icon
giftClose
profile

ลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูต้องการควรเป็นอย่างไร

6601
ภาพประกอบไอเดีย ลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูต้องการควรเป็นอย่างไร

ตอนที่ 3 ลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูต้องการควรเป็นอย่างไร


ตอนที่แล้ว ครูเปี๊ยกกล่าวถึงการ "บ่มเพาะ" เอ็มพาที หมายถึง "การสร้างบุคลิกแห่งการทำเพื่อผู้อื่น" ให้กลายเป็นตัวตนทางศีลธรรมในเนื้อในตัวของนักเรียน โดยมีหลักการ 3 ข้อ


1) ทำให้ดูอยู่ให้เห็น


2) ระบุชัดว่าเราคาดหวังการกระทำเหล่านั้น


3) ชื่นชม ตำหนิ ที่บุคลิก ไม่ใช่พฤติกรรม


(อ่านตอน 2 ได้ที่ inskru.com/idea/-NdiBF8dN8uvIyAxVdZ0)


**********


เมื่อเราทราบวิธีบ่มเพาะเอ็มพาทีแล้ว คำถามต่อมาคือ เอ็มพาที ที่ครูต้องการนั้นควรมีลักษณะอย่างไร


ครูเปี๊ยกแนะนำว่า ครูแต่ละคน มีการเรียนรู้เติบโตในชีวิตไม่เหมือนกัน ดังนั้น เอ็มพาที ที่ครูต้องการ จึงควรมีลักษณะที่ครูสามารถบ่มเพาะตนเองได้ คือครูทำอยู่แล้วในเนื้อในตัว ครูสามารถอธิบายได้ว่าทำไมครูจึงทำตามหลัก เอ็มพาที ของครูเช่นนั้น


แน่นอนว่ามีสถานการณ์มากมายที่บ่อยครั้งเราจะคิดถึงคุณค่าอื่นๆ สำคัญหรือมาก่อน เอ็มพาที ได้ เช่น เมื่อเราพบคนที่ไม่รับผิดชอบกับการประทำของตนเอง เราก็อาจจะเห็นอกเห็นใจเขาน้อยลง ซึ่งตัวอย่างนี้ เด็กประถมที่เริ่มมีความสามารถในการใช้เหตุผล จะสามารถตั้งคำถามแบบเดียวกันได้ ครูจึงควรเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า เพราะครูมีโอกาสถูกท้าทายจากนักเรียนได้ตลอด หากคำตอบของครูขาดความสม่ำเสมอในหลักคิด เด็กๆ จะเกิดควากังขา ทำให้การบ่มเพาะ เอ็มพาที ของครูจะยากขึ้น (แน่นอนว่ากระบวนการนี้ หากพ่อแม่พลาด พ่อแม่ก็จะเจอปัญหาเช่นเดียวกัน)


เพื่อให้สามารถตอบนักเรียนได้ ครูเปี๊ยกจึงเลือกบอกลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูเปี๊ยกต้องการจากนักเรียนป.5 คือ "การคิดถึงผู้อื่นก่อนเสมอ อย่าเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง" ดังนั้นการกระทำใดที่บอกได้ว่าอยู่บนฐานคิดถึงผู้อื่นก่อนตนเอง การกระทำนั้นจะสะท้อนถึงความมีเอ็มพาทีนั่นเอง


(ย้ำอีกครั้งว่า ครู ควรมีคำตอบเรื่อง เอ็มพาที ที่ครูมั่นใจว่าตอบได้ ชัดเจนว่าอยู่บนเกณฑ์หลักคิดใด อย่างครูเปี๊ยก ยึดว่า ถ้าเขาคิดถึงผู้อื่นก่อน คือโอเคแล้ว ครูเปี๊ยกมองว่า สั้นกระชับ จำง่าย กับทั้งครู เด็ก และผู้ปกครอง เป็นต้นครับ)


**********


เมื่อระบุเรียบร้อยแล้ว ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ทุกตัวอย่างที่เลือกนำมาสอน ครูเปี๊ยกใช้ทุกโอกาสในการวิเคราะห์ให้เห็นว่า การมีเอ็มพาทีจะมองสถานการณ์นั้นอย่างไรได้บ้าง


ลองหยิบตัวอย่างมาพูดคุยกับนักเรียน สมมติว่านักเรียนกล่าวว่า 

นาย เอ "ก็เพื่อนกำกับตนเองไม่ได้ ลืมเอายางลบมาเอง ทำไมต้องแบ่งปันยางลบให้เพื่อนยืมด้วย"

นาย บี "เอไม่มีน้ำใจเลย แสดงว่าขาด เอ็มพาที"


หากเป็นครูเปี๊ยก จะชวนคุยว่า กรณีดังกล่าวต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ คนที่กำกับตนเองไม่ได้ กับเพื่อนที่เลือกได้ว่าจะมีน้ำใจให้ยืมของหรือไม่


1) คนที่กำกับตนเองไม่ได้ ถือว่าตนเองบกพร่อง และเพื่อนๆ ก็มีสิทธิอย่างเต็มที่ ในการตัดสินใจว่าจะมีน้ำใจให้ยืมยางลบหรือไม่ หากเพื่อนตัดสินใจไม่ให้ยืม ควรต้องยอมรับ และรับผิดชอบ (ในกรณีนี้คือรับผิด) ต่อความบกพร่องของตนเอง ไม่ควรกล่าวหาว่าเพื่อนไม่มีเอ็มพาที เพราะเพื่อนก็อาจจำเป็นต้องใช้ยางลบ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่เราไม่ทราบ ทำให้เพื่อน "เลือก" หรือ "ตัดสินใจ" จะไม่แบ่งปันน้ำใจให้เรา ซึ่งการคิดถึงความจำเป็นของเพื่อนก่อน เป็นลักษณะของเอ็มพาที


2) คนที่เลือกได้ว่าจะมีน้ำใจให้ยืมของหรือไม่ หากมองจากมุมของเอ็มพาที นักเรียนควรคิดถึงความเดือดร้อนของเพื่อนจากการไม่มียางลบใช้ก่อน และวางประเด็นที่เขาไม่กำกับตนเองไว้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน หากนักเรียนไปโฟกัสเรื่องการไม่กำกับตนเองของเพื่อน เท่ากับว่านักเรียนเลือกมองจากความเห็นของตนเองก่อนมองเห็นความเดือดร้อนของผู้อื่น แบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของเอ็มพาที


**********


ข้างต้น เป็นตัวอย่างสถานการณ์หนึ่งๆ ที่ครูชวนให้คิดถึง เอ็มพาที ได้ แน่นอนว่า ครูสามารถใส่คำถาม หรือเทคนิคอื่นใด ตามสไตล์ที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนได้ไม่จำกัดรูปแบบ


หลักจากที่กำหนดลักษณะของเอ็มพาทีที่ครูต้องการบ่มเพาะให้กับนักเรียนแล้ว ครูก็เริ่มนำมโนทัศน์อื่นๆ ที่ต้องการสอน มาผูกเข้ากับเอ็มพาที และเชื่อมโยงให้นักเรียนเห็นว่าเอ็มพาทีเป็น "โลกทัศน์" พื้นฐาน ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันได้มากมาย และที่สำคัญคือ เอ็มพาที มีประโยชน์กับชีวิต กับชุมชน กับสังคม และกับโลกของพวกเขาในอนาคตที่กำลังจะเติบโตเป็นวัยรุ่น การเชื่อมโยงนี้ ต้องใช้เวลา และหาตัวอย่างจำนวนมากมาให้พวกเขาเรียนรู้ ครูเปี๊ยก จึงใช้เอ็มพาทีเป็น Theme หลักในงานประจำชั้น และรายวิชาบูรณาการ อย่างน้อย 1 เทอมการศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีเวลาบ่มเพาะบุคลิกแห่งการทำเพื่อผู้อื่น


ตอนต่อๆ ไปจะเป็นตัวอย่างหัวข้อการเรียนรู้ที่ครูเปี๊ยกนำมาใช้สอนเอ็มพาที โดยครูเปี๊ยกจะสำรวจบุคลิกของตนเองก่อนว่า สำหรับครูเปี๊ยกแล้ว มีหลักใด หรือคติประจำใจอะไร ในการใช้ชีวิต ที่เชื่อมโยงกับเอ็มพาที เพื่อชวนนักเรียนสำรวจตนเองต่อไป


ตอนที่ 4 "คติประจำใจ" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเอ็มพาทีได้อย่างไร

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)