณครูชาว Inskru ทุกท่าน! วันนี้พวกเรา มีของดีมาป้ายยา บอกเลยว่าเป็นไอเทมเด็ดที่ช่วยให้การสอนเรื่องยากๆ อย่าง "พื้นที่ส่วนตัว" (Personal Space) และ "การปฏิเสธเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย" กลายเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย แถมยังได้ฝึกทักษะศตวรรษที่ 21 ไปในตัว! และสิ่งนั้นก็คือ... บอร์ดเกม "Don't touch me" นั่นเองงงง!

สภาพและปัญหาที่เป็นที่มา

คุณครูหลายท่านคงเคยเจอใช่ไหมครับ? เวลาจะสอนเรื่องเพศศึกษา สัมผัสที่ไม่เหมาะสม หรือสิทธิในร่างกาย มันช่างเป็นเรื่องที่... เอ่อ... พูดลำบากจังเลย เด็กๆ อาจจะเขินอาย ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแชร์ หรือบางทีเราก็ไม่รู้จะเริ่มยังไงให้ดูไม่เครียด ไม่น่ากลัว เกม "Don't touch me" นี่แหละครับ เกิดมาเพื่อแก้ปัญหานี้เลย!


เล่น-เรียน-รู้ ปกป้องพื้นที่ส่วนตัวกับบอร์ดเกม "Don't touch me"!

วันนี้เราจะมาเจาะลึกบอร์ดเกมที่ออกแบบมาเพื่อสอนเด็กๆ เรื่องสำคัญมากๆ นั่นคือ การตระหนักรู้ถึงร่างกายตนเอง การเคารพพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น และรู้วิธีรับมือเมื่อรู้สึก "อึดอัด" หรือไม่สบายใจจากการถูกสัมผัส ผ่านเกมที่ทั้งสนุกและมีสาระครับ


สิ่งที่ต้องการและกลุ่มเป้าหมาย

สิ่งที่ต้องการ พวกเราต้องการสอนเรื่องละเอียดอ่อนอย่าง "ขอบเขต (Body Boundaries)" และ "การยินยอม (Consent)" ให้นักเรียน (โดยเฉพาะช่วงวัย 8 ปีขึ้นไป) เข้าใจและกล้าแสดงออกได้อย่างไร โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดหรือเป็นเรื่องน่าเบื่อ?

กลุ่มเป้าหมายคือ คุณครู ผู้ปกครอง นักจิตวิทยา หรือใครก็ตามที่มองหาเครื่องมือสร้างสรรค์ในการสอนทักษะชีวิตและสุขภาวะทางเพศศึกษาเบื้องต้นให้กับเด็กๆ อายุ 8 ปีขึ้นไป (ตัวบอร์ดเกมเล่นได้ 4-6 คน เหมาะกับการทำกิจกรรมกลุ่มย่อยในห้องเรียน)


สิ่งที่นักเรียนจะได้รับ

  • สร้างความเข้าใจเรื่องพื้นที่ส่วนตัว
  • เรียนรู้ว่าการสัมผัสจากบุคคลต่างกัน อาจทำให้เกิดความรู้สึกต่างกัน
  • เรียนรู้ทักษะการป้องกันตัวเบื้องต้น (ปฏิเสธ, หลบหลีก, ขอความช่วยเหลือ) ผ่านการเล่นการ์ด
  • ส่งเสริมการสื่อสารและการกล้า่างเหมาะสมกระตุ้นการคิดวางแผนและตัดสินใจ

ภายในบอร์ดเกมนักเรียนจะต้องแข่งกันเก็บ "เหรียญความอึดอัด" (ที่เอาออกจากบอร์ดได้) ให้มากที่สุด แต่ก็ยังต้องร่วมมือกันไม่ให้เหรียญกระจายไปถึง "โซนสีแดง" บนบอร์ดเอเลี่ยน ไม่งั้นแพ้ทั้งทีม!

จุดเน้นการพัฒนา

เกมนี้เน้นพัฒนาทักษะด้าน สังคมและอารมณ์ (Social-Emotional Learning - SEL) เต็มๆ ครับ ทั้ง

  • Self-Awareness รู้จักอารมณ์ "อึดอัด" ของตัวเอง
  • Social Awareness เข้าใจว่าสถานการณ์ต่างกัน คนต่างกัน ทำให้รู้สึกต่างกัน (การ์ดบุคคลที่จะมีผลต่อจำนวนโทเคน)
  • Relationship Skills เรียนรู้วิธีขอความช่วยเหลือ สื่อสารความต้องการ
  • Responsible Decision-Making เลือกใช้การ์ดป้องกันตัวอย่างมีกลยุทธ์


แรงบันดาลใจ

จะให้เด็กๆ ได้ "ซ้อม" รับมือกับสถานการณ์ที่อาจเจอในชีวิตจริง ผ่านตัวละครเอเลี่ยนน่ารักและกลไกเกมที่เข้าใจง่าย ทำให้การเรียนรู้เรื่องยากๆ กลายเป็นเรื่องสนุกและเข้าถึงได้ง่าย


ลักษณะ/ รูปแบบงาน & แนวทางการใช้งาน

รูปแบบ บอร์ดเกมกึ่งร่วมมือ (Semi-Cooperative) ที่ใช้การ์ดและโทเคนในการดำเนินเรื่อง


