icon
giftClose
profile

สอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

189132
ภาพประกอบไอเดีย สอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

การใช้วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC) ในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้จากการค้นพบของเด็ก (Discovery Learning)

สอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงโดยใช้วงจร ELC


เรามาทำความรู้จักกับวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC)

         Kolb ได้เสนอ ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory: ELT) โดย Kolb ระบุว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ความรู้ถูกสร้างขึ้นมาจากการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งนี้ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน เช่น 1. ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience) 2. การสะท้อนคิดจากการสังเกต (Reflective Observation) 3. การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม (Abstract Conceptualization) 4. การทดลองปฏิบัติ (Active Experimentation) โดยที่ Kolb เชื่อว่า ผู้เรียนจะก้าวหน้าไปตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อทำให้วงจรสมบูรณ์ และด้วยเหตุนี้ ผู้เรียนจึงปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองให้เป็นความรู้ และ

ส่วนที่ 2 ลีลาการเรียนรู้ (Kolb's learning styles) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แบบ เช่น 1. ผู้เรียนรู้แบบคิดอเนกนัย (Divergers) 2. ผู้เรียนรู้แบบดูดซึม (Assimilators) 3. ผู้เรียนรู้แบบคิดเอกนัย (Convergers) 4. ผู้เรียนรู้แบบปรับปรุง (Accommodators) (ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับลีลาการเรียนรู้ได้ที่ >> https://inskru.com/idea/-MdS27UgR7UTJRH_XMk7) โดยที่ Kolb เชื่อว่าบุคคลสามารถแสดงความรู้ หรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาสามารถนำแนวคิดที่เป็นนามธรรมไปใช้กับสถานการณ์ใหม่ได้ ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELT)


         ในที่นี้ผู้เขียนจะให้รายละเอียดโดยเฉพาะวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

ภาพที่ 2 วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ทั้ง 4 ขั้นตอน


จากภาพที่ 2 พบว่า วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

         1. ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เน้นความรู้สึกจากประสบการณ์จริง เรามักจำขั้นนี้แบบง่าย ๆ ว่า experiencing

         2. การสะท้อนคิดจากการสังเกต (Reflective Observation) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนคิดไตร่ตรอง ทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้จากการสังเกต และสะท้อนคิดจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม เรามักจำขั้นนี้แบบง่าย ๆ ว่า reflecting

         3. การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม (Abstract Conceptualization) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนสรุปผลที่ได้จากการสะท้อนคิดจากการสังเกตแล้วคิดไตร่ตรองจนสร้างเป็นแนวคิดของตนเอง เรามักจำขั้นนี้แบบง่าย ๆ ว่า thinking

         4. การทดลองปฏิบัติ (Active Experimentation) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนำแนวคิดที่ตนเองสร้างไปทดลองปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่จนทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรการเรียนรู้ใหม่ ตามภาพที่ 3 เรามักจำขั้นนี้แบบง่าย ๆ ว่า acting

ภาพที่ 3 บันไดวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning spiral)


         จากภาพที่ 3 พบว่า บันไดวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning spiral) แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่วนซ้ำอย่างต่อเนื่องของวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ได้แก่ experiencing, reflecting, thinking, และ acting) วงจรนี้ไม่ใช่วงกลมแต่เป็นบันไดวน เนื่องจากการเดินทางผ่านวงจรแต่ละครั้งจะกลับไปสู่ประสบการณ์ด้วยความเข้าใจใหม่ที่ได้จาก experiencing, reflecting, thinking, และ acting ดังนั้น บันไดวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จะช่วยอธิบายว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างไร


แนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC)

         ผู้เขียนได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ของ Kolb โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ผู้เรียน

         ระดับอนุบาลชั้นปีที่ 3 จำนวน 20 คน

         สามารถสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้

         ไม่สามารถเขียนตัวอักษรเพื่อสื่อความหมายได้

2) เนื้อหาสาระ

วิทยาศาสตร์ : การแยกของแข็งและของเหลวในสารผสมด้วยวิธีการกรอง

การละลายคือ การนำสาร 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน

คณิตศาสตร์ : อัตราส่วน และสัดส่วน

3) วัตถุประสงค์การเรียนรู้

         ความรู้ : นักเรียนสามารถระบุถึงวิธีกรองสำหรับการแยกเนื้อและกากใยของผลไม้ออกจากน้ำผลไม้ได้ (วิทยาศาสตร์)

นักเรียนสามารถระบุถึงวิธีผสมน้ำตาล เกลือ และน้ำผลไม้ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ (วิทยาศาสตร์)

นักเรียนสามารถบอกอัตราส่วนปริมาณของน้ำตาล และเกลือที่ใส่ปรุงรสในน้ำผลไม้ต่อน้ำผลไม้พร้อมดื่มได้ (คณิตศาสตร์)

         ทักษะ : นักเรียนสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กโดยการใช้มือบีบและขย้ำเนื้อผลไม้

นักเรียนสามารถกรองน้ำผลไม้ได้

นักเรียนสามารถคนสาร เช่น น้ำตาล เกลือ และน้ำผลไม้ ให้ละลายเป็นสารผสมเนื้อเดียวได้

         คุณลักษณะ : นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม

4) กิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมินผลหรือการเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ ตามวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) 4 ขั้นตอน


ขั้นที่ 1 ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience) หรือ experiencing

         ครูแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน โดยคละเพศและคละความสามารถ จากนั้นครูชวนเด็ก ๆ ลองทำน้ำสับปะรดพร้อมดื่มจากผลของสับปะรดซึ่งน้ำสับปะรดที่ได้จะต้องไม่มีเนื้อและกากใยของสับปะรดปนอยู่ด้วย โดยกำหนดอุปกรณ์ ได้แก่ ถุงมือ ผ้าขาวบาง เหยือกน้ำ ช้อนด้ามยาว ช้อนตวง น้ำตาล เกลือ เขียง และมีด ซึ่งครูช่วยเด็ก ๆ โดยใช้มีดปอกผลของสับปะรดเป็นชิ้น ๆ จากนั้นเด็ก ๆ แต่ละกลุ่มวางแผนและลงมือทำน้ำสับปะรดด้วยตนเอง ซึ่งครูสามารถช่วยเหลือในการระบุวิธีการตวงและวัดปริมาณของวัสดุต่าง ๆ ได้

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในขั้นที่ 1 ครูสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในขณะจับกลุ่มแล้วนั่งเป็นวงกลม และส่งตัวแทนมารับอุปกรณ์จากครู ตลอดจนการวางแผนและลงมือทำน้ำสับปะรด โดยใช้แบบบันทึกการสังเกต

 

ขั้นที่ 2 การสะท้อนคิดจากการสังเกต (Reflective Observation) หรือ reflecting

         เด็ก ๆ ทุกคนอภิปรายผลที่ได้และความรู้สึกจากการลงมือทำน้ำสับปะรดด้วยตนเองในครั้งแรก ซึ่งครูช่วยเสริมประเด็นในการอภิปรายดังนี้

         1. เด็ก ๆ คำนึงถึงความสะอาดในการทำน้ำสับปะรดหรือไม่ อย่างไร

         2. เด็ก ๆ ควรใช้วัสดุ อุปกรณ์ ใดบ้างเพื่อให้น้ำสับปะรดสะอาดพร้อมรับประทาน

         3. เด็ก ๆ มีวิธีแยกเนื้อและกากใยของสับปะรดออกจากน้ำสับปะรดอย่างไรบ้าง

         4. เด็ก ๆ มีวิธีปรุงรสน้ำสับปะรดให้พร้อมรับประทานอย่างไรบ้าง

         จากนั้นตัวแทนเด็ก ๆ ออกมาสรุปถึง “การแยกเนื้อและกากใยของสับปะรดออกจากน้ำสับปะรดด้วยวิธีการกรองโดยนำผ้าขาวบางวางบนปากเหยือก และการปรุงรสน้ำสับปะรดให้พร้อมรับประทานโดยใช้ช้อนคนน้ำตาล เกลือ และน้ำผลไม้ ให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน”

