สรุปจาก Webinar insKru x Child Impact
พฤติกรรมป่วนที่เราต้องรับมือกันในห้องเรียน จนทำให้คุณครูรู้สึกเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ แทบทุกวัน ถ้าลองถามใคร ๆ ดูแล้ว ก็คงไม่อยากต้องมารับมือกันบ่อย ๆ อย่างแน่นอน จะดีกว่ามั้ย ถ้าเรามีวิธีแก้เรื่องนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จนเราไม่ต้องมาเหนื่อยกันอีก
นี่จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันจัด Webinar insKru x Child Impact “รับมือห้องเรียนเจ้าอารมณ์” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (ซึ่งนับเป็นภาคต่อของ Webinar “ไม่ต้องดุให้เสียบรรยากาศ ก็หยุดพฤติกรรมป่วนได้” https://inskru.com/idea/-NpNezbqDiTlKaBgm4xT ) เพื่อหาวิธีรับมือพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้อย่างยั่งยืน เปลี่ยนความหนักใจของคุณครูให้เบาบางลงได้อย่างถาวร โดยการจัด Webinar ครั้งนี้ ได้มีคุณครูมาแบ่งปันประสบการณ์ และวิธีการสร้างทักษะ SEL ในห้องเรียน 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่ “ผอ.ตั๊ก / ครูเนตร / ครูอิง” จากโรงเรียนวัดปากพิงตะวันตก และ “คุณบีน” นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรม และนักพฤติกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาคลี่คลายรายละเอียดของทักษะ SEL นี้ให้กับทุกคน
“คุณบีน” นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์ได้ให้นิยามของทักษะ SEL โดยคร่าวว่าเป็นทักษะในชีวิตประจำวันในตัวทุกคน ที่ช่วยให้รับรู้อารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างได้ เพื่อให้ควบคุม และปรับปรุงพฤติกรรมตัวเองได้นั่นเอง มีอยู่ทั้งหมด 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
เราจึงได้ชวนให้คุณครูแบ่งปันเรื่องราวบริบทในห้องเรียน แล้วจึงมาทำความเข้าใจรายละเอียดของทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) เพิ่มเติม ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาของคุณครูทุกคนโดยปกติแล้วนั้น มีพื้นฐานของการใช้ทักษะ SEL อยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนนั่นเอง
โดยเริ่มจากห้องเรียนของครูอิง ในช่วงชั้นป. 4 มีปัญหาของการจับกลุ่มเพื่อนกัน ตามความสามารถในการเรียน ทำให้มีการแหย่กัน ฟ้องกันไปฟ้องกันมาให้คุณครูปวดหัวอยู่บ่อยครั้ง
ในขณะที่ห้องเรียนของครูเนตร ในช่วงชั้น ม. 2 ซึ่งเป็นช่วงข้ามผ่านเข้าสู่วัยรุ่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง พบว่ามีความต่างวัยเกิดขึ้นเป็น Generation Gap กันระหว่างครูและนักเรียน นักเรียนจึงไม่ค่อยเข้าหาครู รวมถึงอยากพูดคุย อยากทำอะไรตามใจตัวเอง จึงเป็นอุปสรรคกับการสอนอยู่มากทีเดียว
และในภาพรวมของโรงเรียน ผอ.ตั๊กพบว่า นักเรียนที่มีพฤติกรรมป่วน ส่วนมากจะใช้ความรุนแรงกับเพื่อน ในกลุ่มครูด้วยกันเองรู้สึกว่าไม่เห็นทางออกแล้ว นอกจากต้องส่งนักเรียนออกไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่น แต่ผอ. ก็ได้นึกถึงคำพูดของ “ป้ามล - ทิชา ณ นคร” ที่เคยบอกว่า หากโรงเรียนผลักเด็กออกไปแล้ว ที่ต่อไปที่เด็กจะไปอยู่คือคุก เมื่อเห็นว่าการนำนักเรียนที่มีปัญหาออกไปจากโรงเรียนไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยา่ว ผอ.เลยได้หาแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหานักเรียนป่วน โดยได้พบเข้ากับ “ห้องเรียนเชิงบวก” และเลือกเสริมเรื่องของ ทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) ในที่สุด
