เรื่องราวของ ครูกระแต ประภาศร ศรีวิเศษ ครูอนุบาลโรงเรียนบ้านดอนกลองหนองไฮ จ.ยโสธร
ผู้มีไอเดียการสอนสุดสร้างสรรค์และตอบโจทย์ความเป็นเด็กปฐมวัย !
“ตอนเราเรียนอนุบาลจำได้ว่าครูจะพาเดินไปตามวัด ครูพาไปเก็บเห็ด จำได้ว่ามันสนุก เราก็เลยอยากให้เด็กได้เล่นกับธรรมชาติ อยากให้เด็กมีโอกาสได้สัมผัสเหมือนที่เราเคยได้”
“ตอนเราเป็นครูฝึกสอนชั้นอนุบาล 2 เด็กที่เขียนไม่ได้จะต้องไปกินข้าวช้ากว่าเพื่อน แล้วเขานั่งร้องไห้ เราเห็นแล้วก็สงสาร เป็นนักศึกษาฝึกสอนจะให้ไปขัดครูประจำชั้นก็ยังไงอยู่ ก็ต้องนั่งเป็นกำลังใจ อยู่เป็นเพื่อนเขา เรารู้สึกว่ามันไม่ได้อ่ะ เราไม่ชอบเห็นคนรู้สึกกดดัน ถ้าเด็กพร้อมเขาจะเขียนเอง”
insKru ร่วมพูดคุยกับครูกระแตผ่านไอเดียในเว็บไซต์ insKru ที่น่าสนใจและเป็นกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำจริงแบบ Active สุด ๆ ถ้าอยากรู้ความเป็นมาของความสนุกที่เกิดขึ้นในห้องเรียนครูกระแตมากขึ้น ไปอ่านพร้อมกันเลย !
🌟🌟🌟🌟🌟
💡[ไอเดีย ถักทอเป็นเส้น เล่นผ่านเล่าฯ]
👉🏻https://inskru.com/idea/-O039I8QCNJTHHfCCMZr
👀วิธีคิดไอเดียนี้มาจากอะไร ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
“สายรุ้งกับเด็กค่อนข้างจะเชื่อมโยงกัน ตามความเชื่อของมนุษย์ปรัชญาเขาจะบอกว่า เด็กจุติลงมาเกิดที่โลก ตอนนี้ชีวิตเขายังเชื่อมโยงกับข้างบน เขายังหลงใหลกับสายรุ้งอยู่ เราเลยคิดว่าสายรุ้งมันน่าจะสอนอะไรกับเด็กได้มากขึ้น ผนวกกับเป็นช่วง Pride Month เราก็เลยเอาเรื่องความหลากหลายมาสอนด้วย พอดีเรามีนิทานก็เลยเอามาใส่ด้วย สิ่งที่ได้เพิ่มมากขึ้นคือเราใส่ทักษะ EF เข้าไปในแต่ละฐาน โดยทุกฐานเขาเคยได้ลองทำมาแล้วตั้งแต่เปิดเทอม เหมือนเป็นการทบทวนความสามารถของเด็กผ่านกิจกรรมนี้”
🌟🌟🌟🌟🌟
💡[ไอเดีย ร่างกายนั้นเป็นของหนู สู่ I can do it !!!]
