ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
กระทรวงศึกษาธิการ (2551: 37) ได้เห็นความสำคัญของภาษาไทยจึงได้กำหนดให้มี การศึกษาภาษาไทยไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทยเป็นสาระพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และเป็นสาระหลักที่ใช้เป็นหลักในการจัดการ
เรียนการสอน เพื่อเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ การแก้ปัญหาและการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพประกอบด้วย 5 สาระ ได้แก่ สาระที่ 1 การอ่าน
สาระที่ 2 การเขียน สาระที่ 3 การฟังการดูและการพูด สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร นอกจากจะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนแล้ว ยังมี จุดเน้นสำคัญหลายประการ
เช่น การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ภาษาในการ แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้ภาษาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวความรู้และประสบการณ์ ส่วนการพูดและการเขียนเป็นทักษะของการแสดงออกด้วยการแสดงความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์
หากผู้เรียนมีทักษะและเห็นคุณค่าของภาษาไทยก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อความคิด ความเข้าใจ เจตคติ ตลอดจนแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดตัวชี้วัดของการเรียนภาษาไทย โดยมุ่งให้ ผู้เรียนมีทักษะในการใช้ภาษาดังกล่าว
ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสารได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
พัฒนาการอ่านและการ เขียนเพื่อช่วยในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา และวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีเหตุผล ตลอดจน มีเจตคติที่ถูกต้องต่อการเรียนภาษาไทยทั้งในด้านที่เป็นวัฒนธรรมและด้านเสริมสร้างความงดงามในชีวิต
วิชาภาษาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ ถ่ายทอดความคิด พัฒนาสติปัญญา
และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย การแสวงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลหลากหลาย รวมถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (กระทรวงศึกษาธิการ,2551: 37) ทักษะพื้นฐานทางภาษาไทย โดยเฉพาะการอ่านจับใจความ การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์วิชาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา หรือศิลปะ โดยเฉพาะในวิชาศิลปะนั้น ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้นักเรียนสามารถอ่านและเข้าใจแนวคิดของศิลปิน ตีความสัญลักษณ์ วิเคราะห์เจตจำนงของงานศิลป์ และถ่ายทอดแรงบันดาลใจผ่านการเขียนหรือการพูดได้อย่างลึกซึ้ง
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยทักษะการใช้ภาษาที่ดีควบคู่กับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังทักษะภาษาไทยควรเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงวัยเด็กตอนกลาง (6–12 ปี) ที่เหมาะสมต่อการวางรากฐานความรู้ด้านภาษาอย่างจริงจัง ทั้งการอ่าน
การเขียน และการแสดงออกทางความคิด (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2549: 270–271) โดยผู้สอนควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาอย่างยั่งยืน
การอ่าน เป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานทางภาษาไทยที่สำคัญ ซึ่งผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เทียมใจ พิมพ์วงค์ (2561: 1) ระบุว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร แสวงหาความรู้ และพัฒนาการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต โดยต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมจากทักษะการฟังและการพูด การอ่านเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เด็กต้องรู้จักและเข้าใจพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพื่อนำมาประสมคำ ออกเสียง และตีความหมาย โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม เพื่อเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหา ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการและศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน ใช้วิธีการหลากหลาย ไม่ยึดติดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ การอ่านควรได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความชำนาญ โดยครูควรใช้วิธีการผสมผสานตามความเหมาะสมกับบริบทและสิ่งแวดล้อม (สถาบันภาษาไทย,
2559: 12) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก อ่านรู้เรื่อง และเข้าใจความหมายได้อย่างแท้จริง
โรงเรียนวัดูเขาภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งทำการเปิดสอนในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ฯ สังคมศึกษาฯ ประวัติศาสตร์ สุขศึกษาพลศึกษา ศิลปะ
การงานอาชีพ และภาษาต่างประเทศโดยวิชาภาษาไทยเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนจะต้องมีการฝึกอ่านเขียน แต่ปรากฎว่าโรงเรียนวัดภูเขาทองยังมีนักเรียนมีผลการอ่านยังไม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างอิงถึงรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาปีการศึกษา 2566
เห็นได้ว่าผลการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์และ เขียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 85 คน ได้คุณภาพระดับดีเยี่ยม 70 คน ระดับดี 13 คน ระดับผ่าน 1 คน ไม่ผ่าน 1 คน จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่มีผลการประเมินการอ่าน
คิด วิเคราะห์และ เขียน ในระดับดีมาก แต่ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ได้คะแนนต่ำกว่าที่สถานศึกษากำหนดไว้
จากปัญหาดังกล่าว ผู้สอนได้คิดค้นกิจกรรมเรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ ขึ้นมาเพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านทักษะการอ่าน
ที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สื่อการสอนมีความน่าสนใจมากขึ้น เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถกระตุ้นความสนใจในการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเว็บไซต์ “เรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ออกแบบให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมผ่านการอ่านนิทานที่ผสมผสานความรู้ด้านศิลปะ พร้อมภารกิจตอบคำถามแบบเกม โดยนำเรื่องราวของศิลปินฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคคและภาพราตรีประดับดาว (The starry night) มาเป็นบริบทหลักของเรื่องราว เพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างมีความหมาย สร้างความสุขในการเรียนรู้ และเชื่อมโยงความรู้หลากหลายเข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์