จากการพิจารณาแล้ว คุณครูได้มองเห็นว่ารากของปัญหาที่ทุกห้องเรียนในโรงเรียนมีร่วมกัน หากแก้ไขได้ก็จะทำให้ปัญหาที่เจอคลี่คลายไปได้ก็คือ “การจัดการ-ควบคุม อารมณ์และพฤติกรรม” ซึ่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้สังเกต จะก่อให้เกิดพฤติกรรมได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งพฤติกรรมจำนวนมากก็คือพฤติกรรมที่เรานิยามกันว่าเป็น “พฤติกรรมป่วน” นั่นเอง นอกจากนี้บางพฤติกรรมของเพื่อนก็สามารถมากระตุ้นอารมณ์ของเราได้อีกด้วย คุณครูจึงต้องการเน้นไปที่การจัดการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมโดยต้องเริ่มเกิดขึ้นภายในตัวของนักเรียนเอง อย่างห้องเรียนครูอิง หากนักเรียนสามารถหยุดแหย่แกล้งกันได้ ก็จะไม่มีเรื่องใด ๆ ให้มาฟ้องกัน หรือห้องเรียนครูเนตร ที่หากนักเรียนสามารถหยุดพฤติกรรมตามใจตัวเองได้ คุณครูก็สามารถทำการสอนได้เหมือนปกติ
โดยห้องเรียนของครูอิง ซึ่งดูแลช่วงชั้นประถมปลาย คุณครูได้ออกแบบให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องอารมณ์จากหนังเรื่อง Inside Out ให้ได้รู้จักอารมณ์ต่าง ๆ จากความเป็นคาแรกเตอร์ที่มีสี จึงสามารถแบ่งได้อย่างชัดเจน ง่ายกับความเข้าใจ รวมถึงออกแบบกิจกรรมให้ได้ลองเล่นกันในห้อง โดยให้แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมนึงทำหน้าตาเพื่อบอกใบ้อารมณ์ ให้อีกทีมทายว่าเขากำลังทำสีหน้าอะไรกันอยู่ แล้วสลับกันไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ครูอิงยังได้เปิดพื้นที่ให้นักเรียนมาสะท้อนอารมณ์กับครู หากนักเรียนยังไม่อยากพูด จะให้เขียนแทน ถ้ายังไม่อยากเขียนอีกก็ให้วาด emoji ในการแสดงอารมณ์ให้ง่ายขึ้น กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนในห้องครูอิง สามารถตระหนักรู้ถึงหมู่มวลอารมณ์ที่เกิดได้ง่ายขึ้น และกล้าสื่อสารด้วยวิธีที่ตนเองถนัดที่สุด
ในขณะที่ห้องเรียนครูเนตร ดูแลในช่วงชั้นมัธยมต้น ครูเลยออกแบบให้นักเรียนได้เช็คอารมณ์ทั้งช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียน และก่อนกลับบ้านจดบันทึกไว้ผ่าน Mood Tracker เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มของอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง พร้อมช่วยคลี่คลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยการทำกิจกรรมให้นักเรียนใช้ Character Strength 20 กว่ารูปแบบ มาแลกเปลี่ยนมุมมองของตัวเองและเพื่อน ๆ ถึงจุดแข็ง และวิธีการเพื่อช่วยให้สามารถจัดการอารมณ์ได้ง่ายกว่าเดิม
เมื่อได้เห็นตัวอย่างที่คุณครูทำในห้องเรียนแล้ว คุณบีน จึงได้ใช้โอกาสนี้ยืนยันว่า ทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่คุณครูทำกันอยู่แล้วในการสอนนักเรียน เพียงแต่อาจไม่เคยรู้ตัว หรือจับกลุ่มให้เห็นภาพ เมื่อไม่เห็นภาพ จึงไม่รู้ว่าทักษะเหล่านี้สามารถปรับประยุกต์ หรือเรียนรู้เพื่อพัฒนาเพิ่มเติมได้นั้นเอง
คุณบีนยังได้เพิ่มเติมว่า การเสริมทักษะ SEL ของแต่ละช่วงวัยนั้นไม่เหมือนกันเลย อย่างช่วงวัยที่เป็นเด็กเล็ก การแบ่งเป็นสีง่าย ๆ หรือการใช้อิโมจิ เหมือนในห้องเรียนของครูอิงก็เพียงพอแล้ว เพราะไม่ซับซ้อนมากจนเด็ก ๆ สับสน หากอยากเพิ่มเติม เรายังไม่ต้องเริ่มเจาะลึกไปที่ความหลากหลายของอารมณ์ แต่ให้ลองดู “ขนาด” (Magnitude) ของอารมณ์นั้น ๆ ก่อนดีกว่า ความโกรธในระดับเบอร์ 1 กับ 5 ก็ไม่เหมือนกัน พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นก็จะไม่เหมือนกันไปด้วย โดยที่เด็ก ๆ วัยนี้ยังไม่เข้าใจความนามธรรม (เช่น ความรู้สึกประมาณนี้จะต้องเทียบเป็นระดับ เป็นเบอร์ เท่าไหร่กันแน่) คุณบีนเลยเสนอให้ลองเริ่มจากการเทน้ำให้เห็นปริมาณโดยคร่าว ๆ หรือนำตัวต่อมาวางว่ามีกี่ชิ้น ๆ แทน
