icon
giftClose
profile

ค้นหาสไตล์การเรียนรู้เพื่อสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน

92065
ภาพประกอบไอเดีย ค้นหาสไตล์การเรียนรู้เพื่อสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน

ลีลาการเรียนรู้ของนักเรียนจาก Kolb (Kolb's learning styles) ซึ่งจะช่วยครูให้รู้จักกับนักเรียนมากขึ้น และสามารถออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียน

รู้จักลีลาการเรียนรู้ของนักเรียนจาก Kolb (Kolb's learning styles)


         ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory: ELT) โดย Kolb ระบุว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ความรู้ถูกสร้างขึ้นมาจากการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งนี้ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน (เช่น ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม การสะท้อนคิดจากการสังเกต การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม การทดลองปฏิบัติ ) และส่วนที่ 2 ลีลาการเรียนรู้ (Kolb's learning styles) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แบบ (เช่น ผู้เรียนรู้แบบคิดอเนกนัย ผู้เรียนรู้แบบดูดซึม ผู้เรียนรู้แบบคิดเอกนัย ผู้เรียนรู้แบบปรับปรุง ) ดังภาพที่ 1

 

ภาพที่ 1 ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELT)


         จากภาพที่ 1 จะได้ว่าวงจรด้านนอก แสดงถึงวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (ELC) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

         1. ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience: CE) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงทำให้เกิดการรับรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการรับรู้ (Feeling)

         2. การสะท้อนคิดจากการสังเกต (Reflective Observation: RO) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนคิดไตร่ตรอง ทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้จากการสังเกต และสะท้อนคิดจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นสังเกตการณ์ (Watching)

         3. การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม (Abstract Conceptualization: AC) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนสรุปผลที่ได้จากการสะท้อนคิดจากการสังเกตแล้วคิดไตร่ตรองจนสร้างเป็นแนวคิดของตนเอง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการคิด (Thinking)

         4. การทดลองปฏิบัติ (Active Experimentation: AE) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนำแนวคิดที่ตนเองสร้างไปทดลองปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นลงมือทำ (Doing)

(ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC) ได้ที่ >> https://inskru.com/idea/-MdFxKufHRJm-KkhbL1u)


         นอกจากนี้ในภาพที่ 1 พื้นที่ด้านในทั้ง 4 ส่วน แสดงถึงลีลาการเรียนรู้จาก Kolb (Kolb's learning styles) 4 แบบ ดังนี้

         1. ผู้เรียนรู้แบบคิดอเนกนัย (Divergers) มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วยประสบการณ์รูปธรรม และการสะท้อนคิดจากการสังเกต เป็นการเรียนรู้จากการคิดอเนกนัย (Diverging) เป็นลีลาการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างจินตนาการต่าง ๆ ขึ้นเอง และสามารถไตร่ตรองจนมองเห็นภาพโดยส่วนรวม รวมถึงมีความคิดที่หลากหลาย จัดเป็นผู้เรียนที่มีความเข้มแข็งในความสามารถในการสร้างจินตนาการ และการอภิปราย

         2. ผู้เรียนรู้แบบดูดซึม (Assimilators) มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วยการสะท้อนคิดจากการสังเกต และการสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม เป็นการเรียนรู้จากการดูดซึม (Assimilating) เป็นลีลาการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีความสามารถในการสรุปหลักการหรือกฎเกณฑ์ มักสนใจในหลักการที่เป็นนามธรรมมาก จัดเป็นผู้เรียนที่มีความเข้มแข็งในการให้เหตุผลแบบอุปนัย และความสามารถในการสร้างทฤษฎี

         3. ผู้เรียนรู้แบบคิดเอกนัย (Convergers) มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วยการสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม และการทดลองปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้จากการคิดเอกนัย (Converging) เป็นลีลาการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีความสามารถในการนำแนวคิดที่เป็นนามธรรมไปใช้ในการปฏิบัติ จัดเป็นผู้เรียนที่มีความเข้มแข็งในการลงมือทำ ตลอดจนการนำทฤษฎีไปใช้ปฏิบัติ

         4. ผู้เรียนรู้แบบปรับปรุง (Accommodators) มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วยการทดลองปฏิบัติ และประสบการณ์รูปธรรม เป็นการเรียนรู้จากการปรับปรุง (Accommodators) เป็นลีลาการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนจะชอบลงมือปฏิบัติ ชอบทดลอง และจะทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ต้องใช้การปรับตัว จัดเป็นผู้เรียนที่มีความเข้มแข็งในการลงมือปฏิบัติจริง

         กระนั้นผู้เขียนขอสรุป ลีลาการเรียนรู้จาก Kolb (Kolb's learning styles) อย่างง่าย ๆ ดังภาพที่ 2


