icon
giftClose
profile

ซ้อมรับมือ เมื่อนักเรียนทำพฤติกรรมไม่ถูกใจคุณครู

13150
ภาพประกอบไอเดีย ซ้อมรับมือ เมื่อนักเรียนทำพฤติกรรมไม่ถูกใจคุณครู

ลองใช้เวลาสั้นๆ ตรงนี้สัก 1-2 นาที

ขอชวนคุณครูนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า คุณครูเคยสัมผัสได้ถึงอคติที่ตัวเองมีต่อนักเรียนบางคน นักเรียนบางห้องบ้างรึเปล่าน้า

ในทฤษฎีการระบุแหล่งที่มา (Attribution Theory) อธิบายว่า ผู้คนมักจะ "ค้นหาสาเหตุ" เพื่อพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โดยอนุมานจากบางสิ่ง ด้วยการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากปัจจัยภายนอก (Environmental Factor) เช่น คนอื่น สภาพแวดล้อมรอบตัว และปัจจัยภายใน (Personal Factor) เช่น ตัวเราเอง แน่นอนว่า การอนุมานบางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอคติเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ในห้องเรียนที่ครูอาจเร่งรีบด่วนสรุปสาเหตุบางอย่างจากปัจจัยหนึ่ง จนอาจลืมมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมอื่น 

ครูอาจสรุปว่านักเรียนที่ไม่ส่งการบ้าน หรือส่งงานไม่ตรงเวลา คือนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ด้วยการอนุมานจากประสบการณ์ก่อนหน้า (Prior Experiences) ที่ตนเองเคยเป็นนักเรียน นักศึกษามาก่อน ทั้งที่จริงอาจมีปัจจัยภายนอก เช่น ระดับความยากของงานที่ได้รับมอบหมาย การไม่เข้าใจบทเรียนจนทำให้นักเรียนไม่สามารถทำงานให้บรรลุได้ หรือบางครั้งครูอาจมองว่าการสอนของตัวเองประสบผลสำเร็จ เพราะ ความพยายามของตัวครูเอง ขณะเดียวกันในวันที่ห้องเรียนล้มเหลว ครูกลับอธิบายว่า เป็นเพราะนักเรียนที่ไม่มีความกระตือรือร้น สิ่งนี้ก็คือ “Self-serving bias” ที่หากสำเร็จจะยอมรับว่ามาจากตนเอง และปฏิเสธเมื่อเกิดความล้มเหลวด้วยการอ้างปัจจัยอื่น หรืออีกตัวอย่างคือ “False consensus effect” ที่มองว่าความคิดตัวเอง เป็นเหมือนสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด เช่น ครูเชื่อว่าเด็กที่ตนเองกำลังสอนไม่สามารถเขียนแสดงความคิดได้ เหมือนกับวิชาของครูคนอื่นๆ ทั้งที่จริง ในบางวิชา นักเรียนกล้าแสดงความคิด เมื่อครูเปิดโอกาสให้พวกเขา

"เรากำลังมีอคติกับนักเรียนอยู่ไหม?" 

จึงเป็นคำถามสำคัญที่ครูควรตระหนักว่า สมมติฐาน การตีความ ข้อสรุป และมุมมองของตนเองเมื่อนักเรียนทำบางสิ่งบางอย่างในห้องเรียนนั้น จริงๆ เรากำลังมองจากปัจจัยแบบไหนกันแน่ อะไรคือแง่มุมที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน Schunk และทีมผู้เขียนหนังสือ Motivation in Education Theory, Research and Applications ได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า “กลยุทธ์ที่ดีคือ การเก็บรวบข้อมูลเท่าที่จะมากได้เกี่ยวกับนักเรียน แทนที่จะอาศัยการรับรู้เบื้องต้นจากปฏิสัมพันธ์เพียงเล็กน้อย” ซึ่งการพูดคุยกับนักเรียนจะทำให้ครูเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น เช่น การให้นักเรียนทำโปรไฟล์ของตนเอง บันทึกการเรียนรู้ หรือการล้อมวงพูดคุยเล็กๆ  

ดังเช่นเรื่องราวเล็กๆ จากห้องเรียนครูโบว์ ที่เธอสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเด็กที่ไม่สดใสในการเรียน แทนที่เธอจะด่วนสรุป ต่อว่า หรือทำโทษนักเรียน เธอกลับให้นักเรียนมาล้อมวงบอกเล่าสิ่งที่มีอยู่ในใจ ซึ่งนั่นทำให้ครูโบว์เข้าใจว่านักเรียนของเธอกำลังแบกอารมณ์ความรู้อย่างไรมาโรงเรียน และหาทางรับมือกับมวลอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างตรงจุด (อ่านข้อความต้นฉบับจากครูโบว์)

อีกตัวอย่างในวันเปิดภาคเรียน ครูสังคมอมยิ้ม ได้ใช้แบบฟอร์มทำความรู้จักนักเรียน จาก insKru ทำให้พบหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคนหนึ่งในหลากหลายแง่มุม อาทิ ความรู้สึกที่นักเรียนกำลังกังวลต่อการเรียนในแต่ละวิชา นักเรียนมองเห็นคุณค่าตัวเองอย่างไร อะไรคือปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ใครเป็นทางออกที่เขาสบายใจได้บ้าง สิ่งเหล่านี้เอง อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ความไม่เข้าใจบางอย่าง ได้ถูกมองเห็นอย่างละเอียด หรือถูกพูดคุยขึ้นมากขึ้น ซึ่งนั้นอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียนตามมา (ตามไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)


แล้วคุณครูล่ะ มีวิธีรู้จักและทำความเข้าใจนักเรียนอย่างไรบ้างอีก มาแชร์กันได้น้า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)