inskru
gift-close

ชวนเด็ก ๆ "บริหารจัดการตนเอง" บนโลกที่วุ่นวายกัน!

1
1
ภาพประกอบไอเดีย ชวนเด็ก ๆ "บริหารจัดการตนเอง" บนโลกที่วุ่นวายกัน!

เสริมทักษะการบริหารจัดการตนเอง ผ่านเครื่องมือ “ฉันงง อิหยังวะ?” และ “Pick a card” กับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะ คุณครูทุกคน!

วันนี้นีทอยากจะชวนคุณครูทุกคนมา สุ่มเปิดโหล “พฤติกรรมของเด็ก ๆ” กันอีกครั้งนะคะ (ส่วนใครที่ยังไม่ได้ร่วมเปิดโหลพฤติกรรมในครั้งแรก สามารถเข้าไปที่ลิงก์นี้ได้เลยค่ะ inskru.com/idea/-N7V33dr076BN3DA-Nol)

หากทุกคนพร้อมกันแล้ว มาเราสุ่มเปิดโหลพฤติกรรมที่เราจะใช้พูดคุยกันในวันนี้กันเลยค่ะ

สามมมม สองงงง หนึ่ง!

พฤติกรรมของเด็กในวันนี้คือ!

นักเรียนคนที่ 1

“คุณครูคะ พวกหนูขอเลื่อนส่งงานกลุ่มชิ้นนี้ออกไปก่อนได้ไหมคะ คือพวกหนูทำไม่ทัน การบ้านเยอะมากกกก งานกลุ่มวิชาอื่นก็มีอีก คุณครูเลื่อนให้พวกหนูหน่อยได้ไหมคะ”

นักเรียนคนที่ 2

“เรื่องราวของผมก็ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแค่ผมไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิตดี บางทีผมก็เลยเหมือนไม่ค่อยจริงจังกับชีวิตเท่าไหร่ครับ”

นักเรียนคนที่ 3

“หนูลืมส่งงานบ่อยค่ะ สารภาพตรง ๆ คือลืมทำค่ะ บางทีงานมันเยอะไปหมด หนูก็จำไม่ได้ค่ะว่าต้องทำอะไรบ้าง หนูเป็นพวกขี้ลืมค่ะ หนังสือหรืออุปกรณ์บางอย่างที่ต้องใช้ในห้องเรียนหนูยังลืมเลย”

และนี่คือพฤติกรรมของเด็กๆ ที่เราจะนำมาพูดคุยกันนะคะ โดยนีทอยากจะให้คุณครูมาช่วยนีทคิดค่ะว่า พฤติกรรมทั้ง 3 อย่างนี้ มีจุดร่วมอะไรที่คล้ายกันบ้างไหมน้าาาา~

เช่น เป็นพฤติกรรมที่ทำให้คุณครูปวดหัว? เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการที่เด็กขาดความรับผิดชอบ? หรือเป็นปัญหาที่พบเจอทุกปี?

เฉลยยยย จุดร่วมกันของปัญหาเหล่านี้คือ การที่เด็ก ๆ “ขาดการดูแลและบริหารชีวิตตนเอง” ค่ะ

มีคุณครูท่านไหนตอบถูกบ้างคะ? ปรบมือให้เลย 12 123 12 12 1! ปรบมือแบบมีจังหวะ (ขออนุญาตปล่อยมุกพาคุณครูแก้เครียดสักเล็กน้อยนะคะ ฮา) ซึ่งเป็นเพราะอะไรนั้น เรามาวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็ก ๆ แต่ละคนกันค่ะ


พฤติกรรมเหล่านี้ หากปล่อยไว้ อาจะส่งผลในระยะยาวได้!

