inskru

ผิดไหมที่ควายอยากเป็นคน ในนิทานไม่อยากเป็นควาย

14
21
ภาพประกอบไอเดีย ผิดไหมที่ควายอยากเป็นคน ในนิทานไม่อยากเป็นควาย

“ควาย” ในสายตาของสังคมไทยมักถูกเปรียบเปรยว่าโง่ ด้อย หรือถูกใช้เป็นคำสบประมาทว่า “ควาย” เพื่อเหยียดความคิดของผู้อื่น แต่นิทานเรื่องนี้กลับหยิบตัวละครควายมาให้เสียงอีกครั้ง เสียงที่ตั้งคำถามกับความหมายของชีวิต เสียงที่ไม่ต้องการถูกจองจำอยู่ในความพอเพียงที่ไร้ทางเลือก เสียงที่กล้าหาญพอจะท้าทายอำนาจอันเป็นระเบียบของโลกใบนี้ แม้จะจบลงด้วยการ “กลับไปเป็นควาย” เช่นเดิมก็ตาม

นิทานเรื่องนี้เปิดฉากด้วยความสงสัยของควายตัวหนึ่ง “ทำไมถึงต้องเป็นควาย” และ “คนดูน่าสบายกว่าควายตั้งเยอะ” ประโยคสั้น ๆ นี้มิได้สะท้อนเพียงความอิจฉา หรือความไม่พอใจในตนเองเท่านั้น แต่คือเสียงเรียกร้องของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการ “เลือก” ว่าจะอยู่อย่างไร

ควายกับความเป็นคน : ความฝันที่เงียบงัน

ควายในนิทานพยายามทดลองมีชีวิตแบบคน กินอย่างคน เดินอย่างคน แต่งตัวอย่างคน เขาเดินเข้าไปในเมืองอย่างมั่นใจ ท่ามกลางฝูงชนที่พลุกพล่าน แต่กลับไม่มีใครพูดกับเขา ไม่มีใครแม้แต่จะมองเห็นเขา เสียงของควายจมหายไปท่ามกลางความเงียบของผู้คน เขาไม่ได้ถูกผลักไส แต่เขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับ

ไม่มีการรังเกียจ ไม่มีการหัวเราะเยาะ ไม่มีการไล่กลับ แต่สิ่งที่เขาได้รับคือความว่างเปล่า ความเงียบ ที่บอกว่า “เจ้าไม่มีที่ตรงนี้” และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “คนบางกลุ่ม” ในโลกของความจริง ไม่ว่าจะเป็นคน ไร้บ้าน คนพิการ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาไม่ได้ถูกตะโกนใส่หน้า แต่พวกเขาถูกเพิกเฉยจากระบบที่ไม่เคยเปิดพื้นที่ให้พวกเขา “พูด” หรือ “เป็น” สังคมจึงไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “เธอควรพอใจในสิ่งที่เป็น” แต่กำลังสร้างระบบที่ทำให้คนที่พยายามเปลี่ยนแปลง กลับต้องเดินจากไปอย่างเงียบ ๆ เหมือนควายในนิทาน

คู่ตรงข้ามของควายอาจไม่ใช่คน แต่อาจคือโครงสร้างที่ขีดเส้นให้เรา

หากเรามองให้ลึกลงไป คำว่า “คน” ในนิทานอาจไม่ได้หมายถึงมนุษย์ที่เดินได้สองขา แต่หมายถึง “ระบบ” ที่ถูกนิยามว่าถูกต้อง มีอารยธรรม และมีอำนาจในการกำหนดชีวิตผู้อื่น ในโลกของนิทาน ไม่มีใครทำร้ายควายตรง ๆ แต่ทุกคน “ปฏิเสธ” ควายอย่างเงียบ ๆ การปฏิเสธที่ว่านี้คือกลไกของอำนาจแนวคิดเรื่อง The Other (ความเป็นอื่น) ของ Edward Said (1978, pp. 38–39) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “อันตรายของการทำให้เป็นอื่น มิได้อยู่ที่การผลักออกจากระบบอย่างเปิดเผยเท่านั้น หากแต่อยู่ที่การลดทอนตัวตน จนไม่เหลือพื้นที่ในการมองเห็นหรือรับรู้ในฐานะ ‘ผู้มีเสียง’ ในระบบวาทกรรมกระแสหลัก” ความเงียบ สายตา คำพูดที่ไม่เคยเอ่ย และบรรยากาศที่บอกว่า “เธอไม่ควรอยู่ที่นี่” จึงเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สุดของการกดทับแบบ “อ่อนนุ่ม” ที่ผลักผู้แปลกแยกให้ต้องถอยไปเอง

ควายไม่ผิดที่อยากมีชีวิตแบบคน

นิทานเรื่องนี้จึงควรถูกอ่านในฐานะวรรณกรรมเสียดสี ที่ท้าทายโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช่แค่นิทานสอนให้พอใจในสิ่งที่ตนเป็น เพราะคำถามสำคัญคือ ทำไมควายถึงไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่อย่างไร ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงมีอำนาจในการบอกว่า “ควายควรเป็นควายต่อไป” การอยู่อย่างคนของควาย จึงไม่ใช่แค่การมีปากมีเสียง  แต่คือความพยายามจะเข้าถึงชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีทางเลือก มีเสรีภาพ แม้จะไม่เหมือนใครก็ตาม เพราะควายไม่ใช่ควาย แต่คือพวกเราทุกคนที่กล้าฝันแตกต่าง

นิทานเรื่องนี้จึงสะท้อนโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำอย่างลึกซึ้ง โดยไม่ต้องใช้คำว่า “ชนชั้น” หรือ “รัฐ” แต่ใครที่เคยพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้โลกยอมรับ ใครที่เคยถูกปฏิเสธเพียงเพราะ “ไม่ได้เป็นแบบที่ควรเป็น” จะเข้าใจว่า “ไม่อยากเป็นควาย ไม่ได้หมายความว่าไม่พอใจในสิ่งที่เป็น” แต่คือการกล้าถามว่า “ชีวิตของข้าเป็นของใคร” “ใครเป็นคนกำหนดว่าเราควรเป็นอะไร” และเพราะคำถามนี้เองนิทานเล่มบาง ๆ เล่มนี้ จึงกลายเป็นประตูบานใหญ่ที่พาเรามองเห็นอำนาจที่แฝงตัวอยู่ในคำว่า “เป็นคนดีตามแบบที่ควร”

ภาษาไทยประถมมัธยมต้นมัธยมปลายการเขียนหลักการใช้ภาษาไทยวรรณคดีและวรรณกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

14
ได้แรงบันดาลใจ
21
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insThitsanu Jaroensook

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