คำถาม "ทำไม" และ "อย่างไร" ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์
คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของครู (Teachers' how and why questions) และคำถาม อย่างไร และ ทำไม ของนักเรียน (Children's how and why questions) ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้หรือคำถามที่สร้างสรรค์ (Productive question) ตามที่ Elstgeest ได้เสนอไว้ในบทความ The right question at the right time (สนใจอ่านบทความคำถาม Productive question ได้ที่ >> inskru.com/idea/-MfSQARqMb7CvfJoZf09) ซึ่งคำถาม "ทำไม" และ "อย่างไร" มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของครู (Teachers' how and why questions)
คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของครู เป็นคำถามเพื่อแสวงหาเหตุผล (Reasoning Questions) มักถามหาเหตุผลมาเพื่อใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ คำถามประเภทนี้มักประกอบด้วยคำว่า “อย่างไร” และ “ทำไม” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนอภิปราย แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระด้วยการให้เหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักเรียน ให้นักเรียนสะท้อนคิดจากสิ่งที่ค้นพบหรือสิ่งที่เรียนรู้ นักเรียนจะค้นหาและลงข้อสรุปอย่างระมัดระวัง อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ นักเรียนจะอภิปรายและแสดงความคิดเห็นว่า คิดอะไร คิดอย่างไร เกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบ การแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันจะทำให้นักเรียนยอมรับความสัมพันธ์ของข้อมูล หรือยอมรับข้อโต้แย้งและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดได้เมื่อมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เช่น นักเรียนสังเกตว่าลูกน้ำของยุงในขวดโหลจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เมื่อมีคนไปรบกวนโดยการเคาะข้างขวดโหลหรือโดยการเขย่าหรือกวนน้ำเพื่อให้ผิวน้ำกระเพื่อมแล้วพบว่าลูกน้ำจะดิ้นไปดิ้นมาอยู่ด้านล่างของขวดโหล นักเรียนจะได้เห็นลูกน้ำขึ้นมาที่ผิวน้ำครั้งแล้วครั้งเล่า และสังเกตว่าเมื่อลูกน้ำมาเกาะอยู่นิ่ง ๆ ที่ผิวน้ำ จะใช้ส่วนหางอยู่เหนือผิวน้ำเล็กน้อย นักเรียนอาจจับเวลาว่าลูกน้ำจะอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานแค่ไหน เมื่อไรก็ตามที่ลูกน้ำโผล่ขึ้นมา นักเรียนสามารถกีดกันไม่ให้ลูกน้ำทำเช่นนั้นโดยการเขย่าขวดโหล หรือถ้านักเรียนคลุมผิวน้ำด้วยเศษกระดาษหรือแผ่นเซลโลเฟนแล้วลูกน้ำจะทำอย่างไร นักเรียนจะต้องตระหนักถึงความพยายามของลูกน้ำที่จะไปถึงที่พื้นผิว หลังจากนักเรียนผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมนั้น นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการอภิปรายอย่างสมเหตุสมผลเมื่อถูกถามว่า “ทำไมลูกน้ำขึ้นมาที่ผิวน้ำ” คำว่า “ทำไม” ในที่นี้สื่อความหมายว่า “เพื่ออะไร” นักเรียนจะสามารถแสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจ เพราะนักเรียนมีเรื่องให้คิดและพูดถึงซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่นักเรียนได้จากการสังเกตแล้วตอบว่า ลูกน้ำขึ้นมาที่ผิวน้ำเพื่อหายใจ คำตอบนี้อาจไม่เป็นที่ประจักษ์ มีสัตว์น้ำหลายชนิดไม่เคยขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำและหางก็ไม่มีความสัมพันธ์กับการหายใจ แต่ทว่าการมีส่วนร่วมของครูอาจจะชี้ไปในทิศทางของความจำเป็นสำหรับการหายใจได้โดยที่ไม่ได้เป็นการทำตามความเชื่อถือของนักเรียนอย่างปราศจากการให้เหตุผลอย่างระมัดระวัง
คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของนักเรียน (Children's how and why questions)
คำถาม อย่างไร และ ทำไม ของนักเรียน เป็นคำถามของนักเรียนเมื่อนักเรียนสังเกตสิ่งต่าง ๆ แล้วมักจะเกิดความสงสัยโดยมักจะถามคำถามว่า “ทำไม” และคาดหวังว่าครูจะให้คำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด และคำตอบที่น่าประทับใจ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยนักเรียนให้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญเลย ภายใต้ประสบการณ์ของครูสามารถให้คำตอบได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องพยายามให้นักเรียนตอบคำถามได้ด้วยตนเอง โดยการปรับปรุงคำถามหรือแตกคำถามให้ย่อยเป็นคำถามที่ง่ายขึ้น เช่น การแยกคำถามออกเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า... (what happens if)” และคำถามชวนให้สังเกตว่า “เราไปดูกันว่าเป็นอย่างไร (let us see how)” การสังเกตอาจต้องอาศัยความอดทนของนักเรียน แต่จะต้องจัดให้มีประสบการณ์ที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