เมื่อโตขึ้นมาในระดับประถม เราอาจเริ่มลงลึกขึ้นในคำนิยามของอารมณ์ได้ รวมถึงชวนให้มองว่าอารมณ์หนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น มักจะเกิดเพราะเหตุการณ์ใด และพฤติกรรมที่ตามมาเมื่อเรารู้สึกอารมณ์นั้น เช่น โกรธ เรามักจะกระทืบเท้า ถอนหายใจแรง ชักสีหน้า คุณบีนเพิ่มเติมว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ จึงต้องสะท้อนมาให้มีฉากรับอยู่เสมอ ผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าหากคุณครูมีทักษะกระบวนการ SEL ที่ดี จะยิ่งทำให้นักเรียนลอกเลียนแบบทักษะเหล่านั้นไปใช้ต่อได้ด้วย โดยเริ่มได้จากการรับรู้อารมณ์ และจัดการภายในของตัวเอง ซึ่งเทียบได้กับขั้นตอนที่ 1 และ 2 ในทักษะ SEL (Self-Awareness และ Self-Management) ก่อนที่เราจะเลือกพฤติกรรมของเราเองที่ไม่เสริมแรงพฤติกรรมลบของนักเรียน เช่น นักเรียนงอแง ลงไปดิ้นกับพื้นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ หากเราตอบสนองในสิ่งที่เขาอยากได้ไป ก็จะเป็นการเสริมแรงให้ทำพฤติกรรมแบบนั้นซ้ำ ๆ อีก รวมถึงเพื่อน ๆ นักเรียนก็อาจเห็นและคิดว่าพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่ถูก จึงเริ่มเรียกร้องความสนใจกับเรานั้นเอง
ผอ.ตั๊กได้บอกเพิ่มเติมว่าวิธีการสร้าง SEL ในตัวของครู ทางโรงเรียนสอดแทรกผ่านวงพูดคุย PLC ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ฝึกการมอง Character Strength ของครูในวง และได้ลองสะท้อนสิ่งที่ได้จากการพูดคุย พร้อม ๆ กับการสะท้อนอารมณ์ที่เกิดภายในวงพูดคุย เมื่อได้ฝึกซ้อมและเรียนรู้แล้ว ก็สามารถทำต่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนในห้องต่อไปได้
คุณบีนได้บอกกับเราด้วยว่า SEL ในมุมของเด็ก และผู้ใหญ่ไม่ได้ต่างกันมาก เพียงแต่ยิ่งโตขึ้น เราก็ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราไม่เคยรับมือมาก่อน เหตุการณ์เหล่านี้จะไปกระตุ้นความรู้สึกที่เราไม่เคยคลี่คลายมาก่อนได้ พอเราได้รู้อย่างนี้วิธีการนึงที่น่าสนใจ และน่านำไปใช้หากเราอยากทำให้ทักษะ SEL เกิดขึ้นในห้องเรียนของเราจริง คือการถามเด็ก ๆ เพิ่มเติมด้วยว่า “เหตุการณ์แบบนี้ เราเคยเจอมาก่อนมั้ย ?” และชวนยอนนึกถึงประสบการณ์ก่อนหน้าที่เรามี แล้วลองคิดดูว่าใกล้เคียงกับประสบการณ์ใดของเราบ้าง ?
จะเห็นได้ว่าหากเราต้องการหยุดพฤติกรรมป่วนได้นั้น เราต้องใช้ความพยายามในการเริ่มต้นทำสิ่งนี้กับตัวเองก่อน แล้วจึงสอนกับนักเรียนต่อไป ส่งผลต่อไปทำให้นักเรียนได้รู้ตัว และเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมส่งผลไปสู่การฝึกฝนการกำกับพฤติกรรมตนเองต่อไปในที่สุด ถึงจะใช้ความพยายามมาก แต่ก็สามารถหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อย่างยั่งยืนได้จริงนะ
ถ้าสนใจวิธีรับมือปัญหาในห้องเรียนแบบสร้างสรรค์ หรือเครื่องมือในการเสริมสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) เพิ่มเติม insKru และ Child Impact กำลังร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ให้คุณครูทำงานได้ง่ายดาย และสบายใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม ลองเข้าไปดูเครื่องมือใน https://bit.ly/ChildImpact-Main ได้เลย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!