icon
giftClose
profile

ทุ่มทุกอย่างเพื่อเริ่มใหม่ สู่อ่านออกเขียนได้ภายในเทอมเดียว

33314
ภาพประกอบไอเดีย ทุ่มทุกอย่างเพื่อเริ่มใหม่ สู่อ่านออกเขียนได้ภายในเทอมเดียว

ป.1 อีกครั้ง แต่ต้องเริ่มใหม่ หยิบทุกเทคนิค รวมทุกประสบการณ์

งัดทุกนวัตกรรม มาใช้เดิมพันกับครั้งนี้!!

เริ่มจาก 0 สู่การอ่านออกเขียนได้ท้ายเทอม 1 อ่านได้ เขียนได้ แต่งประโยคจากภาพอิสระได้ #ideacollection2023

(จะทยอยอัปโหลดสื่อและลิงก์สำหรับ Dowload ไว้ให้ครบทุกชิ้นนะครับ)

กระทู้นี้มาแชร์ไอเดียการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีที่อาจจะแปลกๆไปจากปกติ

เป็นประสบการณ์ที่อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคุณครูป.1

หรือคุณครูที่กำลังเผชิญกับปัญหาระดับชาติของเราคือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ขอเป็นกำลังใจให้ และสัญญาว่าสักวัน เราร่วมมือกัน มันต้องมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ ให้จบครับ ♥


(ประสบการณ์การสอน ป.1 แบบละเอียดๆ ยาวมาก 1 เทอมเต็มๆ จากครูแชมป์ พุฒิพงศ์ ห้องสวัสดิ์)

นวัตกรรมหลัก ที่เป็นแกน #กไก่กลายร่าง > #สระท่ามนุษย์ > #เส้นนำสมอง

#กไก่กลายร่าง ปูพื้นฐาน เอาชนะ พยัญชนะไทย ติดตาฝังใจไปตลอดชีวิต>

#สระท่ามนุษย์ ใส่สระเข้าไป ในการเคลื่อนไหวของเด็กๆ ลืมเมื่อไรก็ทำท่าสิ! 555 จำได้แล้ว >

#เส้นนำสมอง ทางลัด การฝึกเขียนคำตามบอกแต่งประโยค ที่ว้าวและไว มากๆ ยังกับ Hack สมองเด็กได้


ขออนุญาตเกริ่นความเป็นมาในการ พลิกผันกลับมาสอนชั้น ป.1 ครั้งที่ 3 ในชีวิต (สามารถอ่านข้ามได้)

ครั้งที่ 1 อัตราจ้าง จำนวน 1 เทอม (รร รับผมมาเพื่อสอน ป.1 เพราะบอกเขาว่าเคยมีประสบการณ์ฝึกเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตอนฝึกสอน #จุดเริ่มต้นผลบุญแรก)

สอนจบ 1 เทอม = เด็กอ่านออก เขียนพอได้ พยางค์ง่ายๆ 1 คำ 2 คำติด ยังแต่งประโยคยังไม่ได้ จบภารกิจนี้เพราะย้ายไปบรรจุ


ครั้งที่ 2 ครูผู้ช่วย จำนวน 1 ปีการศึกษา (รร ย้ายผมจากสอน ป.6 ลงไป ป.1 เพราะอยากให้เด็ก ป.1 เรียนกับครูภาษาไทย จะได้อ่านออกเขียนได้ จบปี อ่านออกเขียนได้ ประมาณ 97% และถูกย้ายกลับไปสอน ป.6อีกเนื่องจาก Onet ตก และต้องการให้ผมไปยกระดับ Onet ของ รร จึงจบภารกิจสอน ป.1 ในครั้งที่ 2)

และเป็นจุดกำเนิด รวมกลยุทธ์ครูเพื่อการเรียนรู้สู่อ่านออกเขียนได้ ที่เคยเผยแพร่ไปแล้ว inskru.com/idea/-NW2sVVEJy6rHE7CwzGZ

(สามารถอ่านข้ามได้)


ครั้งที่ 3 คือครั้งนี้ เป็นครั้งที่ รร.ต้องการรับเด็กเข้ามาเพิ่มจำนวนมาก จนครู ป.1 ทั้ง 2 ห้องรับไม่ไหว

ผมจึงอาสาโดดลงมาจาก ป.5 มาสอน เนื่องจากเราไม่กลัวการสอน ป.1 จึงเกิดเป็นห้อง ป.1/3 และจุดท้าทายของเรื่องก็ได้เกิดขึ้น...


จาก สอนชั่วคราว 2 เดือนเพื่อรอครูบรรจุใหม่ ผอ. แจ้งว่าให้กลายเป็นสอนทั้งปี จะได้เกิดความต่อเนื่อง

ผมก็ตกใจมากๆ เพราะถึงผมจะมีประสบการณ์การสอน ป.1 แต่ก็เป็นเด็กไทย 99 %

และจำนวนก็ครั้งแรก 8 คน ครั้งที่สอง 28 คน


แต่ครั้งนี้ 36 คน ต่างชาติมากกว่าไทย! 19 : 17


จากที่เคยมั่นใจก็หวั่นๆ เหมือนกันเพราะเราสอน ป.5 อยู่ดีๆ ส่งสื่อ ผงแผนก็มีครบแล้ว ผลการเรียนก็ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ

อยู่ดีๆ หาเรื่องเข้าตัวเจอโจทย์ยากด้วย แต่ก็นึกในใจ

มันคือความท้าทายครั้งใหญ่ในชีวิต มีอนาคตการอ่านออกของเด็กเป็นตัวเดิมพัน ทำให้ไฟในใจลุกโชน

อีกอย่างตอนนี้เรามีนวัตกรรม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอ่านออกเขียนได้ แต่ยังไม่ได้ใช้จริงสักทีคือ

