icon
giftClose
profile

ตั้งคำถามให้ถูกคำถามและถูกจังหวะแบบครูวิทย์

79351
ภาพประกอบไอเดีย ตั้งคำถามให้ถูกคำถามและถูกจังหวะแบบครูวิทย์

การตั้งคำถามที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้หรือคำถามที่สร้างสรรค์ (Productive question) สำหรับครูวิทยาศาสตร์

การใช้คำถามตามประเภทคำถามที่มีประสิทธิผล (Productive question)


         ในคาบเรียนของครูวิทยาศาสตร์มักให้ความสำคัญกับคำถาม เพราะคำถามเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้คำถามยังอาจเป็นตัวจุดประกายความสนใจของนักเรียนในการเรียนวิทยาศาสตร์ รวมถึงคำถามที่นำไปสู่การสำรวจตรวจสอบและการทดลอง ตลอดจนคำถามที่เป็นนั่งร้าน (scaffolding) เพื่อช่วยให้นักเรียนปีนป่ายจนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง จะเห็นว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคำถามที่ดีควรเป็นคำถามที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้หรือคำถามที่สร้างสรรค์ ซึ่ง Elstgeest ได้นำเสนอ คำถามที่มีประสิทธิผล (Productive question) ในบทความ The right question at the right time

         คำถามที่มีประสิทธิผล (Productive question) เป็นคำถามที่กระตุ้นความสนใจของนักเรียนให้มีส่วนร่วมในการคิด ชวนให้นักเรียนเข้าไปดู ทำการทดลองใหม่ หรือทำแบบฝึกหัด ซึ่งเป็นคำถามที่กระตุ้นกิจกรรมทางร่างกายหรือจิตใจอย่างมีประสิทธิผล และการให้เหตุผลของนักเรียน และนำพานักเรียนให้มีความก้าวหน้าในการคิด ซึ่งคำถามที่มีประสิทธิผล (Productive question) จำแนกออกเป็นคำถามประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คำถามที่เน้นความสนใจ คำถามเกี่ยวกับการวัดและการนับ คำถามเปรียบเทียบ คำถามที่นำไปสู่การปฏิบัติ คำถามที่ตั้งปัญหา โดยคำถามในแต่ละประเภทของคำถามที่มีประสิทธิผล มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

คำถามที่เน้นความสนใจ (attention focusing questions) เป็นคำถามที่ช่วยนักเรียนให้สนใจในรายละเอียดที่สำคัญบางอย่างที่อาจถูกมองข้ามได้ง่าย

ตัวอย่างคำถามที่เน้นความสนใจเช่น

  • ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นอะไรบ้าง
  • นักเรียนสังเกตเห็นอะไรบ้างจากวัสดุ
  • นักเรียนได้ยินเสียงอะไรเมื่อเขย่ากล่องที่ครูเตรียมไว้
  • นักเรียนจะอธิบายความรู้สึกที่ได้จากการสัมผัสวัสดุนี้อย่างไรบ้าง


คำถามเกี่ยวกับการวัดและการนับ (measuring and comparing questions) เป็นคำถามที่ให้นักเรียนได้ใช้ทักษะใหม่และเรียนรู้การใช้เครื่องมือวัดใหม่ และพยายามสังเกตเพื่อความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับการวัดและการนับเช่น

  • โลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลานานแค่ไหน
  • ระยะทางที่รถเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดสิ้นสุดเป็นระยะทางเท่าไหร่
  • ปรากฏการณ์สนามแม่เหล็กโลกกลับขั้วเหนือเป็นขั้วใต้และขั้วใต้กลายเป็นขั้วเหนือ เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน


คำถามเปรียบเทียบ (comparison questions) เป็นคำถามชี้ให้นักเรียนสังเกตความเหมือนและความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ เช่น รูปร่าง ขนาด สี เป็นต้น และตระหนักว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีคุณค่า

ตัวอย่างคำถามเปรียบเทียบเช่น

  • หินอัคนีพุและหินอัคนีบาดาลเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
  • เปลือกหอยเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่แตกต่างกัน
  • การทำงานของระบบประสาทกับระบบต่อไร้ท่อเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร


คำถามที่นำไปสู่การปฏิบัติ (action questions) เป็นคำถามที่ช่วยให้นักเรียนสำรวจและค้นพบความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างสิ่งที่นักเรียนลงมือกระทำกับปฏิกิริยาของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ และช่วยให้นักเรียนสำรวจสมบัติของวัสดุที่ไม่คุ้นเคย เกี่ยวกับแรงที่ใช้ในการทำงาน และเกี่ยวกับเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างคำถามที่นำไปสู่การปฏิบัติเช่น

