icon
giftClose
profile

Kids Konference (2022)


คุณครูหลายคนน่าจะเคยได้ชมหรือผ่านตาสารคดีเรื่องนี้กันมาแล้ว เป็นสารคดีที่พาผู้ชมไปสังเกตการณ์ชั้นเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นตลอดปี ซึ่งมีทั้งกิจกรรมวงประชุมเด็ก พี่เลี้ยงวัยเตาะแตะ ฯลฯ ทำให้เราได้เห็นหลักคิด วิธีการสอนที่เปิดกว้างให้เด็กๆ อนุบาลเหล่านี้ ได้ตั้งคำถาม คิดหาคำตอบ และสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว

.

.

“โต๊ะปรับใจ” เป็นหนึ่งในวิธีการสอนที่สะท้อน ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ของครูที่มีต่อเด็กๆ ด้วยหลักคิดที่ว่า เด็กๆสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันครูก็ยังมีบทบาทในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามผ่านความขัดแย้ง ผ่านการออกแบบพื้นที่และวิธีการสื่อสาร

.

.



“โต๊ะปรับใจ” ในบริบทโรงเรียนไทย จะใช้ได้ไหมนะ?


“ครูครับ เพื่อนแกล้งผม!!”

“ครูคะ ทำโทษเด็กชายเอเลยค่ะ!!!”

.

ประโยคเหล่านี้ คงเป็นเรื่องปกติและความเคยชินของคุณครู โดยเฉพาะครูอนุบาลถึงวัยประถมต้นไปแล้ว ที่นอกจากหน้าที่สอนแล้วยังต้องมาเป็นตำรวจ ผู้พิพากษา รับคำฟ้องของเด็กๆ

.

“ขอโทษเพื่อนซะสิ”

.

และหลายครั้งครูเองอาจจะเผลอใช้อคติต่อบุคคลหรือต่อเหตุการณ์ ตัดสินเรื่องราวของเด็กๆ อย่างไม่เป็นธรรม จนสร้างความคับข้องใจแก่นักเรียน อีกทั้งการถูกบังคับให้ขอโทษไม่ได้บรรเทาความขุ่นมัวในจิตใจของเด็กให้ดีขึ้น


เราจะสามารถสร้างเรียนรู้ใน ‘การจัดการกับความขัดแย้ง’ ให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร?

ในโลกที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

.

.


โต๊ะปรับใจ ถูกนำมาทดลองใช้ในห้องเรียนชั้น ป.3 ของเรา ต้องเล่าก่อนว่าในปีที่ผ่านมานักเรียนกลุ่มนี้ได้ทำกิจกรรม Morning Circle (https://inskru.com/idea/-N4jqcHromosXkd3z5FU) ที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกันในห้องเรียน ระดับที่ใช้ได้อยู่แล้ว ทั้งกิจกรรมนี้ยังสอดคล้องใกล้เคียงกับ ‘วงประชุมเด็ก’ ในสารคดีด้วย เราเลยเชื่อว่าโต๊ะปรับใจอาจเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่เข้ามาเสริมให้นักเรียนเรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง (เฉพาะกาล) 🚨 ได้ดียิ่งขึ้น


เบื้องต้นเราได้ชี้แจงนักเรียนว่าพื้นที่ตรงนี้จะให้คู่ขัดแย้งมาปรับความเข้าใจกัน และขอให้คนนักเรียนคนอื่นหลีกเลี่ยง ไม่เข้ามาแทรกแซง จนกว่าเพื่อนจะคุยกันเรียบร้อย เราจะไม่ทำร้ายร่างกายกันเด็ดขาด และจะลุกออกจากตรงนี้ เมื่อ…ทั้งสองได้พูดคุยเข้าใจกันดีแล้ว


มีสองเหตุการณ์ที่เราได้ใช้ “โต๊ะปรับใจ” ขอไม่เล่ารายละเอียดบทสนทนาระหว่างนั้น แต่สรุปเป็นข้อสังเกตตามนี้ค่ะ

1 ท่าทีของครูขณะที่พาเด็กๆ ไปใช้พื้นที่โต๊ะปรับใจมีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกของนักเรียนในการใช้พื้นที่นี้ค่ะ ครูควรใช้ท่าทีที่จริงจังประกอบกับน้ำเสียงนุ่มนวล (kind but firm) เช่น “นั่งลง ให้ใจเย็นแล้วค่อยคุยกันนะ” ไม่ใช้การตะคอกบังคับ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กต่อต้านการเผชิญหน้าพูดคุยกัน


2 บางครั้งการปะทะคารมระหว่างกันของนักเรียนอาจไม่หยุดลงในทันที และยืดเยื้อต่อไปอีกสักพัก หากว่าไม่รบกวนคนอื่น (ยกเว้น ครู) เราก็ปล่อยค่ะ 55555 เว้นระยะทำนั่นนี่อยู่ห่างๆ เปิดพัดลมให้ ถามว่าหิวน้ำไหมแล้วก็วางน้ำดื่มไว้ให้ เมื่อเด็กเหนื่อยและใจเย็นลง เขาก็จะหยุด พูดคุยเข้าใจกันได้ในที่สุด


3 เมื่อถึงช่วงที่ใจเย็นลง อาจจะมีนักเรียนสักคนถามขึ้นว่า “ครูครับ ทำไงต่อ ไปได้หรือยัง” เราก็แนะว่า “เพื่อนเป็นไงบ้าง ไม่พอใจอะไร ตกลงกันยังไง ลองคุยกันดูก่อนนะ” บางทีคนนึงดีขึ้นแล้ว แต่เพื่อนอีกคนยังไม่โอเค ก็ต้องให้เวลาอีกคนด้วย


4 นักเรียนสามารถสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกมาได้ นักเรียนพูดว่า “ไม่ชอบ โมโห โกรธ น้อยใจ อุตส่าห์ให้.. อยากให้… ” รับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย สร้างข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึง “ขอโทษ” ซึ่งกันและกันเอง


5 เมื่อพูดคุยกันเสร็จ ส่วนใหญ่อดีตคู่ขัดแย้งทั้งสองคนจะประสานเสียงพร้อมกันทันทีว่า “ครูครับ เสร็จแล้ว” 😂😂 แถมยังกอดคอออกจากห้องไปเล่นกันได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น *จริงๆ เป็นเรื่องปกติของเด็กช่วงวัยนี้ค่ะ โกรธง่ายหายเร็ว* แต่วิธีการดังกล่าวช่วยให้นักเรียนฝึกจัดการอารมณ์ด้วยตนเอง ลดการใช้อคติของครูในการตัดสินด้วย


หมายเหตุไว้เล็กๆ ว่า

  • อาจมีบางกรณีที่นักเรียนใช้วิธีการก่อกวนเพื่อน เพื่อใช้โต๊ะปรับใจ เลี่ยงการเรียนหรือการทำงาน คุณครูอาจต้องสังเกตและปรับใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์นะคะ
  • ในกรณีความขัดแย้งที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การบูลลี่ คุณครูอาจต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือและพูดคุยอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นอาจจะซ้ำเติมให้นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งรู้สึกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

.

.


ถ้าใครดูสารคดีเรื่องนี้แล้วลองเอาไปใช้ในห้องเรียนของตัวเองเหมือนกัน อย่าลืมมาเขียนเล่านะคะ ขอให้สนุกกับการสอนค่ะ 💖💖

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 2

ชื่อไฟล์​: IMG_5953.jpeg

ดาวน์โหลดแล้ว 16 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)