👉🏻https://inskru.com/idea/-O-RiGvtCNJTHHfCCMZr
👀วิธีคิดไอเดียนี้มาจากอะไร ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
“จริง ๆ อันนี้เป็นเรื่องร่างกาย ถ้าสอนเรื่องร่างกายก็เป็นพื้นฐานที่เขารู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราวางไว้ก็คือ เด็กได้รู้จักปกป้องสิทธิในร่างกายของตัวเองกับรักษาสิทธิของผู้อื่น สิ่งที่เกี่ยวกับตัวเขาโดยตรงก็คือเรื่อง PDPA ซึ่งถ้าเรามองในปัจจุบัน ก็จะเห็นข่าวเกี่ยวกับครูที่ละเมิดสิทธิเด็กในเรื่องการถ่ายภาพ แต่เราอยากให้เขารู้ว่าจริง ๆ มันมีกฎหมายคุ้มครองอยู่นะ แล้วก็เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ถ้าเราไม่ยินยอม”
👀กิจกรรมนี้ตั้งใจสอนเรื่องร่างกาย แต่ทำไมถึงมีส่วนที่ให้นักเรียนได้สะท้อนความรู้สึกด้วย
“เพราะร่างกายก็รวมกับความรู้สึกด้วย เราก็เลยอยากให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตัวฉัน มีชาร์ตอธิบายด้วยว่าความรู้สึกแต่ละความรู้สึกเป็นยังไง อย่างเช่น เรามีความสุข ใจเราก็จะเหมือนมีผีเสื้อบินวนอยู่ในท้อง แต่ถ้าเรารู้สึกเศร้า มันจะรู้สึกเหมือนมีก้อนหินอยู่ในท้องมันจะหนัก แล้วใจเราเหมือนจะแตกสลาย ซึ่งเราก็จะอธิบายให้เด็กฟังว่าเป็นยังไง เราเลยให้ลองสังเกตหัวใจตัวเองดูว่ารู้สึกยังไง มันหนักหรือมันเบา แล้วก็ลองให้เด็กเปิดไพ่ ซึ่งจะให้เปิดธรรมดาก็ยังไงอยู่ หันไปเจอผ้าในห้องที่เราชอบจุดเทียนเล่านิทาน ก็เอามาปูและวางไพ่เป็นวงกลม เขาก็สนุกกันแล้ว เขาก็หยิบไพ่มา เราก็ให้เขาแสดงอารมณ์และความรู้สึกตามสิ่งที่เขาหยิบได้”
🌟🌟🌟🌟🌟
💡[ไอเดีย เริ่มต้นที่หิน ลงท้ายด้วยดิน (ดิน หิน ทราย)]
👉🏻https://inskru.com/idea/-NfQg8w0FCbler5ATH70
👀วิธีคิดไอเดียนี้มาจากอะไร ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
“ช่วงนั้นเป็นช่วงฝนตก พายุมันเข้า ฝนตกปรอย ๆ แต่ว่าเรื่อย ๆ ทุกวัน เรารู้สึกว่าถ้าเรียนในห้อง บรรยากาศมันก็จะอึมครึม ถ้าเราออกไปข้างนอก ฝนมันก็ไม่ได้ตกหนักขนาดนั้น พื้นมันยังแฉะ ๆ อยู่ พอดีเรียนเรื่องดิน หิน ทราย ก็เลยพาเด็ก ๆ ออกไปข้างนอก ซึ่งก็ยอมรับว่ามันเสี่ยง มันจะมีคำพูดหนึ่งที่เรียกว่า Risky play ก็คือการเล่นแบบเสี่ยง ๆ เราปล่อยเด็กแบบสุด ๆ พยายามให้เขาสัมผัสธรรมชาติให้ได้มากที่สุด เพราะการเล่น การเรียน การลงมือทำ ผลลัพธ์มันอยู่ในเนื้อในตัวเขา”
🌟🌟🌟🌟🌟
👀แต่ละกิจกรรม คุณครูตั้งเป้าไว้มั้ย ว่าเด็ก ๆ ต้องได้อะไรบ้าง
