สื่อการเรียนรู้รายวิชาศิลปะ สาระทัศนศิลป์ เรื่อง ทฤษฎีสี
ชุด "ทฤษฎีสีน่ารู้กับวงล้อสีหรรษา"
จัดทำโดย นางสาวนาฏลดา เพ็งศรี (ครูวุ้น) ครูผู้สอนรายวิชาศิลปะ สาระทัศนศิลป์ (ระดับประถมศึกษา)
โรงเรียนเทศบาล 11 หนองหิน

เกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้ : )
- สื่อการเรียนรู้ประเภท : สื่อสิ่งประดิษฐ์/สื่อทำมือ (วงล้อหมุนได้)
- สื่อการเรียนรู้ชุดนี้ ประกอบไปด้วย เรื่อง วรรณะสี สีใกล้เคียง คู่สีตรงข้าม คู่สีตรงข้ามใกล้เคียง ชุดสีสี่เหลี่ยม และชุดสีสามเหลี่ยม
- ใช้ร่วมกับบอร์ดเกมใน ชุดสื่อการเรียนรู้ เกมตะลุยป่า ตอน "ทฤษฎีสีน่ารู้กับวงล้อสีหรรษา" https://inskru.com/idea/-O3_gTBkaweRQf395IVo

(ภาพสื่อการเรียนรู้แบบโมเดลแรก ฐานสื่อใช้วัสดุ : ฟิวเจอร์บอร์ดหรือพลาสติกลูกฟูก)
วัตถุประสงค์
- วัตถุประสงค์การใช้สื่อ : ใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อทบทวนเนื้อหา
- วัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ :
- เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาเรื่อง ทฤษฎีสี
- เพื่อให้ผู้เรียนได้นำความรู้เรื่องสีไปใช้ในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์
- เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในการเรียน ตลอดจนเห็นคุณค่าเรื่องการเลือกใช้สี และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับเนื้อหาสื่อการเรียนรู้
มาตรฐาน ศ 1.1 สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ตามจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ คุณค่า งานทัศนศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่องานศิลปะอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
- ศ 1.1 ป.1/4 สร้างงานทัศนศิลป์ โดย การทดลองใช้สี ด้วยเทคนิคง่าย ๆ
- ศ 1.1 ป.2/2 ระบุทัศนธาตุที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม และงานทัศนศิลป์ โดยเน้นเรื่องเส้น สี รูปร่าง และรูปทรง
- ศ 1.1 ป.3/6 วาดภาพถ่ายทอด ความคิดความรู้สึกจากเหตุการณ์ ชีวิตจริง โดยใช้เส้น รูปร่าง รูปทรง สี และพื้นผิว
- ศ 1.1 ป.4/2 อภิปรายเกี่ยวกับอิทธิพลของสีวรรณะอุ่นและสีวรรณะเย็นที่มีต่ออารมณ์ของมนุษย์
- ศ 1.1 ป.4/9 เลือกใช้วรรณะสีเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในการสร้างงานทัศนศิลป์
- ศ 1.1 ป.5/3 วาดภาพ โดยใช้ เทคนิคของแสงเงา น้ำหนัก และวรรณะสี
- ศ 1.1 ป.6/1 ระบุสีคู่ตรงข้าม และอภิปรายเกี่ยวกับการ ใช้สีคู่ตรงข้ามในการถ่ายทอดความคิดและอารมณ์
- ศ 1.1 ป.6/6 สร้างสรรค์งาน ทัศนศิลป์โดยใช้สีคู่ตรงข้าม หลักการจัดขนาดสัดส่วนและความสมดุล