ก.ไก่ กลายร่าง ซึ่งเผยแพร่มาเป็นระยะเวลานานประมาณ 2-3 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเอาไปใช้ เพราะอาจนำไปใช้ไม่ถูก เราก็เลยอยากลองดู เพราะตอนทำเราได้แต่จินตนาการไว้ในหัวว่าใช้อย่างนี้ๆ ฯลฯ

รวมแล้วก็มี 3 ver แล้ว คือ 1 แบบธรรมดา 2 แบบอนิเมชัน 3 แบบฝึกท่องจำ ส่วน ver 4 ที่ตั้งใจจะทำให้สมบูรณ์

แต่ยังไม่เสร็จ จึงได้แค่ลองใช้ ยังไม่ได้เผยแพร่

ตัวอย่าง

inskru.com/idea/-MaY0hilirptk8hxoL9g

inskru.com/idea/-Mcnxxwde65zNRc3HxIK

facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid026UGmz1ZXKQqmaTygaukDXRJ1LNTDPwaScZnaPW8PieeDaNWfdrs4qojgXmMFSSQNl&id=100065052422018

facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0mqK2REqN9vSv5J7o6JgF4AuFTfrJu3RN8nEoY5q6bcyggsp8JF8p4Pe2HMAT5pnul&id=100065052422018


ver 4


เมื่อเรามีทรัพยากรพร้อมเราก็มาลุยกันเลย!!!

หลังจากนี้จะเป็นบันทึกพัฒนาการและการใช้กลยุทธ์ กลวิธีในการสอน

ซึ่งเป็นการท้าทาย ด้วยวิธีแบบส่วนตัวจริงๆ ต้องขออภัยเพื่อนพี่น้องคุณครูทั้งหลายที่หลายด้านอาจจะไปขัดกับรูปแบบหรือธรรมเนียม

หรือฟังดูขัดหูขัดใจก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

แต่ขอให้เชื่อว่าทุกสิ่งที่ผมทำต่อจากนี้ คือผมทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์และมุ่งมั่นให้เด็กๆ สามารถอ่านออกเขียนได้จริงๆ


1.ตรวจสอบพื้นฐาน และบันทึก

ผมเริ่มต้นด้วยการรีบจำชื่อเด็กให้ไวที่สุด โดยจำได้ทั้งหมดในสัปดาห์ที่ 2 *เทคนิคการจำชื่อ ถ้าไม่จำชื่อเด็กจะเรียกไม่หัน และลดความสนใจในตัวเราลง

ผมนำนักเรียนมาท่อง กไก่แบบท่อง คือ ชี้แล้วท่องให้ฟัง ว่าจำได้กี่ตัวจาก 44 ตัว

มีหลายคนไม่เคยเรียนอนุบาลมาก่อน มาเริ่มจาก 0

และหลายคนรู้จัก ก ไก่ แค่ ก ไก่ ข ไข่ จากนั้นไม่ได้ยาวๆๆๆ ลงไปเลย

ได้ 2 จาก 44 ! (คนนี้ ตอนหลังไปไวจนตกใจมากๆ) บางคนก็ 0 เลย

พบว่า มี นร.ที่มีอาการน่าเป็นห่วงในการเข้าสู่การเริ่มต้น ผมทำการบันทึกคะแนนและถ่ายคลิปเก็บไว้เพื่อเป็นการเก็บข้อมูล


สรุปคือ นร.ชุดนี้ มีความรู้ติดตัวแค่ "พยัญชนะ"

คนที่ได้เรียนอนุบาลมามีเคยท่องสระ แต่จำและเขียนไม่ได้เลย

บางคนก็ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เพราะเพิ่งเข้าเรียน ป.1 ที่ผมครั้งแรก เพิ่งตามผู้ปกครองมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

มีคนนึงร้องไห้ และหายไป 1 สัปดาห์ ผมก็บอกว่าเอามาเถอะครับช่วงนี้ครูทวนความรู้ปูพื้นฐานใหม่

ถ้าพลาดตรงนี้ไปจะตามไม่ทัน สงสารเขาครับ ไปมาพ่อแม่ยอมเอามา ร้องทั้งวัน ไม่ได้อะไรเลย

แต่พอรู้ว่า รร ไม่มีอะไรน่ากลัว ครูก็ใจดี เพื่อนก็น่ารัก วันต่อมาก็มาสบายเลย 555


2. ช่วงแรก ดุดัน ให้รู้กันว่าครูสไตล์นี้


มาดูกันครับว่าผมเจอกับอะไร

คือ ผมต้องปรับพฤติกรรมเด็ก จากเด็กอนุบาล ที่ขึ้นมาแบบไร้สมาธิ พร้อมจะมองออกนอกหน้าต่าง พร้อมจะคุยจะเล่นกับเพื่อน

และเด็กที่ไม่ท่อง ไม่ฝึก ไม่ทำ ไม่จำ ไม่เขียน

และเด็กที่พูดกับผมไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่ได้

ต้องใช้ล่ามแปลภาษา!

ดีนะในห้องยังมีชาวเมียนม่าที่อยู่ไทยมาตั้งแต่เด็กก็เลยช่วยผมเรื่องนี้ไปอย่างมาก

มาถึงประเด็นกันต่อ

ผมต้องคอยอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจอย่างมาก ว่า

เวลาครูสอน หนูต้องฟัง เวลาครูให้ทำอะไร ต้องทำ เพราะครูจะให้พัก และให้อิสระในส่วนอื่นแลกกัน แฟร์ๆ

แต่ขอให้มีกฎระเบียบข้อนี้ไว้ห้ามหายไปนะครับ

ก็อย่างว่าครับ เด็กไม่มีทางเชื่อฟังกันง่ายๆ และยากมากๆ

เป็นสัปดาห์ที่ท้อเลยทีเดียว วุ่นวาย มากๆๆๆๆ

แหกปาก ตะโกนกันเหนื่อยเลย ไม่ใช่เด็กนะครับ ผมนี่แหละ

ครูแชมป์ไม่ใช่ครูใจร้ายน้า ครูเป็นครูสายตลก และรักในรอยยิ้มของเด็กๆ การลงโทษเด็กคือวิธีสุดท้ายของผมเสมอครับ