  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณวางแมลงช้างไว้ในทรายที่เปียกแฉะ 
  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณเด็ดใบเลี้ยงออกจากต้นอ่อนที่กำลังเติบโต 
  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณโยนกระดาษชิ้นเล็กๆ ลงบนใยแมงมุม
  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าใส่ยีสต์ลงในสารละลายน้ำตาลที่อุณหภูมิแตกต่างกัน


คำถามที่ตั้งปัญหา (problem posing questions) เป็นคำถามที่สร้างความสามารถของนักเรียนในการทำนาย การแก้ปัญหา และการสร้างสมมติฐานง่าย ๆ ที่นำไปสู่การตรวจสอบ ก่อนที่จะเริ่มคำถามประเภทนี้จะต้องให้นักเรียนสำรวจและค้นหาเกี่ยวกับวัสดุ หรือสิ่งต่าง ๆ จนเป็นที่น่าพอใจ

ตัวอย่างคำถามที่ตั้งปัญหาเช่น

  • นักเรียนสามารถหาวิธีทำให้วัตถุที่จมน้ำ ลอยตัวในน้ำได้หรือไม่ อย่างไร
  • นักเรียนสามารถแยกเกลือออกจากดินได้หรือไม่ อย่างไร
  • นักเรียนสามารถทำน้ำจืดจากน้ำทะเลได้หรือไม่อย่างไร


         ทั้งนี้แนวทางสำหรับการใช้คำถามที่มีประสิทธิผลสำหรับครูวิทยาศาสตร์มีดังนี้


แนวทางสำหรับการใช้คำถามที่มีประสิทธิผล (Productive question)

1. ศึกษาผลการใช้คำถามประเภทต่าง ๆ ที่มีต่อนักเรียน เพื่อจะได้แยกแยะสิ่งที่มีประสิทธิผล ออกจาก สิ่งที่มีไม่มีประสิทธิผล

2. ใช้รูปแบบคำถามที่มีประสิทธิผลที่ง่ายที่สุดนั่นคือ คำถามที่เน้นความสนใจ ในระหว่างการเริ่มสำรวจและค้นหาเพื่อช่วยให้นักเรียนจดรายละเอียดที่อาจถูกมองข้าม

3. ใช้คำถามเกี่ยวกับการวัดและการนับ เพื่อผลักดันให้นักเรียนสังเกตข้อมูล จากข้อมูลเชิงคุณภาพเท่านั้นนำไปสู่การสังเกตเพื่อเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วย

4. ใช้คำถามเปรียบเทียบ เพื่อช่วยนักเรียนจัดลำดับการสังเกตและข้อมูลที่ได้จากการสังเกต

5. ใช้คำถามที่นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการทดลองและการสำรวจตรวจสอบเพื่อหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

6. ใช้คำถามที่ตั้งปัญหา หลังจากนักเรียนสำรวจและค้นหาในการปฏิบัติการทดลองจนเป็นที่น่าพอใจแล้วควรเริ่มให้นักเรียนสามารถตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และแก้ไขสถานการณ์ปัญหาเพื่อเป็นการขยายความรู้

7. เลือกประเภทของคำถามให้เหมาะสมกับประสบการณ์ของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับการสืบเสาะหาความรู้ตามสาขาวิชาเฉพาะนั้น ๆ


         สิ่งที่สำคัญคือ ครูควรเลือกใช้คำถามที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้หรือคำถามที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการคิดของนักเรียน และเลือกใช้ประเภทของคำถามให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์

(*แนะนำบทความเกี่ยวกับ Productive questions อีกประเภทคือ คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของครู (Teachers' how and why questions) และคำถาม อย่างไร และ ทำไม ของนักเรียน (Children's how and why questions) : inskru.com/idea/-MgQaUvxpw-5lZWR24Zh)


แหล่งข้อมูล

Elsteeg, J. (1985). The right question at the right time. In Wynne Harlen. Primary Science: Taking the Plunge. Oxford, England: Heinemann Educational, 36-46.

Siew, N. M., & Abdullah, S. (2013). The impact of elstgeest and alfke’s questioning model with manipulatives on physics student teachers’ ability to generate productive questions. Problems of Education in the 21st Century, 54, 99.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2555). ครูวิทยาศาสตร์มืออาชีพ แนวทางสู่การเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล. อินเตอร์เอ็ดดูเคชั่น ซัพพลายส์.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(6)