icon
giftClose
profile

"คติประจำใจ" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเอ็มพาทีได้อย่างไร

9171
ภาพประกอบไอเดีย "คติประจำใจ" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเอ็มพาทีได้อย่างไร

ตอนที่ 4 "คติประจำใจ" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเอ็มพาทีได้อย่างไร


ตอนที่แล้ว ครูเปี๊ยกกล่าวถึงลักษณะของ เอ็มพาที ที่ครูต้องการควรเป็นอย่างไร ครูเปี๊ยกแนะนำว่า ครูแต่ละคน มีการเรียนรู้เติบโตในชีวิตไม่เหมือนกัน ดังนั้น เอ็มพาที ที่ครูต้องการ จึงควรมีลักษณะที่ครูสามารถบ่มเพาะตนเองได้ คือครูทำอยู่แล้วในเนื้อในตัว ครูสามารถอธิบายได้ว่าทำไมครูจึงทำตามหลัก เอ็มพาที ของครูเช่นนั้น


(อ่านตอน 3 ได้ที่ inskru.com/idea/-Nept8f9B7JWDrP87G3O)


**********


ตอนที่ 4 จะเป็นตัวอย่างหัวข้อการเรียนรู้ที่ครูเปี๊ยกนำมาใช้สอนเอ็มพาที โดยครูเปี๊ยกจะสำรวจบุคลิกของตนเองก่อนว่า สำหรับครูเปี๊ยกแล้ว มีหลักใด หรือคติประจำใจอะไร ในการใช้ชีวิต ที่เชื่อมโยงกับเอ็มพาที เพื่อชวนนักเรียนสำรวจตนเองต่อไป


ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า "คติประจำใจ" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเอ็มพาทีได้อย่างไร


เรื่องนี้อธิบายสั้นๆ ผ่านประเด็นเรื่องของการนิยามตนเอง เพื่อเสริมสร้าง Self-Esteem ให้แข็งแกร่ง หากเด็กคนหนึ่งถูกตอกย้ำอยู่ตลอดว่าเขาเป็นเด็กที่แย่มากๆ เป็นระยะเวลานาน ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเด็กได้รับแต่คำเยินยออยู่ตลอด พวกเขามีแนวโน้มที่จะเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง และมีแนวคิดดูถูกผู้อื่น


ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เด็กมี เอ็มพาที การพูดถึงตัวเด็กอย่างเช่น "เธอเป็นคนที่ใส่ใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น" ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะนิยามตนเองว่า ฉันเป็นคนที่ห่วงใยผู้อื่น เราบ่มเพาะเด็กให้นิยามตนเองเชิงบวกเช่นนี้ได้


**********


สำหรับเด็กแล้ว การนิยามตนเองเชิงบวกควรเริ่มต้นมาจากที่บ้าน แต่ละครอบครัวสามารถใช้เวลาใดก็ได้ เพื่อพูดคุย และสร้างประสบการณ์ในเด็กได้รู้ว่า "คุณค่า" ที่พ่อแม่ หรือคนในครอบครัวยึดถือคืออะไร เพื่อกำหนดเป็นคุณธรรมประจำบ้าน อาจเริ่มจากคำถามพื้นฐานง่ายๆ เช่น 

"เราอยากให้คนในครอบครัวเป็นแบบไหน" 

"อยากให้คนอื่นพูถึงเราอย่างไร"

 

จากนั้นก็พัฒนาให้เป็น คำขวัญประจำบ้าน เช่น 

"ครอบครัวเราชอบช่วยเหลือผู้อื่น" 

"เราจะทำดีเสมอแม้ไม่มีใครเห็น"


เด็กที่มีสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงกับพ่อแม่ เด็กที่มีสัมพันธภาพที่ดี พวกเขาจะเชื่อมโยงกับครอบครัว จากข้อความที่ว่า "ครอบครัวเราชอบช่วยเหลือผู้อื่น" ก็จะกลายเป็น "หนู/ผมชอบช่วยเหลือผู้อื่น" การทำงานของคำขวัญประจำบ้านก็ตรงไปตรงมาเช่นนี้เอง


