เส้นทางของครูแต่ละคนอาจไม่ได้สวยงามเหมือนดวงดาวที่เปล่งประกายบนท้องฟ้ายามค่ำคืน กว่าครูจะได้รับการยอมรับจากนักเรียนจนพวกเขาอยากมีส่วนร่วมและเกิดผลลัพธ์ที่ดีในห้องเรียน อาจต้องใช้เวลาและผ่านการเรียนรู้มากมาย
‘ครูนัท - นัฐวุฒิ สลางสิงห์’ ครูสอนวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี ก็เคยเผชิญกับพายุแห่งความผิดหวัง จนต้องกลับมาย้อนทบทวนวิธีการสอนของตัวเองอีกครั้ง
“ช่วงเทอมแรกที่เริ่มสอน รู้สึกว่านักเรียนกับเราไม่คลิกกันเลย เราก็สอนเนื้อหาไปเรื่อยๆ บอกเทคนิคตรงนั้นตรงนี้ โจทย์ข้อนี้มีวิธีทำแบบนี้ ทฤษฎีก็มีสูตรตามนี้ๆ เราคิดว่านักเรียนน่าจะเข้าใจ เพราะตอบได้ทุกอย่าง แต่พอคะแนนออกมากลับติด 0 กันระนาว แล้วตอนนั้นเราก็วัดผลจากคะแนนสอบเป็นหลัก เลยต้องกลับมามองย้อนว่า สิ่งที่ทำอยู่มันใช่หรือเปล่า”
จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
ในปีแรกของการเป็นครูสำหรับครูนัท จึงเป็นเหมือนการเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง ก่อนจะค้นพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในเทอมที่สอง —ช่วงที่ได้เริ่มสอนวิชาดาราศาสตร์ ครูนัทได้นำประสบการณ์กว่า 3 ปีที่จากการทำงานเป็นนักวิชาการที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) มาประยุกต์ใช้ เพื่อจุดไฟแห่งความอยากเรียนรู้ในใจของนักเรียน
“เราพาเด็กดูดาวเลย แหวกหลักสูตร จุดประกายก่อน เพราะคิดว่าถ้านักเรียนไม่สนใจ น่าจะยาก”
เมื่อครูนัทเริ่มนำกิจกรรมและอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ ห้องเรียนก็เปลี่ยนไปจากเดิม เหมือนดวงดาวที่เคยหม่นแสง ค่อยๆ ส่องแสงสว่างไสวขึ้นเรื่อยๆ จนเปล่งประกายที่สุดในตอนที่ครูนัทเริ่มใช้ ‘บอร์ดเกม’ บันไดงูง่ายๆ ธีมอวกาศ ซึ่งสอดแทรกความรู้ และส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม โดยให้นักเรียนแบ่งหน้าที่ช่วยกันเล่น
สามารถติดตามรายละเอียดของ ‘เกมจรวด จ๊วดๆ’ ของครูนัทเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเพื่อดูรายละเอียด
ห้องเรียนที่ใครๆ ก็อยากเรียน
“พอเล่นกิจกรรมนี้ปุ๊บ จะเห็นเลยว่านักเรียนแต่ละคนมีสกิลอะไรบ้าง ทำให้เราเห็นชัดมากว่าเขาทำได้นะ มันมีทักษะบางอย่างที่เราวัดไม่ได้ (จากการทำข้อสอบอย่างเดียว)”
เมื่อกิจกรรมกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ครูนัทจึงเริ่มออกแบบวิธีประเมินใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จริง จากเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้การวัดผลผ่านงานเดี่ยว ก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานกลุ่ม พร้อมการสะท้อนความคิด (self-reflection) เพื่อให้นักเรียนได้เห็นการพัฒนาของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม
ผลลัพธ์คือ จำนวนเด็กที่เคยติด 0 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสิ่งที่เห็นพัฒนาขึ้นชัดที่สุดคือ ‘ความสนใจเรียน’
“วิชาของเราดึงดูดนักเรียนมากขึ้น นักเรียนเล่ากันปากต่อปากเรื่องวิธีการที่เราใช้สอน หลายคนเลยเริ่มอยากมาเรียนด้วย”
แนวทางการสอนที่ใช่ ในแบบของครูนัท
ครูนัทมองว่าการสอนเนื้อหาที่เยอะเกินไป ก็เหมือนการเทน้ำปริมาณมากให้นักเรียน แต่สุดท้ายพวกเขากลับตักไปใช้ได้เพียงนิดเดียว ดังนั้นครูนัทจึงเลือกที่จะไม่เทน้ำทั้งถาด แต่คัดเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญจริงๆ ใส่ไว้ในถังเดียว แล้วออกแบบเป็นกิจกรรมที่แทรกทักษะบางอย่างเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
“มันกลายเป็นอุดมการณ์ในการเป็นครูของเราว่า ในห้องเรียน เราอยากทำสามอย่างให้เกิดขึ้น คือ อยากให้นักเรียนรู้สึก inspire enjoy และได้ skill บางอย่างติดตัวไป เช่น การคิดวิเคราะห์ การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ที่อยู่นอกเหนือจากหลักสูตรทั่วไป”
‘ครูนัท’ คนนี้ inspired by เพื่อนใน insKru...
กว่าที่ครูนัทเริ่มค้นพบแนวการสอน ‘ที่ใช่’ สำหรับตัวเอง ก็ได้ผ่านการทบทวนกับตัวเองมากมาย หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของครูนัทในการออกแบบการสอนรูปแบบใหม่ คือ ‘ครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล’ ครูสอนสังคมศึกษา ที่ขณะนั้นประจำอยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน
ครูพลเป็นหนึ่งในสมาชิกของคอมมูนิตี้ของ insKru ที่มักแชร์แนวทางการสอนที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์บน facebook อย่างสม่ำเสมอ
จากผู้ถูก inspire กลายมาเป็นผู้ที่ inspire คนอื่น
เมื่อครูนัทประสบความสำเร็จกับการนำเอาบอร์ดเกมมาใช้ในห้องเรียน ก็ได้นำไอเดียนั้นไปแบ่งปันใน Facebook ของตัวเอง ครูพลเห็นโพสต์นั้นจึงนำเอาไปแชร์ต่อในกลุ่ม ‘ครูปล่อยของ’ ของ insKru
“ตอนแรกก็กังวล แต่สุดท้ายก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีคนแชร์ต่อไปเยอะ เลยเริ่มปลูกความคิดในหัวว่า ไอเดียการสอนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน มันอาจมีคุณค่ากับครูคนอื่นนอกโรงเรียนก็ได้”
จากจุดนั้น ครูนัทก็ลงมือทำต่อไปเรื่อยๆ เกิดเป็นการแบ่งปันไอเดียที่ สอง สาม สี่ ราวกับแสงเล็กๆทีค่อยๆแผ่ขยายออกไปข้ามห้วงจักรวาล แสงนั้นอาจจะจะส่องถึงใครบางคน และช่วยจุดประกายบางอย่างในใจเขาได้อย่างที่ครูพลเคยจุดประกายให้ครูนัทมาก่อน
สามารถติดตามผลงานของครูนัทได้ที่โปรไฟล์ Nattawut Salangsingha บนเว็บไซต์ insKru https://inskru.com/profile/9589/
ติดตามบทความต่อไป ครูคนนี้ inspired by เพื่อนใน insKru: ตอน ครูนัท นัฐวุฒิ สลางสิงห์ (2) – Star Hunter ภารกิจเปลี่ยนแปลงการศึกษากับ insKru
บทความโดย ไหม สุรินทราบูรณ์
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!