(ภาพสื่อการเรียนรู้แบบปัจจุบัน ฐานสื่อใช้วัสดุ : โฟมบอร์ด ปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานง่ายและไม่บาดมือ)
ขั้นตอนการผลิตสื่อการเรียนรู้
- วาดภาพวงล้อสีหรือวงจรสีตามขนาดที่ต้องการ (สามารถดาวน์โหลดเทมเพลทได้เลยค่ะ)
- วาดแผ่นเนื้อหาโดยจะเจาะช่องเฉพาะช่องที่จะแสดงให้เห็นสีที่จะใช้สอนในเนื้อหาย่อย เช่น เรื่องคู่สีตรงข้าม ให้ เจาะ 2 ช่องตรงข้ามกัน
- ตัดทั้ง 2 ส่วนตามข้อ 1-2 ให้เป็นวงกลมตามที่วาดไว้และนำไปเคลือบพลาสติกเพื่อความคงทน
- เจาะรูประมาณ 1 เซนติเมตร ตรงกลางของแผ่นงานส่วนที่ 2 (ส่วนเนื้อหา) ให้มีขนาดเท่ากันกับวงล้อสี โดยวงล้อสีไม่เจาะก็ได้
- ตัดแผ่นพลาสติกแข็ง (ใช้พลาสติกจากการเคลือบเหลือก็ได้) ให้เป็นรูปวงกลมเล็กขนาดประมาณ 1:5 ส่วนของวงล้อสี
- ใช้ปากกาวาดตามรูของวงล้อสี ลงตรงกลางของแผ่นพลาสติกวงกลมเล็ก จากนั้นตัดเป็น 4 แฉก โดยเว้นบริเวณรอยปากกา ตามภาพ(6)
- นำกาวสองหน้าหรือกาวใดก็ได้ ติดแผ่นวงล้อสีให้เข้ากับฐานรองสื่อ
- ติดกาวสองหน้าที่ชิ้นส่วนแผ่นพลาสติกวงกลมเล็ก ตามภาพ(8) จากนั้นนำไปติดที่วงล้อสีให้ตรงกลางเท่ากันพอดี
- นำแผ่นงานส่วนที่ 2 มาประกอบใส่กัน โดยให้แผ่นพลาสติกวงกลมเล็กเป็นตัวล็อก แผ่นงานส่วนที่ 2 ไว้ ทำให้งานไม่หลุดและหมุนได้
- ทดลองหมุนเช็คความเรียบร้อย เป็นอันเสร็จ !!! เย้

(ภาพขั้นการผลิตสื่อการเรียนรู้)
วิธีการใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ทฤษฎีสี
- เลือกใช้สื่อการเรียนรู้ ตามเนื้อหาที่สอน สามารถใช้ในขั้นนำ/ระหว่างสอนหรือทำกิจกรรม/ทบทวนเนื้อหาก็ได้
- การใช้ให้หมุนตัวสื่อตามเข็มนาฬิกา หรือทวนเช็มนาฬิกาเพื่อหมุนหาสีชุดสีหรือคู่สีที่ถูกต้องตามเนื้อหาเรื่องที่สอน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับทัศนธาตุในเรื่องย่อย คือ เรื่อง "สี" ซึ่งประกอบไปด้วยทฤษฎีสีต่าง ๆ จากสื่อการเรียนรู้ชุดนี้ ที่นำเอาเนื้อหา ด้านทฤษฎีดังกล่าว พัฒนาออกมาในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถจับต้องได้ ได้ใช้งานด้วยตัวเอง เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ
- รูปแบบสื่อฯ มีความน่าสนใจแปลกใหม่ กระตุ้นการเรียนรู้ ดึงดูดใจ สามารถช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันได้
- ผู้เรียนสามารถนำความรู้เรื่องทฤษฎีสีไปปฏิบัติงาน สร้างสรรค์ ถ่ายทอด ผลงานทัศนศิลป์ในชั่วโมงเรียนได้ โดยผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
- ผู้เรียนเกิดความสนุกในการเรียน ตลอดจนเห็นคุณค่าเรื่องการเลือกใช้สี และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
******* สื่อการเรียนรู้ชุดนี้ ผู้จัดทำได้นำไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้ว พบว่า ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนในชั่วโมงเพิ่มขึ้น มีการตื่นตัว กระตือรือร้น มีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น (สังเกตจากการตอบคำถาม) เมื่อเรียนรู้ตามกำหนดการสอน ผู้เรียนมีความรู้เรื่อง ทฤษฎีสี ที่คงทนเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและนำไปใช้ประยุกต์กับเรื่องชีวิตประจำได้ เช่น บรรยากาศตอนฝนตกเย็นสดชื่น ควรใช้สีในวรรณะใด ใช้สีใกล้เคียงกลุ่มใด เป็นต้น
******* หากคุณครูท่านใดนำไอเดียนี้ไปใช้เป็นแนวทางผลิตสื่อการเรียนรู้หรือมีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ สามารถแลกเปลี่ยนในช่องคอมเมนท์ได้เลย : ) ครูวุ้นหวังว่าไอเดียนี้จะเกิดประโยชน์แก่คุณครูท่านอื่น นักเรียนของเรา และผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยนะคะ
******* Template สื่อการเรียนรู้สำหรับแบ่งปัน (ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เชิงพาณิชย์นะคะ)