เรามาลองวิเคราะห์กันว่า หากคุณครูปล่อยปะละเลยพฤติกรรมเหล่านี้ของเด็ก ๆ โดยไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ จะส่งผลต่อนักเรียนในระยะยาวอย่างไรบ้าง

นักเรียนคนที่ 1 ทำงานกลุ่มไม่สำเร็จในเวลาที่กำหนด

นักเรียนกลุ่มนี้ไม่สามารถบริหารจัดการเวลา แบ่งงานกันเพื่อทำงานให้สำเร็จได้ จึงต้องขอเลื่อนส่ง ซึ่งหากเราปล่อยไว้แบบนี้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ คงไม่เข้าใจความสำคัญของคำว่า “deadline” หรือการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (เวลา, จำนวนคน) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นักเรียนคนที่ 2 ไม่มีเป้าหมายในชีวิต

เมื่อไม่มีเป้าหมายในชีวิตนักเรียน จึงอาจจะยังไม่ค่อยได้ดูแลความรู้สึก ความมุ่งมั่น และไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเราปล่อยไว้แบบนี้ เด็กคนนี้อาจจะหลงทางในชีวิต หาเป้าหมายไม่เจอ และอาจจะพลาดโอกาสในการลิ้มลองความสนุกของชีวิตที่เขาเรียกกันว่า “ลุยให้เต็มที่”

นักเรียนคนที่ 3 ลืมส่งงานที่ได้รับมอบหมาย

นักเรียนอาจจะขาดความรับผิดชอบ ไม่ได้ดูตารางสอนว่าต้องเตรียมอะไรมาบ้าง ซึ่งหากเราปล่อยไว้แบบนี้ เด็กคนนี้ก็จะขาดความรับผิดชอบ และไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้คน เพราะไม่กล้าฝากฝังให้ทำอะไร ซึ่งก็จะทำให้เด็กคนนั้นเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิต


แล้วเราจะช่วยนักเรียนของเราได้อย่างไรดี?

นีทมีคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่น่าจะตรงกับเรื่องนี้มากที่สุด นั่นคือ “Self-management” หรือการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถที่สำคัญของทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills)

โดยในงานวิจัยของ Valdivia, Primi, John, Santos, และ De Fruyt (2021) ได้ทำการศึกษาเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคม แล้วพวกเขาได้กล่าวไว้ว่า “การบริหารจัดการตนเอง (Self-management)” ที่พวกเขามองนั้น มีด้วยกันอยู่ทั้งหมด 5 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. การกำหนดเป้าหมาย (Determination) กำหนดว่าเราอยากจะทำอะไร ลองตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจในการอยากทำสิ่งต่าง ๆ ให้เต็มที่
  2. การวางแผน (Organization) มีความสามารถที่เราจะวางแผน จัดการเรื่องราวต่าง ๆ หรือปรับแผนงานตามความเหมาะสม เพื่อให้เราทำงานได้ตามที่ตั้งใจ
  3. ตั้งใจ (Focus) มีสมาธิ จดจ่อในงานของตนเอง และหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่จะมารบกวนเราได้
  4. อดทน (Persistence) การอดทน พยายาม และไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก
  5. รับผิดชอบ (Responsibility) เป็นเรื่องของการบริหารเวลา ตรงต่อเวลา และทำงานเสร็จทันเวลาตามที่ได้ตกลงไว้

หลังจากที่คุณครูรู้จัก 5 ข้อนี้แล้ว คุณครูคิดเหมือนนีทไหมคะว่า ทั้ง 5 ข้อนี้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของนักเรียน 3 คนที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ได้ (คุณครูเคยพบนักเรียน 3 คนนี้ในห้องเรียนบ้างหรือเปล่าน้าาาา) โดยในแต่ละเรื่องราวของเด็ก ๆ บางคนอาจจะต้องใช้ทั้ง 5 ข้อ หรือบางคนอาจจะใช้ไม่ถึงก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์กันไป

โดยนีทมีเครื่องมือที่ชื่อว่า “ฉันงง อิหยังวะ?” ที่จะมาช่วยคุณครูและนักเรียนตรวจสอบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะขาดการบริหารจัดการตนเองข้อไหนบ้าง

เครื่องมือที่ 1 : “ฉันงง อิหยังวะ?”