“เราสอนควบชั้นอนุบาล 2 กับ อนุบาล 3 ทั้งหมด 10 คน เด็กเราจึงค่อนข้างต่างกัน เด็กอนุบาล 3 ที่เขาอยู่กับเรามาแล้วหนึ่งปี เขารู้ว่าเราจะจัดกิจกรรมแบบไหนก็จะมีทักษะมากกว่าน้อง ถ้าที่ตั้งไว้ทุกกิจกรรมเลยจะตั้งไว้ว่าเด็กต้องทำได้ประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดกิจกรรมนะ เช่น เรียงเลขหรือเรียงก้อนหิน ในพัฒนาการเด็ก 4 ขวบ เขาจะเรียงได้ 4 ลำดับ แต่ถ้าพัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ก็จะเรียงได้ 5 ลำดับ ซึ่งจุดประสงค์ก็จะต่างกัน ถ้าให้น้องอ.2 มาเรียงเราก็จะเอาแค่ 4 แต่ถ้าพี่อ. 3 มาเรียงเราก็จะเพิ่มความยากเข้าไปให้อีก ความยากง่ายในตัวกิจกรรมก็จะย่อยลงไปอีก”
👀แต่ละกิจกรรมใช้เวลาออกแบบนานมั้ย
“บางทีคิดออกตอนเย็น เช้าเราก็ไปทำเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็จะจดไว้ จริงๆ เป็นคนที่ชอบเขียน คิดแล้วก็จดไว้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง ทำแล้วเด็กจะได้ทักษะอะไรบ้าง เราก็จะแตกออกไปว่าแต่ละกิจกรรมเป็นยังไง”
👀โดยภาพรวมการทำกิจกรรมแบบนี้ มีผลลัพธ์เป็นยังไงบ้าง
“เราเป็นคนชอบเรียนนอกห้อง ชอบให้เด็กทำกิจกรรม ผลลัพธ์คือเด็กสนุก และได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ตัวเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาได้อะไร แต่เรารู้ว่าเขาจะได้ทักษะนี้แน่ ๆ อย่างกิจกรรมตามหาสายรุ้งที่หายไป เราวางไว้ 7 ฐาน มีฐานหนึ่งชื่อ “มดแดงแฝง” เจตจำนงของฐานนี้คือฝึกให้เด็กช่วยกันแก้ปัญหานำผ้ารุ้งสีครามลงมา เราห้อยผ้าไว้ค่อนข้างสูง แต่ผลสรุปคือ เด็กดึงผ้าลงมาได้ภายในไม่ถึง 3 วินาที มันเลยไม่เกิดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่พอไปฐานเกือบสุดท้าย มีพี่ประถมเดินผ่านมาเอาไม้ที่เราเสียบไว้ไปไว้บนยอดไม้สูง ๆ เลย เด็กเราก็ช่วยกันเอากิ่งไม้ไปเขี่ยจนลงมาได้ เด็กก็ได้ทำตามเป้าที่เราวางไว้ แต่ว่าบางฐานที่เราต้องการให้เกิดทักษะนี้ ก็ไปเกิดกับอีกฐานหนึ่ง ก็ตอบโจทย์สิ่งที่เราวางไว้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ตรงเป้า”
“หรืออย่างเรื่องการสอนล้างก้น มันเห็นได้แบบชัด ๆ เลยว่า เขาได้จริง ๆ นะ เขาสามารถทำเองได้ วันนี้ก็มีเด็กเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน จัดการตัวเองเรียบร้อย หรือบางคนเข้าไปในห้องน้ำนานๆ เราก็จะถามว่าตอนนี้ถึงขั้นไหนแล้ว ให้ครูเข้าไปช่วยมั้ย เขาก็บอกว่าไม่ต้อง เราคิดว่าถ้าเรื่องที่เราสอนเป็นเรื่องปกติที่คนคนหนึ่งควรจะทำได้ ก็ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาไปเลย”
👀ครูกระแตเชื่อว่า ถ้าได้ลงมือทำจะเกิดการเรียนรู้ ?
