icon
giftClose
profile

“ตัวฉัน ตัวเธอ” เกมการค้าระหว่างประเทศของไทย

33663
ภาพประกอบไอเดีย “ตัวฉัน ตัวเธอ” เกมการค้าระหว่างประเทศของไทย

เรียนการค้าระหว่างประเทศของไทยผ่านการมีส่วนร่วมของนักเรียน



เริ่มต้นชั่วโมงด้วยกิจกรรม “ตัวฉัน ตัวเธอ” โดยครูแจกโพสต์อิท หรือกระดาษให้นักเรียนคนละ 1 แผ่น ครูให้นักเรียนทุกคนเขียน ข้อดี/ความสามารถพิเศษของตนเอง คนละ 1 อย่าง ครูสรุปข้อดี หรือความสามารถพิเศษของนักเรียนแต่ละคนบนกระดาน (ช่วงนี้จะได้เสียงเฮฮา เสียงแซวเพื่อน และทำให้ครูได้เรียนรู้ความชอบ ความถนัดและความสามารถพิเศษของนักเรียนแต่ละคนด้วย) ครูใช้คำถามถามนักเรียน เกี่ยวกับการนำความสามารถของนักเรียนแต่ละคนมาแสดงหรือนำมาใช้ เช่น ถ้าครูจะพานักเรียนไปแข่งตอบปัญหาทางสังคมศึกษาครูจะติดต่อนักเรียนคนใด ถ้าครูจะจัดคอนเสิร์ตครูจะขอนักเรียนคนใดมาช่วย ครูเชื่อมผลที่ได้จากกิจกรรมเข้าเนื้อหาการค้าระหว่างประเทศของไทย เช่น

"นักเรียนในห้องนี้มีความสามารถที่แตกต่างกัน เหมือนกับประเทศแต่ละประเทศที่มีความสามารถ ทรัพยากร และลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่เราจะใช้ความสามารถหรือทรัพยากรที่เราขาดจึงต้องซื้อจากประเทศอื่น นั้นคือการค้าระหว่างประเทศ"


ครูสุ่มตัวแทนนักเรียนเพื่อตอบคำถาม

1) ทำไมต้องมีการค้าระหว่างประเทศ

(แนวคำตอบ เพราะการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากการที่แต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิประเทศภูมิอากาศ และความชำนาญในการผลิตที่แตกต่างกัน จึงเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น ๆ)

2) ปัจจุบันหากไทยไม่ค้าขายกับต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(แนวคำตอบ ไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นยุคของทุนนิยม มีการติดต่อค้าขายกันทั่วโลก หากเราไม่ค้าขายกับต่างประเทศ สินค้าที่เราผลิตได้มากจะไม่มีตลาดระบาย และทำให้เราขาดแคลนสินค้าที่เราผลิตเองไม่ได้)

3) การที่ไทยทำการค้าขายกับต่างประเทศส่งผลดีและผลเสียอย่างไร

(แนวคำตอบ ผลดี เช่น เป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ผลเสีย เช่น ทำให้สินค้าจากต่างประเทศมาตีตลาดสินค้าของไทย ทำให้สินค้าบางอย่างไม่เป็นที่นิยม) 



นักเรียนทำกิจกรรมเล่นเกมการค้าระหว่างประเทศของไทย (Thailand's international trade game) โดยมีขั้นตอนการเล่นดังนี้

1) แบ่งนักเรียนออกเป็น 5 กลุ่มจากนั้นให้นักเรียนจับฉลากประเทศสมมติของตนเอง (ประเทศสมมติแต่ละประเทศตั้งอยู่คนละทวีป สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศแตกต่างกัน ความชำนาญของประชากรต่างกัน ส่งผลต่อสินค้าของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน)

2) แต่ละประเทศจะได้สินค้าของตนเองจากการ์ดกองกลาง (การ์ดทรัพยากร) และจะได้การ์ดความต้องการของคนภายในประเทศ

3) จะให้เวลารอบละ 3-5 นาทีในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (การ์ด) เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศให้ครบถ้วน โดยเขียนลงในกระดาษที่แจกให้

4) จัดบริเวณหน้าห้องเรียนให้แยกเป็นประเทศเพื่อจำลองการค้า ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาพูดถึงสินค้านำเข้าที่ประเทศของกลุ่มมีความต้องการ (การ์ดความต้องการ) ตรงนี้ครูให้นักเรียนกลุ่มอื่นฟังเพื่อนเพื่อจะได้นำสินค้าของประเทศกลุ่มตัวเองมาขายให้กับกลุ่มที่ต้องการ

5) จัดทำดุลการค้าระหว่างประเทศ (ขาดดุล สมดุล เกินดุล) โดยเขียนลงในกระดาษที่แจกให้

6)  ในแต่ละรอบจะมีสถานการณ์กำหนดให้ มีทั้งที่เป็นตัวแปรที่แต่ละประเทศควบคุมได้

และตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ เช่น นโยบายการค้าเสรี-คุ้มกัน ภัยพิบัติ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง เป็นต้น

7) การคิดคะแนน กลุ่มไหนได้กำไรจากการค้าขายเยอะที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

  • 1) ถ้าประเทศไหนส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าสินค้าเข้า (ดุลการค้าเกินดุล) จะได้ 10 คะแนน
  • 2) ถ้าประเทศไหนส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าเท่ากับสินค้าเข้า (ดุลการค้าสมดุล) จะได้ 9 คะแนน
  • 3)  ถ้าประเทศไหนส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าสินค้าเข้า (ดุลการค้าขาดดุล)จะได้ 8 คะแนน



หลังจากที่นักเรียนเล่นเกม นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้จากการเล่นเกมการค้าระหว่างประเทศของไทย (Thailand's international trade game) และสรุปเนื้อหาในวันนี้ว่า (การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากการที่แต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความชำนาญในการผลิตที่แตกต่างกัน จึงเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น ๆ และถ้าประเทศไทยส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าสินค้าเข้า เรียกว่า "ดุลการค้าเกินดุล" ถ้าส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าเท่ากับสินค้าเข้า เรียกว่า "ดุลการค้าสมดุล" และถ้าส่งสินค้าออกเป็นมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าสินค้าเข้า เรียกว่า "ดุลการค้าขาดดุล")

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 2

ชื่อไฟล์​: 0058.jpg

ดาวน์โหลดแล้ว 189 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(17)
เก็บไว้อ่าน
(15)