เครื่องมือนี้เป็นแผนภาพ ที่ให้เด็ก ๆ ได้ลองคุยกับตนเอง ว่าในเรื่องที่พวกเขางง สับสน หรือยังไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้นั้น มันมาจากเรื่องอะไร ซึ่งในแผนภาพนี้ก็จะให้เด็ก ๆ เอามือลากไปตามจุดเรื่องราวของตนเอง และตอบคำถามในแต่ละช่องที่พวกเขาลากไป โดยจะเชื่อมด้วยคำว่า "เพราะ?" กับ "ดังนั้น!" พร้อมทั้งต้องใช้พลังความพยายามและกำหนดส่งของงานนั้น ๆ ด้วย เช่น

นักเรียนคนที่ 1 ทำงานกลุ่มไม่สำเร็จในเวลาที่กำหนด

พวกเขาอยู่ในจุดที่ฉันงงว่า ฉันจะต้องทำอะไรต่อจากนี้ เพราะการทำงานกลุ่มของพวกเขาไม่สามารถทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนดได้ จากภาพแผน ก็จะเห็นลำดับการค้นหาคำตอบดังนี้

“นักเรียนทำงานกลุ่มไม่เสร็จ" > "ไม่ได้วางแผนการทำงานกับเพื่อนก่อนลงมือทำ" > "ลองวางแผนการทำงานกับเพื่อนเพื่อทำงานให้เสร็จ"

หลังจากนั้นให้พวกเขาลองระบายสี deadline ของงานนั้น ๆ ก็น่าจะช่วยให้พวกเขาเห็นภาพรวมของการทำงานได้ดีขึ้น และระบายสีเพื่อบอกระดับความพยายามที่เขาจะต้องทุ่มเทลงไปในงานนั้น ๆ

นักเรียนคนที่ 2 ไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต

พวกเขาอยู่ในจุดที่งงว่าฉันงงว่า ฉันอยากจะทำอะไร ชีวิตมึนงงมาก ไม่รู้แม้กระทั่ง เรื่องที่อยากทำ หรือต้องทำ จากภาพแผน ก็จะเห็นลำดับการค้นหาคำตอบดังนี้

"นักเรียนไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต" > "ไม่ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำเลย" > " จัดเวลาในแต่ละวันเพื่อใช้สำหรับทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ"

โดยหลังจากที่เขาเลือกเรื่องที่อยากทำ เขาก็จะลองไประบายสีเรื่องของความพยายาม เช่น ฉันอยากลองพยายามต่อโมเดลกันดั้ม ระดับมาก (ระบายสีเป็นแถบยาว) เพื่อลองทุ่มเทแบบจริงๆ จังๆ ดู

นักเรียนคนที่ 3 ลืมส่งงานที่ได้รับมอบหมาย

พวกเขาอยู่ในจุดที่งงว่าฉันงงว่าฉันต้องเตรียมตัวอย่างไรในแต่ละวันบ้าง อาจจะยังไม่เคยวางแผนการทำงานในแต่ละวัน หรือไม่เคยได้คิดใคร่ครวญกับตารางเรียนที่ตนเองต้องเผชิญ จากภาพแผน ก็จะเห็นลำดับการค้นหาคำตอบดังนี้

"นักเรียนมักจะลืมส่งการบ้านเป็นประจำ" > "ไม่เคยลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันสักครั้งเลย" > " หาสมุดจดสักเล่ม มาทำเป็นแพลนนเนอร์"

เครื่องมือนี้น่าจะช่วยทำให้เด็ก ๆ ได้สำรวจตนเองมากขึ้น ว่าเขางงอะไร หรือขาดการบริหารจัดการในเรื่องไหน คุณครูลองนำไปใช้กับเด็ก ๆ ดูนะคะ

เครื่องมือที่ 2: “Pick a card”

นอกจากนี้ นีทยังมาขอเสนอเครื่องมือที่ช่วยฝึกฝนให้เด็ก ๆ มีทักษะในการบริหารจัดการตนเองด้วยนะคะ ซึ่งนีทเรียกเครื่องมือนี้ว่า “Pick a card”