“จริง ๆ เด็กเล็กจะไปสอนเนื้อหาตรง ๆ ก็ไม่ได้ เขาเพิ่งอยู่บนโลกนี้ 5 ปี ประสบการณ์ไม่ได้เยอะเท่าผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา เราเป็นครูก็พยายามหากิจกรรมที่แปรจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม แล้วก็ให้เขาลงมือทำอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ผลลัพธ์คือ เขาได้เกิดการเรียนรู้ในตัวเอง”
“เหมือนไอเดีย "ถักทอเป็นเส้น เล่นผ่านเล่าฯ" ตอนแรกๆ เด็ก ๆ ก็ตอบยังไม่ชัดว่าเรียงยังไง แต่สุดท้ายย้อนมาถามเขาเรียงได้เลยว่าสีแรกคืออะไร สีที่สองคืออะไร เพราะเขาผ่านทุกฐานที่เรียงเป็นลำดับมาแล้ว”
“อีกอย่างเราเชื่อว่าถ้าเด็กเขาได้เล่นอย่างเพียงพอแล้ว เขาก็พร้อมที่จะเรียน มันจะเห็นได้ชัด เช่น อนุบาล 3 เวลาชวนเล่นเกม เขาจะชอบมีคำถามตลอดเลยว่า คุณครูไม่เห็นสอนเลย มีแต่พาเล่นเกม (หัวเราะ) ก็เลยถามว่า แล้วเธอจะเอายังไง ชอบเรียนแบบไหนระหว่างเรียนสนุก ๆ กับเรียนเครียด ๆ เราก็เลยย้อนมาคิดว่าอนุบาล 3 เขาพร้อมที่จะเรียนสิ่งที่เป็นวิชาการกว่าเดิมมากขึ้นแล้ว แสดงว่าเขาเล่นพอแล้ว เขาพร้อมอยากเรียนแบบจริงจังแล้ว”
👀ครูกระแตจัดการยังไงคะ
“อันนี้เพิ่งเจอ เราก็เลยคิดว่าถ้าในอนาคต เราน่าจะออกแบบกิจกรรมให้เขาได้มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นวิชาการมากขึ้น เช่น การเขียน แต่ก่อนเขาจะไม่ค่อยได้เขียน เช่น วันนี้เรียนเรื่องการเอาตัวรอดในรถยนต์ เราก็ให้เขาลองเขียนว่าขั้นตอนที่ 1 บีบแตร แต่ก่อนจะเป็นคนเขียนให้ เราก็ให้เขาเขียนเองไปเลย ทำเองไปเลย (หัวเราะ)”
“แต่เรายังมีความเชื่อในการเล่นอยู่นะ แต่อาจจะเพิ่มความยากของการเล่นที่มันมากขึ้น
ให้มันท้าทายความสามารถเขามากขึ้น”
👀 ที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้างในการชวนเด็กเล่น
“มีเรื่องของเนื้อหา บางเรื่องยาก ๆ มันนามธรรม ก็ต้องพยายามทำให้เป็นรูปธรรม ให้เด็กเข้าใจได้ง่าย อย่างเช่น กฎหมาย PDPA หรือว่าเรื่องที่มันไกลตัวเด็กไปมาก ๆ พยายามตีโจทย์ให้แคบลง ออกแบบกิจกรรมให้ใกล้กับเด็กมากขึ้น”
