inskru
gift-close
insKru Selected

ไฟฟ้าดับ กับ คาบเรียนที่เป็นไปได้

0
0
ภาพประกอบไอเดีย ไฟฟ้าดับ กับ คาบเรียนที่เป็นไปได้

วันนี้ไฟดับ! จะเรียนกันยังไงล่ะทีนี้? วันนี้อยากชวนทุกคนมาดูว่าห้องเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าจะสามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร

ในวันที่โรงเรียนไฟดับ คุณครูไม่สามารถสอนได้ตามปกติ เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ท้าทายคุณครูว่าจะออกแบบห้องเรียนอย่างไรที่ไม่ต้องอาศัยไฟฟ้า แต่ยังคงส่องประกายการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

 

หาตะเกียง (ที่มาและแรงบันดาลใจ)

ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากวันนั้นที่ “ไฟฟ้าดับ” ทำให้ครูหญิงที่แม้จะเตรียมการสอนมาแล้ว ต้องเปลี่ยนแผนกระทันหันด้วยการพลิกสถานการณ์ตรงหน้า เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เป็นไปได้ จึงเป็นที่มาของห้องเรียนแบบบูรณาการที่ยึดเอาหัวข้อ “ไฟฟ้าดับ” เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้

“แม้ว่าครูจะเตรียมการสอนมาแล้ว แต่สถานการณ์ตรงหน้าอาจสร้างการเรียนรู้ได้มากกว่า วันนี้ฉันจะให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้” – คำสัมภาษณ์ครูหญิง ครูวสิยา มูลคำเอ๋ย

 

จุดตะเกียง (กระบวนการ)

ครูหญิงแบ่งกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น 5 ขั้นตอน ตามหลักการของ VASIYA model ที่คุณครูเป็นคนออกแบบขึ้นมา

คุณครูเริ่มต้นจาก “กำหนดหัวข้อการเรียนรู้” ขึ้นมา ซึ่งหัวข้อในวันนี้คือ “ไฟฟ้าดับ” จากนั้นจึงตั้งคำถามต่อไปว่า สาเหตุของไฟดับในครั้งนี้น่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง ก่อนจะชวนคิดไปอีกว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้นักเรียนคิดว่าจะเป็นอย่างไร และคนในสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไรโดยไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างปัจจุบัน

ถัดมาคือการ “หาคำตอบ” โดยนักเรียนช่วยกันระดมความคิด เพื่อหาคำตอบของที่มา/ต้นตอของปัญหาไฟดับครั้ง รวมถึงช่วยกันสะท้อนคิดคำถามอื่น ๆ ที่คุณครูถาม

เมื่อได้คำตอบจากนักเรียนแล้ว คุณครูจึงชวนนักเรียนคิดต่อไปว่า “ปัญหาไฟดับ” ครั้งนี้เราสามารถแจ้งใครได้บ้าง พวกเขาเหล่านั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง

เพื่อให้นักเรียนมองเห็นภาพจริง ๆ ว่าใครบ้างนะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ครูหญิงจึงชวนนักเรียนออกมาดูการทำงานของเหล่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่กำลังซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ก่อนจะกลับมาอภิปรายร่วมกันอีกครั้ง

หลังจากจบภารกิจสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ครูหญิงจึงให้นักเรียน “เชื่อมโยง” คำตอบและสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากนั้นครูจึงให้นักเรียน “สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้” และสะท้อนการเรียนรู้ผ่านการ “นำเสนอ” ด้วยการเขียนและวาดรูปประกอบ เพื่อฝึกฝนให้พวกเขามีทักษะในด้านต่าง ๆ


โดยเป้าหมายในคาบเรียน คือ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ และสิ่งที่ได้เรียนรู้รอบตัว กับชีวิตของพวกเราได้ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อาทิ การคิดวิเคราะห์ การเขียน เป็นต้น

 

“การใช้คำถามสำคัญมาก” ครูหญิงเน้นย้ำถึงห้องเรียนบูรณาการ

 

เย่! ไฟติดแล้ว (ผลลัพธ์)

“นักเรียนตื่นเต้นมากค่ะที่ได้ดูการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า” – คุณวสิยาบอกเล่าเรื่องราวของเด็ก ๆ

 

เสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ

“พวกเราก็ออกไปดูเจ้าหน้าที่ เพื่อน ๆ ก็ได้วาดรูปด้วยกัน ผมก็มีความสุขกับเพื่อน ๆ” - ต้นปาล์ม ป.2
“ผมชอบหน่วยกู้ภัยมาก ผมอยากเห็นรถกระเช้า ผมชอบกู้ภัยมาก โตขึ้นผมจะเป็นกู้ภัย ผมชอบทำประโยชน์ให้คนอื่นมากกว่าตัวเอง” - ตัง ป.3
“พวกเราทำงานอย่างใจเย็น ฉันตั้งใจทำมาก เพราะฉันมีความสุขที่ได้เห็นการซ่อมไฟฟ้า” - มิว ป. 3 
“ฉันมีความสุขที่ได้เห็นรถกระเช้าและรถกู้ภัยอย่างใกล้ชิด” - ปลื้ม ป.3

 

จากคาบเรียนที่ไฟฟ้าไม่เป็นใจ กลับนำคุณครูไปสู่แรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างการเรียนรู้ ด้วยสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ห้องเรียนที่ไร้แสงไฟก็กลับสว่างไสวจากการจุดประกายความอยากรู้ให้กับนักเรียนตัวน้อย ที่อาจพาพวกเขาไปพบแรงบันดาลใจในชีวิต

 

คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูทุกท่านในการจุดประกายทุกความเป็นไปได้ให้กับห้องเรียน เพื่อร่วมกันสร้างแสงสว่างแห่งการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนนะคะ

 

ขอขอบคุณเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก คุณครูหญิง วสิยา มูลคำเอ๋ย คุณครูโรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) จังหวัดเชียงราย

เรียบเรียงและแบ่งปันโดย ครูเท็น ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    กิจกรรมในโรงเรียนประถมทักษะการคิดวิเคราะห์ทักษะการร่วมมือDOEผู้เรียนรู้columnist club

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    0
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    Sirilak S.

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