ภาพที่ 2 ลีลาการเรียนรู้จาก Kolb (Kolb's learning styles) 4 แบบ


         1. ผู้เรียนรู้แบบคิดอเนกนัย (Divergers) เรียนรู้โดยเน้นการรับรู้ (Feeling) + สังเกตการณ์ (Watching) เป็นพวกที่ชอบใช้จินตนาการ และแสดงความคิดเห็น

         2. ผู้เรียนรู้แบบดูดซึม (Assimilators) เรียนรู้โดยเน้นการสังเกตการณ์ (Watching) + การคิด (Thinking) เป็นพวกที่ชอบทำความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้ แต่ไม่ชอบการลงมือปฏิบัติ

         3. ผู้เรียนรู้แบบคิดเอกนัย (Convergers) เรียนรู้โดยเน้นการคิด (Thinking) + การลงมือทำ (Doing) เป็นพวกที่ชอบนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และชอบใช้เหตุผล

         4. ผู้เรียนรู้แบบปรับปรุง (Accommodators) เรียนรู้โดยเน้นการลงมือทำ (Doing) + การรับรู้ (Feeling) เป็นพวกที่ชอบลงมือทำและปฏิบัติจริง ชอบความท้าทาย และสามารถปรับตัวได้ดี


แนวทางการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียนตามลีลาการเรียนรู้ (Kolb's learning styles)


         ทั้งนี้ประโยชน์ของการจำแนกลีลาการเรียนรู้จาก Kolb (Kolb's learning styles) คือครูสามารถเลือกใช้กิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับตัวผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม ดังภาพที่ 3


ภาพที่ 3 ตัวอย่างกิจกรรมและบทบาทของครูผู้สอนในแต่ละลีลาการเรียนรู้จาก Kolb


         1. ตัวอย่างกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แบบคิดอเนกนัย (Divergers) ได้แก่ การถ่ายทอดเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ การอภิปรายเป็นกลุ่ม การทดสอบแบบอัตนัย การออกภาคสนาม เป็นต้น โดยที่บทบาทของครูผู้สอนคือ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

         2. ตัวอย่างกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แบบดูดซึม (Assimilators) ได้แก่ การบรรยาย การอ่านหนังสือเรียน การสาธิตโดยครู การทำวิจัยอย่างอิสระ การทดสอบแบบปรนัย เป็นต้น โดยที่บทบาทของครูผู้สอนคือ ผู้เชี่ยวชาญ

         3. ตัวอย่างกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แบบคิดเอกนัย (Convergers) ได้แก่ การให้การบ้านที่เป็นโจทย์ปัญหา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จําลองสถานการณ์ การออกภาคสนาม การสาธิตโดยผู้เรียน เป็นต้น โดยที่บทบาทของครูผู้สอนคือ ผู้ชี้แนะ หรือโค้ช

         4. ตัวอย่างกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แบบปรับปรุง (Accommodators) ได้แก่ การให้โจทย์ปัญหาปลายเปิด การให้นักเรียนนำเสนอ การออกแบบโครงการ การทดสอบแบบอัตนัย สถานการณ์จําลอง เป็นต้น โดยที่บทบาทของครูผู้สอนคือ ผู้ประเมิน หรือผู้ช่วยแก้ปัญหา

 

แหล่งข้อมูล

Deryakulu, D., & Özçınar, Ş.B. (2009). Predictors of Academic Achievement of Student ICT Teachers with Different Learning Styles. Journal of information and communication convergence engineering, 3, 1951-1957.

Kolb, A. Y., & Kolb, D. A. (2012). Experiential Learning Theory. Encyclopedia of the Sciences of Learning, 978(1), 1215-1219.

Kolb, A. Y., & Kolb, D. A. (2018). Eight important things to know about the experiential learning cycle. Australian educational leader, 40(3), 8-14.

Kolb, D.A. (1984). Experiential learning: Experience as the source of learning and development. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

Kolb, D.A., Rubin, I. M. & Osliand, J. (1991). Organizationbehavior reader. Englewood Cliffs, NJ: Practice-Hall

Smith, D. M., & Kolb, D. A. (1996). User's guide for the learning-style inventory: A manual for teachers and trainers. Hay/McBer Resources Training Group.

เสาวภา วิชาดี. (2554). รูปแบบการเรียนของผู้เรียนในมุมมองของทฤษฎีการเรียนรู้แบบประสบการณ์. วารสารนักบริหาร, 31 (1), 175-180. 


หมายเหตุ

         ติดตามบทความเกี่ยวกับวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle: ELC) ได้ที่ >> https://inskru.com/idea/-MdFxKufHRJm-KkhbL1u

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(12)
เก็บไว้อ่าน
(3)