3.คุมชั้นให้ไวที่สุด

เพราะเด็กเล็กสมาธิจะหลุดบ่อยมาก

ผมมี Key word ที่ง่ายๆ และทำซ้ำจนเป็นรหัสในสมองเด็กว่า 1 ... 2... ตามด้วยสิ่งที่เราอยากให้ทำ

เช่น นึงงงง ส่องงงง เงียบ (หยุดคุย)

นึงงงง ส่องงง พร้อม (หยิบอุปกรณ์การเขียนมาชูไว้ เตรียมพร้อม + ยิ้ม)

นึงงงง ส่องงง นั่งที่ (ให้เด็กๆ ที่กำลังเล่นอยู่หรือเดินช้า ยังไม่นั่งที่ ไม่เป็นระเบียบกลับสู่ที่เดิม)

1......2.......ชี้ (เตรียมอ่านตาม ที่ครูชี้ เด็กๆ ต้องชี้มือตามด้วย ใครไม่ชี้ เราก็จะหยุด เรียก ดึงสติ หรือและควบคุมพฤติกรรมให้กลับมา)

(ในภาพ เด็กจะชี้สิ่งที่ครูกำลังอ่าน และทำมือม้วนไปมาตาม คือเทคนิคเขียนในอากาศ ผสมเข้าไปด้วย

ตรงนี้จะเชื่อมโยงสมอง มือ ปาก ให้เคลื่อนไหวและจำไป ดีกว่าอ่านเฉยๆมากๆ และไม่สามารถแกล้งทำได้ 555 )

ถ้าครูใช้บ่อยๆ เราจะคุมชั้นและกลับมาสู่กิจกรรมได้ไวมาก

โดยไม่ต้องตะโกน / หยุดคุย! / เงียบเดี๋ยวนี้!


4.หยุดพฤติกรรม นำสู่เรียน

พฤติกรรม ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนมากที่สุด

ครูต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้ คือ

1) ไม่อ่านตาม หรืออ่านแบบลิปซิง = อาการนี้จะแก้ได้โดยครูคอยเดินตรวจ เดินไปอ่านข้างๆ เด็ก หรือสร้างจังหวะในการอ่านให้เด็กๆ สนุกสนาน เสียงเด็กจะมาเอง


2) ไม่ชี้ตาม = อาการนี้แก้ด้วยการ ให้ใช้ดินสอชี้สิ่งที่อ่านเสมอ แล้วคอยเช็กว่าอ้าวเราถึงตรงนี้ ใครชี้ที่เดิมหรือไม่ตรงเพื่อน ก็ต้องตักเตือนและรีบให้ตามให้ทัน

วิธีที่ดีที่สุดคือ วง วง วงตามที่อ่าน จะช่วยให้เด็กแยกคำออกจากประโยคที่ติดๆกัน มีประโยชน์มากๆๆๆๆๆ


3) เหม่อมอง = อาการนี้ แก้ด้วยเรียกชื่อ ดึงความสนใจ แกล้งให้เพื่อนสะกิด เปลี่ยนกิจกรรม การลงโทษ (ห้ามปล่อยให้เด็กมีอาการนี้ระหว่างเรียนเด็ดขาด ต้องรีบหยุดพฤติกรรมให้ได้)


4) อุปกรณ์ไม่พร้อม = อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เชื่อไหมครับ ทำให้เด็กๆ ช้าลงไปมากๆ กว่าจะหาเจอ กว่าจะหยิบ กว่าจะเหลา แก้ได้โดย จัดเตรียมไว้ให้ยืม ทุกเย็นผมจะเจออุปกรณ์เด็กๆ ที่ทิ้งไว้ไม่เก็บที่พื้นก็จะนำมาเป็นส่วนกลาง ไว้ให้คนไม่มี ไม่พร้อมยืมใช้ได้ตลอด และประสานงาน ผู้ปกครอง แจกเป็นรางวัลในกรณีต่างๆ ถ้ายังไม่มีอีกนำเงินเด็กไปซื้อให้เลยในช่วงพัก


5. ตัดทุกอย่างทิ้งไป เริ่มใหม่อ่านเขียน

ผมใช้วิธีการอ่านพยัญชนะเป็นหลัก

และเพิ่มสระทีละตัวๆ

สิ่งที่ผมตัดออกเลยในการเรียนการสอนช่วงแรกคือ


ตัด ก เอ๋ย ก ไก่ ถ้าครูท่านใดยังให้ท่อง ก เอ๋ย ก ไก่ ในชั้น ป.1 เชื่อผมเถิดครับ มันเป็นอุปสรรค มากกว่า ผลดี เพราะบทท่องจำนี้ ให้เด็กคุ้นเคยกับตัวอักษร พยัญชนะ

เพื่อเริ่มต้น โดยเอาสิ่งต่างๆ เข้ามาให้ท่องไปนึกภาพไป สุดท้ายเด็กจะเริ่มคุ้นเคยและท่องจำได้แบบนกแก้วนกขุนทอง

แต่พอ ป.1 เข้าสู่กระบวนการประสมคำ ก เอ๋ย ก ไก่ จะเป็นอุปสรรค

สังเกตได้ว่า ครู ป .1 จะมีบทท่องใหม่มาแทนที่คือ ก ไก่ อ่านว่า กอ ขอ ไข่ อ่านว่า ขอ ฯลฯ ซึ่งจุดประสงค์มันคือให้เด็กจำเสียงตั้งต้นของพยัญชนะนั้น