เมื่อมีคำขวัญประจำบ้านแล้ว เรายังสามารถให้เด็กๆ คิดคำขวัญประจำตัวหรือคติประจำใจได้อีกด้วย ซึ่งเด็กๆ จะต้องขบคิดต่อยอดจากคำขวัญประจำบ้าน ซึ่งมักลงรายละเอียดไปถึงบุคลิกส่วนตัวของเด็กๆ เอง เช่น 

"ผมจะมีสติทุกครั้งก่อนพูด"

"หนูจะไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน"


คำขวัญประจำบ้านหรือ คติประจำใจ ไม่จำเป็นต้องคิดเอง อาจนำข้อความที่พบเจอจากสื่อหรือของบุคคลที่ชื่นชอบมาใช้ก็ได้ สิ่งสำคัญคือ ควรเป็นข้อความที่จำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน จากนั้นควรเขียนข้อความเหล่านั้นไว้ในที่ที่สามารถพบเห็นได้อยู่เสมอ เช่น แปะเป็นโปสเตอร์นบ้าน ตั้งเป็นภาพพื้นหลังบนสมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แปะโพสอิทไว้ตามที่ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ตระหนักว่าคุณค่าที่ปรากฎในข้อความเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่รอบตัวให้ความสำคัญ และเด็กๆ เองก็ควรทำเช่นเดียวกันกับคติประจำใจของตนเอง โดยเขียนแปะไว้ที่หัวเตียง โต๊ะอ่านหนังสือ เป็นต้น



**********


สำหรับคุณครูเองก็ควรมีคติประจำใจไว้ใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นเช่นเดินกัน ครูเปี๊ยกใช้คติที่ว่า "สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับผู้อื่น" เป็นหลักที่สอดคล้องกับ Empathy โดยอธิบายนักเรียนว่า เราไม่มีทางรู้ว่าผู้อื่นต้องการหรือไม่ต้องการอะไร แต่เรารู้อย่างแน่นอนว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ดังนั้นสิ่งที่ครูเปี๊ยกไม่ชอบ จะไม่ทำสิ่งนั้นกับคนอื่น ครูเปี๊ยกใช้หลักนี้หลักเดียวเป็นเครื่องเตือนใจ จำง่ายไม่ลืม


ครูเปี๊ยกบอกนักเรียนด้วยว่า คติประจำใจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเรา บางครั้งเราอาจจะตั้งคติประจำใจที่เป็นเป้าหมายเล็กๆ เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จก็ได้ สำคัญคือเราตั้งเอาไว้ เราต้องระลึกถึงคตินั้นอยู่เสมอไม่งั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์


คติประจำใจของครู จะเป็นเครื่องวัดความสม่ำเสมอในชุดความคิดหรือโลกทัศน์ที่ครูใช้ดำเนินชีวิต หากครูไม่ได้ใช้ นักเรียนจะมองออก จึงควรเป็นคติที่ออกมาจากบุคลิกลักษณะนิสัยของครูจริงๆ และสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวเรา เราก็จะใช้แนะนำนักเรียนได้อย่างทรงพลัง มากกว่าการแนะนำชุดความคิดในสิ่งที่ครูเองก็ยังไม่เชื่อมั่น


ตอนที่ 5 ครูเปี๊ยกจะนำหลัก Empathy มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในห้องเรียน เรื่องสำคัญที่ครูเปี๊ยกเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ ปัญหาการ Bully ซึ่งจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ 


**********


หมายเหตุ


1) "คติประจำบ้าน" ปรากฎในหนังสือ "สอนลูกอย่างไรให้เห็นใจคนอื่น" แปลจาก UnSelfie Why Empathetic Kids Suceed in Our All-About-Me World ของสำนักพิมพ์ SandClock Books ส่วนการนำเนื้อหามาปรับใช้ในห้องเรียน เป็นครูเปี๊ยกประยุกต์เอง หากเกิดความเข้าใจผิดประการใด เป็นความรับผิดของครูเปี๊ยกผู้เดียว


2) "สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับผู้อื่น" ภาษาอังกฤษคือ Negative Golden Rule ปรากฎในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ในปรัชญาขงจื่อคัมภีร์หลุนอวี่ (THE ANALECTS OF CONFUCIUS) สำนวนแปลของสุวรรณา สถาอานันท์


3) รูป เป็นตัวอย่างงานชวนเขียนคติประจำใจของนักเรียนชั้นป.5 นักเรียนติดไว้ที่โต๊ะทำงานของตนเอง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)