“อีกอันคือเราสอนควบชั้นเรียน เด็กมีพัฒนาการต่างกัน ห้องเราจะมีคนหนึ่งตัวเล็ก ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ ก็ยากที่เขาจะทำกิจกรรมเหมือนเพื่อน เราก็จะทำกิจกรรมให้เหมาะกับเขา อย่างเช่น สะพานสายรุ้ง คนอื่นจะมีระยะห่างเท่า ๆ กัน สำหรับเขาก็จะทำให้ระยะห่างน้อยลงกว่าเดิม ให้เขาเห็นว่าเขาทำได้นะ ทำได้เหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ”
“อีกอย่างหนึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาคือ เด็กเขามองว่าครูไม่สอน เราก็ต้องหาวิธีมาแก้จริง ๆ แล้วแหละ ถ้ามานั่งคุยกันกับเด็กยังไม่เคยคุยกันจริง ๆ จัง ๆ เลยว่าสิ่งที่เราเล่น เราได้อะไร ถ้าเอามาคุยกันจริง ๆ ก็คือเนื้อหามากกว่าว่า วันนี้เราเรียนอะไรไปบ้าง เราได้เนื้อหาอะไร แต่ว่าเรื่องของทักษะเรายังไม่ได้คุยกัน”
👀สิ่งที่ครูกระแตชอบในการพาเด็กๆ เล่น คืออะไรบ้าง
“อันแรกคือ ชอบที่ตัวเองคิดออก มันว้าว เด็กก็น่าจะสนุกกับสิ่งที่เราคิด ขนาดตอนคิดเรายังสนุกเลย พอเอาไปทำจริงเราเห็นรอยยิ้ม เห็นเสียงหัวเราะ เห็นการที่เขาได้ทำตามที่เราวาดหวังไว้ มันก็เป็นเหมือนแสงสว่าง มันเป็นอีกสิ่งที่เราได้เห็นความสดใสของเด็ก ความเป็นเด็กจริง ๆ ไม่ใช่บ่มเพาะอยู่ในกรอบอะไรสักอย่าง แม้ว่าเด็กเราจะมีอิสระ แต่อิสระที่เรามีก็ยังมีขอบเขตในการเล่นนะ ให้เขามีโอกาสได้เล่นสุดๆ แต่ถ้าเรากลับมาอยู่รวมกันก็จะต้องอยู่กับเนื้อกับตัวตัวเองด้วย”
👀นอกจากเด็ก ๆ มาพูดแบบนั้นแล้วมี ผอ. หรือผู้ปกครองมาถามบ้างมั้ยคะ
“ก็มีถามช่วงจะเปิดเทอม ประชุมผู้ปกครอง เขาต้องการให้เด็กพัฒนาการเรียนไปถึงไหนบ้าง เขาก็อยากให้ลูกเขียนชื่อได้ รู้พยัญชนะ รู้ตัวเลขอะไรอย่างนี้ เราก็บอกว่าโอเคได้ แต่อาจจะไม่ได้เร็วขนาดนั้นที่จะทำได้ใน 1 เทอม ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มให้เด็กทำแบบนี้มากขึ้น ซึ่งเด็กก็เขียนชื่อได้ แต่ไม่เคยบังคับนะว่าจะต้องเขียน แต่เขารู้สึกว่าชื่อเขา เขาจะอยากเขียนเอง วันนี้อยากเขียนน้อยจะเขียนชื่อเล่น ถ้าอยากเขียนเยอะ ๆ จะเขียนชื่อจริงมา เราก็จะบอกว่าเอานามสกุลหน่อย เขาก็จะถามว่านามสกุลต้องเริ่มตัวไหน เราก็บอกว่า อ.อ่าง เขาก็จะมาเป็นพรืด เสร็จเลย เราไม่ค่อยบังคับเรื่องการเขียน เพราะถ้าเขาอยากจะเขียน เขาจะเขียนเอง”
👀คุณครูคิดว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงอยากเขียนเองเลย มันมีจุดประกายมาจากการที่ครูให้เขาเล่นจนหนำใจแล้วรึเปล่า ?
