icon
giftClose
profile

เทคนิคการใช้คำถาม SCAMPER เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม

42073
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิคการใช้คำถาม SCAMPER เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม

เทคนิค SCAMPER 


ในปี 1953 Alex Osborn ได้จำแนกคำถามออกเป็นประเภทต่าง ๆ สำหรับใช้ในการสอนเพื่อระดมความคิดของนักเรียน (Brainstorm) และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และต่อมาในปี 1971 Bob Eberle ได้นำแนวคิดของ Osborn มาพัฒนาต่อยอดเป็นเทคนิคการใช้คำถามที่เรียกว่า สแคมเพอร์ (SCAMPER) ซึ่งเกิดจากการนำพยัญชนะแรกของแต่ละประเภทคำถามมาสร้างเป็นชื่อย่อ โดยที่ SCAMPER ย่อมาจาก S=Substitute ,C=Combine A=Adapt ,M=Modify ,P=Put to Another Use ,E=Eliminate และ R=Reverse


เทคนิค SCAMPER ประกอบด้วย การทดแทน (Substitute) การผสมผสาน (Combine) การปรับเปลี่ยน (Adapt) การดัดแปลง/การปรับเพิ่ม (Modify/Magnify) การนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น (Put to Another Use) การตัดออก/การปรับลด (Eliminate/Minify) การย้อนกลับ/การจัดระบบใหม่ (Reverse/Rearrange) โดยคำถามแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 


1. การทดแทน (Substitute) เป็นคำถามที่ให้หาสิ่งใหม่มาทดแทนหรือแทนที่สิ่งที่มีอยู่แล้ว ในทำนองเดียวกันเป็นคำถามที่ให้หากระบวนการใหม่มาแทนที่กระบวนการเดิม 

ตัวอย่างเช่น 

  • นักเรียนสามารถหาอะไรมาแทนที่ชิ้นส่วนนี้ได้ไหม 
  • นักเรียนสามารถเลือกใช้แหล่งพลังงานใดบ้างมาทดแทนแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ 
  • นักเรียนสามารถหาส่วนผสมมาทดแทนได้หรือไม่ อย่างไร 
  • นักเรียนสามารถหาสารเร่งปฏิกิริยาใหม่ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีเร็วขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร 

 

2. การผสมผสาน (Combine) เป็นการนำสิ่งต่าง ๆ มาผสมผสานกันจนเกิดสิ่งใหม่ 

ตัวอย่างเช่น 

  • นักเรียนสามารถนำวัสดุใดมารวมกันเพื่อทำให้เกิดชิ้นส่วนใหม่ของสิ่งประดิษฐ์ 
  • นักเรียนสามารถผสมผสานแหล่งพลังงานใดบ้าง เพื่อใช้ในการรถยนต์ 
  • นักเรียนสามารถผสมผสานสิ่งของให้เกิดความหลากหลายได้ไหม 
  • ลักษณะเด่นใดบ้างของสินค้าเมื่อรวมกันแล้วทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 

 

3. การปรับเปลี่ยน (Adapt) เป็นการเอาแนวคิดหรือสิ่งใหม่ ๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งเดิม 

ตัวอย่างเช่น 

  • นักเรียนสามารถเปลี่ยนกลไกลของสิ่งประดิษฐ์ได้หรือไม่ อย่างไร 
  • หากปรับเปลี่ยนวัสดุใดแล้วจะส่งผลให้การกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
  • กระบวนการใดบ้างคล้ายคลึงกับการทอผ้าด้วยกี่ทอผ้า 
  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้า 

 

4. การดัดแปลง/การปรับเพิ่ม (Modify/Magnify) เป็นการตั้งคำถามเพื่อดัดแปลงแนวคิด หรือขยายแนวคิดที่มีอยู่ 

ตัวอย่างเช่น 

  • นักเรียนสามารถต่อยอดและเพิ่มเติมสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างไร 
  • นักเรียนจะทำสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ให้มีน้ำหนักเบา และพกพาได้ง่ายขึ้น ได้อย่างไรบ้าง 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังตะวันตกในประวัติศาสตร์จีนมีมากกว่าเส้นทางสายไหม 
  • นักเรียนสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการใดบ้าง 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการเพิ่มขนาดของสิ่งประดิษฐ์ 

 

5. การนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น (Put to Another Use) เป็นคำถามที่นำความรู้ หรือกระบวนการที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งอื่น ๆ ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น 

ตัวอย่างเช่น 

  • นักเรียนสามารถนำเอาสิ่งประดิษฐ์นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ไหม 
  • นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือตัดหญ้าในการกรีดยางพาราได้หรือไม่ อย่างไร 
  • นักเรียนสามารถใช้กระบวนการผลิดเส้นสปาเก็ตตี้ไปผลิตวัตถุดิบอื่นได้อย่างไร 

 

6. การตัดออก/การปรับลด (Eliminate/Minify) เป็นการลดขนาด การกำจัด หรือตัดบางสิ่งบางอย่างออกเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ 

ตัวอย่างเช่น

  • ชิ้นส่วนใดบ้างของสิ่งประดิษฐ์ที่เราสามารถลด หรือตัดทิ้งไปได้เลย 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการลดขนาดของสิ่งประดิษฐ์ 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากพิซซ่าไม่มีแป้งตรงใจกลาง 

 

7. การย้อนกลับ/การจัดระบบใหม่ (Reverse/Rearrange) เป็นการนำขั้นตอน กระบวนการ และวิธีการของสิ่งที่มาอยู่มาจัดระบบ สลับที่ หรือทำด้วยวิธีการย้อนกลับ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ 

ตัวอย่างเช่น

  • นักเรียนสามารถสลับขั้นตอนการทำงานได้หรือไม่ อย่างไร 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากนักเรียนทำสิ่งที่ตรงข้ามกัยวัตถุประสงค์เดิม 
  • จะเกิดอะไรขึ้น หากใช้กระบวนการย้อนกลับในการวางแผนทำสิ่งประดิษฐ์ 

 

ทั้งนี้ครูสามารถนำเทคนิคการใช้คำถาม SCAMPER ร่วมกับวิธีการสอนโครงงาน หรือการอภิปราย เพื่อให้เกิดสมรรถนะการคิดขั้นสูง อาทิ การคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบ ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิผล ในงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า เทคนิค SCAMPER ช่วยการกระตุ้นการคิดของนักเรียน และช่วยส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดยืดหยุ่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย และการคิดริเริ่มที่แตกต่างออกไปจากเดิม 

นอกจากนี้ครูยังสามารถนำเทคนิค SCAMPER ไปใช้ในมิติอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้คำถาม ครูหรือนักเรียนสามารถนำเทคนิค SCAMPER ไปเป็นแนวคิดในใช้ออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรม หรือสร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)