ไม่ต้องจำคำสร้อยแล้ว (ภาพประกอบจาก รวมกลยุทธ์ครูสู่การเรียนรู้อ่านออกเขียนได้)


ตัดวันที่ ตัดตีเส้น ท่านอื่นอาจเห็นว่ามันสำคัญ แต่สำหรับผมมันเป็นตัวเบิร์นเวลาอันมีค่าในการเรียนการสอนมากๆ

โดยเฉพาะเด็กที่ช้า ถ้าวันนี้เราจะเริ่มเขียน สระ อา หรือเขียน ก-ฮ แล้วให้เด็กเขียนวันที่ จะใช้เวลานานมากๆ

แล้วการเขียนวันที่ โดยที่ไม่ได้สะกดไปด้วยเขียนไปด้วย มันไม่เกิดประโยชน์

ผมรอให้เด็ก พอจะเริ่มอ่านออก แล้วมาใส่วันที่ในช่วงนั้น

อยากให้ลองพิจารณนา วันจันทร์ วอ อะ นอ วัน - จอ อะ นอ จัน แต่ ทร์ จะอธิบายอย่างไร ในตอนนี้ จำเป็นไหมครับ ?

วัน พฤหัสบดี พะ รึ หัด มีสระลดรูปเยอะมากๆๆๆ มี ฤ รึ ที่ยากอีก บอ ดี อะไรอีก สงสารเด็กครับ

ถ้าวันพุธ ยังง่ายหน่อย ^^

ส่วนชื่อเดือน ก็มีสระลดรูป ที่หนีไม่พ้นคือ ยน ยอ โอะ นอ /คม คอ โอะ มอ

ใช่สิ่งที่เด็ก ป.1 รับไหวไหม ดังนั้นผมจึงขอตัดออกก่อนแล้วค่อยมาใส่ในภายหลัง กลางๆ เทอมนะครับ


ตัดระเบียบ ทิ้งลายมือ ทิ้งรูปแบบการเขียน

ใครจะเอาอย่างไร จะเขียนอย่างไร เอาเลยครับ เต็มที่

ตรงนี้อาจะขัดใจคุณครูหลายๆท่าน ที่เป็นสายเนี้ยบระเบียบ เป๊ะ ต้องขออภัยจริงๆครับ

จังหวะนี้เราต้องเปิดครับ คือเปิดอิสระเพื่อทุ่มสมองและเวลาไปสู่อ่านเขียนอย่างเดียว

ไม่งั้นจะสะดุด ผมมองว่าสามารถไปฝึกเอาทีหลังและเด็กจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบผม ในการเขียนให้ถูกต้องจากบนกระดานเองครับ

ช่วงแรกปล่อยหมด (เช่นเขียนจากหางมาหัว เขียนเอียง เขียนเบี้ยว อะไรก็ตาม ยกเว้น สระที่มันอยู่ที่ตำแหน่งปล่อยไม่ได้ เช่น ไอ ใอ โอ ก็ต้องทะลุบรรทัดขึ้นไปเท่านั้น อุ อู ล่าง อิ อี บน เท่านั้นเป็นต้น)


สุดท้าย

ผมตัดหนังสือครับ สมุดอย่างเดียวเท่านั้นในช่วงแรก

หนังสือเขาดีไหม ตอบว่า ดีครับ แต่เด็กๆ ยังไม่พร้อมจริงๆ เพราะเริ่มจาก 0

ส่วนแบบฝึกหัด ผมให้ทำวันละสระครับ พอดี สำนักพิมพ์ที่ รร.ใช้ มีประมาณนั้นพอดี

เราจะไม่ให้การบ้านโดยที่เป็นเรื่องไม่ได้สอนเด็ดขาดครับ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้เรียนและผู้ปกครอง

อย่างน้อยสอนสักหน่อยแล้วปล่อยให้เด็กไปลองทำเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร ผิดถูกไม่เป็นไรครับแค่ให้เด็กฝึก

ถ้ายากไปบางที ผู้ปกครองช่วยบอกๆๆ เพื่อให้เสร็จไว ต่างกับช่วยสอน ซึ่งผมมองว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้


(ในช่วงนี้ผมขอโทษเด็กที่เก่งๆ คนที่เก่งอยู่แล้ว บ่อยๆทุกวัน มีประมาณ 4-5 คน ว่าครูขอเวลาหน่อยนะ จะลากเพื่อนๆไปพร้อมกัน

พอถึงเวลา ครูสัญญาว่าหนูได้โชว์ความสามารถแน่ๆ ดังนั้นช่วงนี้คนเก่งๆอาจเบื่อหน่อยครับ T T ครูขอโทษนะ)


6. ก ไก่กลายร่าง นวัตกรรม แรก

เชื่อมสมองด้วยชื่อพยัญชนะกับภาพที่มีรูปร่างคล้ายกัน

(สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ไอเดีย กไก่กลายร่าง)

สั่งสมองให้สัมพันธ์ภาพ

ในช่วงแรกเราจะอุทิศเวลาให้กับ การเชื่อมโยงสมองเด็กๆ

ให้พยัญชนะ เข้ากับภาพ

โดยเราจะเน้นวาดรูประบายสี ช้าแต่คุ้ม

เป็นการทำให้เด็กไม่ แหยง ก-ฮ เอาภาพมาหลอกล่อ สีสันสวยงาม


1. ให้ผู้เรียนวาดัวอักษร 2 ตัว ขนาดใหญ่พอสมควร ครูทำบนกระดานไปพร้อมกัน

2. ให้ครูเติมตัวอักษรให้กลายเป็น รูปภาพ จากชื่อพยัญชนะนั้นๆ

3. เปิดโอกาสให้เด็กๆ ลองวาดในแบบเขาบ้าง

4.ฝังสมองให้เด็ก จำภาพติด โดยเปิด กไก่กลายร่าง ver อนิเมชันให้เด็กๆ ดู

เด็กชอบกันมากๆๆๆ


กไก่กลายร่างแผลงฤทธิ์ เด็กๆ เห็น พยัญชนะ กลายร่างไปเป็น รูปภาพกลับไปกลับมา จำติดตาไม่ลืม



