inskru
insKru Selected

เกมขนส่งทั่วไทยไม่จำกัด (Delivery for you !)

6
4
ภาพประกอบไอเดีย เกมขนส่งทั่วไทยไม่จำกัด (Delivery for you !)

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

แนวคิดนี้มาจากไอเดียของครูนัทเลยครับ เคยเอาไปให้นักเรียนลองเล่นเมื่อปีที่แล้ว พอมาปีนี้เราอยากลองเปลี่ยนเกมของครูนัทออกมาเป็นบอร์ดเกมที่แต่ละกลุ่มสามารถดำเนินการเล่นด้วยตัวเองได้ทันที และประกอบกับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ 2 ที่มีเนื้อหาเรื่องแรกเป็นปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่แนวตรง เมื่อเรียนแล้วก็อยากให้นักเรียนได้ลองหยิบสมการที่นักเรียนได้เรียนมาใช้ในสถานการณ์จำลองผ่านการเปิดบริษัทขนส่งที่จะต้องรับงานส่งของหรือส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ที่มีในแผนที่ให้ทันเวลาตามเงื่อนไขของงานที่ทำเพื่อให้ได้รายได้เข้าบริษัทมากที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษายานพาหนะ และอัตราเร็ว รวมถึงลักษณะเฉพาะตัวของยานพาหนะที่มีในครอบครองจากการประมูลซื้อแข่งกับบริษัทอื่น ๆ ดังนั้นจุดประสงค์หลักก็คือ

1) นักเรียนสามารถคำนวณเวลาที่ใช้ในการทำงานจนส่งจากสมการการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีอัตราเร็วคงตัวได้

2) นักเรียนสามารถคำนวณต้นทุนค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาได้

3) นักเรียนสามารถจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัทได้

4) นักเรียนสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางที่จะใช้ขนส่งและเลือกงานที่ทำโดยคำนึงถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุดได้

ปล. การเลือกสถานที่เพื่อออกแบบเป็นจุดต่าง ๆ ในแผนที่ เราพยายามเลือกจุดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่หลากหลายจากทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักสถานที่เหล่านั้นไปด้วย แล้วเราก็ให้ AI ใน Canva สร้างรูปสถานที่เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์บนแผนที่ AI ใน Canva ทำออกมาได้สวยแจ่มมากครับ

ขั้นตอน

การเตรียมการก่อนเล่น

1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 8 คน และจับคู่กันจะได้ผู้เล่น 4 คู่

2) นำการ์ดภารกิจ Delivery จำนวน 32 ใบ มาสับไพ่แล้วคว่ำไว้กองกลาง

3) นำการ์ดยานพาหนะจำนวน 12 ใบ มาสับไพ่แล้วคว่ำไว้กองกลาง

4) นำการ์ดพิเศษจำนวน 8 ใบ มาสับไพ่แล้วคว่ำไว้กองกลาง

5) นำแผนที่ขนส่งทั่วไทยไม่จำกัดมากางออกไว้ตรงกลาง

6) ให้แต่ละคู่เลือกจุดตั้งบริษัทของตัวเองบนแผนที่ โดยลำดับการเลือกให้ขึ้นกับการตกลงในกลุ่ม เช่น เป่ายิงฉุบ โอน้อยออก จับฉลาก ใช้โปรแกรมสุ่ม เป็นต้น

7) ลำดับการเริ่มเล่นในรอบที่ 1 ให้ตกลงกันในกลุ่มว่าคู่ใดจะเริ่มเล่นก่อนหลัง อาจใช้การสุ่มด้วยวิธีใดก็ได้หรืออาจใช้ลำดับจากข้อ 6) ก็ได้

8) เกมนี้เมื่อผู้เล่นเล่นครบทั้ง 4 คู่ จะนับเป็น 1 รอบ ซึ่งเกมนี้จะเล่นทั้งหมด 4 รอบ

9) ให้ผู้เล่นที่มีลำดับการเล่นเป็นลำดับที่ 1 2 3 และ 4 ในการเล่นรอบที่ 1 เปลี่ยนไปเล่นเป็นลำดับที่ 4 1 2 และ 3 ในการเล่นรอบที่ 2 เปลี่ยนไปเล่นเป็นลำดับที่ 3 4 1 2 ในการเล่นรอบที่ 3 และเปลี่ยนไปเล่นลำดับที่ 2 3 4 และ 1 ในรอบที่ 4 กล่าวคือ ให้ลดลำดับการเล่นของตนเองไป 1 ลำดับ ในการเล่นรอบถัดไป (ตรงนี้ทำเพื่อไม่ให้ผู้เล่นคู่ใดคู่หนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน)