แนวทางการใช้

  • ใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนเรื่องสิทธิในร่างกาย
  • เป็นกิจกรรมหลักในคาบสุขศึกษา แนะแนว หรือ Life Skills
  • ใช้ในกลุ่มกิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือชมรมบอร์ดเกม
  • นอกเหนือไปจากนั้นหลังเล่นจบ ควรมี วงสะท้อนคิดหรือการนำสรุปเพื่อชวนคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ ความรู้สึกระหว่างเล่น การ์ดสถานการณ์ไหนที่ทำให้รู้สึกอึดอัดเป็นพิเศษ และเชื่อมโยงกับชีวิตจริง

ขั้นตอนวิธีการใช้

เตรียมตัว ตั้งบอร์ดเอเลี่ยนกลางวง แจกการ์ดตัวละคร (มีความสามารถพิเศษ!) และการ์ดป้องกันตัวให้ทุกคน เตรียมกองการ์ด "บุคคล" (ใครทำให้เราอึดอัด?) และ "อวัยวะ" (โดนแตะตรงไหน?) พร้อมเหรียญความอึดอัด

รอบของนักเรียน (ตาใครตามัน): แต่ละคนมี 4 แอคชั่น ทำอะไรได้บ้าง?

  1. เดิน เดินบนบอร์ด 1 ช่อง
  2. จั่วการ์ด จั่วการ์ดป้องกันตัวเพิ่ม (มี 3 แบบ: ปฏิเสธ / หลบหลีก / ขอความช่วยเหลือ)
  3. ใช้การ์ดป้องกัน เล่นการ์ดป้องกันตัว เพื่อเอา "เหรียญความอึดอัด" ออกจากบอร์ดตามพลังการ์ด (1, 2 หรือ 3 ชิ้น) แล้วเก็บเหรียญนั้นไว้เป็นคะแนนเรา!
  4. ใช้พลังพิเศษ ใช้สกิลของการ์ดตัวละคร (รอบละครั้ง)

           

เฟสโดนคุกคาม (ถึงคราวเอเลี่ยนโดนแตะ!) เมื่อทุกคนเล่นครบ...

  1. เปิดการ์ด "บุคคล" และ "อวัยวะ" ตามจำนวนนักเรียน
  2. วาง "เหรียญความอึดอัด" ลงบนบอร์ดตามที่การ์ดกำหนด (เช่น การ์ด "ครู" อาจวาง 2 เหรียญ / การ์ด "แขน" ก็วางที่โซนแขน)
  3. ระวัง! เมื่อไหร่ที่เหรียญล้นไปยังโซนสีแดงคือแพ้ทันที! (ถ้าเหรียญเต็มโซนเขียว -> ไปวางช่องอื่นในโซนสีเขียว -> ถ้าสีเขียวเต็ม -> ล้นไปโซนสีเหลือง -> สีส้ม -> สีแดง = แพ้!
  4. วนไปเรื่อยๆ เล่นสลับกันไปเรื่อยๆ จนครบจำนวนรอบที่กำหนด หรือเหรียญหมด

           

เทคนิค/แนวคิดเบื้องหลังที่ส่งเสริมการเรียนรู้

1.    Gamification ใช้แต้ม (เหรียญ) การ์ด แอคชั่น การแพ้/ชนะ มาทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ

2.    Brain-Based Learning ส่งเสริมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้ เรียนรู้ผ่านการเล่นจริง (Active Learning) รู้สึกถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการโดนสัมผัส (Emotional Engagement) นอกเหนือไปกว่านั้นนักเรียนก็ได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน (Social Interaction) และนักเรียนจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ผ่านสัญลักษณ์ (Meaning Making) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นใน สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe Environment) ที่ทำให้นักเรียนกล้าแชร์แนวคิดของตัวเอง


จุดเด่น  

  • หัวข้อโดนใจ หยิบเรื่องสำคัญที่สอนยาก มาทำให้ "เล่นง่าย เข้าใจง่าย"
  • ระบบเกม (การ์ดบุคคล, อวัยวะ, การ์ดป้องกัน) สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่ต้องการสอนและเล่นสนุก
  • ภาพประกอบน่ารัก ลดความน่าอึดอัดของหัวข้อลงได้เยอะ
  • การช่วยเหลือมีทั้งส่วนที่ต้องช่วยกัน (ไม่เข้าไปในบริเวณสีแดง) และแข่งขัน (เก็บเหรียญ) ทำให้เกมทั้งปั่นทั้งสนุก
  • กระตุ้นการคิด นักเรียนต้องวางแผนว่าจะใช้แอคชั่นทำอะไร ใช้การ์ดใบไหนดี

           

ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

  • นักเรียนเข้าใจเรื่องพื้นที่ส่วนตัว กล้าปฏิเสธเมื่อรู้สึกไม่โอเค รู้จักวิธีขอความช่วยเหลือ และเปิดใจคุยเรื่องนี้มากขึ้น
  • ฝึกการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ วางแผน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ครูสังเกตเห็นนักเรียนที่อาจต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในชีวิตจริงได้

           

🎯เกมนี้ไม่ใช่แค่บอร์ดเกมสนุกๆ แต่มันคือ เครื่องมือที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ ช่วยให้พวกเขามีความรู้ มีทักษะป้องกันตัวเอง สร้างความมั่นใจ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิในร่างกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การดำรงอยู่ในสังคม✨


👾ผลงานนวัตกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในรายวิชา 2718333 นวัตกรรมการสอน

ระดับประถมศึกษา ประจำ ภาคปลาย ปีการศึกษา 2568


ลิขสิทธิ์ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้ามดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต


สุขศึกษาและพลศึกษาประถมโฮมรูมเทคโนโลยีการสอนเกมและกิจกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

6
ได้แรงบันดาลใจ
4
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
Laxy Teacher

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