“ใช่ ๆ คิดว่านะ ไม่ต้องบังคับว่าเขียนตัวนี้ ๆ แต่จะเขียนเองเลย เราแอบเอาไอเดียก.ไก่แปลงร่างของครูแชมป์ไปใช้ แต่เราวาดเอา ติดหน้าห้องแผ่นใหญ่ ๆ เลย บางทีเขาว่าง ๆ ก็จะไปยืนอ่าน ไปสอนกัน ถามว่าอันนี้ตัวอะไร”
“ตอนพักกลางวัน เด็กเราจะไปหยิบหนังสือนิทานมาอ่าน เราเห็นเขานั่งดูตัวพยัญชนะกัน คุยกันว่า “มันมีตัวนี้นะ ชื่อเธอมีมั้ย ชื่อเธอมีตัวก.ไก่มั้ย” แต่เวลาครูกระแตบอกว่า อ่านหนังสือให้ฟังหน่อย จะไม่ยอมอ่านให้ฟัง จะคุยกันเอง อ่านกันเองกับเพื่อน ๆ ของเขา ซึ่งเราก็จะคอยสังเกตอยู่เรื่อย ๆ”
👀ทุกกิจกรรมดูคุณครูตั้งใจทำ ดูสนุก อยากรู้ว่ามีโมเมนต์ที่แอบเฟลเพราะเด็กบอกว่าไม่สนุกบ้างมั้ย
“จริง ๆ ถ้าบอกว่าไม่สนุก เขาจะไม่พูดคำนี้ เขาจะบอกว่า คุณครู ผมขอไปรอในห้องนะ เราก็จะต่อรองว่ามาทำอันนี้กับเพื่อนก่อนได้มั้ย หากิจกรรมให้เขาทำ แต่ก็ต้องถามเขาก่อน ว่ารู้สึกยังไง ถ้ารู้สึกไม่โอเคจริง ๆ ก็ไม่ให้เขาทำ เช่น วันนั้นเราทำสไลม์จากทรายผสมกับกาว จริง ๆ ให้ใส่ถุงมือ แต่เขาไม่เข้าไปใกล้เลย ถุงมือเขายังสะอาดเอี่ยมอ่องเลย แต่ของเพื่อนเละไปหมดแล้ว เราถามเขา เหมือนเขาไม่โอเคกับอะไรที่มันเละ ๆ แต่อันนี้เป็นกิจกรรมเพิ่มเติม วันนั้นเรียนเรื่องทำศิลปะจากดินทราย แต่วันอื่น ๆ เขาก็ได้ทักษะอื่นผ่านมาแล้ว อันนี้เป็นแค่หนึ่งกิจกรรม เขาก็ไม่ได้พลาดอะไรไป”
👀ตอนนี้เห็นภาพห้องเรียนสนุกสนานมาก เลยอยากถามคุณครูว่า มีเด็ก ๆ ที่แสบ ๆ ซน ๆ มั้ย คุณครูมีวิธีรับมือยังไงบ้าง
“ห้องเราไม่มี แต่พอมันเป็นการจัดกิจกรรมแบบ Active จากปัญหาห้องเรียนเราที่เด็กเยอะ เสียงก็ดัง เราก็พยายามจะเสียงดังสู้กับเด็ก เราก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กก่อนคือ เมื่อเราเสียงเบาลง ใจเย็นขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น เด็กก็จะเบาลงไปกับเราด้วย ห้องเรียนก็จะสมูทขึ้น เด็กมีส่วนร่วมกับเราไปในทุก ๆ อย่าง”
“ซึ่งมาจากการที่เราไปเข้าเวิร์กช็อปศิลปะด้านในการจัดการศึกษาแบบวอล์ดอร์ฟ เขาเชื่อว่าเด็กอายุ 0-7 ขวบ จะไม่ให้เรียนหนังสือเลย ให้ทำงานบ้าน งานครัว งานสวน ทำแบบซ้ำ ๆ เล่นกับธรรมชาติ เพลงก็จะเป็นเพลงเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ฤดูกาล ของเล่นก็จะเป็นของที่มาจากธรรมชาติ ไม่มีพลาสติกใด ๆ แล้วก็จะมีพิธีของว่างให้เด็กยื่น ๆ ไป จะเป็นกระบวนการ มีของส่วนตัว ผ้าเช็ดปาก แก้วน้ำ กินเสร็จก็ต้องเก็บ เป็นการฝึกวิถีชีวิตที่เป็นแนวญี่ปุ่น ๆ หน่อย มันก็จะมีความเบา ยิ่งไปเจอแม่อุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท (ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก) ยิ่งแบบดูแลเหมือนลูกไม่ได้ดูแลเป็นเด็ก แกชอบพูดว่า เราต้องโอบอุ้มความเป็นเด็กไว้”