ขั้นตอนการเล่น

1) ผู้เล่นแต่ละคู่จะได้รับเงินลงทุนเริ่มต้นคู่ละ 2,000 บาท

2) ผู้เล่นแต่ละคู่จะต้องแข่งกันประมูลซื้อยานพาหนะสำหรับให้บริการ Delivery โดยให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งเปิดการ์ดยานพาหนะครั้งละ 1 ใบ ผู้เล่นคู่ใดที่ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าก็จะได้ยานพาหนะชนิดนั้นไป และประมูลซื้อแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนการ์ดยานพาหนะหมดจากกองกลาง โดยผู้เล่นแต่ละคู่จะประมูลซื้อยานพาหนะได้ไม่เกิน 3 ชนิด และต้องมียานพาหนะประเภทรถยนต์ไม่เกิน 2 คัน

3) เมื่อเริ่มเล่น ผู้เล่นแต่ละคู่จะต้องเปิดการ์ดภารกิจ Delivery จำนวน 4 ใบ วางเรียงไว้กองกลาง แล้วเลือกทำภารกิจจำนวน 2 ใบ จาก 4 ใบ โดยคำนึงถึงประเภทยานพาหนะที่จะใช้เพื่อจะเดินทางให้บริการทันเวลา ค่าน้ำมัน รายได้ และผลกำไรที่จะได้จากการ์ดแต่ละใบ ซึ่งในการให้บริการจะต้องเริ่มคิดระยะทางจากบริษัทของตัวเองไปตามเส้นทางที่เราเลือกจนไปถึงจุดนัดหมายต้นทางและเดินทางไปถึงจุดนัดหมายปลายทาง

ในการหาเวลาที่ใช้ในการเดินทางทั้งหมดจะสามารถคิดได้จากสมการ เวลา = ระยะทาง/อัตราเร็วของยานพาหนะที่ใช้

ถ้าใช้ระยะทางเป็นกิโลเมตรและใช้อัตราเร็วเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง จะได้หน่วยของเวลาเป็นชั่วโมง

ในกรณีที่ได้เวลาเป็นทศนิยม เช่น 2.4 ชั่วโมง จะคิดเป็นหน่วยชั่วโมงและนาทีได้ดังนี้ 2.4 ชั่วโมง = 2 ชั่วโมง + 0.4 ชั่วโมง และเรารู้ว่า 1 ชั่วโมง = 60 นาที จะได้ 0.4 ชั่วโมง = 0.4 x 60 นาที = 24 นาที ดังนั้น 2.4 ชั่วโมง คิดเป็น 2 ชั่วโมง 24 นาที

หากใช้เวลาเดินทางไม่ทันตามที่การ์ดภารกิจ Delivery กำหนด จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน

ข้อควรระวัง : การใช้ยานพาหนะจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามเส้นทางที่เลือก เช่น เดินทางทางบกก็ต้องใช้รถยนต์ เดินทางทางน้ำก็ต้องใช้เรือ เดินทางทางอากาศก็ต้องใช้เครื่องบิน (ใช้เครื่องบินบินได้ตามเส้นทางการบินที่มีในแผนที่เท่านั้น) และบนเส้นทางต้องใช้ยานพาหนะเพียงคันเดียวเท่านั้น เช่น เดินทางทางบกก็ใช้ได้แค่รถยนต์เพียงคันเดียวเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนรถยนต์เป็นคันอื่นระหว่างทาง เป็นต้น

4) การคิดค่าน้ำมันสามารถคิดได้ดังนี้ ค่าน้ำมัน = ระยะทางในหน่วยกิโลเมตร x อัตราค่าน้ำมันต่อกิโลเมตรของยานพาหนะ

5) หากผู้เล่นคู่ใดรู้สึกไม่พอใจกับการ์ดภารกิจ Delivery ที่เปิดได้และต้องการจะเปลี่ยนการ์ดกับกองกลาง จะต้องจ่ายเงินค่าเสียโอกาสจำนวน 100 บาทต่อ 1 ใบที่เปลี่ยน และอนุญาตให้เปลี่ยนได้ไม่เกิน 4 ใบใน 1 รอบ

6) ในระหว่างการเล่น ผู้เล่นสามารถสุ่มเปิดการ์ดพิเศษจำนวน 1 ใบเท่านั้น ด้วยการจ่ายเงินซื้อการ์ดพิเศษ 1,000 บาท ซึ่งการ์ดนี้จะมีผลตลอดการเล่น แต่ไม่ส่งผลย้อนหลังไปถึงภารกิจ Delivery ที่ทำเรียบร้อยแล้ว