7. ฝึกท่องทุกวัน

ผมไม่ได้ให้เด็กท่อง ก ไก่ -ฮ ฮูกแบบปกติ จากในหนังสือหรือแบบท่อง

แต่ผมถ่ายเอกสารและเคลือบ ก ไก่กลายร่างแบบฝึกท่อง

คือ จะมีตัวพยัญชนะ และรูปภาพที่คล้ายคลึงชื่อพยัญชนะนั้นๆ

ด้านหน้ามีพยัญชนะ+ภาพ ด้านหลังมีภาพอย่างเดียว เป็นแผ่นประจำตัวสำหรับฝึกท่อง

ดูสภาพหลังจากผ่านไป 1 เทอม 555


โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมที่นี่ inskru.com/idea/-NVtqSy_bDfPmb3aGGxd

จะไม่ยับเยินได้อย่างไร เพราะเราเอา กไก่กลายร่างมาใช้ตลอด


ในทุกเช้าเราจะท่อง 3 รอบ

คือ

ผู้เรียนเตรียมท่อง ก.ไก่กลายร่าง 3 แบบ แต่ละคนเตรียมแผ่น ก.ไก่กลายร่าง ของตนเองขึ้นมา

โดยครูให้สัญญาณ

1.“เตรียมท่อง ก.ไก่กลายร่าง แบบเคาะ

(เอาดินสอ เคาะที่ตัวพยัญชนะ เวลาท่องไปด้วย เด็กก็สนุก เคาะกันป้าบๆๆ! คนที่เคยท่องช้าท่องไม่ทันก็จะรีบแอคทีพตัวเองให้ ป้าบๆๆตามเพื่อนทัน กลายเป็นสนุกไป)


เมื่อท่องจบก็ท่องต่อคือ

2.“เตรียมท่อง ก.ไก่กลายร่าง แบบเขียนย้อนกลับจาก ฮ - ก

วิธีท่องคือ

ปาก ออกเสียงตัวอักษร ฮอออออออออออ ลากยาวคาไว้

มือ ลาก ตัว ฮ อย่างรวดเร็ว

พอจบก็ค่อยบอก นกฮูก

ถ้า อ.อ่างก็จะประมาณนี้

อออออออออออออ อ่าง

ตัวไหนเขียนยากก็ลากยาวหน่อย

พูดง่ายๆ คือออกเสียงไปเขียนไปนั่นเอง


(ทำไมต้อง ย้อนหลัง เพราะเป็นการ re write สมองเด็ก เพราะการท่อง ก- ฮ บางครั้งท่องบ่อยจน กลายเป็นท่องจำ แต่เราอยากให้เขียนได้ด้วย

ก็จะย้อนกลับจาก ฮ ไป ก เพื่อไม่ให้สมองส่วนที่เคยท่องจำทำงาน)



และสุดท้าย

3“เตรียมท่อง ก.ไก่กลายร่าง แบบเสียงเดียว

คือท่องโดยให้เหลือแต่เสียงของพยัญชนะนั้นๆ

บรรทัดละ 6 ตัว เราก็จะท่อง

กอ ขอ ขอ /เอ้า/ คอ คอ คอ /เปลี่ยน

งอ จอ ฉอ /เอ้า/ ชอ ซอ ชอ / เปลี่ยน


เด็กๆ ก็จะท่องกันสนุกสนานเป็นจังหวะไป และช่วยให้สะกดได้อย่างไม่สะดุด เพราะจำเสียงของพยัญชนะได้


         เมื่อท่องเสร็จผู้เรียนจะได้ฝึก การจดจำพยัญชนะทั้งแบบเคาะเป็นจังหวะ ให้จำ ก - ฮ ได้แบบง่าย ๆ ฝึกความสัมพันธ์กับมือและจังหวะ 

ขั้นที่ 2 ย้ำประสบการณ์โดยการเขียนไปพูดไป แต่เป็นการเขียนแบบลากมือ ไม่ได้เขียนจริงๆ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการออกเสียงตัวพยัญชนะนั้น ๆ กับรูปภาพ ก.ไก่กลายร่าง

ส่งผลต่อทักษะการจดจำพยัญชนะและทักษะการเขียน และสุดท้ายการท่องแบบเสียงเดียว จะส่งผลบวกต่อทักษะการพูดการอ่านมากที่สุด


ตรงนี้เชื่อไหมครับ ทั้งเทอม หลังจากฝึกคล่องมาสักระยะแล้ว ทั้งเทอมที่เหลือเวลาอ่านเขียน แต่งประโยค

ในห้องผมไม่เคยต้องสะดุดกับการ จำไม่ได้ว่า ตัวอักษรนี้คืออะไรเลย

พยัญชนะ เคลียร์!


ช่วงนี้ก็เอาพยัญชนะไปใส่กับสระต่างๆ ง่ายๆ สื่อนี้ก็ทำใช้และเผยแพร่ไปแล้วครับ


ต่อด้วย โพยพยัญชนะครับ เป็นตัวเสริมในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นกัน สร้างความคุ้นเคยไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญแอบใส่ เสียงอักษร สูง กลาง ต่ำ ไว้ในสมองของเด็กๆ แล้วครับ อิอิ

โดยใช้รูปลำโพง

แอบใส่คำควบกล้ำ แอบใส่ว่าตัวไหนเป็นตัวสะกด เป็นสระได้ ฯลฯ ไว้สมชื่อเลยครับ โพยพยัญชนะ

จะเห็นได้ว่าวางไว้บนโต๊ะ พอใส่สระอิ ไปทุกคนก็ออกเสียง พยัญชนะที่ตนได้+สระ อิ

สื่อนี้ก็เผยแพร่ไปแล้วครับใน Inskru เช่นกันครับ


โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมที่นี่ inskru.com/idea/-NdB8CQalztNJWKvyNLz


8.ลุยสระ กำเนิดสระท่ามนุษย์!

