icon
giftClose
profile

Choice-based learning ศิลปะตามใจผู้เรียน

40632
ภาพประกอบไอเดีย Choice-based learning ศิลปะตามใจผู้เรียน

ทำความรู้จักกับ Choice-based learning เทคนิคการสอนกระบวนการสร้างสรรค์ของนักเรียน ที่จะทำให้คาบศิลปะในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“เรากำลังตีกรอบนักเรียนว่าอะไรถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ศิลปะไม่มีถูกผิด”

         หากเราลองพูดถึงภูเขา ภายในหัวของแต่ละคนคงปรากฏภาพภูเขาไม่ซ้ำรูปแบบ บ้างก็ปกคลุมไปด้วยไม้สูงทึบ บ้างก็มีต้นไม้สีสันสดใสเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ และบ้างก็อาจจะนึกถึงผู้คนที่กำลังพักผ่อนอย่างสงบสุขท่ามกลางธรรมชาติ

         แต่หากเปลี่ยนให้ทุกคนลองวาดภาพภูเขาออกมา คงมีน้อยคนนักที่จะไม่วาดภูเขา 2-3 ลูกเรียงตัวอยู่ตรงกลางภาพ มีบ้านหลังเล็กตั้งอยู่บนพื้นด้านล่าง และมีพระอาทิตย์โผล่มาครึ่งดวงระหว่างหุบเขาสองลูก .. เอ๊ะ! ทำไมกันนะ?

         หากมองย้อนกลับไปในสมัยเด็ก สิ่งที่เราได้เรียนรู้ผ่านคาบวิชาศิลปะคือการลงมือปฏิบัติตามคุณครูเพื่อให้ได้รับเทคนิคด้านศิลปะสูงสุด แต่ครูอาจลืมเสียสนิทว่านักเรียนได้จดจำวิธีเรียนรู้ดังกล่าวจนเคยชิน และทำตามคุณครูมาโดยตลอด จนไม่มีความคิดเป็นของตนเอง

         

         เพื่อทลายกรอบความคิดของนักเรียน ครูน้ำน้อย ปรียศรี พรหมจินดา คุณครูจิตอาสาและนักวิชาการอิสระด้านศิลปศึกษา ได้จับมือร่วมกับครูจูเนียร์ ณชนก หล่อสมบูรณ์ คุณครูวิชาศิลปะของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนศศิภา โดยทั้งสองได้ศึกษาดูงานเทคนิคการสอนของแต่ละประเทศ จนได้มาซึ่ง Choice-based learning กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะในการปรับใช้กับคาบศิลปะในประเทศไทยมากที่สุด

         

ทำความรู้จัก Choice-based learning

         Choice-based learning เป็นเทคนิคการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการสร้างสรรค์ของเด็ก ผ่านการเป็นเจ้าของชิ้นงานอย่างแท้จริง โดยนักเรียนต้องเป็นตัวของตนเอง และคุณครูเป็นเพียงผู้คอยกระตุ้นความคิดของนักเรียนเท่านั้น ซึ่งมีวิธีการทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน ดังนี้

 

1. ขั้นสาธิต (Demonstrate) - ชิ้นงานแบบใด ให้ถามใจนักเรียน

         ขั้นตอนการสาธิต เป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้หาแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงานศิลปะของตนเอง โดยคุณครูจะมีการจัดมุมหนังสือและคอมพิวเตอร์ไว้ให้นักเรียนได้ค้นหาไอเดียอย่างเต็มที่ ซึ่งนักเรียนจะได้รับกระดาษหนึ่งแผ่น สำหรับจดข้อมูล เช่น ชื่อภาพ ศิลปิน รวมถึงเทคนิคที่สนใจ เป็นต้น เพื่อให้ตอนลงมือทำงานจริงจะสามารถกลับมาทบทวนได้เสมอ ซึ่งนับว่าเป็นการฝึกทักษะด้านการวางแผน และทำวิจัยไปด้วยในตัว

         จากการทดลองของครูจูเนียร์ พบว่าขั้นตอนนี้ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวเล็กน้อย เนื่องจากเด็กไทยยังไม่กล้าคิดด้วยตัวของตนเอง ทำให้คุณครูต้องคอยกระตุ้นเด็กอยู่เสมอ โดยอาจเริ่มจากการสอบถามสิ่งที่เขาชอบ หรือสิ่งที่เป็นตัวเขาก่อน

 

2. ขั้นลงมือปฏิบัติ (Studio) – เรียนรู้ความถนัด ต้องหัดทดลอง

         ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะได้ใช้อุปกรณ์ที่ตนเองสนใจมาทดลองสร้างชิ้นงานที่ได้วางแผนไว้ โดยคุณครูจะจัดเตรียมอุปกรณ์แยกตามประเภทชิ้นงานไว้เป็นฐานในแต่ละมุมห้อง