การเตรียมกิจกรรม

  1. การ์ด 5 ใบ โดยเขียนคำต่าง ๆ ในแต่ละใบดังนี้
  • การกำหนดเป้าหมาย (Determination)
  • การวางแผน (Organization)
  • ตั้งใจ (Focus)
  • อดทน (Persistence)
  • รับผิดชอบ (Responsibility)
  1. ให้คุณครูลองสร้างโจทย์สถานการณ์ของเด็ก ๆ ที่สอดคล้องกับเรื่องการบริหารจัดการตนเอง โดยคุณครูอาจจะนำต้นแบบของโจทย์มาจากเรื่องราวของเด็ก ๆ ที่คุณครูเจอมาก็ได้นะคะ (โดยขอให้คุณครูพยายามปรับเรื่องราวให้เด็ก ๆ ไม่สามารถเดาได้นะคะว่า เป็นเรื่องของใคร ไม่เช่นนั้นเด็กที่เขาคิดว่าโจทย์นั้น เป็นเรื่องราวของเขาจะไม่สนุกในเกมนี้)

วิธีการเล่น

  1. ให้แบ่งกลุ่มเด็กๆ เป็นทีม ประมาณ 5-8 ทีม
  2. คุณครูวางการ์ทั้ง 5 ไว้หน้าห้อง แล้วอ่านโจทย์ที่เตรียมมาที่ละโจทย์ เช่น “โจทย์ข้อแรกคือ ฉันเป็นคนที่ทำการบ้านเสร็จช้ามาก เพราะในบางครั้ง พอพอไลน์มือถือดัง ก็จะไปอ่านไลน์ และก็เม้ามอยกับเพื่อนในไลน์นานมาก จนบางทีก็ลืมไปว่าฉันต้องรีบทำการบ้าน”
  3. หลังจากที่คุณครูอ่านโจทย์เสร็จ ให้เด็กๆ ปรึกษากันประมาณ 3-5 นาที ว่า 1 ทักษะในการแก้ปัญหาโจทย์นี้ คืออะไร โดยเลือกคำตอบจากการ์ดทั้ง 5 ที่วางไว้หน้าห้อง
  4. หลังจากที่หมดเวลาการปรึกษากันในแต่ละกลุ่ม อาจจะให้ตัวแทนกลุ่มออกมาวิ่งแข่งหยิบการ์ดคำตอบกัน ซึ่งหากทีมไหน หยิบการ์ดได้คนแรก และให้เหตุผลและบอกวิธีการแก้ไขปัญหาที่คุณครูและเพื่อน ๆ เห็นด้วย ก็จะได้คะแนนไป (ตอนทำกิจกรรมอาจจะต้องใช้พื้นที่นิดนึงนะคะ) ซึ่งจากโจทย์เมื่อกี้คำตอบอาจจะเป็น “ต้องเลือกการ์ด ตั้งใจ (Focus) เพื่อให้เรามีสมาธิในการทำการบ้าน และวิธีที่จะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น คือ ปิดเสียงมือถือไว้ก่อน เราจะได้ไม่มีเสียงแจ้งเตือนมากวนใจ หรือเผลอไปเม้าท์มอยกับเพื่อน จนไม่ได้ทำการบ้าน”
  5. เมื่อจบเกมแล้ว ให้เราหาทีมที่ชนะ ว่าใครตอบได้ถูกเยอะที่สุด ซึ่งเราจะให้รางวัลทีมที่ชนะด้วย อาจจะเป็นคำชื่นชมหรือเสียงปรบมือของเพื่อน ๆ หรือว่าถ้าคุณครูมีขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเอามาจูงใจนักเรียนก็ได้นะ!

นีทคิดว่าทั้ง 2 เกมที่เล่าให้ฟัง เป็นที่เกมน่าสนุกและชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้เรื่องทักษะการบริหารจัดการตนเอง ร่วมกันได้ดีเลยทีเดียว หวังว่าคุณครูจะลองเอาเครื่องมือ กิจกรรมเหล่านี้ไปใช้ และเด็ก ๆ จะสามารถบริหารจัดการตนเองได้ดีขึ้นนะคะ

บทความโดย

คุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น 

อ้างอิง

Pancorbo Valdivia, G., Primi, R., John, O. P., Santos, D., & De Fruyt, F. (2021). Formative assessment of social-emotional skills using rubrics: a review of knowns and unknowns. In Frontiers in Education (Vol. 6), 1-12.

SELSocial Emotional Skillsเกมและกิจกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

1
ได้แรงบันดาลใจ
1
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