กระบวนการทำงาน
การออกแบบนวัตกรรม
การออบแบบกิจกรรม เรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ ด้วยกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบภายใต้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยรูปแบบ PKT Model เรียนดีมีความสุข
ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
ด้านครูผู้สอน
1.Plan วางแผน ขั้นตอนที่ครูผู้สอนเห็นถึงปัญหาด้านการอ่านของผู้เรียน ทำให้ได้เป็นกิจกรรมเรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ
2.Keep ลงมือปฏิบัติ ขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาจากการวางแผน โดยการนำกิจกรรมการเรียนรู้มาลงมือปฏิบัติกับผู้เรียนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการทางด้านทักษะการอ่านจับใจความ
3.Top ประยุกต์ต่อยอดพัฒนา ขั้นตอนที่ครูผู้สอนนำผลจากการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนมาประเมินผลเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อยอดในการผลิตสื่อหรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะทางด้านการอ่านของผู้เรียน
4. Study Well เรียนดี เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมเรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจผู้เรียนเข้าใจ และสามารถพัฒนาตนเองด้านการอ่านจับใจความ
5.Be Happy มีความสุข ขั้นตอนที่ครูผู้สอนให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้ฝึกใช้และเรียนรู้บทเรียนจากการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่เรียนรู้และทำกิจกรรมได้อย่างมีความสุข
ด้านผู้เรียน
1.Plan วางแผน ขั้นตอนที่ผู้เรียนต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผู้สอนให้ลงมือปฏิบัติ
2.Keep ลงมือปฏิบัติ ขั้นตอนต่อเนื่องจากการวางแผน ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรม เรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ ผู้เรียนฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรมทักษะการอ่าน ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขพร้อมปลูกฝังความรักในการอ่านควบคู่กับความเข้าใจด้านศิลปะ
3.Top ประยุกต์ต่อยอดพัฒนา ขั้นตอนที่ผู้เรียนนำเอาความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติกิจกรรมไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
4.Study Well เรียนดี เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มมีเจตคติที่ดีต่อการอ่าน และสามารถพัฒนาทักษะการอ่านได้อย่างต่อเนื่องจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
5.Be Happy มีความสุข เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนาน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและยั่งยืน พร้อมทั้งตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการอ่าน
การดำเนินงานตามกิจกรรม
ในการดำเนินกิจกรรมเรื่องเล่าศิลป์แสนสนุก ปลุกแรงบันดาลใจ ดำเนินการมีดังนี้
1. ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยได้สังเกตเห็นว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะทางด้านการอ่านจับใจความนำสภาพปัญหามาวิเคราะห์และวางแผนตามโมเดล PKT Model เรียนดีมีความสุข
2. การดำเนินการจัดกิจกรรมกิจกรรมเรื่องเล่าศิลป์แสนสนุกปลุกแรงบันดาลใจ เป็นกิจกรรมที่จัดในช่วงเวลาว่างของผู้เรียน โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อถึงเวลาว่างผู้เรียนจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเข้าใช้สื่อการเรียนรู้ที่ห้องคอมพิวเตอร์ โดยมีครูผู้สอนอย่างน้อย 1 คน ในการดูแลควบคุมการใช้งานเว็บไซต์นิทานแบบอินเทอร์แอคทีฟ ของนักเรียน ซึ่งในเว็บไซต์จะมีทั้งบทความให้ผู้เรียนได้อ่าน และตอบคำถาม เพื่อทำภารกิจตามที่เกมส์ได้กำหนดไว้ ซึ่งผู้เรียนจะได้รับทั้งความรู้ทางด้านศิลปะ ได้ฝึกทักษะการอ่านจับใจความ และยังสนุกควบคู่ไปด้วย
3. ครูผู้สอนสังเกตุพฤติกรรมของผู้เรียนหลังจากการใช้งานเว็บไซต์นิทานแบบอินเทอร์แอคทีฟของผู้เรียนว่าผู้เรียนมีการพัฒนาทางด้านการอ่านจับใจความเป็นอย่างไรจากการประเมินผลดังนี้
3.1 เปรียบเทียบพฤติกรรมการอ่านจับใจความ ก่อนและหลังการทำกิจกรรม
3.2 ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ด้านการอ่านของผู้เรียนเมื่อสิ้นภาคเรียน
3.3 ประเมินความพึงพอใจของผู้เรียน
4. ครูผู้สอนติดตามและวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทั้งในระดับชาติ ระดับสถานศึกษา ระดับช่วงชั้น และระดับรายบุคคล
เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผนและปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งถัดไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยและสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา นวัตกรรมมีรูปแบบที่น่าสนใจและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการอ่านและใฝ่รู้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านการอ่าน การวิเคราะห์เนื้อหา และการคิดอย่างมีวิจารณญาณจากเรื่องที่อ่าน ตลอดจนช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
การนำนวัตกรรมที่เป็นสื่อเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของผู้เรียน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเกมออนไลน์ที่มีรูปแบบน่าสนใจ
แตกต่างจากการจัดการเรียนรู้ในลักษณะเดิม ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้
กิจกรรมภายในเกมยังได้รับการออกแบบให้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการอ่านอย่างเป็นระบบ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกการอ่านอย่างมีเป้าหมายฝึกการจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์จากเนื้อหาที่ได้รับอย่างเหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมสมรรถนะด้านการอ่านและกระบวนการคิดขั้นสูงซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้รายวิชาอื่น ๆตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!