         ในขณะลงมือปฏิบัติ คุณครูจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชิ้นงานของนักเรียน แม้จะเห็นว่าใช้อุปกรณ์ผิดจนผลงานอาจพัง หรืออุปกรณ์อาจชำรุดก็ตาม แต่สามารถใช้วิธีถามความแน่ใจ เช่น “แน่ใจที่จะใช้พู่กันแล้วใช่ไหม?” และ “ถ้าสีนี้เลอะโต๊ะ เราจะทำอย่างไร” เป็นต้น ซึ่งหากนักเรียนยังยืนยันความคิดของตนเอง ก็ต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง

         ถึงแม้คุณครูจะเป็นเพียงผู้ช่วยดูแลการสร้างชิ้นงาน แต่คุณครูต้องทำการบ้านมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากต้องค้นคว้าข้อมูลให้ครอบคลุมความสนใจของนักเรียน เช่น ประวัติศิลปิน สีที่ใช้ และเทคนิคที่ใช้ เป็นต้น แต่จากการทดลองของครูจูเนียร์ พบว่านักเรียนหลายคนมักสนใจศิลปินคนเดียวกัน ทำให้สามารถจัดกลุ่มนักเรียนตามความสนใจที่ใกล้เคียงกัน เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณครูได้

3. ขั้นทำความสะอาด (Clean up) – ทำแล้วต้องล้าง สร้างศิลปนิสัย

         ขั้นตอนการทำความสะอาด นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสร้างศิลปนิสัยให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นการรู้คุณค่าของชิ้นงาน และรู้จักรับผิดชอบต่อการทำชิ้นงานของตนเอง แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญในขั้นตอนนี้มากนัก ในขณะที่ต่างประเทศมีการเปิดเพลง 5-10 นาที เป็นสัญญาณให้นักเรียนได้ทำความสะอาดพร้อมกัน

         ด้วยข้อจำกัดในประเทศไทย ทำให้ครูน้ำน้อยและครูจูเนียร์ไม่ได้กำหนดเวลาทำความสะอาดที่แน่นอน หากนักเรียนทำชิ้นงานเสร็จก็สามารถเริ่มทำความสะอาดพื้นที่ทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ของตนได้ทันที และสามารถเริ่มนำเสนอชิ้นงานให้กับเพื่อน ๆ ที่ยังทำงานไม่เสร็จได้

 

4. ขั้นประเมิน (Evaluate) – ไม่อาจรู้ใจเขา ได้เท่ากับตัวเขาเอง

         นักเรียนจะมีบทบาทในการประเมินผลมากยิ่งขึ้น โดยคุณครูจะบอกหัวข้อที่ต้องการประเมิน เช่น คะแนนความสะอาด, คะแนนเทคนิคที่ใช้ และคะแนนการค้นคว้าข้อมูล เป็นต้น โดยนักเรียนก็สามารถพูดคุยกับคุณครูเพื่อขอลดเกณฑ์บางตัวลงได้

         เมื่อถึงเวลาประเมินชิ้นงาน นักเรียนจะต้องทำการประเมินชิ้นงานของตนเอง และหากมีเวลามากพอก็สามารถประเมินชิ้นงานของเพื่อนได้ด้วย โดยคะแนนสุทธิจะมาจากการนำคะแนนที่นักเรียนประเมินตนเอง มาเปรียบเทียบกับคะแนนที่ครูประเมินไว้ ซึ่งคุณครูจะต้องรับรู้ถึงความเป็นมาของชิ้นงาน และพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้เกณฑ์มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อนักเรียนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้คุณครูจะนำชิ้นงานของนักเรียนหลังนำเสนอไปจัดแสดงไว้รวมกัน เพื่อให้ทุกคนได้เดินดูชิ้นงานของเพื่อน ๆ อีกด้วย


 

         Choice-based learning สามารถส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการค้นคว้าข้อมูล มีทักษะการวางแผน และมีความกล้าคิดกล้าทำมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์จากนักเรียนก็ทำให้ครูจูเนียร์และครูน้ำน้อยต้องประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง เช่น นักเรียนเลือกวาดภาพชิ้นงานสีน้ำมันของแวนโก๊ะด้วยเทคนิคสีเมจิก ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน หรือการสเก็ตช์ภาพตาแมวสีขาวดำ แต่นักเรียนสามารถตอบข้อมูลเชิงลึกของดวงตาได้อย่างน่าอัศจรรย์

         ครูน้ำน้อยและครูจูเนียร์ได้ปรับรูปแบบของ Choice-based learning ให้เข้ากับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับข้อจำกัดด้านต่าง ๆ โดยทุกท่านสามารถติดตามได้ในบทความ ห้องเรียนศิลปะ สนุก..เลือกได้! ซึ่งครูทั้งสองเชื่อว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนวิชาศิลปะมากยิ่งขึ้น และพร้อมจะทำลายกรอบความคิดเก่า เพื่อสร้างชิ้นงานศิลปะสุดสร้างสรรค์ได้ต่อไป

“ศิลปะยุคใหม่ ไม่ใช่การตัดสินที่ภาพลักษณ์ แต่ดูจากกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์”
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(5)