การเป็นครู – อาจารย์ ไม่ว่าสอนในระดับใด
ทักษะการจัดการเรียนรู้ คือหัวใจของวิชาชีพครู
แม้แต่อาจารย์ผู้สอนในระดับอุดมศึกษา
ก็ต้องได้รับการรับรองคุณภาพด้านการสอน
ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
เรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริม
การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิ
ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๖ (ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พ.ค. ๖๖)
ได้แบ่งระดับคุณภาพอาจารย์ ไว้ดังนี้
1.ครูที่มีคุณภาพ
2.ครูที่เกื้อกูลเพื่อนร่วมวิชาชีพให้เป็นครูที่มีคุณภาพ
3.ครูที่สร้างครูที่มีคุณภาพในองค์กร
4.ครูที่เป็นผู้นำในการพัฒนาวิชาชีพครูในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
โดยมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ
1.ความรู้ (Knowledge)
คือมีทั้งความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาของตนเอง และความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้
2.สมรรถนะ (Competencies)
ตั้งแต่เรื่องการออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน จนถึงเรื่องการวัดและประเมินผลของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์
3.ค่านิยม (Values)
ทั้งเรื่องคุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ พัฒนาตนเอง จนถึงเรื่องการธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์
โดยอาจารย์ผู้รับการประเมิน ต้องเขียนเป็นความเรียง
เพื่อแสดงผลงานด้านการเรียนการสอนของเรา
ให้สอดคล้องกับองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน คือด้านความรู้ สมรรถนะ และค่านิยม
ซึ่งหากอาจารย์ได้ลองนำเรื่องครูโค้ช (สนใจอ่าน คลิกที่นี่)
มาลองใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมองค์ประกอบคุณภาพในระดับต่าง ๆ
เช่น การนำจิตวิทยาการเรียนรู้ จิตวิทยาเชิงบวกและพฤติกรรมศาสตร์
ไม่ว่านำเรื่องของทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (iceberg theory) ของ Dr. David Mc Clenlland
หรือ สารเคมีในสมอง (Neurotransmitters) เป็นต้น หรือทฤษฎีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ตามที่อาจารย์ได้นำมาประยุกต์ใช้จริง สามารถนำมาเขียนอธิบายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
และระบุวิธีจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลที่เหมาะกับผลการเรียนรู้และกลุ่มผู้เรียน
ซึ่งประเด็นเหล่านี้เพื่อแสดงความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้
ในระดับที่ 1 คือครูที่มีคุณภาพ ที่มาเชื่อมโยงเรื่อง สมรรถนะ
สู่การออกแบบกิจกรรม และการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้
ที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหา ผลการเรียนรู้ และระดับของผู้เรียน
ด้วยสื่อที่หลากหลาย และนำผลการประเมินมาปรับปรุงการจัดการเรียนรู้
โดยจัดบรรยากาศการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจากผู้เรียน
และสามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนในการพัฒนาการเรียนรู้ได้
สำหรับเรื่องการวัดและประเมินผล
สามารถประเมินความก้าวหน้าแบบ Formative
และ Summative โดยเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้
โดยให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียนอย่างสร้างสรรค์
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้
อาจารย์ที่ไม่ได้มาทางสายศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ฯ
ไม่ต้องตกใจนะครับ เราค่อยๆ ถอดบทเรียนจากตัวเราเอง
เชื่อมโยงร้อยเรียงในสิ่งที่อาจารย์ทำอยู่แล้ว
โดยดูว่าสอดคล้องกับเกณฑ์และครบทุกตัวชี้วัดหรือไม่
หากครบตามเกณฑ์คุณภาพอาจารย์ในระดับที่ 1
เราก็ลองมาเทียบต่อในระดับคุณภาพอาจารย์ในระดับที่ 2, 3, 4 ต่อไป
หากประเมินตนเองแล้วยังขาดในประเด็นใด
เราก็นำไปทดลองจัดการเรียนรู้ เพื่อตอบตัวชี้วัดในข้อที่ยังขาด
เพื่อตอบระดับคุณภาพอาจารย์ด้านการสอน ตามความเป็นจริง
สิ่งสำคัญในการเขียนเพื่อขอรับการประเมิน
คือผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่ต้องสะท้อนผลลัพธ์ของผู้เรียน
ว่าเกิด Outcome และ Impact กับผู้เรียนอย่างไร
และ OBE Constructive Alignment (สนใจอ่าน คลิกที่นี่)
ที่ C4ED ของ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้จัดทำคู่มือเพื่อให้ไว้ศึกษา
การพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ตามแนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา (THAILAND-PSF)
จึงเป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
เพราะนอกเหนือจากงานด้านการวิจัยและบริการวิชาการ
ด้านการเรียนการสอน ก็มีความสำคัญสำหรับอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา
เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่การศึกษายุค Thailand 4.0 ที่ไม่ใช่ 0.4
--------------------------------------------------------------------------
-คู่มือการขอรับการประเมินสมรรถนะอาจารย์ คลิกที่นี่
-แบบฟอร์มยื่นขอรับการประเมินสมรรถนะอาจารย์ด้านการเรียนการสอน คลิกที่นี่
-แบบประเมินตนเองตามระดับของกรอบสมรรถนะอาจารย์ คลิกที่นี่
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สมาคม ควอท) ได้ที่
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย