icon
giftClose
profile

ศาสนาผีในอุษาคเณย์

29184
ภาพประกอบไอเดีย ศาสนาผีในอุษาคเณย์

นับพันปีมาแล้ว "ศาสนาพุทธ" จากประเทศอินเดียที่เข้ามาเผยแพร่ในอุษาคเณย์ ได้รับการลงหลักปักฐานในไทย รวมถึงดินแดนในอุษาคเณย์ หากมีคำถาม ถามว่าก่อนหน้านั้น ชาวดินแดนอุษาคเณย์ดั้งเดิมนั้น มีความเชื่อ ความศรัทธาอะไร นับถือสิ่งใด ? นั่นถือคำถาม

ราว 2,500-3,000 ปีก่อน ในดินแดนอุษาคเณย์

ยุคก่อนรับศาสนาพราหมณ์และพุทธเข้ามาเผยแพร่


ในยุคที่เรียกกันว่า ก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคที่พื้นที่เขตแดนยังไม่เกิด ความเป็นรัฐชาติยังไม่มี แผนที่ประเทศยังไม่ปรากฎ ผู้คนในดินแดนแถบนี้ ต่างเดินทางไปมาหาสู่ ค้าขาย กันอย่างอิสระ ปลูกข้าว ทำไร่ไถนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีความเชื่อและความกลัวในอำนาจที่เหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว ต่างเกิดจากอำนาจที่สูงส่ง เพื่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น ผลผลิตทางการเกษตรเก็บเกี่ยวได้ผลงดงาม จึงต้องบูชาและกราบไหว้


  • รูปแบบลัทธิ ความเชื่อ หรืออาจจะเป็นศาสนาที่เกิดขึ้น ที่เรียกขานกันว่า ศาสนาผี ที่บูชาวิญญาณที่สิงสถิตตามธรรมชาติ วิญญาณผีบรรพชนปู่ย่าตายายที่สิ้นไปแล้ว หรือวิญญาณสิงสถิตตามวัตถุ
  • สัญลักษณ์สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ก็มีเช่นกัน เช่น สุนัข งู คางคก กบ ในยุคโบราณที่เชื่อว่าจะนำฟ้าฝน ให้ตกต้องตามฤดูกาลและให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์


ไล่เรื่อยมาตั้งแต่วัฒนธรรมลุ่มน้ำอิรวดี วัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูลจนถึงลุ่มน้ำโขง ต่างเป็นการรวมตัวของ "ชนเผ่า" ที่สร้างสังคมและชุมชนเล็กๆ ที่ยังไม่ขยายตัวเป็นอาณาจักรหรือนครรัฐ ที่ดำรงชีวิตภายใต้อำนาจที่เหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมที่สืบทอดมาจนเป็นวัฒนธรรมแห่งความเชื่อ


หากจะกล่าวง่ายๆ คือ ศาสนาผีนั้นชุมชนชาวอุษาคเณย์ได้นับถือมาเนิ่นนานแล้วจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ซึมลึกในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายหรือแม้แต่หลังความตาย

ผี คือ สถานะคู่ตรงข้ามกับมนุษย์ ตรงข้ามกับสถานะการมีอยู่ของชีวิต คือสิ่งที่มีอยู่ในโลกหลังความตาย


ศาสนาผี ต่างจากศาสนาอื่น ที่มีระบบความเชื่อเรื่อง "ขวัญ" ขวัญแตกต่างจากวิญญาณที่ออกจากร่างแล้วกลายเป็นผี ส่วนขวัญนั้นต่างออกไป ขวัญไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน แต่อยู่ประจำตัวตนมาตั้งแต่เกิด ขวัญที่สำคัญที่สุดอยู่กลางกระหม่อม หรือที่เรียกว่า "จอมขวัญ" คนโบราณเชื่อว่า คนตายเพราะขวัญหาย จึงทำพิธีเรียกขวัญ เดี๋ยวขวัญก็กลับมาคืนร่างเจ้าของ จึงนำศพไปฝังดินไว้ หากไม่กลับมาคืนร่างจริงๆแล้ว จึงทำพิธีส่งขวัญให้ไปอยู่กับแถนบนฟ้า แล้วจึงนำศพที่เปื่อยเหลือแต่กระดูกนั้นไปล้างน้ำ ทำความสะอาด นำมาบรรจุลงภาชนะดินเผา แล้วนำมาทำพิธีฝังอีกครั้ง เรียกว่าประเพณีฝังศพครั้งที่สอง (Secondary Burial )


