icon
giftClose
profile
frame

คุยกับครูเฟิร์น: ศิลปะของแต่ละคนมีคำตอบที่ต่างกัน

35151
ภาพประกอบไอเดีย คุยกับครูเฟิร์น: ศิลปะของแต่ละคนมีคำตอบที่ต่างกัน

"หากครูอธิบายคำตอบเป็นข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้น บทสนทนาจะจบลงแค่ในคลาสเรียน แต่หากลองฟังคำถามจากเด็กให้ดีๆ และร่วมหาความเป็นไปได้ เราอาจจะมีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 100 คำตอบ"

ครูเฟิร์น อารดา เคนผาพงศ์ เธอเป็น 1 ใน 26 Learning Designer ที่ได้รับเลือกให้นำไอเดียการสอนไปจัดแสดงในนิทรรศการ Skip School ที่หอศิลป์ ไอเดียของครูเฟิร์นคือ “ระบายสีสร้างสรรค์ จากพู่กันธรรมชาติ" ให้เด็กๆ เก็บชิ้นส่วนจากธรรมชาตินำมาเป็นพู่กันในการบรรจงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ


แรงบันดาลใจในการเปิดสตูดิโอศิลปะ?

เฟิร์นรักการเป็นครู อาจจะเพราะว่าคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า เป็นครู เราก็ซึมซับมาว่าเป็นครูมันดี แต่ในวัยที่เราเป็นนักเรียน เฟิร์นเป็นคนที่ชอบเรียนศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกสนุกกับศิลปะในวัยอนุบาล เราชอบลองผิดลองถูก

แต่พอเข้าห้องเรียนวัยประถมและมัธยม มันเริ่มมีกรอบความคิดบางอย่าง เราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของทักษะ แต่เราก็ได้ทำแค่รับโจทย์มาแล้วทำตามๆ ที่ครูบอกตั้งแต่ม.1-6 เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศิลปะสุดท้ายแล้วต้องเรียนอะไร เรียนยังไง เอาไปใช้ยังไง

เฟิร์นก็เริ่มจากการไปสังเกตคุณพ่อว่าเขาสอนเด็ก 30 คนยังไง เราก็คิดกับตัวเองว่าจะไปเป็นครูที่บริบทไหน เลยเลือกเปิดสตูดิโอศิลปะเพราะอยากมีอิสระ ดำเนินวิธีการสอนแบบของเรา โดยมีแนวความคิด "ให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระและศิลปะอยู่ในทุกอย่างของชีวิตประจำวัน" มันคือการเล่น การกิน การนอน คือธรรมชาติ


ครูของครูเฟิร์นคือใคร?

ครูคนแรกเลยคือ "นักเรียน" เพราะกิจกรรมหรือไอเดียที่มันเกิดขึ้นใหม่ มันเกิดจากการตั้งคำถาม การตอบสนอง การแสดงออกของเด็ก

ครูคนที่สองคือ "ตัวเอง" เราเชื่อว่าการสอนหรือพัฒนาที่ดีมันเกิดจากครูที่ดีด้วย ถ้าเรารักในการเป็นครู รักในการกระตุ้นการเรียนรู้ให้เด็ก เราก็จะต้องเต็มที่กับการสอนด้วย


เล่าที่มาของไอเดียนี้หน่อย?

เราเริ่มจากการสอนโดยทั่วไป แล้วก็พูดเรื่องรายละเอียดของพู่กัน แนะนำให้เด็กๆ เข้าใจว่าพู่กันในโลกทำมาจากอะไรบ้าง พู่กันสังเคราะห์ พู่กันจากขนสัตว์ เป็นต้น

คราวนี้เด็กก็ถามขึ้นมาว่า "แล้วเราทำเองได้ไหม เราไม่มีตังค์ซื้อจะทำยังไง ที่บ้านไม่มีพู่กันทำยังไง" คราวนี้เราก็เลยชวนเด็กๆ มาทำพู่กันเลย ออกไปเก็บดอกไม้ เก็บกิ่งไม้ ใบไม้ เก็บทุกอย่างที่มีพื้นผิว (texture) แตกต่างกัน แล้วก็มานั่งเรียงว่าอันนี้ให้ความรู้สึกอ่อนนุ่ม อันนี้แข็ง อันนี้ละเอียด

เฟิร์นจะเน้นการทดลอง (experimental art) เป็นหลัก เพราะเฟิร์นเชื่อว่าในทุกวิชา การทอดลองจะสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เด็กในปัจจุบันเขามีความถนัดในแบบของตัวเอง เช่น เล่นเกม เรียน ต่อหุ่นยนต์ ฯลฯ

ทุกคนสามารถเอาทุกกระบวนวิชามาผสานให้เกิดสิ่งใหม่ได้ การทดลองน่าจะเป็นจุดสำคัญที่กระตุ้นการเรียนรูปแบบใหม่ได้หลากหลายแล้วก็ส่งเสริมให้เด็กเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด


ผลตอบรับของเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง?

แต่ละคนตอบรับต่างกันไปนะคะ เพราะวิธีคิด ความชอบ และวิถีชีวิตของพวกเขาต่างกัน แต่จุดร่วมคือพวกเขาจะกลับไปด้วยความคิดว่า 'เขาสามารถกลับไปทำอะไรที่บ้านได้บ้าง'

อย่างบางคนกลับไปเอาเลโก้มาต่อเป็นนู่นนี่ที่ไม่ตรงตามแบบหรือคู่มือของโรงงาน เพราะเขารู้ว่าเขาสามารถสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ได้ อันนี้น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วสำหรับเฟิร์น

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)