icon
giftClose
profile

สารพัดเด็กป่วน ชวนครูแก้ปัญหาแบบ SEL ตอน ทำลายข้าวของ

3970
ภาพประกอบไอเดีย สารพัดเด็กป่วน ชวนครูแก้ปัญหาแบบ SEL ตอน ทำลายข้าวของ

insKru แบ่งปันวิธีการจัดชั้นเรียนตามแบบฉบับ Social-Emotional Learning ที่จะช่วยคุณครูพิชิตสารพัดเด็กป่วนในห้องเรียน


เด็กกลุ่มนี้มักจะพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทำลายสื่อการสอนที่คุณครูเอามาให้ ถีบประตู กระแทกข้าวของ ซึ่งคุณครูต้องวิเคราะห์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และลองใช้วิธีควบคุมชั้นเรียนต่อไปนี้


ระหว่างเรียน

หลักการของการควบคุมชั้นเรียนลักษณะนี้ คือ คุณครูไม่ได้ต้องการให้เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรู้สึกอับอาย คุณครูยังคงสามารถจัดการชั้นเรียนได้ และมีจิตใจที่ยังมั่นคง

  • ชวนเด็ก ๆ เข้าไปพักใน Calm Down Corner ในการกำหนดพื้นที่ในห้องเรียนสำหรับการ Cool Down ในห้อง เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้นั่งพักเพื่อสงบใจ สงบสติอารมณ์สักพัก โดยมีข้อตกลงให้ชัดเจนว่า เด็ก ๆ สามารถอยู่ได้นานแค่ไหน และสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการกลับเข้าบทเรียนต่อ และเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ให้คุณครูเข้าไปพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของเด็ก
  • หากคุณครูมีการตอบสนองอย่างรุนแรงและฉับพลัน อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้ห้องเรียนต้องหยุดชะงัก คุณครูอาจสื่อสารกับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้พฤติกรรมก้าวร้าวนั้นขัดจังหวะการเรียนรู้ เช่น อาจจะบอกว่า "ครูเข้าใจว่าพวกเราทุกคนเห็นว่า เพื่อนของเราทำอะไรไป และส่วนใหญ่อาจกำลังสงสัยว่าครูจะทำยังไง เดี๋ยวครูจะชวนเขาคุยเรื่องนี้ทีหลัง แต่ตอนนี้ เราไปต่อกันที่หน้า 15 นะ" แล้วกลับเข้าสู่บทเรียน



ตัวอย่างการใช้ Calm Down Corner


ช่วงพักเบรก

หลักการ คือ คือการทำให้เข้าใจว่า เมื่อเขาทำอะไรลงไป เขาต้องรับผลที่ตามมาให้ได้ ไม่ใช่เป็นการลงโทษแต่อย่างใด

  • เมื่อได้พูดคุยกับเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว ให้มอบหมายผลลัพธ์ที่ต้องรับผิดชอบแบบสมเหตุสมผล เช่น จำกัดสิทธิ์การใช้ของที่เพิ่งทำพังเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือให้ซ่อมแซมให้กลับมาเป็นปกติ 
  • ทำแบบประเมินความเครียด และลองพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  • หากมีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ในระดับรุนแรงจนทำให้เพื่อนร่วมชั้นรู้สึกไม่ปลอดภัย คุณครูอาจต้องแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ตามนโยบายของโรงเรียน


นอกจากนี้ คุณครูยังสามารถใช้ทักษะกู้ใจ*เพื่อช่วยเหลือเด็กป่วนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งคุณครูจะต้องทำให้เด็ก ๆ รู้อารมณ์ของตนเอง (Self-awareness), จัดการอารมณ์ตนเองได้ (Self-management) และรับรู้ความรู้สึกอีกฝ่ายได้ (Social Awareness) หากคุณครูมีวิธีการอื่น ๆ ที่เคยใช้ในห้องเรียน ก็สามารถมาแบ่งปันกันได้ที่คอมเมนต์นี้เลย


*ทักษะกู้ใจ (ภายใต้ Social-Emotional Learning) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://inskru.com/idea/-NAbuj_w2l7OfGDCNU9O

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)