รูปภาพตรงกลางของกลองมโหระทึกที่ทำจากสำริดที่มีอายุราวพันปี สอดคล้องกับพิธีเรียกขวัญ สันนิษฐานได้ว่า นั้นคือรูปร่างของ "ขวัญ"

คำว่า "ผี" เป็นภาษาตระกูลไท-ไต มีความหมายเดียวกัน กับคำว่า "เทวดา" หรือ "เดวะ" ในภาษาสันสกฤต
ผี แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ ผีดี และ ผีที่ไม่ดี

1.ผีดีหรือผีที่นับถือ

คนหรือมนุษย์ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้กระทำคุณงามความดีและเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน เช่น ผีบรรพชน ผีปู่ตา ผีปู่ย่า ผีเสื้อเมือง ผีเจ้านาย เป็นต้น

ผีประเภทนี้ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. ผีธรรมชาติ เช่น ผีเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขาและผีที่อยู่สูงสุดที่เรียกว่า ผีฟ้า ผีแถน รวมทั้ง ผีเสื้อบ้าน ผีปู่ตา ผีบ้านผีเรือน ผีตามไร่นา การบูชาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่น งู
  2. ผีบรรพชน คือเดิมเป็นคนในครอบครัวหรือเชื้อสายทางญาติ พอตายไปจึงได้รับการเคารพสักการะกราบไหว้บูชาเสมือนสมาชิกในครอบครัวที่ยังสถิตตามบ้านเรือน เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเชื้อ เป็นต้น ส่วนผีวีรชนหรือผีวีรบุรุษ คือเมื่อตอนมีชีวิตอยู่เป็นคนที่ได้รับการนับถือเคารพยกย่อง มีบารมีเก่งกล้าสามารถ หรือเป็นนักรบ


2.ผีที่ไม่ดีหรือผีที่ไม่นับถือ

คนที่ตายไม่ดี ตอนที่มีชีวิตอยุ่ทำผิดผีหรือของเข้าตนเอง เมื่อตายไปกลายเป็นผีไม่ดี เช่น ผีปอบ ผีห่า ผีกะ(ผีทางภาคเหนือ) เกิดจากผิดของต้องห้ามทางสังคม ผีตายโหง เป็นต้น เป็นผีที่ให้โทษในทางร้ายต่อมนุษย์ อาศัยอยู่ทั่วไป ไม่มีที่สถิตเป็นหลักแหล่งชัดเจน จึงต้องทำการป้องกันภัยอันตรายนั้น เช่น ผูกด้ายสายสิญ ฝังหลักบือ(สะดือ)บ้าน ฝังหลักกลางบ้าน ปักเฉลวไว้ตามบ้าน


พิธีกรรมในการบูชาผี

ขอยกตัวอย่างหลักๆ เพียง 5 พิธีกรรมหลัก หากแต่ในสังคมพื้นที่ต่างๆก็อาจมีพิธีที่แยกย่อยหรือแตกต่างออกไป