เมื่อเด็กๆ จำพยัญชนะได้ได้แล้ว ระหว่างจำพยัญชนะครูก็ใส่สระไปวันละตัวๆ ก็จะพอจำสระพื้นฐานง่ายๆ ได้คือ

อะ อา อิ อี อู

แต่สระมีลูกเล่นมากมาย และตอนนั้นก็เริ่มตึงมือ ทำให้นวัตกรรม สระไทยกลายร่าง กำเนิดมาเพียงแค่ 2 ตัว จากที่ออกแบบไว้ 15 ตัว คือ

สระ อา งาช้าง และสระ อะ ประทัด

คราวนี้มีอยู่วันหนึ่งหลังจากท่อง ก - ฮ เสร็จ ก็ให้นักเรียนดูสระบนกระดาน

แล้วก็เกิดไอเดีย เอ้า นร.เรามาลองทำท่าลอกเลียนสระกันดีกว่า ผมก็ออกแบบ นร.ก็ทำท่าตามกันสดๆ ตอนนั้นเลย วันแรกก็ได้ตัวง่ายๆ ก่อน

แรกๆ ใช้แต่มือแต่นิ้ว

วันหลังๆ ก็เพิ่มท่า เพิ่มแขน 1 แขน เพิ่ม 2 แขน

ยืนบ้าง เอียงบ้าง เลื้อยบ้าง

ออกเสียงบ้าง ไรบ้าง

หนักสุดคือ สระ เอีย ต้องใช้ปากทำท่าด้วย

ตรงนี้นร.จำดีมากๆ เพราะเขามีประสบการณ์ร่วมกับเรา

เป็นนวัตกรรมที่ ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยสุด และคุ้มที่สุด ที่คิดมาในชีวิตและที่สำคัญ

มีผู้เรียนเป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรมด้วย

คือ

สระท่ามนุษย์!

ทุกเช้า หลังจากท่อง ก-ฮ เราก็จะทำท่าสระกัน สระที่ทำท่าได้มีดังนี้คือ ทุกตัวระหว่างทำท่าก็จะมีบทท่องจำไปด้วย

อะ / "กระโดดได้" เอามือไปข้างๆ นิ้วชี้โป้ง ทำวง หงายมือเป็นสระอะ สองตัว ตอนกระโดด ขึ้นหัวเหลือตัวเดียว

อา / "งาช้าง" เอามือมาด้านขวา ชูขึ้นระดับหู งอมือมาหาหู ให้เหมือนสระ อา




(พวก ตระกูลสระอินี่อยู่ข้างบนหัวอย่างเดียวเลย)

อิ / "หัวเราะ อิอิ" เอามือทำเป็นสระอิ ไว้บนหัว หัวเราะ อิอิ

อี / "มีหนึ่งขีด" ทำเหมือนสระอิ งอกนิ้วก้อยขึ้นมา 1 ขีด

อึ / "มีก้อน อึ ตกลงมา" งอนิ้วก้อยเป็นวงกลม

อือ / "มี 2 ขีด" เนื่องจากโดนอึหล่นลงมา ใส่หัวแตก เด็กก็ขำกันใหญ่ งอกนิ้วก้อยนิ้วนาง เป็น 2 ขีด

อุ / "ทะลุใต้ดิน" นิ้วชี้โป้ง ทำวง มือขวาเป็นดิน มือว้ายสระอุ ทะลุลงไป

อู / "อยู่ในรู" มือซ้ายกลายเป็น หงาย คล้ายๆ สระ อู ให้มีพื้นที่ รู ตรงกลาง แบบสระอู

เอ / "ตัวเดียว" ใช้ท่อนแขน ลงไปตรงๆยาวๆ มือกลมเป็นหัวสระ เอ

แอ / "สองตัว" ใช้สองท่อนแขน


(เอ กับ แอ ลืมกันบ่อยมาก ลืมปุ๊บ ครูก็บอก ไหนท่องซิครับ เด็กก็จะทำท่าแล้วพูด "สระเอ ตัวเดียว สระเเอ สองตัว"

คือให้โอกาสเฉลยทบทวนตัวเองเลย ครูไม่ต้องบอก ลืมอะไรก็ทำท่า 555)

อย่างภาพล่างนี้ สระ แอ จะเห็นได้ว่า แขนเหยียดตรงลง ทำมือกลมๆเป็นหัว 2 แขน ก็ = สระแอ 2 ตัว

โอ / "ตัวโตๆ" ทำท่าเลื้อย เป็นสระโอ โตขึ้นไป เพราะมือเรามันไม่สามารถขดเป็นสระโอได้ ต้องใช้การเคลื่อนไหว


จินตนาการล้วนๆ จะได้จำฝังกล้ามเนื้อเลย

ไอ / "ชึกๆ" ทำแขนตั้งขึ้น ปลายมือ ฉกลง และขึ้นตามปลาย ของสระไอ พร้อมออกเสียง ต้นแบบคือ ไฟฟ้า จากหางปิกาจู

ใอ / "แว้ว" ชูมือ แล้วปลายมือม้วนลง พร้อมออกเสียง ต้นแบบเป็นรูปใบไม้ที่เหี่ยวงอลงมา

ออ / "อออ่าง"

อัว / "บน อะ ล่าง วอ"

อำ / "บนกำ ล่าง อา"

เอา / "เอ หน้า อา หลัง"

เอือ / "เอ อี ออ รวมเป็นสระ เอือ"

เอีย / "เอ อี ยอ รวมเป็นสระเอีย"

เออ / "เอ หน้า ออ หลัง"