7) ผู้เล่นคู่ลำดับถัดไปก็เล่นลักษณะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 4 คู่ นับเป็น 1 รอบ และเล่นไปจนครบ 4 รอบ เกมจึงจะจบ

8) ผู้เล่นคู่ที่ชนะจะตัดสินจากเงินคงเหลือของบริษัทที่มากที่สุด

แนะนำว่าก่อนแจกอุปกรณ์ให้นักเรียนเล่น ครูควรทบทวนสมการการเคลื่อนที่กรณีอัตราเร็วคงตัว สาธิตการคำนวณค่าน้ำมัน การคำนวณเงิน การลงข้อมูลบัญชีรายรับรายจ่าย และการคำนวณเงินคงเหลือให้นักเรียนทำความเข้าใจ เพื่อให้นักเรียนเล่นได้อย่างเต็มที่โดยมีข้อสงสัยระหว่างเล่นน้อยที่สุด และเกมนี้เราใช้ตัวหมากที่เป็นคนจำนวน 4 สีที่แตกต่างกัน แจกให้ผู้เล่นแต่ละคู่ด้วยนะครับ เพื่อให้ผู้เล่นใช้ในการบอกเส้นทางที่จะเลือกเดินทางทำงาน

บรรยากาศในห้องบางส่วนครับ

ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

จากการให้นักเรียนเล่น เราพบว่า นักเรียนเล่นกันสนุกสนานมาก ห้องเรียนจะแตกเอา 5555555 ระหว่างเล่นก็มีนักเรียนมีข้อสงสัยอยู่ เราก็จะคอยเข้าไปตอบคำถามให้ พอเล่นจริงเราพบว่า ภายใต้เวลาแค่ 100 นาที (2 คาบเรียน) นักเรียนส่วนใหญ่เล่นได้แค่ 2 รอบเท่านั้น บางกลุ่มก็เล่นได้แค่รอบเดียว ทีนี้พอมีเวลาท้ายคาบประมาณ 5 นาที เราก็ให้นักเรียนทำแบบสอบถามผ่าน Google form โดยมีคำถาม 3 ข้อ ได้แก่

1) หลังเล่นเกมแล้วนักเรียนรู้สึกอย่างไรบ้าง

2) ระหว่างเล่นนักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง

3) ข้อค้นพบอะไรจากเกมที่นักเรียนจะลองหยิบไปใช้ในชีวิตจริงในอนาคต

สำหรับข้อแรกก็พบว่าความรู้สึกมีหลากหลายมาก มีทั้งเครียด ปวดหัว งง เศร้าเพราะล้มละลาย สนุกสนานกับการคำนวณและรู้สึกลุ้นในการทำภารกิจนั้น ๆ ว่าจะสามารถทำกำไรได้หรือไม่ เฮฮา เป็นต้น

ข้อที่สองมีหลากหลายคำตอบ เช่น เรียนรู้เรื่องต้นทุนและกำไร การวางแผนจัดการ การคำนวณระยะทาง เวลา การคำนวณค่าน้ำมัน

ข้อที่สามก็มีหลากหลายคำตอบเช่นกัน เช่น "การทำงานร่วมกันเป็นทีม การวางแผนจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การทำบัญชีรายรับจ่าย การตั้งเป้าหมายในชีวิต" "สามารถนำไปปรับใช้กับการไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ภายในเวลาที่กำหนดได้" "การคำนวณเกี่ยวกับอัตราเร็วว่าต้องใช้เวลากี่ชั่วโมงถึงจะไปถึงจุดหมาย" "ประมูลดีดี คิดเย้อๆ" "การเปิดบริษัทไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้จ่ายเยอะมาก"

และเราได้มีการสุ่มถามเชิงลึกกับนักเรียนบางคน ขอยก feedback มาประมาณนี้แล้วกันครับ

"หนูรู้สึกว่ากิจกรรมนี้สนุกนะคะ แถมได้ให้เราลองคิดในมุมของธุรกิจถ้าเราเป็นเจ้าของจะทำยังไงให้เราได้กำไรมากที่สุด แล้วก็ได้ความรู้ทางฟิสิกส์ในการคำนวณด้วยค่ะ หนูว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆเล่นสนุกๆดีค่ะ แต่ในกลุ่มหนูมีปัญหานิดหน่อยตรงที่งงวิธีการหาการเล่นนิดหน่อยค่ะ เช่นตอนที่พวกหนูไม่รู้ว่าควรจะเริ่มตรงไหนยังไง เลยอาจจะเกิดการมีปากเสียงนิดหน่อยค่ะ555555" และนักเรียนก็แนะนำวิธีลดความงงในการเล่นด้วยการทำคลิปสอนเล่น แล้วส่งให้นักเรียนดูมาล่วงหน้า

