icon
giftClose
profile

สารพัดเด็กป่วน ชวนครูแก้ปัญหาแบบ SEL ตอน ไม่ทำตามข้อตกลง

3510
ภาพประกอบไอเดีย สารพัดเด็กป่วน ชวนครูแก้ปัญหาแบบ SEL ตอน ไม่ทำตามข้อตกลง

insKru แบ่งปันวิธีการจัดชั้นเรียนตามแบบฉบับ Social-Emotional Learning ที่จะช่วยคุณครูพิชิตสารพัดเด็กป่วนในห้องเรียน


เด็กป่วนกลุ่มนี้ มักยึดถือคติที่ว่า “กฎมีไว้แหก” ซึ่งมักจะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการไม่ทำตามกฎที่ตกลงกันไว้ เช่น ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือเล่นโทรศัพท์ในห้อง คุณครูอาจจะลองชวนเด็ก ๆ ตั้งกฎร่วมกันทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้นคาบ และเสริมแรงทางบวกด้วยวิธีการต่อไปนี้


ระหว่างเรียน

ถ้าเจอเด็กที่ไม่ทำตามกฎทั่วไป เช่น พูดคุยเสียงดัง ไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย

  • สร้างกติกา และบอกเป้าหมายที่ชัดเจน หรือพฤติกรรมที่อยากเห็น ให้เด็ก ๆ รู้ตั้งแต่ต้นคาบ เช่น "เมื่อวานเหมือนว่าเสียงพวกเราจอแจระดับ 8 ได้ วันนี้พวกเราลองลดให้อยู่ประมาณระดับ 5 กันเถอะนะ"
  • สร้างกิจวัตรประจำชั้นเรียน พร้อมทั้งเปิดเรื่องให้น่าสนใจตั้งแต่ต้นคาบว่า วันนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอะไร เช่น “เดี๋ยววันนี้… เราจะได้มารู้กันว่า ทำไมสินค้ายอดฮิตบางตัว จู่ ๆ ก็หายไปจากตลาด”
  • การให้รางวัล คือการให้กำลังใจเด็ก ๆ เพื่อทำสิ่งดี ๆ ต่อไป คุณครูลองทำกล่องสุ่มรางวัลประจำสัปดาห์ 2 กล่อง โดยที่กล่องแรก สำหรับคนที่พยายามในการเรียน และกล่องที่สอง สำหรับความประพฤติดี ซึ่งในท้ายคาบ ให้เด็ก ๆ เลือกใส่ชื่อตัวเองลงไปในกล่องใดกล่องหนึ่ง จากนั้นทุกสัปดาห์ คุณครูสุ่มหยิบชื่อออกมา กล่องละ 1 ชื่อ เป็น 2 คนที่ได้รางวัลประจำสัปดาห์


ถ้าเจอเด็กเล่นโทรศัพท์/แท็บเล็ตในห้องเรียนแก้เบื่อ

  • สร้างข้อตกลงกับเด็ก ๆ ว่า เมื่ออยู่ในคลาส เด็กๆ สามารถใช้โทรศัพท์ได้เมื่อไหร่ และใช้ทำอะไรได้บ้าง เช่น สามารถใช้ค้นคว้าข้อมูลได้ แต่ต้องวางลงเมื่อคุณครูบอกหมดเวลา
  • ครูบางท่านอาจจะอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ในห้อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมในชั้นเรียน เช่น ควิซบททดสอบบน Kahoot! ที่เป็นเกมให้เด็กแข่งกันส่งคำตอบให้เร็วที่สุด หรือเกมห้องเรียนแตกอย่าง Vonder Go ที่ช่วยสร้างบรรยากาศสนุกสนานในห้องเรียน
  • เปลี่ยนจากการยึดโทรศัพท์ เป็นการตั้งจุดชาร์จโทรศัพท์แทน เลือกจุดที่ห่างไกลจากนักเรียน และก่อนเริ่มคลาส เปลี่ยนจากบทลงโทษ "เก็บมือถือลงไปเดี๋ยวนี้" เป็นคำเชิญชวนว่า "ใครอยากเอาโทรศัพท์มาฝากชาร์จก่อนไหมจ๊ะ?" 




ช่วงพักเบรก

  • ลองพูดคุยเพื่อหาสาเหตุที่เด็ก ๆ ไม่ส่งการบ้าน เช่น ภาระงานมากเกินไป หรือเวลาทำการบ้านน้อยเกินไป หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่คุณครูไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อเพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกัน และคุณครูสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับรูปแบบการให้การบ้านได้
  • ให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบการวัดผลการเรียนรู้ที่เขาชอบ เช่น “อยากเลือกเป็นการบ้าน หรือควิซท้ายคาบดีนะ?”


นอกจากนี้ คุณครูยังสามารถใช้ทักษะกู้ใจ*เพื่อช่วยเหลือเด็กป่วนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งคุณครูจะต้องทำให้เด็ก ๆ

  • จัดการอารมณ์ตนเองได้ (Self-management)
  • รับรู้ความรู้สึกอีกฝ่ายได้ (Social Awareness) 
  • รับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง (Responsible decision-making)

และหากคุณครูมีวิธีการอื่น ๆ ที่เคยใช้ในห้องเรียน ก็สามารถมาแบ่งปันกันได้ที่คอมเมนต์นี้เลย


*ทักษะกู้ใจ (ภายใต้ Social-Emotional Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://inskru.com/idea/-NAbuj_w2l7OfGDCNU9O

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)