icon
giftClose
profile
frame

เสียงสะท้อนจากคุณครู ผู้ร่วมปฏิบัติการหน่วยกู้ใจ

10320
ภาพประกอบไอเดีย เสียงสะท้อนจากคุณครู ผู้ร่วมปฏิบัติการหน่วยกู้ใจ

บางส่วนจากวงสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคุณครู จากการใช้งานไดอารี่กู้ใจ การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL)

จากปฏิบัติการที่ insKru ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ส่งเสริมให้ห้องเรียนทั่วประเทศไทยมีการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social Emotional Learning: SEL) เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เราได้จัดกิจกรรม ชวนคุณครูกว่า 50 คน มาแลกเปลี่ยนพูดคุย กับคุณบีน ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์ ยังได้เปิดโอกาสให้คุณครูได้ลองใช้ไดอารี่กู้ใจ ตลอด 1 เดือน เพื่อสำรวจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง และตั้งเป้าสร้างการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมให้แก่ทั้งตัวคุณครูเอง และส่งเสริมทักษะนี้แก่นักเรียนด้วย


https://inskrusel.paperform.co


ไดอารี่กู้ใจ

“ไดอารี่กู้ใจ” คือ คู่มือคู่ใจฉบับออนไลน์ ที่ insKru ออกแบบขึ้นมาเป็นการเฉพาะสำหรับให้คุณครูใช้ทบทวนอารมณ์ บันทึกการสร้างการเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนของตนเอง ในแต่ละสัปดาห์ ทีมงานจะคอยตอบกลับ เพื่อสะท้อนมุมมอง ส่งกำลังใจให้คุณครู

ภายในไดอารี่กู้ใจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกคือการทบทวนเนื้อหา หลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social Emotional Skills) เช่น การกำกับอารมณ์ทางลบ การใส่ใจผู้คน การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม การบริหารจัดการตนเอง และการเปิดใจเพื่อเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ และส่วนท่ี 2 คือการให้คุณครูได้เลือกบันทึกความรู้สึกของตนเองผ่านเครื่องมือ Mood Meter ที่มีระดับพลังงานและระดับความพึงพอใจให้เลือกหลากหลายระดับ เพื่อให้สามารถบ่งชี้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน


เสียงสะท้อนจากคุณครูผู้ร่วมปฏิบัติการหน่วยกู้ใจ

“เราสอนในโรงเรียนขยายโอกาส เพิ่งกลับเข้ามาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ไม่นานหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น กว่าจะจูนกับนักเรียนติดก็รู้สึกยากมาก แต่ก่อนเราดุนักเรียนอย่างเดียวเลย ถ้าเด็กไม่ฟังเราก็จะดุ ขึ้นเสียงใส่เคยไล่เด็กออกนอกห้อง แล้วเขาออกไปจริงๆ เราเองก็ไม่โอเค สอนต่อได้ยาก บรรยากาศไม่ดีไปเลยค่ะ พอเริ่มบันทึกไดอารี่กู้ใจ ก็จัดการตัวเองได้มากขึ้น เริ่มปรับความคิดของตัวเองว่าเด็กแต่ละคน เขารับรู้ประสบการณ์เดียวกันแต่จดจำอะไรได้ต่างกัน ใช้เหตุผลมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น” - ครูปอย
“เราเองอาจไม่ค่อยได้บันทึกไดอารี่บ่อยนัก แต่มองเห็นความแตกต่างว่า เมื่อก่อนเราจะค่อนข้างเคร่งกับนักเรียน ตอนนี้เราเข้าใจอารมณ์ตัวเอง การจัดการอารมณ์ตัวเองดีขึ้นมาก ปรับอารมณ์ได้เร็ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเรียนดีขึ้น บางครั้งก็ลองเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองสะท้อนอารมณ์ตัวเองด้วย” - ครูเน็ต
“ก่อนหน้านี้เราพยายามเข้าใจนักเรียน แต่ไม่ได้ลงลึกมาก พยายามแค่จะให้บรรยากาศในชั้นเรียนสมบูรณ์ ทำยังไงเด็กจะสนใจ ทำยังไงเด็กจะให้ความร่วมมือในชั้นเรียน บางครั้งเจอนักเรียนเพิ่งทะเลาะกับแม่มา ด้วยความเป็นเด็กยังไม่สามารถปรับอารมณ์ได้เร็วขนาดนั้น เมื่อได้หลักคิดจากการเข้าร่วม Webinar ทำให้เราใจเย็นลง เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ว่าการสอนเด็ก ๆ เป็นการใช้อารมณ์ร่วมกัน ครูสอนสนุกหรือไม่สนุก ส่วนหนึ่งขึ้นกับอารมณ์ของนักเรียนในชั้นเรียนด้วย ประกอบกับเดือนที่ผ่านมา เราได้เขียนไดอารี่ ทุกสัปดาห์เมื่อเราส่งข้อความไปผ่านไดอารี่กู้ใจ แล้วมีคนคอยตอบกลับมา ทำให้รู้สึกดี รู้สึกได้รับกำลังใจ เหมือนเรามีเพื่อนอีกคนที่เข้าใจงานของเรา พร้อมรับฟังเรา” - ครูกวาง
“ช่วงที่ผ่านมาทำงานเยอะมากจนไม่มีเวลาพัก พอร่างกายไม่โอเคก็ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก สำหรับการบันทึกไดอารี่กู้ใจ ถ้าเรารีบเร่งก็จะไม่มีอารมณ์บันทึก แต่หากเป็นช่วงเวลาที่วางทุกอย่างแล้ว เข้าไปกรอกข้อมูล เหมือนได้ระบายอะไรบางอย่าง มีการสอบถามทำให้ได้ทบทวน เหมือนมีใครกำลังห่วงใยความรู้สึกเราทุกสัปดาห์” - ครูแอปเปิ้ล