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในขั้นที่ 2 ครูจดบันทึกแนวคิดของนักเรียนในระหว่างการอภิปราย โดยใช้แบบบันทึกการสังเกต


ขั้นที่ 3 การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม (Abstract Conceptualization) หรือ thinking

         เด็ก ๆ ในแต่ละกลุ่มช่วยกันสรุปวิธีการทำ และอัตราส่วนของสารผสม (น้ำตาล เกลือ และน้ำผลไม้) ที่ใช้ทำน้ำสับปะรดพร้อมดื่มจากผลของสับปะรดซึ่งน้ำสับปะรดตามแนวคิดของกลุ่ม โดยเด็ก ๆ วาดภาพวิธีการทำน้ำสับปะรดตามขั้นตอนของเด็ก ๆ ลงบนแบบบันทึกวิธีการทำน้ำสับปะรด ซึ่งครูสามารถช่วยเด็ก ๆ เขียนและวาดภาพตามแนวคิดของเด็ก ๆ ลงในบันทึกประกอบได้

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในขั้นที่ 3 ครูประเมินความสามารถของนักเรียนจากแบบบันทึกวิธีการทำน้ำสับปะรด


ขั้นที่ 4 การทดลองปฏิบัติ (Active Experimentation) หรือ acting

         เด็ก ๆ ในแต่ละกลุ่มลงมือทำน้ำผลไม้อีกรอบตามวิธีการที่ได้จากแนวคิดของกลุ่ม แต่ในรอบนี้ครูเปลี่ยนผลไม้จากสับปะรดเป็นแตงโม จากนั้นเด็ก ๆ ลองทำน้ำแตงโมพร้อมดื่มจากผลของแตงโมซึ่งน้ำแตงโมที่ได้จะต้องไม่มีเนื้อและกากใยของแตงโมปนอยู่ด้วย โดยใช้อุปกรณ์เดิม โดยเด็ก ๆ จะได้ฝึกการตวงอัตราส่วนของสารผสม (น้ำตาล เกลือ และน้ำผลไม้) เพื่อปรุงรสน้ำแตงโมให้เป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม

         การเก็บร่องรอยและหลักฐานการเรียนรู้ในขั้นที่ 4 ครูสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในการลงมือทำน้ำแตงโม โดยใช้แบบบันทึกการสังเกต และประเมินคุณภาพของน้ำแตงโมที่เด็ก ๆ ลงมือทำ


หมายเหตุ

         วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) เป็นส่วนหนึ่งทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELT) ซึ่งในคราวต่อไปผู้เขียนจะให้รายละเอียดส่วนที่สองของทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELT) นั่นคือ ลีลาการเรียนรู้ของนักเรียน (Kolb's learning styles)

*บทความเกี่ยวกับลีลาการเรียนรู้ของนักเรียนจาก Kolb (Kolb's learning styles) >> https://inskru.com/idea/-MdS27UgR7UTJRH_XMk7



แหล่งข้อมูล

Kolb, A. Y., & Kolb, D. A. (2012). Experiential Learning Spiral. Encyclopedia of the Sciences of Learning, 978(1), 1215-1219.

Kolb, A. Y., & Kolb, D. A. (2012). Experiential Learning Theory. Encyclopedia of the Sciences of Learning, 978(1), 1215-1219.

Kolb, A. Y., & Kolb, D. A. (2018). Eight important things to know about the experiential learning cycle. Australian educational leader, 40(3), 8-14.

Kolb, D.A. (1984). Experiential learning: Experience as the source of learning and development. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

ราณี รัชนะพงษ์. (2547). การเรียนรู้จากประสบการณ์" ในสารานุกรมศึกษาศาสตร์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉพลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เสาวภา วิชาดี. (2554). รูปแบบการเรียนของผู้เรียนในมุมมองของทฤษฎีการเรียนรู้แบบประสบการณ์. วารสารนักบริหาร, 31 (1), 175-180.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(18)
เก็บไว้อ่าน
(6)