"เมื่อวานนี้สนุกมากค่ะ สื่อกิจกรรมพร้อมมากก แอบมีสับสนนิดๆแต่พอเข้าใจการเล่นแล้ว เพลินมากค่ะ5555 คำนวณไม่ยาก ไม่เครียดด้วยค่ะ สูตรก็พร้อม สื่อก็ดีสุด ๆ ค่ะ น่าเล่นมาก เมื่อวานเลยเป็นไปได้ดีมากค่ะ ได้เล่นกับเพื่อน ๆ ที่ถ้าปกติคงไม่ได้คุยอะไรกันมากก็สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไปอีกแบบค่ะ ช่วงสุดท้ายที่เขียนยอดคงเหลือ อันนี้ชอบมากค่ะ😆น่าจะตื่นเต้นไม่น้อยกว่าการประมูลยานพาหนะเลยค่ะเพราะอยากรู้ว่าขาดทุนหรือเปล่า นานๆทีจะได้เล่นอะไรแบบนี้สนุกมากค่ะ คลายเครียดด้วยถึงตอนเล่นจะแอบงงบางช่วงแต่พอเล่นแล้วก็อยากเล่นต่ออีกเรื่อยๆเลยค่ะ😂" แล้วก็นักเรียนมีคำแนะนำเพื่อลดความงงในกติกาดังนี้ "สำหรับหนูลองเล่นหนึ่งครั้งแล้วก็เข้าใจค่ะ อาจจะเห็นภาพมากขึ้น แต่ถ้าในความคิดหนูคิดว่าควรจะลองเล่นตั้งแต่ครูอธิบายแบบว่าเล่นไปพร้อมๆกับฟังครูอธิบายไปก่อนคร่าวๆค่ะ พอถึงเวลาเล่นจริงจะได้คล่องมากขึ้นค่ะ อาจจะใช้แค่ 1 คู่ทำตามคำอธิบายครูแล้วคนอื่นๆก็ตั้งใจดูตามประมาณนี้ค่ะๆ"

"ชอบค่ะ กิจกรรมสนุกได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับการคำนวณและได้วางแผนการเล่นว่าจะใช้วิธีไหนได้ใช้ความรู้ควบคุมไปกับการเรียนรู้ค่ะ กิจกรรมกำลังพอดีค่ะมีสีสันมีกติกาการเล่นที่ชัดเจน"

"ส่วนตัวผมรู้สึกว่าสนุกมากครับได้ทบทวนเนื้อหาเล็กๆน้อย ๆ ไปในตัวด้วยแล้วเพื่อน ๆ ก็ดูจะสนุกดีทำให้รู้สึกว่ามันไม่น่าเบื่อผมว่าเพื่อน ๆ ก็น่าจะชอบ ส่วนตัวผมก็ชอบเหมือนกันครับ ถ้าสอนทันแล้วเวลาเหลือผมก็อยากให้มีกิจกรรมประมาณนี้อีกแต่อาจจะเป็นในรูปแบบอื่นก็ได้ครับ"

"จริงๆเรื่องธุรกิจผมก็ว่าบางทีก็ควรจะซื้ออะไรที่มันคุ้มค่า ไม่ต้องประหยัดมากเพราะได้ภารกิจมาแล้วแต่ทำตามเงื่อนไขไม่ได้ทำให้เสียโอกาสเยอะเลยครับผมขาดทุนยับเลยตอนรอบแรก"

สรุปว่าตอบวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อด้านบนนะครับ :)

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

เกมนี้ถ้าจะให้ดีมากขึ้นเราอาจจะต้องทำคลิปสอนเล่นไว้ให้นักเรียนดูก่อนเล่นด้วยเพื่อลดความสับสนในกติกา เพราะบางทีเราอธิบายในห้องเฉย ๆ นักเรียนอาจจะยังมีข้อสงสัยอยู่ หรือใช้การสาธิตการเล่นโดยตัวแทนนักเรียนก็เป็นความคิดที่ดีนะครับ

ขอบคุณแรงบันดาลใจจาก

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์มัธยมปลายเกมและกิจกรรมBoardgameแรงและการเคลื่อนที่กลศาสตร์

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    6
    ได้แรงบันดาลใจ
    4
    ลงไอเดียอีกน้า~
    avatar-frame
    แบ่งปันโดย
    insบวรพันธ์ ผาสุข

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