จากไดอารี่กู้ใจ สำหรับครู สู่การดัดแปลงสำหรับนักเรียน

ไฟล์ไดอารี่กู้ใจ โดยครูปอย → ใต้โพสเลยจ้า

ครูปอย หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการกู้ใจ ไม่เพียงใช้งานไดอารี่กู้ใจสะท้อนความรู้สึกของตนเองในแต่ละสัปดาห์ แต่ยังได้ลองนำรูปแบบการสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกไปปรับเป็นไดอารี่กู้ใจ ที่พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มสำหรับนักเรียน เพื่อการการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในทุกวัน โดยให้นักเรียนเลือกระบายสี และเขียนบันทึกสั้น ๆ เพื่อสื่อสารถึงอารมณ์ที่รู้สึกของตัวเอง “บางคนเราเข้าไปถามเขาว่า วันนี้อารมณ์เป็นสีฟ้าเพราะอะไร ถามว่าเขาจะจัดการอารมณ์ยังไง เด็กก็เล่าให้ฟังว่าจัดการอารมณ์ตัวเองยังไงบ้าง มีบางกลุ่มที่ยังดื้ออยู่บ้าง ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างรับฟัง พูดคุยกับเราเหมือนกับเป็นเพื่อนกัน”

นอกจากจะทำให้คุณครูได้เข้าใจปัญหาของนักเรียนแต่ละคนแล้ว ครูปอยยังเล่าต่อว่าเป็นการฝึกฝนทักษะการเขียนให้แก่นักเรียนไปในตัวด้วย ใครยังเขียนไม่ได้ ก็ให้กากบาทเลือกแทน

“การให้นักเรียนได้บันทึกอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงในไดอารี่ ทำให้เราเข้าใจว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ มีปัญหากับคนในครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน บางคนถูกเพื่อนรังแก แต่ก่อนเราไม่รู้เลย มีครั้งหนึ่งเราทำงานยุ่งเลยไม่ได้ให้นักเรียนเขียนบันทึก เขาก็ทักว่าอยากเขียน แสดงว่าสิ่งที่ให้เขาทำน่าจะเห็นผลในระดับหนึ่ง และตั้งใจจะทำต่อในภาคเรียนที่ 2 ด้วย”

ไม่เพียงออกแบบหน้าตาของไดอารี่สำหรับนักเรียนให้น่ารัก และใช้งานง่าย แต่ครูปอยยังออกแบบการจัดเก็บไดอารี่ให้มีความมิดชิด มีความเป็นส่วนตัว เมื่อนักเรียนเขียนเสร็จแล้ว แต่ละคนจะนำไปหย่อนใส่กล่องปิดทึบ เมื่อไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนคู่กรณีจะมาแอบอ่าน นักเรียนก็สามารถสะท้อนทุกความคิด ความรู้สึกของตัวเองได้เต็มที่ ครูปอยจะเป็นคนคอยหยิบประเด็นจากสิ่งที่นักเรียนเขียนเล่าความหนักใจ ทุกข์ใจ มาออกแบบเป็นจัดกิจกรรมในโฮมรูมต่อไป


นี่เป็นเพียงคุณครูบางส่วนที่มาร่วมสะท้อนผลการนำแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social Emotional Learning: SEL) ไปใช้ทำความเข้าใจตนเอง และสอดแทรกในกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน คุณครูคนไหนสนใจอยากทดลองใช้ไดอารี่กู้ใจ ลองคลิกเข้าไปที่นี่ได้เลย https://inskrusel.paperform.co (ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป จะไม่มีการตอบกลับข้อความจากทีมงาน แต่คุณครูสามารถเข้าไปใช้งาน สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้) ส่วนใครที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะกู้ใจ อ่านต่อได้ที่ https://inskru.com/idea/-NAbuj_w2l7OfGDCNU9O


มาช่วยกันกอบกู้ใจให้แข็งแรงสดใส พร้อมสำหรับทุกการเรียนรู้ไปด้วยกันน้า

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ไดอารี่กู้ใจ (สำหรับนักเรียน).docx

ดาวน์โหลดแล้ว 31 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)