  1. พิธีเลี้ยงผี เป็นพิธีกรรมที่กำหนดการทำแน่นอน ชัดเจนตามฤดูกาลเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ เช่น เลี้ยงผีปู่ตา เลี้ยงผีตาแฮก(ผีอารักษ์ประจำไร่นา) เลี้ยงผีบ้านผีเรือน
  2. พิธีเข้าทรง คือการอัญเชิญผีบรรพชน ผีวรชนมาทรงประทับร่างของคนทรง (หมอผี หมอธรรม)แล้วทำนายทายทักเรื่องต่างๆ
  3. พิธีศพในความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย เมื่อมีคนตายจึงนำร่างไปฝัง โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำชุมชนหรือหัวหน้าเผ่า เมื่อจะฝังให้นำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของผู้ตายฝังลงไปด้วย เช่น เครื่องปั้นภาชนะดินเผา ลูกปัด เครื่องประดับมากมาย บริเวณที่ฝังนั้นมักจะเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน หรือใจกลางชุมชน อันเเสดงถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหัวหน้าชนเผ่า
  4. พิธีกรรมการรักษาโรค กล่าวคือในยุคโบราณนั้น อาการป่วยอาจเกิดจากการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ส่วนพิธีกรรมในการรักษา อย่างเช่น การเข้าทรงเพื่อติดต่อสื่อสารกับผีเพื่อขอให้ยกโทษให้ โดยการให้ของเซ่นไหว้เป็นการตอบแทน พิธีกรรมที่เด่นชัดเกี่ยวกับการรักษาโรค ได้แก่ การรำปอบผีฟ้าที่ปรากฎในบางพื้นที่ของภาคอีสาน
  5. พิธีสู่ขวัญ สังคมดั้งเดิมเชื่อเรื่อง "ขวัญ" ที่เกี่ยวกับความเป็น ความตาย ทั้งดีและไม่ดี ส่วนใหญ่พิธีกรรมนี้จะกระทำเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตเพื่อเรียกขวัญและบำรุงขวัญ เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งพิธีนี้เป็นพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันหลายโอกาสไม่ว่าจะเป็นการเกิด การแต่งงาน การบวช
พิธีบายศรีสู่ขวัญ บ้างก็ว่าเป็นพิธีของพุทธก็มี เป็นพิธีของพราหมณ์ก็มี ถึงอย่างไรพิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของศาสนาผีมาแต่โบราณนับพันปี

เพศหญิงเป็นใหญ่ในศาสนาผี

  • ในยุคโบราณ เพศหญิงเป็นผู้ควบคุมพิธีกรรมของศาสนาผี เป็นหัวหน้าชนเผ่า เป็นผู้นำชุมชนหรือหมู่บ้าน จะเห็นได้จากคำในภาษาไทยที่กล่าวยกย่องเพศเมียหรือเพศแม่ เช่น คำว่า แม่ทัพ แม่ค้า เเม่น้ำ เเม่คะนิ้ง แม่พิมพ์ เจ้าสาว เป็นต้น
  • หากหญิง-ชายนั้นจะตกลงอยู่กินเป็นผัวเมียกัน ฝ่ายชายจะต้องมาปรนนิบัติรับใช้อยู่เรือนบ้านของฝ่ายหญิง หรือที่เรียกในพิธีว่า "เจ้าบ่าว" หากอยู่รับใช้จนเป็นเวลาเนิ่นนานเป็นที่น่าพอใจของฝ่ายหญิง จึงตกลงปลงใจย้ายครัวไปปลูกเรือนใหม่เป็นผัวเมียกันอย่างถูกธรรมเนียม หากกลับกัน ฝ่ายหญิงไม่พอใจ ก็ขับไล่ฝ่ายชายนั้นไปเสียจากเรือนตนก็ได้
  • เมื่อดินแดนอุษาคเณย์เริ่มรับศาสนาจากภายนอกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ จะถือหลัก "ฝ่ายชาย" เป็นใหญ่ในการกระทำพิธีกรรม ในศาสนาพุทธ ฝ่ายชายจะได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ ส่วนศาสนาพราหมณ์จะมีนักบวชฝ่ายชายที่เรียกว่า พราหมณ์ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


ศาสนาผี ในดินแดนอุษาคเณย์มีประวัติศาสตร์ที่มายาวนานราว 2,500-3,000 ปีก่อน ในปัจจุบันนี้ยังหลงเหลือเค้าเดิมและได้ผสมผสานกับศาสนาใหม่อย่างศาสนาพุทธและพราหมณ์อย่างแยกกันไม่ออก จนมีนักวิชาการรุ่นหลังให้คำนิยามว่าเป็น "ศาสนาไทย"
ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันมาในโรงเรียนได้ตัดทิ้งสิ่่งเหล่านี้ไปอย่างน่าเศร้าใจ และลดระดับให้เป็นความเชื่อกระเเสรองหรือความเชื่อท้องถิ่น พื้นบ้านพื้นเมือง และยกระดับศาสนาพุทธให้เป็นใหญ่แทน
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(10)