icon
giftClose
profile

หลักการบ่มเพาะ Empathy ระดับประถมปลาย

7742
ภาพประกอบไอเดีย หลักการบ่มเพาะ Empathy ระดับประถมปลาย

ตอนที่ 2 เรามาดูกันว่า การบ่มเพาะ เอ็มพาที ให้นักเรียนทำอย่างไร


ตอนที่แล้ว ครูเปี๊ยกกล่าวถึงการสร้างกฎกติกาในห้องเรียนชั้น ป.5 โดยวางกฎตามพัฒนาการของวัยรุ่น ที่ไม่ชอบให้มีกฎหยุมหยิม และพวกเขาต้องการโอกาสในการเรียนรู้เติบโต และตัดสินใจด้วยตนเอง ครูเปี๊ยกจึงมีกฎเพียง 2 ข้อ ได้แก่


1)  ต้องการให้นักเรียนกำกับตนเองให้ได้


2)  ต้องการให้นักเรียนมีเอ็มพาที หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น


ครูเปี๊ยกไม่ลืมที่จะปิดท้ายว่า “ครูเชื่อว่านักเรียนมี 2 ข้อนี้ได้ทุกคน พวกเธอเป็นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ ได้อย่างแน่นอน”

(อ่านตอน 1 ได้ที่ inskru.com/idea/-Ncp2XLLLuiMN4IpMuuW)


**********


เมื่อตั้งกติกาแล้ว นักเรียนจำเป็นที่ต้องเข้าใจว่า เอ็มพาที ที่ครูต้องการนั้นมีลักษณะอย่างไร


ก่อนที่จะทำความเข้าใจลักษณะของ เอ็มพาที เราจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าเราจะ "บ่มเพาะ" เอ็มพาทีในตัวนักเรียนอย่างไร หากเรารู้วิธีบ่มเพาะแล้ว เราจึงจะนำลักษณะของเอ็มพาทีที่เราต้องการบ่มเพาะนักเรียนมาใช้ให้นักเรียนได้เรียนรู้


จุดเริ่มต้นสำหรับการบ่มเพาะ เอ็มพาที คือ "การสร้างบุคลิกแแห่งการทำเพื่อผู้อื่น" ให้กลายเป็นตัวตนทางศีลธรรมในเนื้อในตัวของนักเรียน


การสร้างบุคลิกแห่งการทำเพื่อผู้อื่น นั้นทำอย่างไร มีหลักของเรื่องนี้ 3 ข้อ

1) ทำให้ดูอยู่ให้เห็น

2) ระบุชัดว่าเราคาดหวังการกระทำเหล่านั้น

3) ชื่นชม ตำหนิ ที่บุคลิก ไม่ใช่พฤติกรรม


อธิบายทีละข้อ


ข้อแรก "ทำให้ดูอยู่ให้เห็น" คือ หากเราต้องการสอน เอ็มพาที เราก็ต้องมีเอ็มพาทีด้วย สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ "ความสม่ำเสมอ" นักเรียนจะต้องเห็นเรามีเอ็มพาที ตามที่เราสอน ดีที่สุดคือ "เห็นตลอดเวลา" หากเราเลือกทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับ เอ็มพาที ต้องสามารถอธิบายให้นักเรียนเข้าใจชัดแจ้งได้ว่า ทำไมสถานการณ์นั้นจึงเลือกไม่ทำตามหลักเอ็มพาทีเพราะอะไร


ข้อสอง "ระบุชัดว่าเราคาดหวังการกระทำเหล่านั้น" คือการที่เราตอกย้ำซ้ำซาก (ซ้ำซากจริงๆ นะ พูดทุกเวลาที่มีโอกาสพูด) ว่า เอ็มพาที คือสิ่งที่ครูคาดหวัง สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ "สัมพันธภาพที่ดี" เพราะนักเรียนจะเชื่อคนที่เขาเคารพ ศรัทธา ผู้ที่ควรทำข้อนี้คือ พ่อแม่และครู การที่เขาจะเคารพ ศรัทธาคำพูดเรา ให้ใช้หลัก "ทำให้ดูอยู่ให้เห็น" ในข้อแรกประกอบกัน


ข้อสาม "ชื่นชม ตำหนิ ที่บุคลิก ไม่ใช่พฤติกรรม" คือ การชื่นชมไปที่ "บุคลิกแห่งการทำเพื่อผู้อื่น" เช่น หากเราเห็นนักเรียนยื่นยางลบให้เพื่อนยืมใช้ เราควรชื่นชมว่า ครูดีใจที่เขามีน้ำใจทำเพื่อผู้อื่น (บุคลิก) แทนการชมว่า ครูดีใจที่เขาแบ่งปันของให้ผู้อื่น (พฤติกรรม) การชมที่บุคลิก จะทำให้เขามองหาพฤติกรรมอื่นๆ ที่นำไปสู่บุคลิกที่เราปรารถนาให้เขาเป็นด้วย มิใช่โฟกัสอยู่กับการแบ่งปันของให้ผู้อื่นอยู่เรื่องเดียว


เมื่อต้องการบ่มเพาะเอ็มพาที ให้ใช้หลัก 3 ข้อนี้ ร่วมกับบอกลักษณะของ เอ็มพาที ที่ต้องการบ่มเพาะให้กับนักเรียน


ครูเปี๊ยกบอกหลักการทั้ง 3 ข้อนี้ให้นักเรียนทราบอย่างตรงไปตรงมา และสอบถามนักเรียนต่อว่า พ่อแม่ของพวกเขามีความคาดหวังให้พวกเขามีบุคลิกอย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับทำการบ้านกับผู้ปกครอง และการปรับบุคลิกรายบุคคลได้ ครูเปี๊ยกจะกล่าวถึงประเด็นนี้ในตอนต่อๆ ไป


**********


ประเด็นต่อมาคือ เอ็มพาที ที่ครูต้องการนั้นมีลักษณะอย่างไร ลักษณะพื้นฐานที่สุดคือ "การคิดถึงผู้อื่นก่อนเสมอ อย่าเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง"


ทีนี้ "การคิดถึงผู้อื่น" มีรูปธรรมสำหรับใช้สอนอย่างไร


มีสถานการณ์มากมาย ที่ทำให้เกิดทางเลือกในจิตใจขึ้น ระหว่าง คิดถึงผู้อื่นก่อน หรือคิดถึงตนเองก่อน

เช่น ก็เพื่อนกำกับตนเองไม่ได้ ลืมเอายางลบมาเอง ทำไมต้องแบ่งปันยางลบให้เพื่อนยืมด้วย


คำถามแบบนี้ นักเรียนระดับประถมปลาย ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มใช้เหตุผลแข็งแรงขึ้น จะสามารถตั้งคำถามได้เองอย่างแน่นอน ครูจึงควรเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า คำตอบที่จะนำไปสู่การบ่มเพาะเอ็มพาที คำตอบที่ตัวครูเองก็ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างได้


ไว้ต่อตอนที่ 3 ลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูต้องการควรเป็นอย่างไร


หมายเหตุ


"การสร้างบุคลิกแห่งการทำเพื่อผู้อื่น" ปรากฎในหนังสือ "สอนลูกอย่างไรให้เห็นใจคนอื่น" แปลจาก UnSelfie Why Empathetic Kids Suceed in Our All-About-Me World ของสำนักพิมพ์ SandClock Books


ส่วนการนำเนื้อหามาปรับใช้ในห้องเรียน เป็นครูเปี๊ยกประยุกต์เอง หากเกิดความเข้าใจผิดประการใด เป็นความรับผิดของครูเปี๊ยกผู้เดียว


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)