“จังหวะชีวิตของเด็กก็เหมือนจังหวะการหายใจ มีจังหวะเข้า-ออก การที่เขาออกไปเล่นข้างนอก เขาก็ต้องกลับเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวในห้องเรียนได้ เราก็จะเอาบทกลอนจากวอล์ดอล์ฟมาใช้ เพื่อให้เขาพร้อมที่จะเรียนและทำกิจกรรมร่วมกันหลังจากนี้”
👀มีอะไรที่หยิบจากการจัดการศึกษาแบบวอล์ดอร์ฟมาใช้ในห้องเรียนอีกมั้ย
“กิจกรรมที่เราเอามาทำจะเป็นรถไฟไม่ใช่รถเจ๊ก เป็นการย่ำเท้า จะมีเด็กบางคนที่เขาเดินเขย่งเท้า มันอาจจะไม่ใช่โรค แต่เป็นบุคลิก การที่ลงเท้าทั้งส้นเป็นการให้เขารู้เนื้อรู้ตัว ว่าเขายืนอยู่ตรงไหน ทำให้พื้นสัมผัสทุกอย่าง จากล่างขึ้นบน บนลงล่าง มีเพลง แล้วก็มีกิจกรรมสีน้ำที่เราเอามาใช้ ระบายแบบ Wet on Wet เด็กก็จะได้เรียนรู้เป็นขั้นตอน กระบวนการทุกอย่าง ทำเสร็จก็ต้องเก็บทุกอย่างด้วยตัวเอง สีต้องไปเทที่ไหน ฝึกระเบียบ ฝึกการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น”
👀สุดท้ายนี้ มีข้อความอะไรที่อยากส่งไปถึงครูปฐมวัยคนอื่น ๆ มั้ยคะ
“สังคมให้ค่ากับการอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่เด็ก เขามองว่าถ้าเด็กอ่านออกเขียนได้เร็ว แสดงว่ามีพัฒนาการที่ดี ผนวกกับ ป.1 จะมีการทดสอบที่เรียกว่า RT เพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน กระทรวงก็จะมากดดันครู ป.1 ซึ่งก็จะกังวลว่าเด็กที่ขึ้นมาจากอนุบาลจะทำได้มั้ย เราเป็นครูอนุบาลก็กังวลไปด้วยว่าเด็ก ๆ ต้องไปถึงจุดไหนของระดับการศึกษาอนุบาล”
“อยากจะบอกว่า เราเรียนเรื่องการศึกษาปฐมวัยกันมา ให้เราเชื่อในสิ่งที่เราเรียน ถึงแม้ว่าสังคมมันจะบิดเบี้ยวก็ตาม ให้เราเชื่อในสิ่งที่เราเรียนมา แล้วก็นำมาใช้ เพราะสิ่งที่เราเรียนมามันดีแล้ว เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นศักยภาพในตัวเด็กว่ามันสามารถพัฒนาตามแนวที่เราเรียนมาได้ เชื่อว่าเด็กเขามีโอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้อิสระเขา”
“อีกอันหนึ่งอยากบอกครูว่า ถ้าโพสต์สื่อสร้างสรรค์ก็เห็นดีเห็นงามด้วย แต่สื่อที่เป็นกระแส ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กหรือครูเองด้วย ช่วยกันเช็คก่อนแชร์ ว่าสิ่งที่มันเผยแพร่ออกไป มันส่งผลให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจ หรือเด็กรู้สึกอับอายมากกว่ากัน”
💡หากคุณครูสนใจบทสัมภาษณ์นี้และมองหาไอเดียนำไปใช้กับห้องเรียนปฐมวัยของตนเองอยู่ เข้าไปไอเดียดี ๆ จากคุณครูกระแตได้เลยน้า https://inskru.com/profile/65588
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!