มีคำถาม “ทำไม” อีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ อย่างไรก็ตามครูควรเจียมเนื้อเจียมตัวและซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่า “ฉันไม่รู้” เป็นการยอมรับที่ดีเพราะสิ่งนี้จะเป็นบทเรียนที่สมบูรณ์แบบแก่นักเรียนให้ตระหนักว่า วิทยาศาสตร์เป็นการค้นหามากกว่าการตอบคำถาม “ทำไม” และ “อย่างไร” เพราะว่าเมื่อเราได้รับคำตอบที่น่าพอใจ เราก็จะตระหนักถึงปัญหาใหม่ และคำถาม “ทำไม” และ “อย่างไร” ก็จะเกิดขึ้นอีกแสดงว่าเรายังไปไม่ถึงคำตอบสุดท้าย ดังนั้นการค้นหาจึงดำเนินต่อไป คำถาม “ทำไม” จำนวนมากเป็นคำถามที่สื่อความหมายว่า “เพื่ออะไร (what for?)”, “เพื่อวัตถุประสงค์อะไร (to what purpose?)” หรือ “ไปที่ไหน (where to?)” สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและหน้าที่ คำถาม “ทำไม” เป็นการค้นหาความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุผล ความพยายามของครูในการแตกคำถามเหล่านี้ให้เป็นคำถามที่ง่าย และวิธีการที่จะได้คำตอบเป็นการให้เหตุผลของนักเรียน ที่มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพราะว่า” บนหลักฐานที่นักเรียนพบอย่างชัดเจน และประสบการณ์ของนักเรียน ถือว่ามีคุณค่าและสำคัญมากกว่าเหตุผลใด ๆ ที่มาจากการบอกของผู้ใหญ่ และการท่องจำโดยไม่มีข้อผิดพลาดแต่ปราศจากความเข้าใจ แม้แต่ความเข้าใจของผู้ใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมประสบการณ์มากมาย และพวกเราหลายคนก็ต้องยอมรับว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้ในโรงเรียนเพียงไม่กี่ปี ต่อมาเราก็ต้องเรียนรู้ใหม่ด้วยตนเอง
ทั้งนี้คำถาม อย่างไร และ ทำไม อาจถามโดยครูหรือนักเรียน โดยที่คำถาม “ทำไม”ของครูอาจประกอบด้วยคำว่า “ทำไมนักเรียนจึงคิดว่า” และครูควรมีเวลาให้นักเรียนได้มีโอกาสรวบรวมความคิดและประสบการณ์ที่จำเป็นในการตอบคำถาม สำหรับคำถาม “ทำไม”ของนักเรียน ที่มักจะสร้างปัญหาต่อครู เพราะครูอาจตอบคำถามไม่ได้ โดยที่ครูอาจยอมรับตามตรงว่า "ครูไม่รู้" เพื่อให้นักเรียนตระหนักว่า วิทยาศาสตร์เป็นการค้นหามากกว่าการตอบคำถาม และคำถามทุกคำถามก็ไม่ควรตอบทั้งหมดโดยที่ครูสามารถให้คำตอบได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องพยายามให้นักเรียนตอบคำถามได้ด้วยตนเอง โดยการปรับปรุงคำถามหรือแตกคำถามให้ย่อยเป็นคำถามที่ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามมีแนวทางสำหรับการใช้คำถาม อย่างไร และ ทำไม สำหรับครูวิทยาศาสตร์ดังนี้
แนวทางสำหรับการใช้คำถาม อย่างไร และ ทำไม (how and why questions)
1. เมื่อถามคำถามเพื่อกระตุ้นการให้เหตุผลของนักเรียน ควรทำให้แน่ใจว่าคำถามเกี่ยวกับการให้เหตุผลประกอบด้วย “คุณคิดเกี่ยวกับอะไร (what do you think about)” หรือ “ทำไมคุณจึงคิดเช่นนั้น (why do you think)”
2. ไม่ถามคำถามประเภทนี้จนกว่านักเรียนจะมีประสบการณ์ที่จำเป็นมาก่อน เพื่อให้นักเรียนสามารถให้เหตุผลจากหลักฐานได้
3. เมื่อนักเรียนถามคำถาม "ทำไม" ให้พิจารณาว่าตนเองมีประสบการณ์ในการทำความเข้าใจคำตอบหรือไม่ อย่างไร
4. ไม่กลัวที่จะบอกว่าคุณไม่รู้คำตอบ หรือไม่มีใครรู้ (หากเป็นคำถามเชิงปรัชญา)
5. แตกคำถามที่ซับซ้อนเกินไปเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่นักเรียนสามารถค้นหาและทำความเข้าใจได้
6. ใช้คำถามของนักเรียนอย่างจริงจังเพื่อแสดงถึงสิ่งที่นักเรียนสนใจ ถึงแม้ว่าคำถามจะไม่มีคำตอบก็ตาม อย่ากีดกันการถามคำถามของนักเรียน
แหล่งข้อมูล
Elsteeg, J. (1985). The right question at the right time. In Wynne Harlen. Primary Science: Taking the plunge. Oxford, England: Heinemann Educational.
Elsteeg, J. (2001). The right question at the right time. In W. Harlen (Ed.), Primary science: Taking the plunge. Oxford, UK: Heinemann Educational.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2555). ครูวิทยาศาสตร์มืออาชีพ แนวทางสู่การเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล. อินเตอร์เอ็ดดูเคชั่น ซัพพลายส์.
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!