icon
giftClose
profile

คุณครูนักกู้ใจ

32964
ภาพประกอบไอเดีย คุณครูนักกู้ใจ

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) คืออะไร? สิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้จริงหรือไม่? มาลองหาคำตอบผ่านห้อง “คุณครูนักกู้ใจ” ในกิจกรรม ครูปล่อยของ PLC Day 2 ประจำเดือนตุลาคม 2565

ชวนคุณครูร่วมเรียนรู้หนึ่งในกลเม็ดการพัฒนาห้องเรียน ผ่านการเรียนรู้ทางทางอารมณ์และสังคม (SEL) พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเครื่องมือ “ไดอารี่กู้ใจ” และนำเสนอตัวอย่างการใช้กิจกรรมผนวกทักษะทางอารมณ์และสังคม เพื่อกู้ใจทั้งคุณครูและนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน โดยคุณอิ่ม - อรกช ไมตรี Teacher Developer จาก insKru

Check-in

คุณครูที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ร่วมเช็กอินผ่านบทความนี้ไปด้วยกันนะ :)

เริ่มต้นเช้าวันกิจกรรมด้วยบรรยากาศสบาย ๆ กับเช็กอินที่ว่า “สัปดาห์นี้ของคุณครูเป็นอย่างไรบ้าง?” ซึ่งคุณครูผู้เข้าร่วมได้สะท้อนถึงภาระงานที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจข้อสอบปลายภาคที่แสนวุ่นวาย การพักผ่อนหลังจบภาคเรียน หรือความรู้สึกที่พร้อมสำหรับการเริ่มต้นกิจกรรมในห้องนี้

คุณอิ่มชวนคุณครูลองใช้เครื่องมือ mood meter เพื่อทำให้เช็กอินมีรายละเอียดที่มากขึ้น โดยคุณครูลองสำรวจกับตนเองดูว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีระดับความพึงพอใจ (แกนนอน) และระดับพลังงานของคุณครู (แกนตั้ง) อยู่ในระดับไหน? และเครื่องมือนี้จะระบุชื่ออารมณ์ที่คุณครูกำลังรู้สึกอยู่ในขณะนี้

เมื่อคุณครูได้ลองเลือกอารมณ์ตามความรู้สึกของตนเอง ทำให้เห็นความรู้สึกที่เติมเต็มภายในของตนเองมากขึ้น และได้เห็นมิติของอารมณ์ที่หลากหลาย

และสิ่งนี้ คือจุดเริ่มต้นของ “การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์”


การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม หรือ Social and Emotional Learning (SEL) เป็นทักษะที่ชวนให้เราทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง พร้อมช่วยจัดการอารมณ์และชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยฝึกฝนทักษะการเอาใจใส่ผู้อื่นให้มากขึ้นอีกด้วย


แบ่งปันเครื่องมือ SEL


💗 ทักษะกู้ใจ 5 ขั้นตอน 

  1. รู้อารมณ์ (Self-Awareness) ในขั้นแรก เป็นการทำความรู้จักอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออกของตนเองเมื่อเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น อารมณ์โกรธ จะมีความรู้สึกที่ขุ่นมัว สีหน้าบึ้งตึง ขมวดคิ้ว และหายใจแรง ๆ หรือความรู้สึกเสียใจ น้ำเสียงของเราจะสั่นเครือ ใบหน้าเศร้าหมองลง เป็นต้น
  2. จัดการอารมณ์ (Self-Management) เมื่อรับรู้แล้วว่า เราแสดงออกแต่ละอารมณ์อย่างไร ต่อมาคือการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ให้แสดงออกทั้งสีหน้าท่าทาง พฤติกรรม และความคิด ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่า คุณครูมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของนักเรียนมาก ๆ การปรับอารมณ์ของตนเองก่อนเริ่มสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจส่งผลต่อบรรยากาศของห้องเรียนในคาบนั้น ๆ
  3. รู้ความรู้สึก (Social Awareness) ในขั้นนี้ เราจะเริ่มขยายไปที่การเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือเพื่อนครูด้วยกันเองก็ตาม ว่าเขาแสดงออกอย่างไร และภายใต้การแสดงออกนั้น เขากำลังรู้สึกเช่นไรอยู่?
  4. บริหารความสัมพันธ์ (Relationship Skills) หลังจากได้เรียนรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและอีกฝ่ายแล้ว การทำความเข้าใจเพื่อบริหารความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม
  5. รับผิดชอบต่อการตัดสินใจ (Responsible Decision-Making) เมื่อตัดสินใจในการแสดงออกของตนเองแล้ว สิ่งสำคัญคือการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ และพาตนเองและอีกฝ่ายไปยังปลายทาง เช่น เมื่อเราถูกตำหนิจากผู้อื่น แต่ปล่อยอารมณ์โกรธใส่นักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเสียใจ สิ่งที่เราต้องทำ คือการรับผิดชอบการกระทำของตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการให้เวลาทบทวนทั้งตนเองและนักเรียนก่อน และเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จึงพูดคุยเพื่อขอโทษและหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน


📏 RULER

R (Recognizing) การรับรู้อารมณ์และความรู้สึก : สามารถบอกได้ว่า อารมณ์ของตนเองคืออะไร อาจจะมีชื่อเรียกหรือไม่ก็ได้

U (Understanding) การเข้าใจสาเหตุและอารมณ์ที่เกิดขึ้น : สามารถเข้าใจสาเหตุ และที่มาที่ไปอารมณ์ของตนเองได้

L (Labeling) การแยกแยะอารมณ์และความรู้สึก : สามารถแยกแยะอารมณ์ได้ แปะป้ายหรือบอกชื่ออารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งในกิจกรรมโฮมรูมได้ใช้ mood meter เป็นตัวช่วย

E (Expressing) การเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์และความรู้สึก : สามารถแสดงอารมณ์ที่เหมาะสมตามบริบทได้อย่างสร้างสรรค์

R (Regulating) การจัดอารมณ์และความรู้สึก : สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


SEL สำคัญอย่างไรต่อนักเรียน?


  • ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และช่วยลดสภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ที่เกิดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน
  • ช่วยลดอัตราการรังแกในกลุ่มนักเรียน รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและเพื่อนมากขึ้น
  • ช่วยลดอัตราการหลุดออกจากการศึกษากลางคัน คุณครูได้รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของนักเรียนมากขึ้น ทำให้นักเรียนรู้สึกไม่โดดเดี่ยว
  • ช่วยเพิ่มคุณลักษณะที่ดีในตัวนักเรียน


การนำ SEL ไปปรับใช้ในห้องเรียน


คุณอิ่มได้แนะนำตัวอย่างการนำ SEL ไปปรับใช้ในห้องเรียน เช่น การจัดวงคุยสะท้อนอารมณ์ในช่วงโฮมรูม การจัดบอร์ดเพื่อให้นักเรียนสะท้อนอารมณ์ของตนเอง การเขียนไดอารี่ทบทวนตนเอง หรือไอเดียการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับอารมณ์และโซนพลังงานตามเครื่องมือ Mood Meter ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ดีสำหรับรูปแบบห้องเรียนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น

❤️ โซนสีแดง จะเป็นห้องเรียนที่น่าตื่นเต้น เหมาะกับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหว 

💙 โซนสีฟ้า เหมาะกับการดึงพลังงานลงมาให้สงบลง อาจจะเป็นการชวนสะท้อนคิดช่วงท้ายคาบ หรือสรุปกิจกรรมที่เกิดขึ้น 

และเมื่อนักเรียนมีโซนพลังงานที่เกิดกว่าความตั้งใจของคุณครู ก็สามารถใช้กิจกรรมอื่น ๆ ช่วยเบรกนักเรียนได้ เช่น การนั่งสมาธิ การใช้สัญลักษณ์เตือน เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณอิ่มได้ชวนคุณครูผู้เข้าร่วมระดมไอเดียกิจกรรมเพิ่มเติม ตามแนวคิดของ RULER ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การแสดงบทบาทสมมติตามอารมณ์ การวิเคราะห์อารมณ์ของตัวละครในภาพยนตร์ หรือชวนคิดหาแนวทางการกำกับอารมณ์ในรูปแบบของตนเอง ซึ่งคุณครูสามารถลองปรับใช้ในห้องเรียนได้เลย

และก่อนหน้านี้ ทีมงาน insKru ได้กิจกรรม webinar “หน่วยกู้ใจ เติมไฟการเรียนรู้ ด้วยการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม”ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชวนคุณครูทำความรู้จัก SEL และเชื่อมโยงประสบการณ์ที่คุณครูพบเจอในห้องเรียน กับ ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์

สามารถอ่านเนื้อหาบางส่วนจากกิจกรรมได้ที่นี่

https://inskru.com/idea/-NAbuj_w2l7OfGDCNU9O 

หลังจากกิจกรรม webinar ทีมงานได้ชวนคุณครูส่วนหนึ่งมาร่วมปฏิบัติการกู้ใจนักเรียน ซึ่งได้สะท้อนการใช้งาน SEL ผ่านเครื่องมือ “ไดอารี่กู้ใจ” ที่ insKru ได้พัฒนาขึ้นมาสำหรับการส่งเสริมการใช้ SEL ในห้องเรียนโดยเฉพาะ ภายในไดอารี่แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การใช้งาน SEL ในห้องเรียน และการกู้ใจคุณครู จากการบอกอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามหลัก RULER พร้อมกับการตอบกลับจากทีมงานทุกสัปดาห์

เสียงสะท้อนของ “ไดอารี่กู้ใจ”

https://inskru.com/idea/-NEVvZPNqoHBG6NIWXMo

ทั้งหมดนี้ คือบรรยากาศของห้อง “คุณครูนักกู้ใจ” ที่คุณครูได้เรียนรู้การพัฒนาห้องเรียน ด้วยการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม และได้ระดมไอเดียกิจกรรมดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้ หากคุณครูท่านใดได้ลองใช้ SEL ในห้องเรียนแล้ว สามารถรีวิวประสบการณ์การสอน และแบ่งปันกิจกรรมดี ๆ เพิ่มเติมที่ใต้คอมเมนต์นี้ได้เลย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(6)