ณ ปัจุบันมีประมาณ 20 ตัว ถือว่าค่อนข้างเยอะ ใช้ทำท่าสระท่ามนุษย์กันทุกวันแทนการท่องจำสระแบบเดิม

แล้วเวลาครูทำผิด เด็กทำผิดก็ขำกัน สนุกมากๆครับ 5555

ที่สำคัญเวลา เขียนคำ เวลา นร.ลืม เช่นคำว่า บ้าน

เขียน บ เสร็จ นึกสระ อา ไม่ออก

เราจะให้ทำท่า เขาก็จะทำหน้านึกๆ แล้วเขาก็ลองทำท่า

แล้วพอเขาจะนึกออก ก็เอาไปเขียนได้ ไปต่อได้ มหัศจรรย์มากๆ ชอบมากๆ ตรงนี้ครับ ♥

ถ้ามีเวลาจะวาด นวัตกรรมสระท่ามนุษย์ มาแนบให้นะครับ


***ข้อควรระวัง อะอาอิอีอุอูเอะเอแอะแอ ฯลฯ เด็กผมไม่ได้ฝึกท่องสระเรียงแบบนี้เลยครับ ผมเพิ่งลองทิ้งมันไป

ถ้าเจอเป็นตารางยื่นให้ท่องก็งงเหมือนกัน เพราะเราไปเน้นจำลักษณะเฉพาะ เจาะทีละตัวเลย


9. เส้นนำสมอง ทางลัด นวัตกรรม สู่การเขียนได้

อ่านรายละเอียดนวัตกรรมเพิ่มเติมได้ที่ inskru.com/idea/-NgmF1JRGSN0GIT3d4dt


โหลด POINT ใบงานแก้ไขได้ ฟรี ที่ต้นโพสต์

facebook.com/champ.dackula/posts/pfbid02bGkWoFdKVvLqoMDrw2rJH8vkgFPxM93LY3PVqhh9M1ybpKaSm6V2uT1wj4YUKYYel



(อักษร 4 สี พยัญชนะ สระ สะกด วรรณยุกต์ + เส้น____ ที่เอาไว้เติมคำจากแบบฝึกหัด) = เส้นนำสมอง



ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า เส้นนำสมอง ไม่ใช่นวัตกรรมที่ผมคิดค้นขึ้นใหม่ 100%

แต่เป็นนวัตกรรมที่ เกิดจากประสบการณ์สิ่งที่ผมไปพบไปเห็น แล้วมันกลั่นออกมาจากสมองในขณะกำลังสอน นร.

เนื่องจาก มันคิดๆๆๆๆ หมกมุ่นอยู่ตลอดเวลา ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ เขียนได้เร็วๆ แล้วมันก็ออกมาครับ ในขณะที่กำลังเขียนคำตามบอกในกระดาน

ปกติเราจะเขียนกันแบบโล่งๆ เลย สมมติจะเอา 10 ข้อ ก็ให้ นร.เขียนเลข 1-10 ไว้ พอนั่นเขียนมาเด็กได้คะแนนต่ำ เราก็ว่ามันต้องมีตัวช่วยสิ

พอเปลี่ยนใหม่ลองใช้เส้นนำสมอง

ครูเตรียมปากกา น้ำเงิน ดำ แดง เขียว- ครูบอกคำที่จะให้เด็กเขียนคำตามบอก

ครูขีดเส้นไปตามตัวที่ครูบอกด้วย ขีดเส้นเฉยๆ ตามตำแหน่งของคำนั้น เช่น กิน

ครูต้องขีด 3 ขีด ที่จุดใต้พื้น ก ไก่ ที่จุดใต้พื้น น หนู และ บนหัว ก ไก่ สำหรับเป็นที่ให้สระ อะ

พอทดลองครั้งแรกเท่านั้น โห นร มีผลคะแนนขึ้นเยอะมาก เราก็ตั้งชื่อให้เลยว่าเส้นนำสมอง


งี้เด็กก็ไม่เก่งจริงสิ ? ใช่ครับ เด็กไม่เก่งจริง ที่เขียนโดยมีตัวช่วย

แต่ก็แค่ช่วงแรก

เพราะหลักการของผมคือ เขาคือเด็ก ป.1 เขาคือขั้นฝึกหัด


คนเราว่ายน้ำไม่เป็นยังมีห่วงยาง เด็กอ่านเขียนไม่ได้บ้าง เราจะช่วยอย่างไร?

คนเราเกิดมาก็ต้องพัฒนากันไปตาม step นอน นั่ง คลาน ยืน วิ่ง กว่าจะ กระโดด ได้เนอะต้องใช้เวลา 555


พยัญชนะก็มีตัวช่วยแล้ว สระก็มีแล้ว คราวนี้เอามารวมกัน มันก็ต้องมีตัวช่วย


พอทำได้บ่อยเข้า เขามีกำลังใจ แล้วพอช่วยจนชินก็กลายเป็นจำได้ก็กลายเป็นเก่ง


พอเราไปทดลองกับประโยคอีก ก็มีผลน่าพอใจอีก เลยกลายเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา

การเขียนคำตามบอก และการแต่งประโยคที่ได้ผลมากจนน่าตกใจเลยครับ


ที่สำคัญมันประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากๆ



ลองเป็นคำๆ แล้วก็มาเป็นประโยคบ้าง

เรายังคงเน้นความสวยงาม เน้น สี เน้น สัตว์ดึงดูดใจเด็กๆ



ยากขึ้นอีกระดับ เรียนในพ้อย แล้วก็ทำใบงาน ก็ยังไหวอยู่ครับ




พอเรียนผ่านเส้นนำสมองไปมากๆ เด็กๆ เกิดมีกำลังใจ มีความคิดว่าทำได้ๆ ๆ ๆ

เหมือนเราสะสมค่าพลังให้เด็ก ถ้าเราสะสมมาแต่ผิดๆ ๆ ๆ ทำไม่ได้ๆ ๆ ๆ เด็กก็ทำไม่ได้

พอเด็กๆ ชุดนี้สะสมแต่ค่าพลัง ชนะๆๆ ได้ๆๆๆ มา

พอให้ลองแต่งประโยค 3 ส่วนง่ายๆ ปรากฏว่าทำได้ครับ!

