icon
giftClose
profile
frame

เมื่อคุรุสภาสร้างเกณฑ์ ในหลักสูตรผลิตครูเพื่อรับรองปริญญา

35200
ภาพประกอบไอเดีย เมื่อคุรุสภาสร้างเกณฑ์ ในหลักสูตรผลิตครูเพื่อรับรองปริญญา

คุรุสภา ได้ออกคู่มือแนวทางการรับรองปริญญา

และประกาศนียบัตรทางการศึกษา

ตามมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2567

มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องมาตรฐานการผลิต

โดยคุณภาพอาจารย์ที่สอนต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 องค์ประกอบ

ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา

เรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้

ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2566 (สนใจอ่านคลิกที่นี่)

และคุณภาพอาจารย์ผู้สอนต้องอยู่ในระดับคุณภาพ 2 ขึ้นไป

ที่ต้องมีองค์ความรู้ (Knowledge) ใน 2 เรื่อง คือ

  1. ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาของตน
  2. ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้


สำหรับความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาของตน หากเป็นระดับที่ 1

อาจารย์จะต้องเขียนอธิบายแนวคิด และหลักการสำคัญของวิชาที่สอนได้

พร้อมทั้งการประยุกต์ใช้ จัดลำดับและเชื่อมโยงหัวข้อที่สอนอย่างเป็นระบบ

โดยอาจารย์ต้องเขียนว่าตนเองมีความรู้ความสามารถในศาสตร์ของตนเอง

และหากขยับเป็นระดับที่ 2 อาจารย์ต้องเขียนแสดงให้เห็นว่าติดตามองค์ความรู้

ที่ทันสมัย วิเคราะห์และนำมาใช้อย่างไร ซึ่งก็คือการ Reskill,Upskill,Newskill

ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำอย่างไร รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เพื่อนอาจารย์

ในสาขาวิชาหรือหน่วยงาน


ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

เชื่อว่าอาจารย์ที่สอนในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์

ในระดับที่ 1 เขียนอธิบายเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้

และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ระบุวิธีจัดการเรียนรู้

วิธีวัดและประเมินผลที่เหมาะสมกับผลการเรียนรู้

และกลุ่มผู้เรียน ได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว

เพราะเป็นศาสตร์การสอนและจิตวิทยาการเรียนรู้

ที่พวกเราสอนกันอยู่แล้วที่คณะ เพียงแต่ต้องเขียน

แบบ Reflective Account of Practice (RAP)

ที่ต้องอธิบายด้วยว่าหลักคิดที่ท่านเลือกจัดการเรียนรู้

ได้วิเคราะห์หรือมีหลักการอย่างไร ซึ่งเป็นการปล่อยแสดงความรู้

ในศาสตร์การสอนของท่านที่ต้องสรุปเพื่อสนับสนุนหลักคิด

ของการเลือกใช้ Learning Approach ของท่าน

และเชื่อมไปยังระดับที่ 2 ที่ต้องวิเคราะห์ภูมิหลังและศักยภาพผู้เรียน

เพื่อนำไปออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างไร และนำวิธีการเรียนรู้

และการวัดประเมินผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนอาจารย์ในสาขาวิชา

หรือหน่วยงานของตนเองได้อย่างไร


องค์ประกอบต่อมาคือเรื่องสมรรถนะ (Competencies) คือ

1. ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยต้องออกแบบกิจกรรมและใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้

ที่ต้องแสดงให้เห็นว่าได้นำเทคโนโลยีการเรียนรู้ใดมาประยุกต์ใช้

และสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่ต้องประเมินการออกแบบการจัดการเรียนรู้

และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการพัฒนาการออกแบบร่วมเรียนรู้กับเพื่อนอาจารย์

ในสาขาวิชาหรือหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน


2.ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยนำหลักของการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

เพื่อจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับเนื้อหา

และระดับของผู้เรียน โดยนำสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย

มาใช้ในการสอน รวมถึงการนำผลประเมินมาปรับปรุง

การจัดการเรียนรู้ที่เราต้องอธิบายให้เห็นสิ่งที่เราได้ทำมา

ว่ามีการกำกับดูแลและติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบได้อย่างไร

โดยต้องแนะนำและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาจารย์

ในสาขาวิชาหรือหน่วยงานในเรื่องวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ด้วย


3.เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

ที่ผมอยากเน้นในประเด็นนี้คือการมีส่วนร่วมจากผู้เรียน และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และสามารถวินิจฉัยปัญหาของผู้เรียน และช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

ทำให้ผมนึกถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่บทบาทของครูสอน

ต้องมีทักษะการโค้ช และผู้อำนวนการเรียนรู้ ซึ่งหากเราทำอยู่แล้ว

การเขียน RAP ในเรื่องนี้ก็ง่าย เพียงหยิบยกหลักคิด เพื่อวิเคราะห์จากกรณีศึกษาของเราที่ทำอยู่แล้ว


4.วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแสดงให้เห็นการประเมินความก้าวหน้า (formative)

และประเมินผลสรุป (summative) โดยเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้

รวมถึงสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียนอย่างสร้างสรรค์ได้

ซึ่งวิธีการป้อนกลับ ทำให้ผมนึกถึง Positive Feedback (สนใจอ่าน คลิกที่นี่)

และที่สำคัญต้องเลือกวิธีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้

และกำหนดเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนได้


องค์ประกอบสุดท้ายคือเรื่องค่านิยม (Values)

ที่ต้องแสดงการพัฒนาตนเองในวิชาชีพอาจารย์อย่างต่อเนื่อง

มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ในสาขาวิชาหรือหน่วยงาน

ที่ต้องอธิบายถึงแนวคิดและวิธีการว่าทำอย่างไร

และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมวิชาชีพเพื่อนำมาพัฒนาตนเอง

พร้องธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

ที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณในวิชาชีพและมีส่วนร่วม

ให้เกิดความเข้าใจและให้เกิดการปฏิบัติ

ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์ในสาขาวิชาหรือหน่วยงาน


จากแนวทางของคุรุสภาในส่วนที่ 2

คือหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา

เรื่องการจัดการศึกษา ในข้อ 3.3 คุณภาพอาจารย์ ที่เขียนไว้ในหน้า 40

ย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอน

ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ที่ต้องเป็นแบบอย่างการสอนที่ดี

ครูของครู จึงต้องทำให้นักศึกษาครู ได้ดูเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีก่อน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: 67-02-11 การรับรองปริญญา 2567.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 5 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)