ผมยังจำภาพวันนั้นได้ดี ♥


ชาตรี ผู้รู้จัก ก-ฮ 2 ตัว วันนั้น แต่งประโยคได้ในวันนี้ ดูหน้าครู ตาโตกว่า ฮ นกฮูก 555


ตรวจกันไม่ทันเลยทีเดียว 555




แอบบูรณาการภาษาอังกฤษ เพราะกลัวเรียนแค่อ่านออกเขียนได้จะไม่ได้ภาษาอังกฤษอีก

ไหนๆ เรียนคำศัพท์แล้ว แอบแต่งประโยคซะเลย 555


ในช่วงนี้ ไม่มีการว่า ผิดถูกขอให้กล้าแต่งมาเป็นพอครับ ♥




การเริ่มแต่งประโยคกับเด็กๆ เทคนิคคือ

"#ไม่มีคำว่าผิด" เราเพิ่มคำศัพท์ให้เด็กไปวันละนิด

แต่งประโยคให้ดู

1. เด็กเก่ง เราท้าทายด้วยการให้แต่งให้แตกต่างจากครู

2. เด็กกลาง เราท้าทายให้เปลี่ยนคำกริยา เปลี่ยนการกระทำ เปลี่ยนกรรม โดยพูดยกตัวอย่างรัวๆ ไม่ต้องเขียนให้ดู

เด็กก็จะไปเชื่อมโยงสมองเองว่า จะแต่งไรดี

3.เด็กอ่อน เราบอกให้เปลี่ยน คำหน้า เช่น ฉัน.. ก็เป็น พ่อ เป็นแม่ เป็น หนู ใครเขียนชื่อตัวเองได้ก็ใส่ไป

ที่สำคัญคือ ห้ามผิด ห้ามว่า ห้ามด่า ห้ามบ่น

เพราะถ้าก้าวแรกในชีวิตที่เด็กฝึกแต่งประโยค

#เด็กๆตัวน้อยๆเขาอุตส่าห์ไว้ใจเราที่จะเขียนออกมา

ถ้ามาเจอเราทำรอยร้าวในใจ เขาจะเป็นปมไป ความกล้าในการสร้างสรรค์มันจะถูกบดบังทันที

เจอผิดๆมาก็ต้องถามให้ได้ว่าจะเขียนอะไร

เรามีหน้าที่สอน มีหน้าที่แก้ มีหน้าที่เดา หลายครั้งก็ตลกกันไปเป็นการสร้างความสัมพันธ์

"อ้อ หนูจะเขียนคำว่า... ใช่ไหมครับ" เด็กก็ใช่ครับใช่ค่ะ แววตาที่เขายิ้มตอนเราเดาถูก หรือผิด เขาก็ช่วยบอก เราก็แก้ให้เลย

สอนอ่าน สอนเขียนไปเลย ยิ่งยุให้ทำเด็กยิ่งกล้าแต่ง

เป็นห้องเรียนที่เปิดกว้างในบรรยากาศความรู้

#เสริมแรงทางบวกโดย ใครยกตัวอย่างคำแปลกๆมาได้ เขียนโชว์ไว้ว่าตัวอย่างนี้มาจากคนนี้นะ ใครจะเอาไปใช้

เด็กก็จะดัดแปลงไป เป็นการให้เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อนทางอ้อม แล้วหยุดยากเลยทีนี้ 🤣🤣🙏

ผลงานล่าสุด ไปเที่ยววันปิดเทอม


กิจกรรมคือ

1.ครูเปิดรูปสถานที่ท่องเที่ยวไว้ประมาณ 4 - 6 ที่บนหน้าจอ

2.ครูชวนเด็กๆ อ่านเขียน คำยากๆ ไว้บนกระดาน สร้างวัตถุดิบไว้ให้เขา

3.หาผู้กล้าทดลองแต่งประโยคปากเปล่า (พอเด็กๆ เก่งแล้วแทบไม่ต้องสุ่มส่วนมากจะแย่งกัน)

4. ท้าทาย การแต่งประโยคที่ซับซ้อนขึ้น ให้รายละเอียดในประโยคยากขึ้น (ให้เด็กเก่งๆ ได้โชว์ของ)

5. ให้นร.เลือกวาดภาพที่ที่เราอยากไปเที่ยวและแต่งประโยคตามใจ

6. ส่งผลงาน

ตัวอย่างผลงาน


อาจจะดูไม่เรียบร้อย เพราะกระดาษแบบไม่มีเส้นครับ แต่อย่างว่า ผมไม่ซีเรียสเรื่องนี้ครับ

คืออยากให้เด็กอิสระมากที่สุด





สวนสัตว์หยามก็มา 5555 คำว่าสวนสยาม พาเด็ก ป.1 ผิด ทุกคน

เดี๋ยวขอครูคิดนวัตกรรม อักษรนำ แก้ปัญหาแปป 5555



เทอม 2 สอนสบายเลยครับแบบนี้


ยังมีส่วนรายละเอียดอีกมากครับจะมาลงเติม เพิ่ม เรื่อยๆครับ


กำลังเขียนต่อเรื่อยๆครับ ♥ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามารับชมรับฟังกันครับ ยินดีแบ่งปันไอเดียเพื่อพัฒนาต่อยอดยกระดับวงการการศึกษากันครับ

#ideacollection2023


#บางคนยังคุยกับครูไม่รู้เรื่อง

แต่อ่านออกเขียนได้! ผมก็ยังงงอยู่เลย 555

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(9)